
ความรู้แตกต่างจากความเข้าใจ ลำพังเพียงแค่รู้ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าใจสิ่งนั้นจริงๆ ความเข้าใจจะเกิดขึ้นได้หลังจากที่ใช้ความเพียรพยายามในการเปลี่ยนแปลงสมอง ฝึกฝนเรียนรู้วิธีใหม่ๆ และสนุกไปกับการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ในแต่ละวัน
เราครุ่นคิดถึงความหมายของ “ความเข้าใจ” มาสักระยะ พยายามทำความเข้าใจ “ความเข้าใจ” ว่าแท้จริงมันคืออะไร ในบทความนี้เราจะทำความเข้าใจคำที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจ เช่น ความรู้ ปัญญา ความเข้าใจ และความเข้าใจเชิงลึก ซึ่งทั้ง 4 คำ หรือความเข้าใจทั้ง 4 ระดับนี้ต่างก็สำคัญกับชีวิตเรา
เรามาเริ่มต้นที่ความหมายของความเข้าใจในภาษาอังกฤษกันก่อน (Understanding) การจะเข้าใจเราต้องยืนอยู่ใต้สิ่งที่เรากำลังทำความเข้าใจ ช่างเป็นวิธีการทำความเข้าใจที่ดี
If you want to understand something, learn to stand under it. If you stand over it, you are over-standing.
Stand under something น่าจะเป็นคำอธิบาย เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจที่น่าสนใจ เพราะเมื่อเรายืนอยู่ใต้สิ่งที่เราอยากทำความเข้าใจ มันจะบังคับให้เราต้องมองขึ้นไปข้างบน และมันจะบังคับให้เราหยุดสนใจสิ่งอื่นๆ และใส่ใจเฉพาะสิ่งที่อยู่ข้างบนเท่านั้น
เวลาที่เรามองสิ่งที่อยู่ข้างบน ตาเราจะมองเห็นรายละเอียดของมันมากขึ้น ลองใช้เวลามองดูมันให้นานขึ้นอีก สังเกตสิ่งที่ตาเรามองเห็น ทำความเข้าใจโดยที่ไม่ใช้อคติ ไม่คิดเอนเอียง ไม่สันนิษฐาน
บางทีเราอาจจะเห็นมันเป็นมากกว่าวัตถุอย่างที่เราเห็นในตอนแรก เราจะเริ่มเห็นเบื้องหลังของสิ่งนั้น เริ่มเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ที่ผ่านมา เห็นความใส่ใจในรายละเอียดของผู้ที่สร้างสิ่งนั้น แล้วเราจะเห็นว่าตาของเรานั้นมองเห็นได้มากกว่าที่สมองแยกแยะได้
การทำความเข้าใจจึงเป็นเรื่องน่าสนใจและสำคัญ การจะเข้าใจใครสักคน เราอาจต้องยกคนนั้นให้อยู่เหนือเรา ให้ความสำคัญและใช้เวลาทำความเข้าใจเค้าจริงๆ
เรารู้ว่าความไม่รู้มี 5 ระดับจากบทความ ความไม่รู้ทั้ง 5 ระดับ ส่วนในบทความนี้เราจะทำความรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ความเข้าใจ ความเข้าใจทั้ง 4 ระดับ

ความรู้ (Knowledge) คืออะไร
ความรู้เกิดจากการรับรู้จากข้อมูล ข่าวสาร การบอกเล่า ความรู้คือสิ่งที่เราได้มาจากการอ่านหนังสือ จากครูสอนในโรงเรียน ดูสื่อการสอนใน Internet
เราสามารถแบ่งความรู้ออกเป็น 2 ส่วน ความรู้ที่เรียกว่า Knowing-that ซึ่งเป็นคนละอย่างกับ Knowing-how ช่องว่างหรือความแตกต่างของทั้งสองนั้นอยู่ที่ประสบการณ์
Knowing-that คือการที่รู้ว่าอะไรจริง และสิ่งนั้นต้องเป็นจริง เช่น เราไม่สามารถบอกได้ว่าเรารู้ว่า 1+1 เท่ากับ 3 เราไม่สามารถบอกได้ว่าเรารู้ว่าโลกนี้แบน เพราะมันไม่เป็นจริง
และถ้าเรารู้ นั่นหมายถึงเราก็ต้องเชื่อสิ่งนั้นด้วย เช่น เป็นไปได้ว่าคนติดเชื้อ Covid-19 สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้มากกว่า 2 คน แต่ถ้าเราไม่เชื่อ ก็ไม่สามารถอ้างว่ารู้เรื่องนี้ได้ แต่ลำพังความเชื่อก็ไม่สามารถอ้างได้ว่ารู้ แต่จะต้องมีเหตุผลสนับสนุน มีหลักฐานยืนยันด้วย
Knowing-how คือการที่รู้ว่าทำยังไง นั่นคือสามารถทำสิ่งนั้นได้ภายใต้สถานการณ์ปกติ หากเรารู้ว่าจะสตาร์ทรถยนต์ยังไง ถ้าไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น เช่น แบตเตอรี่รถยนต์หมด เราก็คงสตาร์ทรถยนต์ได้
แต่การที่รู้ว่าทำยังไงนั้น จะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งที่ทำกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นด้วย หากมีเด็กอยู่ในรถเผลอกดปุ่มสตาร์ทขณะที่พ่อแม่กำลังเหยียบเบรคแล้วเครื่องยนต์ทำงาน ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กคนนั้นรู้จักการสตาร์ทรถยนต์
การศึกษาในระบบโรงเรียนมักจะเน้นไปที่ความรู้ที่เรียกว่า Knowing-that อาจสอนให้เด็กรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ แต่ไม่ได้ทำให้เด็กเข้าใจจริงๆ ดังนั้นระบบโรงเรียนจึงสอนให้เด็กได้รู้เพียงแค่บางส่วนของความรู้เท่านั้น
Knowledge of the future grants power over the present.
ในปัจจุบัน Internet ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายดาย แต่การจะได้ความรู้มานั้น เราจะต้องใช้เวลาและความพยายามในการเรียนรู้จากการอ่าน การสังเกต เข้าเรียน ทำความคุ้นเคยกับหัวข้อต่างๆ หากไม่มีความสนใจและขาดแรงจูงใจ ก็ยากที่จะได้ความรู้มา
ความรู้สามารถช่วยเราให้เป็นคนฉลาด ทำให้เรียนได้เกรดดี พนักงานที่มีความรู้ก็สามารถทำกำไรให้บริษัท ความรู้เรื่องสุขภาพก็ทำให้มีสุขภาพมีความสัมพันธ์ที่ดี และเอาชนะอุปสรรคผ่านความยากลำบากในชีวิตได้ ความรู้คือพลัง ที่ทำให้เราเข้มแข็งและช่วยให้เราได้เปรียบในการใช้ชีวิต

ปัญญา (Wisdom) คืออะไร
คนที่มีปัญญาคือคนที่มองเห็นความจริงของชีวิต เห็นความท้าทายความยากลำบากของการใช้ชีวิต แต่คนที่มีปัญญาก็ไม่ละทิ้งความหวัง ถึงแม้สิ่งต่างๆ มันยุ่งยากซับซ้อน แต่ก็ยังเดินหน้าต่อเนื่องไปด้วยใจสงบ ไม่ตื่นตระหนกกับปัญหาหรือกังวลจากความไม่แน่นอน
คนที่มีปัญญาคือคนที่รู้ว่ามันอาจเกิดเรื่องร้ายขึ้นได้ แต่ก็ยังสงบใจ ยังใช้ชีวิตต่อไปได้แม้จะอยู่ในสภาวะไม่ปกติ ก็ยังคงรู้สึกดีในวันที่แดดออก ยังชื่นชมดอกไม้ที่แทรกตัวผ่านรอยแตกของกำแพงหรือต้นไม้ที่ยังคงงอกกิ่งอ่อนใหม่ขึ้นมาจากตอ คนที่มีปัญญารู้ว่าจะต้องพบกันวันที่ยากลำบาก แต่ยังคงมองเห็นคุณค่าความงามได้ในทุกที่
คนที่มีปัญญาคือคนที่รู้ว่ามนุษย์คือลิงที่เพิ่งผ่านวิวัฒนาการมาไม่นาน ก็ยังคงมีความไร้เหตุผลอยู่บ้าง บางครั้งก็ทำตัวไร้สาระ เกิดอารมณ์แปรปรวน เกิดความต้องการที่ขัดแย้งกันภายใน คนที่มีปัญญามีสติรู้ว่าบางครั้งเราก็ทำตัวไร้สาระบ้าบอไม่มีแหตุผล แต่ก็พยายามลดความบ้านั้นลง
คนที่มีปัญญาคือคนที่ไม่ซีเรียสจนเกินไป สามารถหัวเราะให้กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ตัวเองทำผิดพลาด คนมีปัญญารู้ดีว่าบางครั้งสิ่งที่เราคิดว่ามันจะเกิดขึ้น แต่สุดท้ายมันก็เป็นอีกอย่าง
คนที่มีปัญญาคือคนที่รู้ว่าไม่อาจเปลี่ยนใจคนได้ง่าย คือคนที่มองเห็นความแตกต่างระหว่างบุคคล แต่ก็ยังมองเห็นความเหมือนร่วมกันได้ คนที่มีปัญญาสามารถอยู่ร่วมกันกับคนอื่นๆ ได้ทั้งที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน
คนที่มีปัญญาคือคนที่ไม่ด่วนตัดสินคนอื่น รู้ดีว่าแต่ละคนนั้นต่างก็เครียดและพยายามทำเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง มันจึงดูเหมือนว่าแต่ละคนนั้นเห็นแก่ตัว คนที่มีปัญญารู้ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นเพียงผลลัพธ์จากอีโก้ของแต่ละคนที่พยายามแย่งชิงทรัพยากรที่ต่างเข้าใจว่ามีจำกัด ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจที่จะเป็นคนเลว คนที่มีปัญญาสามารถให้อภัย เห็นใจคนเหล่านั้นที่อาจพบกับความยากลำบากในชีวิต ที่ต้องพบกับความผิดหวัง
คนที่มีปัญญาเข้าใจและให้อภัยในความไม่รู้ของคนอื่น เข้าใจว่าทำไมบางคนถึงไร้น้ำใจ ทำไมบางคนไร้เหตุผล ทำไมบางคนถึงใจร้าย คนมีปัญญารู้ว่ามันมีที่มาคนเหล่านั้นอาจมีอดีตที่เจ็บปวด
คนที่มีปัญญาเข้าใจคุณค่าของความมั่งคั่ง ชื่อเสียงเงินทอง หน้าตาดีภาพลักษณ์ดีในสังคม การมีสุขภาพมีครอบครัวที่ดี มีที่อยู่อาศัยมั่นคงปลอดภัยในชีวิต คนที่มีปัญญารู้ดีว่าสุดท้ายแล้วปัจจัยที่จำเป็นจริงๆ นั้นมีเพียงแค่ไม่กี่อย่าง เช่น อาหาร น้ำดื่ม และที่อยู่อาศัย
หากความรู้คือพลัง ปัญญาก็จะเป็นการใช้พลังนั้นในการตัดสินใจ ใช้ความรู้นั้นสร้างสรรค์หรือใช้เพื่อทำลาย ใช้ความรู้เปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของเรา
ปัญญาคือความสามารถในการตัดสินใจโดยใช้ความรู้ที่มี
หากไม่มีความรู้ ก็ไม่เกิดปัญญา เพราะเราจะไม่มีตัวเลือกไม่มีพลังที่จะใช้เปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ หากไม่มีความรู้ ความคิดเราก็เป็นได้เพียงความคิด ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง
จะมีปัญญา เราจะต้องมีความรู้ก่อน และใช้ความรู้นั้นในการตัดสินใจ และต้องใช้ความกล้า ความมั่นใจในการตัดสินใจ คนจะไม่มีปัญญาหากไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี ปัญญาช่วยให้เราเลือกใช้ความรู้เพื่อทำสิ่งที่ดีและถูกต้อง

ความเข้าใจ (Understanding) คืออะไร
ซีรีเบลลัม (Cerebellum) หรือ สมองน้อย ที่อยู่ด้านหลังที่คอยทำหน้าที่ประสานงาน รักษาสมดุล และอีกหลายอย่างที่เราคาดไม่ถึง เราอาจเรียกสมองส่วนนี้ว่าเป็น สมองส่วนสัญชาติญาณ (Intuitive brain)
ในขณะที่ความจำเพื่อใช้งาน (Working memory) และการเคลื่อนไหวที่เรารู้ตัวนั้นอยู่ในส่วนของสมองที่เรียกว่าซีรีบรัม (Cerebrum) หรือ สมองใหญ่
ซีรีบรัมอยู่ด้านหน้าของสมองและทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่เรารู้ตัว มันเป็นสมองส่วนที่ทำให้แสดงออกทางความคิดและลงมือทำ
ในขณะที่เรากำลังพิมพ์บทความนี้ สมองส่วนซีรีบรัมก็จะคิดถึงคำที่จะพิมพ์ ส่วนสมองซีรีเบลลัมก็จะคอยสั่งการให้นิ้วมือเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งบนคีย์บอร์ด
หากเราเกิดเปลี่ยนคีย์บอร์ดใหม่หรือย้ายตำแหน่งของคีย์ ก็จะทำให้สมดุลถูกทำลายลง สมองส่วนซีรีเบลลัมเกิดความสับสน ถึงแม้ว่าสมองส่วนซีรีบรัมจะรู้ดีว่าตำแหน่งใหม่นั้นอยู่ตรงไหน แต่ก็อาจต้องใช้เวลานานว่าที่สมองทั้งสองส่วนจะเข้าใจตรงกันและประสานงานกันได้ลงตัวอีกครั้ง
ดังนั้นถึงแม้ว่าเราจะรู้เรื่อง คิดว่าเข้าใจข้อมูลใหม่ดีแค่ไหน แต่สัญชาตญาณ อารมณ์และความรู้สึก สิ่งเหล่านี้จะไม่ได้เปลี่ยนได้ภายในวันสองวัน ถึงแม้สมองส่วนที่ใช้คิดจะรู้ว่าอะไรไม่ดีสำหรับเรา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสัญชาตญาณจะเข้าใจตรงกัน
ในการทำความเข้าใจนั้น เราต้องทำให้สมองส่วนซีรีเบลลัมและซีรีบรัมเข้าใจตรงกัน หากเราเข้าใจเพียงแค่ระดับของซีรีบรัม ตอนที่เราลงมือทำจริงสมองส่วนซีรีเบลลัมจะยังไม่เข้าใจ และยังทำแบบเดิมอยู่ มันก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้น เราคิดว่าจะทำอย่างหนึ่ง แต่ระบบอัตโนมัติของเราดันทำอีกอย่าง
ความเข้าใจเกิดจากการลงมือทำ ทำเพื่อให้ร่างกายเราได้เรียนรู้ ให้สมองทั้งสองส่วนเข้าใจตรงกัน หลังจากได้ลงมือทำเท่านั้น เราจึงจะเกิดความเข้าใจที่แท้จริงได้
ยกตัวอย่างเช่น ในห้องเรียนที่เราฟังครูสอน ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด ทฤษฏี อะไรก็ตามที่เราฟังแล้วรู้เรื่อง แต่เราจะยังไม่เข้าใจจนกว่าจะได้เอาทฤษฏีนั้นไปปฏิบัติ เอาแนวคิดวิธีการนั้นไปลองทำจริงๆ
การจะเข้าใจนั้น เราต้องมีทั้งความรู้และปัญญา และนำเอาทั้งสองอย่างมาลงมือทำ จะต้องรู้ ต้องตัดสินใจ และฝึกฝนทางเลือกนั้น หากไม่ฝึกฝนหรือลงมือทำจริง ก็จะไม่เข้าใจจริงๆ

ความเข้าใจเชิงลึก (Insight) คืออะไร
ความเข้าใจเชิงลึกคือความเข้าใจในเหตุและผล ที่มาที่ไปของข้อมูล ลำพังเพียงแค่การสังเกต แค่มีความรู้ยังไม่พอที่จะเรียกว่ามีความเข้าใจเชิงลึก แต่จะต้องเพียรพยายาม ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ความอดทน ในการคิดวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อแปลงข้อมูลให้กลายเป็นความเข้าใจเชิงลึก
ความเข้าใจเชิงลึกคือการที่เรามีความรู้ เราใช้ปัญญาเลือกที่จะเอาความรู้มาใช้ เราลงมือทำจริง ความเข้าใจเชิงลึกเกิดจากการลงมือทำซ้ำๆ จนเชี่ยวชาญ จนกระทั่งเราได้แง่คิดบางอย่างที่ผุดขึ้นมา
ความเข้าใจเชิงลึกช่วยให้เรานำเอาประสบการณ์จากการลงมือทำไปใช้ในการพลิกแพลง ทำให้เราเกิดความมั่นใจ เกิดความได้เปรียบในอนาคต
ลองนึกถึงตอนที่เราเรียนรู้ที่จะวิ่ง เราศึกษาวิธีการวิ่งที่ถูกต้อง เช่น ฟอร์มการวิ่ง จังหวะการหายใจ เทคนิคการดริล การฝึกแบบ Polarized training ล้วนเป็นความรู้ที่เราศึกษาได้
เราใช้ปัญญาในการเลือกว่าจะใช้วิธีไหนในการพัฒนาการวิ่งของเราให้ดีขึ้น จากนั้นจึงเริ่มต้นลงมือทำ ทดลองเอาไปใช้งานจริง
จากนั้นเมื่อเราลงมือทำบ่อยๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญ จนร่างกายเราซึมซับเอาความรู้นั้น สมองทั้งสองส่วน ซีรีเบลลัมและซีรีบรัม ต่างก็เข้าใจตรงกัน
หลังจากนั้นเราก็จะเกิดความมั่นใจ และสามารถนำไปประยุกต์กับการทำกิจกรรมอื่นๆ หรือแม้กระทั่งคิดรูปแบบได้เอง คิดค้นเทคนิคและทดลองได้เอง นั่นคือความก้าวหน้าของเราจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
ความเข้าใจเชิงลึกคือความสามารถในการนำเอาความรู้ ปัญญา และความเข้าใจมาลงมือทำจนเกิดเป็นนิสัยหรือเกิดเป็นไลฟ์สไตล์ หากความรู้คือพลัง ปัญญาคือการเลือกใช้พลัง ความเข้าใจคือการลงมือทำ สุดท้าย ความเข้าใจเชิงลึกจะเกิดขึ้นจากการทำสิ่งนั้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดความมั่นใจ
ดังนั้นก่อนจะเกิดความเข้าใจเชิงลึกนั้น จะต้องมีทั้งความรู้ มีปัญญา มีความเข้าใจ โดยการฝึกฝนและย้อนกลับไปทบทวน ทำให้เกิดความเข้าใจเชิงลึก ทำให้เกิดความต่อเนื่องและแน่นอน หากไม่ฝึกฝน ไม่อดทน ไม่ควบคุมตัวเอง ไม่มีวินัย ก็ยากที่จะเกิดความเข้าใจเชิงลึก
ความเข้าใจเชิงลึกทำให้เรามีความสุขและมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะมันคือความสามารถในการฝึกฝนการใช้ความรู้และปัญญาอย่างต่อเนื่อง มันจะทำให้อนาคตของเรามีความแน่นอนและเป็นไปตามที่เราต้องการ ทำให้เราไม่กลัว ไม่กังวล
