การพัฒนาตนเอง

การที่มีคนไม่ชอบมันเป็นหลักฐานที่บอกว่าเราได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ

คงไม่มีใครรู้สึกดีในเวลาที่คนอื่นไม่ชอบ ไม่พอใจในสิ่งที่เราเป็น ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ แต่ไม่เป็นไรหรอก เพราะการที่มีคนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ การที่มีคนไม่ชอบมันเป็นหลักฐานที่บอกว่าเราได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ ชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องทำให้คนอื่นพอใจ ไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นยอมรับ

ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาใหญ่ สุขภาพจิตของแต่ละคนที่แย่ลงส่งผลกระทบต่อคนในสังคมวงกว้าง มันคงจะดีหากเรามีเครื่องมือช่วยจัดการกับความเครียดในชีวิต ที่จะช่วยลดและบรรเทาความกังวลลง

จากหนังสือ The Courage To Be Disliked: How to free yourself, change your life and achieve real happiness แปลไทยในชื่อ กล้าที่จะถูกเกลียด เป็นหนังสือที่พูดถึงจิตวิทยาของอัลเฟรด แอดเลอร์ ที่หลายอย่างสวนทางกับจิตวิทยาป๊อปที่เราคุ้นเคย

ในบทความนี้เราจะได้รู้จักจิตวิทยาของอัลเฟรด แอดเลอร์ ซึ่งเป็น จิตวิทยาแห่งความกล้า จิตวิทยาแห่งการเปลี่ยนแปลงตัวเอง จิตวิทยาของการใช้ประโยชน์ และที่สำคัญคือ จิตวิทยาของการไม่กลัวว่าคนอื่นจะไม่ชอบและไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นยอมรับ

ไม่ว่าคนอื่นจะคิดกับเรายังไง ใครจะชอบหรือไม่ชอบนั้น มันเป็นเรื่องของเค้า ไม่ใช่เรื่องของเรา

การใช้จิตวิทยาและอาศัยแนวคิดของอัลเฟรด แอดเลอร์ นำมาประยุกต์ใช้ แนวคิดที่เชื่อว่าเราแต่ละคนสามารถควบคุมชีวิตของตัวเอง และตัวเรามีบทบาทสำคัญที่กำหนดชีวิตของตัวเองได้

อดีตไม่ได้กำหนดอนาคต

เราอาจจะเชื่อว่าอดีตเป็นตัวกำหนดอนาคต แต่ความจริงนั้น เราสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้เสมอ

จิตวิทยาของอัลเฟรด แอดเลอร์ มองว่าอดีตจะเป็นอย่างไรก็ไม่สำคัญ

สิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นหากเราเชื่อว่าอดีตเป็นตัวกำหนดอนาคต นั่นคือถ้าเราสนใจแต่อดีต ฝังใจกับอดีต สนใจแต่เหตุที่ทำให้เกิดผล เราก็จะมองว่าอนาคตเป็นสิ่งที่กำหนดไว้แล้ว และมันจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ประสบการณ์อันเลวร้ายในอดีตอาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของคน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นตัวกำหนดชีวิตของเราตลอดไป ชีวิตเราไม่ได้ถูกกำหนดโดยใคร แต่มันขึ้นอยู่ที่เราว่าจะเลือกใช้ชีวิตอย่างไร

เด็กที่มีปัญหา ที่ใช้เวลาอยู่แต่ในบ้าน ปิดกั้นตัวเองออกจากสังคม มันง่ายมากที่เราจะตัดสินว่า เด็กคนนั้นเคยมีอดีตที่ไม่ดี เราคงเดาว่าเด็กได้รับผลกระทบจากบาดแผลทางใจ และประสบการณ์อันเลวร้ายนั้นก็บีบบังคับชีวิตเด็กคนนั้น และมันจะเป็นแบบนั้นตลอดไป

เหตุผลที่เราตั้งสมมติฐานแบบนั้นเกิดจากการที่เรามักจะเชื่อว่า ประสบการณ์ในอดีตเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดพฤติกรรมในอนาคต

เราตั้งสมมติฐานจากแนวคิดของจิตวิทยาป๊อป เราคิดไปเองว่าผลลัพธ์ทั้งหมดมันเกิดขึ้นจากบาดแผลทางใจ เด็กที่มีบาดแผลทางใจ เด็กที่มีปัญหาจากที่บ้านหรือโรงเรียน ผลกระทบก็จะส่งต่อไปยังวัยผู้ใหญ่ เด็กที่พ่อแม่เอาใจ โตขึ้นก็จะเป็นคนมีปัญหา

คนส่วนใหญ่มองว่าปัญหามักจะเกิดจากสาเหตุในอดีต

จิตวิทยาของอัลเฟรด แอดเลอร์ นั้นมีอิสระในการมอง และเชื่อว่าเราทุกคนมีอิสระในการเลือกสิ่งที่เราต้องการ ชีวิตเราไม่ได้ถูกกำหนดจากบาดแผลทางใจในอดีต

เด็กที่ได้รับผลกระทบจากการถูกทำร้าย ไม่ใช่ทุกคนที่จะโตขึ้นแล้วเป็นปัญหาของสังคม นั่นทำให้เราคิดว่า มันน่าจะมีคำอธิบายอื่นๆ อีก

สำหรับคนที่มีปัญหาขาดความมั่นใจ ไม่กล้าเข้าสังคม ไม่อยากออกจากบ้าน หากใช้จิตวิทยาป๊อปที่เราคุ้นเคย ก็จะบอกว่าคนเหล่านั้นมีปัญหาทางใจ เคยมีประสบการณ์อันเลวร้ายในตอนเด็ก ทำให้โตขึ้นขาดความมั่นใจ

จิตวิทยาของอัลเฟรด แอดเลอร์ นั้นไม่คิดถึงอดีต แต่จะมองเป้าหมายในปัจจุบัน สนใจแต่สิ่งที่เราต้องการในปัจจุบันเท่านั้น และมองว่าคนเหล่านั้นสร้างความกลัวกังวลขึ้นมาเพื่อใช้เป็นข้ออ้างที่จะอยู่แต่ในบ้าน เพราะเป้าหมายคือการไม่อยากออกไปไหน

คนใช้อารมณ์เป็นเครื่องมือที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ

เงื่อนไขจึงไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่เพียง สาเหตุและผลลัพธ์ของพฤติกรรม แต่อาจมีอย่างอื่นอีกด้วย และเราก็มีอิสระในการเปลี่ยนแปลงมัน

ชีวิตคนเราไม่ได้ขับเคลื่อนไปโดยอดีต แต่ไปยังเป้าหมายที่ตั้งไว้

คนที่ยังไม่มีความสุขเป็นเพราะยังไม่รู้จักรักตัวเอง ไม่พยายาม ไม่เรียนรู้ ที่จะรักตัวเอง ทำให้บางคนฝันอยากมีชีวิตใหม่ ทิ้งตัวตนในตอนนี้แล้วเกิดเป็นคนใหม่

สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเกิดมายังไง แต่อยู่ที่การใช้พื้นฐานชีวิตนั้นให้เป็นประโยชน์ การที่เราอยากเป็นคนอื่นก็เพราะเราสนใจแต่ข้อบกพร่องของเราเอง แทนที่จะสนใจว่าเราจะใช้พื้นฐานชีวิตนั้นให้ดีได้อย่างไร

ไลฟ์สไตล์และการมองโลก

สังคมประกอบไปด้วยคนหลายแบบ เราอาจแบ่งคนได้ง่ายๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม คือคนที่มองโลกในแง่ดี และคนที่มองโลกในแง่ร้าย จิตวิทยาป็อปสอนให้เราคิดว่าใครเป็นแบบไหน มันก็จะเป็นแบบนั้นเสมอไป ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องสนุก สุขหรือทุกข์ เราก็ยังคิดว่าคนในสังคมมีอยู่แค่ 2 แบบ

จิตวิทยาของอัลเฟรด แอดเลอร์ นั้น ใช้ไลฟ์สไตล์ ใช้รูปแบบการดำเนินชีวิต ใช้วิถีการดำเนินชีวิตของบุคคลเป็นตัวอธิบายคุณลักษณะหรือบุคลิกภาพ

ไลฟ์สไตล์คือแนวโน้มของคนมักจะคิดหรือจะทำอะไรในชีวิต

ไลฟ์สไตล์บ่งบอกถึงการมองโลกของเราแต่ละคน เราไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่เราสามารถเลือกไลฟ์สไตล์ได้ อัลเฟรด แอดเลอร์บอกว่า ไลฟ์สไตล์เป็นสิ่งที่เราเลือกด้วยตัวเองตั้งแต่อายุประมาณ 10 ปี การตัดสินใจเลือกนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ทั้งในแง่ดีและร้าย และถ้าเราเคยเลือกไลฟ์สไตล์มาก่อน ต่อไปเราก็ยังสามารถเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ได้อีก

คนเราเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ คนที่ไม่เปลี่ยนคือคนที่ไม่ตั้งใจเปลี่ยน เลือกที่จะไม่เปลี่ยนเอง

มันเป็นเรื่องยากและท้าทาย ที่คนๆ หนึ่งจะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันอาจจะมีความลำบาก มีปัญหาในวันข้างหน้า ชีวิตต้องพบกับความกังวล อาจมีชีวิตที่ลำบากมากกว่าเดิม

ถึงแม้ในตอนนี้ บางคนจะบ่นและไม่พอใจชีวิต แต่มันก็ยังง่ายกว่าที่จะเปลี่ยนแปลง การทนอยู่แบบนั้นมันมั่นคงและสบายใจมากกว่า

คนอยากเปลี่ยน แต่การเปลี่ยนแปลงมันน่ากลัว

การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความกังวล และอาจพบกับความผิดหวัง ดังนั้นการจะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ มันจะต้องมีความกล้า

จิตวิทยาของอัลเฟรด แอดเลอร์ คือจิตวิทยาของความกล้า คนที่ไม่มีความสุขไม่ควรโทษอดีตหรือสิ่งแวดล้อม เพราะมันเกิดจากการที่เราขาดทักษะ ขาดความกล้า ไม่กล้าที่จะเปลี่ยน ไม่กล้าที่จะมีความสุข

การใช้ไลฟ์สไตล์เป็นตัวอธิบาย ทำให้เรารู้ว่า อารมณ์ของคนไม่ได้ตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงตามการมองโลกของแต่ละคน ถ้ามองโลกในแง่ร้าย ก็จะถูกความคิดในแง่ร้ายกลืนกิน

คนที่เอาแต่พูดว่าตัวเองไม่มีความสุข คนเหล่านั้นต่างก็อยากมีความสุข อยากเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเอง แต่หากมองลึกลงไปเราจะพบว่า ถ้าคนเหล่านั้นอยากเปลี่ยนแปลงจริงๆ เค้าก็คงทำอะไรสักอย่างไปแล้ว

คนเหล่านั้นอาจไม่ชอบสถานการณ์ปัจจุบัน แต่อย่างน้อยมันก็อุ่นใจที่ยังไม่ตาย ก็ยังทนอยู่ได้แบบนั้น การเปลี่ยนแปลงต่างหากที่เป็นเรื่องยาก เพราะมันต้องอาศัยความกล้า ต้องเตรียมรับมือกับสิ่งที่ไม่รู้จัก ต้องเตรียมรับมือกับความล้มเหลว

คนที่ไม่มีความสุข คนที่อยู่ตัวคนเดียวมานานหลายปี ไม่กล้าที่จะออกไปเจอผู้คน สำหรับคนเหล่านั้น การทำความรู้จักคน การสังสรรค์กับคนเป็นเรื่องยาก มันยากมากหากเทียบกับการอยู่ตัวคนเดียว

เพราะเมื่อเราชินอยู่กับการอยู่คนเดียวตามลำพัง ยึดติดอยู่กับชีวิตโดดเดี่ยว ถึงชีวิตจะไม่มีความสุข แต่มันก็ยังดีกว่าการที่ต้องเจ็บตัวหรือผิดหวัง

ความไม่สมบูรณ์แบบทำให้คนปิดกั้นตัวเอง

คนที่ไม่ชอบตัวเอง ไม่รักตัวเอง ทำให้มองไม่เห็นจุดเด่นของตัวเอง เพราะมัวสนใจแต่ข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ทำให้ขาดความมั่นใจ

ข้อบกพร่องเป็นเหตุผลที่ใช้เป็นข้ออ้าง ที่จะปิดกั้นตัวเอง ความอายเป็นเหตุผลที่ไม่ต้องเข้าสังคม ไม่ต้องถูกคนอื่นปฏิเสธ ไม่ยอมรับ ไม่ชอบเรา

ยอมรับตัวเองในตอนนี้ และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น กล้าที่จะเดินหน้าต่อไป เริ่มต้นลงมือทำ จิตวิทยาของอัลเฟรด แอดเลอร์ คือความกล้าที่จะเดินหน้า กล้าที่จะลุย

การที่เราไม่ชอบตัวตนของตัวเองก็เพราะกลัวคนอื่นจะไม่ชอบ กลัวผิดหวังในความสัมพันธ์ และวิธีหลีกเลี่ยงปัญหาคือการอยู่ตัวคนเดียว แต่ว่าไม่มีใครสามารถทำได้

อัลเฟรด แอดเลอร์ บอกว่าปัญหาทุกอย่าง คือปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

ความรู้สึกเหงา รับรู้ได้จากการอยู่รอบๆ คนอื่น การอยู่ในสังคมแต่กลายเป็นคนที่ถูกมองข้ามหรือกลายเป็นคนนอก

ความรู้สึกต่ำต้อย และความรู้สึกต้องการพัฒนาตนเองให้ดีมากขึ้นเป็นเรื่องปกติ ความรู้สึกต่ำต้อยก่อให้เกิดพลังอยากที่จะทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เติบโตมากขึ้น

เราแต่ละคนต่างก็อยากที่จะขจัดความต่ำต้อยของตัวเองออกไป และก้าวไปข้างหน้า แต่ละคนไม่พอใจในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ บางครั้งถึงแม้มันจะเป็นก้าวเล็กๆ แต่มันก็ถือเป็นความก้าวหน้า

เราต่างก็ต้องการมีความสุขมากขึ้น ไม่มีอะไรผิด แต่เราจะต้องมีความกล้าที่จะลงมือทำหรือก้าวไปข้างหน้า กล้าที่จะยอมรับความจริงว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงได้หากพยายามมากขึ้น

การแข่งขันทำให้เกิดสังคมแห่งการทำลายล้าง

เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ต่างก็ต้องการไขว่คว้าหาความเป็นที่สุด อยากเป็นคนสุดสอด ไม่ต้องการเป็นคนธรรมดา ต้องการสิ่งที่ดีกว่าเดิม ต้องการไปยังจุดสูงสุด

แต่เราก็มักจะเข้าใจว่ามันคือการอยู่เหนือกว่าคนอื่น การได้ดีกว่าคนอื่น การปีนขึ้นสูงกว่าคนอื่น ถึงแม้ว่าอาจจะต้องผลักคนอื่นให้ล้มลง ผลักคนอื่นออกจากหนทางของตัวเอง

จิตวิทยาของอัลเฟรด แอดเลอร์ ไม่ได้ต้องการให้ทำแบบนั้น แต่มองว่าในการแข่งขัน มันจะมีคนที่เร็วกว่าและอยู่หน้า และก็มีคนที่ช้าและอยู่หลังเรา ถึงแม้แต่ละคนอาจจะมีความเร็วที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นต่างก็เดินตามเส้นทางด้วยความเท่าเทียมกัน

การมุ่งสู่ความเป็นเลิศจึงเป็นการคิดว่าทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ก้าวไปทีละก้าวด้วยกำลังของตัวเอง ไม่ใช่ความคิดที่จะแข่งขันกับใคร ไม่จำเป็นว่าตัวเรานั้นจะอยู่เหนือหรือต่ำกว่าใคร

การดำเนินชีวิตไม่ใช่การแข่งขัน เพียงแค่เดินก้าวไปข้างหน้าโดยที่ไม่มุ่งแข่งขันกับใคร ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบตัวเองกับใคร

การมุ่งสู่ความเป็นเลิศจึงไม่ได้อยู่ที่การเปรียบเทียบตัวเองกับใคร แต่เป็นการเปรียบเทียบตัวเอง ตัวเราในวันนี้กับเมื่อวาน คุณค่าของการก้าวไปข้างหน้าจึงอยู่ที่การข้ามขีดจำกัดของตัวเองในอดีต

เราไม่เหมือนกัน แต่เราเท่าเทียมกัน

หากเรามุ่งแข่งขันกับคนอื่น เราก็จะหนีไม่พ้นปัญหาที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพราะสุดท้ายของการแข่งขัน มันจะมีคนที่ชนะและคนที่แพ้ เราต่างก็ไม่ต้องการเป็นผู้พ่ายแพ้ รู้ตัวอีกทีเราก็มองคนอื่นๆ เป็นศัตรู เราจะมองว่าคนเหล่านั้นเหยียดหยาม ดูหมิ่นและไม่เคารพเรา คนเหล่านั้นเป็นศัตรูที่จะประมาทไม่ได้ คนที่พร้อมจะต่อสู้แย่งชิง โลกที่มีแต่คนพยายามแย่งชิงจะเป็นโลกที่ไม่น่าอยู่

ถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่คนพ่ายแพ้ แม้จะไม่เคยพ่ายใคร แต่ก็ยังต้องรักษาสถิตินั้นเอาไว้ ถ้าเราเอาตัวเข้าไปแข่งขัน เราก็จะไม่มีช่วงเวลาสงบ เพราะเราไม่ต้องการแพ้ เราต้องการเป็นผู้ชนะต่อไป เราจะทำแบบนั้นได้ เราก็จะเชื่อใจใครไม่ได้

เหตุผลที่คนประสบความสำเร็จในสายตาของสังคมไม่มีความสุข เป็นเพราะใช้ชีวิตอยู่กับการแข่งขัน คนเหล่านี้ทำให้โลกกลายเป็นสถานที่อันตรายเต็มไปด้วยศัตรู

ไม่ใช้ชีวิตบนความคาดหวังของคนอื่น

การเป็นที่ยอมรับของคนอื่นนั้นอาจทำให้รู้สึกพึงพอใจ เป็นปัจจัยที่ทำให้มีความสุข การไขว่คว้าโหยหาการยอมรับหรือคำชมเชยนั้น อาจทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ทำให้หลุดพ้นจากความต่ำต้อย

การเป็นที่ยอมรับจึงเกิดเป็นแรงผลักดันให้เราลงมือทำ สิ่งที่แย่ของการมุ่งหวังการยอมรับคือ หากไม่มีรางวัล มันก็จะไม่เกิดแรงกระตุ้นให้ลงมือทำ ถ้าไม่มีคนเห็น เราก็จะไม่ทำ การถูกชักจูงด้วยรางวัลและการลงโทษเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้กันตั้งแต่เด็กๆ

ถ้าเด็กที่ทำตัวดีเหมาะสม เด็กคนนั้นก็จะได้รับรางวัล แต่ถ้าทำตัวไม่เหมาะสมก็จะถูกลงโทษ จิตวิทยาของอัลเฟรด แอดเลอร์ เห็นต่างจากการศึกษาแบบให้รางวัลและลงโทษ เพราะมันนำไปสู่ไลฟ์สไตล์ที่ทำให้คนคิดว่า ถ้าไม่มีใครชม ก็จะไม่ทำดี และถ้าไม่มีบทลงโทษ ก็จะฝ่าฝืนกฏ

เราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่บนความคาดหวังของใคร ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่เพื่อทำให้คนอื่นพอใจ และไม่มีใครที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อเรา ถ้าเราไม่ใช้ชีวิตของตัวเอง แล้วใครจะใช้ชีวิตให้เรา ถ้าไม่ใช้ชีวิตนี้เพื่อตัวเอง แล้วใครจะใช้ชีวิตของเค้าอยู่เพื่อเรา

การคาดหวังที่จะได้รับการยอมรับจากคนอื่นนั้น นำไปสู่ความคาดหวังของคนอื่นที่อยากให้เราเป็นแบบนั้นแบบนี้ นั่นหมายถึงเราต้องทิ้งตัวตนของเราไป แล้วใช้ชีวิตของคนอื่น

ถ้าเรายังกังวลว่าคนอื่นจะมองเรายังไง และกลัวว่าคนอื่นจะตัดสินเรายังไง เราก็จะขาดอิสรภาพในการใช้ชีวิต

การที่คนๆ หนึ่งจะสามารถทำให้ทุกคนพอใจได้นั้น ทางเดียวที่ทำได้ก็คือ ใส่ใจกับความเห็นและความรู้สึกของคนอื่น คอยเอาอกเอาใจคนเหล่านั้นอยู่เสมอ

เราไม่อาจทำให้ทุกคนพอใจได้ มันคือเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ เป็นความรับผิดชอบที่เกินหน้าที่ สุดท้ายมันจะมีจังหวะที่เราต้องทำให้ใครบางคนไม่พอใจ แล้วเค้าก็จะสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเรา

ถ้าเราใช้ชีวิตโดยมุ่งที่จะเป็นที่ชอบของคนอื่นนั้น มันก็เหมือนกับการยกชีวิตของตัวเองให้คนอื่น ไม่มีใครต้องการเป็นที่ชังของคนอื่น แต่ถึงแม้จะพยายามแค่ไหน สุดท้ายก็ยังมีคนที่ไม่ชอบเรา

การใช้ชีวิตโดยพยายามหลีกเลี่ยงการทำให้คนอื่นไม่ชอบนั้น ก็เหมือนกับการตกเป็นทาส เหมือนกับก้อนหินที่กลิ้งตกลงมาจากเขา ไม่มีพลังต่อต้าน ไม่อาจหนีจากแรงโน้มถ่วงของโลก แต่คนเราไม่ใช่ก้อนหิน เรามีชีวิตมีความสามารถที่จะต่อต้านการกลิ้งตก เราสามารถหยุดและปีนกลับขึ้นไปได้

ความต้องการเป็นที่ยอมรับนั้นเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป ถ้าเรายอมทิ้งตัวกลิ้งตกลงมาเพื่อแลกกับการยอมรับของคนอื่น จนกระทั่งเรากลายเป็นคนลื่นไหล และสุดท้ายกลายเป็นก้อนหินกลมเกลี้ยงก้อนเล็กๆ

อิสรภาพคือการต่อต้านสัญชาตญาณและความต้องการโดยธรรมชาติ อิสรภาพคือการที่มีคนไม่ชอบเรา

การที่มีคนไม่ชอบมันเป็นหลักฐานที่บอกว่าเราได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ ชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องทำให้คนอื่นพอใจ ไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นยอมรับ เป็นเครื่องหมายที่บอกว่าการใช้ชีวิตของเรานั้นสอดคล้องกับหลักการของเราเอง

อิสรภาพในการใช้ชีวิตมีราคา สิ่งที่เราต้องแลกคือการมีคนไม่ชอบเรานั่นเอง

ไม่แทรกแทรงชีวิตของคนอื่น

ถ้าเด็กที่ได้คะแนนต่ำ ผู้ปกครองก็จะเข้าแทรกแทรงโดยการเข้มงวดมากขึ้น เพราะเค้าคิดว่าการมีวินัยคือคำตอบ

แต่โชคร้ายที่เค้าคิดผิด การเข้าแทรกแทรงชีวิตของคนอื่นไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเราแต่ละคนต้องเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบชีวิตและการกระทำของตัวเอง

ดังนั้นถ้าผู้ปกครองเริ่มลงโทษลูกของตัวเอง บีบบังคับให้เรียนหนักขึ้น เด็กก็จะไม่รักในการเรียน แต่จะเรียนเพียงเพราะทำให้พ่อแม่สบายใจ เพราะเชื่อฟังคำสั่งของพ่อแม่ เพราะป็นสิ่งที่ต้องทำ การไปเรียนเป็นสิ่งจำเป็น เป็นกิจวัตร เป็นข้อผูกมัดที่ต้องทำตาม มันเลี่ยงไม่ได้

การเรียนรู้เป็นหน้าที่ของเด็ก ดังนั้นหากผู้ปกครองควบคุมและสั่งให้เด็กเรียนจึงเป็นการแทรกแทรงหน้าที่ของคนอื่น เราต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่แล้วดูว่า การเรียนรู้แท้จริงแล้วมันเป็นหน้าที่ของใคร ใครคือคนที่จะได้ผลลัพธ์หรือได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเรียน

เมื่อเด็กตัดสินใจเลือกที่จะไม่เรียน สุดท้ายแล้วผลลัพธ์มันจะเกิดกับตัวเด็กเอง ทำให้เรียนไม่ทันเพื่อน ทำให้ผลการเรียนแย่ คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือตัวเด็ก ไม่ใช่ผู้ปกครอง

แต่หากผู้ปกครองมองเห็นเป้าหมายของการเรียนคือให้ดูดีในสายตาของสังคม มันจะทำให้เกิดความอยากที่จะเข้าแทรกแทรงและควบคุม และไม่มีใครชื่นชอบการบังคับ เด็กก็จะต่อต้าน ถึงแม้เด็กจะเรียน แต่ก็ทำไปเพราะเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องสอนให้เด็กรู้ว่าการเรียนเป็นหน้าที่ของเด็ก และให้รู้ว่าเค้าจะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี ไม่ว่าผลการเรียนจะเป็นอย่างไร

การให้ความช่วยเหลือสนับสนุนนั้น ก็เหมือนกับการจูงม้าไปยังบ่อน้ำ ที่เราไม่อาจดื่มแทนมันได้

การบีบบังคับคนอื่นให้เปลี่ยนแปลงโดยไม่สนใจความต้องการของคนนั้น มีแต่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ในรูปของการต่อต้าน

ถึงแม้จะเป็นห่วงและอยากเข้าแทรกแทรง แต่ก็ต้องรู้จักขีดเส้นกั้นไว้ ไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของใคร เด็กก็มีชีวิตเป็นของตัวเอง ไม่ได้มีหน้าที่ที่จะตอบสนองความต้องการของใคร

เราต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ไม่ว่าเราจะคิดว่าตัวเองโดดเดี่ยวอยู่ตามลำพัง แต่ยังไงก็ตาม เราก็ไม่อาจตัดขาดจากสังคม ยังไงทุกคนก็ต้องเชื่อมต่อกับสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

คนที่ไม่สามารถแยกแยะขอบเขตหน้าที่ของตัวเอง คนที่ยุ่งอยู่กับการทำให้คนอื่นยอมรับ คือคนที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง

คนที่คอยแต่จะเอาใจคนอื่น คนที่ต้องการการยอมรับจากคนอื่นนั้น ดูเหมือนมองและสนใจคนอื่นแต่แท้จริงแล้วคนเหล่านั้นมองแต่ตัวเอง ไม่ห่วงใยคนอื่น สนใจแต่ตัวเองเท่านั้น และเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง

คนเหล่านี้สนใจแค่ว่าคนอื่นจะคิดกับเรายังไง หรือมองเรายังไง คนที่กลัวคนอื่นตัดสิน คนที่กังวลว่าคนอื่นจะมองตัวเองยังไง

เราแต่ละคนนั้นเป็นสมาชิกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เรารู้สึกได้ถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ความรู้สึกของการมีที่อยู่ในสังคม เรารู้สึกว่าเราอยู่ในสังคมนี้ได้

ตัวตนของเรานั้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของสังคม ดังนั้นอย่าแผ่ขยายอีโก้ของตัวเองมากเกินตัวเอง

คนที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของสังคมมักจะเป็นคนที่เชื่อว่า คนอื่นๆ มีหน้าที่รับใช้ตัวเองและจะต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกของตัวเอง

คนเหล่านี้คอยถามว่า คนอื่นๆ จะทำอะไรให้ตัวเองได้บ้าง เวลาเจอใคร ก็จะคอยถามว่าคนนี้ทำอะไรให้เราบ้าง ทำตัวเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชาย คนเหล่านี้ไม่รู้ว่าแต่ละคนไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่เพื่อตอบสนองความต้องการของใคร

การที่เราจะอยู่ในสังคมได้โดยที่ยังคงความรู้สึกว่า เราอยู่ในสังคมนี้ได้ เราต้องรู้จักทำอะไรให้สังคม ไม่ใช่แค่อยู่ในสังคมเท่านั้น แต่ยังต้องทำอะไรให้สังคมด้วย

จิตวิทยาของอัลเฟรด แอดเลอร์ บอกว่าเรามีจุดประสงค์หลักอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ การพึ่งพาอาศัยตัวเองและการใช้ชีวิตสอดคล้องกับคนในสังคม การที่จะบรรลุจุดประสงค์เหล่านี้ได้นั้น เราจึงต้องมีความสามารถและเป็นมิตรกับคนทั่วไป

การที่จะอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างสบายใจนั้น เราต้องมีใจให้สังคม เราจะต้องถามว่า เราจะทำอะไรให้สังคมได้บ้าง

การมีใจให้สังคม คือการเปลี่ยนจากการยึดติดกับตัวเองแล้วเปลี่ยนไปมีใจให้สังคม ห่วงใยคนอื่นในสังคม เห็นประโยชน์ของส่วนรวม

การยอมรับตัวเอง คือการยอมรับว่านี่คือตัวเรา เราทำได้เท่านี้ มีความสามารถเท่านี้ แล้วเราจะใช้ประโยชน์จากความสามารถนี้ได้ยังไงบ้าง ยอมรับในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และกล้าที่จะเปลี่ยนสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงได้

สิ่งสำคัญคือยอมรับตัวเองและเชื่อใจคนอื่น การเชื่อใจคนอื่นคือการมองคนอื่นเป็นมิตร

คุณค่าของตัวเองนั้นวัดได้จากความรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ต่อสังคม อยู่ที่ว่าเราทำอะไรให้สังคมได้บ้าง และเราต้องเป็นคนเริ่ม ถึงแม้ว่าคนอื่นๆ จะไม่ให้ความร่วมมือ แต่นั่นก็ไม่เกี่ยวกับเรา สิ่งที่เราทำได้คือเริ่มต้นลงมือทำให้สังคม

กล้าที่จะเป็นคนธรรมดา กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง

เราต่างก็เปลี่ยนและพัฒนาตัวเองได้มากขึ้นตามที่ต้องการ แต่มันก็ต้องแลกกับการที่เราอาจต้องเจ็บตัวและผิดหวังด้วยเช่นกัน ความสำเร็จและชีวิตที่มีความสุขอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม โดยการเรียนรู้ที่จะไม่แคร์ว่าคนอื่นคิดยังไง และมุ่งทำเพื่อส่วนรวม

ถึงแม้ว่าจะมีคนไม่ชอบเรา ตราบใดที่เรายังมุ่งไปข้างหน้า มุ่งไปยังเส้นทางของการทำเพื่อคนอื่น เราก็จะไม่หลงทาง และเราก็มีอิสระสามารถทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ

ความสุขเกิดจากความรู้สึกที่มีต่อสังคม การมีใจให้สังคมทำให้ความต้องการให้คนอื่นยอมรับหายไป คุณค่าของตัวเรานั้นวัดได้จากความรู้สึกถึงประโยชน์ของตัวเอง การได้ทำอะไรให้คนอื่นๆ ในสังคม

การวางแผนและความพยายามเป็นหนทางสู่ความสำเร็จในอนาคต แต่การใช้ชีวิตให้เต็มที่นั้นทำได้โดยอยู่กับปัจจุบัน เราจะฝันอะไรก็ได้ แต่อย่าผัดวันประกันพรุ่งในการใช้ชีวิตในปัจจุบัน อย่ามัวแต่ไล่ตามความฝัน หรือรอทำฝันให้เสร็จก่อนค่อยใช้ชีวิต แทนที่จะจริงจัง ก็ควรใช้ชีวิตให้เต็มที่ เต็มที่แต่ไม่จริงจัง ความพยามทำให้เกิดความสำเร็จ แต่มันก็ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบหรือดีที่สุดเสมอ

อยู่กับปัจจุบัน ใช้ชีวิตให้เต็มเปี่ยมเต็มที่ ไม่ต้องมองไปยังอดีต ไม่ต้องสนใจอนาคต ชีวิตของแต่ละคนในตอนนี้สมบูรณ์ในตัวมันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับใคร ไม่ต้องคิดถึงจุดหมายปลายทาง ตราบใดที่เรายังคงก้าวต่อไป เราก็จะไปถึงสักที่หนึ่ง ที่ๆ ไม่มีใครรู้

Like what you read? Please share it with your friends so we can get their thoughts!

Previous ArticleNext Article

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *