การพัฒนาตนเอง

Zen Mind จิตใจของผู้เริ่มต้นฝึกฝน

คนเริ่มต้นใหม่จะมองเห็นความเป็นไปได้มากมาย หากมีความตั้งใจจริงที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ถึงแม้จะต้องลงทุนเพื่อให้ได้มันมา การรักษาจิตใจของคนที่เริ่มต้นใหม่เสมอนั้น สุดท้ายจะทำให้เราสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ทำให้เราสามารถนำเสนอผลงานใหม่ที่ต่างจากคนอื่นๆ

Vuja De คือการเปลี่ยนประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ทำให้รู้สึกว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น เป็นการมองสิ่งเดิมๆ ในมุมใหม่ ตรงข้ามกับ Deja vu

นั่นเป็นแนวคิดหลักสองอย่างที่เกิดขึ้นก่อนที่จะเปิดอ่านหนังสือ Zen Mind, Beginner’s Mind: Informal Talks on Zen Meditation and Practice

นั่นเป็นความคาดหวังว่าจะได้อ่านและเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ จิตใจของคนที่รักการเรียนรู้ แต่พออ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว กลับพบว่าเราไม่ควรคาดหวังผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมใดๆ

ถึงแม้จะไม่ตรงกับความคิดก่อนอ่าน แต่หนังสือเล่มนี้ก็ยังช่วยเราได้ในชีวิตประจำวัน หลายคนอาจพบว่าตัวเองกระวนกระวายใจ เครียดกังวลไปกับการใช้ชีวิตในสมัยใหม่ มักจะติดกับดักที่ยากจะหลุดออกมาได้ ยุ่งอยู่กับอีเมล วุ่นวายกับการประชุม ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ งานสังคม ความสัมพันธ์ เป้าหมายส่วนตัว

ถึงแม้จะรู้ว่าเราคงไม่ได้ทุกอย่าง แต่ก็ยังดิ้นรนพยายามทำให้ได้สมบูรณ์แบบที่สุด สถานะทางสังคม หน้าที่การงาน เงิน บางทีสิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจริงๆ อาจเป็นเพราะสังคมพยายามนำเราไปผิดทางและยึดติดกับมัน

Zen Mind เป็นหนังสือที่ให้เราหมั่นฝึกฝนโดยไม่ยึดติด เป้าหมายของการฝึกคือเพื่อให้รักษาจิตใจของผู้เริ่มต้นเอาไว้ ซึ่งเป็นจิตใจที่พอเพียงอยู่แล้ว จิตใจที่มีพื้นที่ว่างและเปิดกว้างพร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา

ในจิตใจของผู้เริ่มต้นจะไม่มีคำว่าบรรลุ ไม่มีการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง นั่นทำให้เราสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ จิตใจของผู้เริ่มต้นเป็นของผู้ที่นึกถึงคนอื่นๆ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นโดยไม่มีขอบเขต

สิ่งสำคัญคือการรักษาจิตใจของผู้เริ่มต้นเอาไว้ ไม่จำเป็นต้องเข้าใจ Zen ให้ถ่องแท้ และถึงแม้จะศึกษา Zen มากแค่ไหนก็ต้องรักษาจิตใจของผู้เริ่มต้นเอาไว้ ไม่ต้องบอกใครๆ ว่าเรารู้ว่า Zen คืออะไร หรือบอกว่าตัวเองบรรลุแล้ว

ถึงแม้หนังสือเล่มนี้จะเกี่ยวข้องกับการฝึกฝน Zen แต่แนวคิดหลายอย่างเราสามารถนำไปใช้ได้กับเรื่องอื่นๆ ใช้กับการฝึกฝนในชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องงาน เรื่องวิ่ง นั่งสมาธิ

การฝึกฝนที่ถูกต้อง

การเรียนรู้โดยการอ่านจำเป็นสำหรับการรับเอาสิ่งใหม่ๆ แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือการฝึกฝน และไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร ก็ควรทำให้ถูกต้อง ถูกกระบวนท่า จะขับรถหรืออ่านหนังสือก็ต้องนั่งดีๆ นั่งให้ถูกต้อง มันจะทำให้เราไม่ต้องพะวงกับท่านั่ง นอกจากนั้นการนั่งสบายๆ จะทำให้เราง่วงได้ง่าย

หากต้องการให้ความสงบเกิดขึ้นในจิตใจ เราไม่ควรใส่ใจกับภาพความคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหัว พยายามทำให้เกิดพื้นที่ว่าง เพียงแค่เฝ้ามองดูความคิด ไม่ต้องพยายามควบคุม ปล่อยให้มันไหลเข้ามา และปล่อยให้มันไหลออกไป

ความพยายามที่จะควบคุมให้ใจสงบจะทำให้เราไม่สามารถนั่งได้ ถ้าเราพยายามไม่ให้มีสิ่งรบกวน ความพยายามนั้นก็สูญเปล่า ความพยายามเดียวที่ได้ผลคือการสนใจแต่ลมหายใจเข้าออก แต่นั่นก็ยังไม่ใช่จุดมุ่งหมาย จุดมุ่งหมายที่แท้จริงเป็นการเฝ้ามองสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็นจริงๆ และปล่อยให้มันเป็นไป

ถ้าเราพยายามหยุดคิด นั่นหมายถึงเราถูกรบกวนโดยความคิด อย่าพยายามหยุดคิด แต่ปล่อยให้ความคิดเกิดขึ้นจนกว่ามันจะหายไป มันอาจจะใช้เวลานานกว่าที่จิตใจจะสงบลงได้ พยายามสนใจแต่ลมหายใจเข้าออกจนกระทั่งเราไม่สนใจมัน

เราควรจะขอบคุณทุกความคิดที่เกิดขึ้น เพราะมันทำให้เราได้ฝึกฝน ทำให้เราได้รับประสบการณ์ที่มีความคิดรบกวนเกิดขึ้น ทำให้การฝึกนั้นก้าวหน้าขึ้น ทำให้รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง

การรวบรวมสมาธิสนใจแต่ลมหายใจเข้าออกนั้น จะช่วยทำให้เราค้นพบจิตใจที่เป็น Big mind นั่นคือจิตใจของทุกๆ สิ่ง

สำหรับผู้เริ่มต้น จำเป็นต้องฝึกฝนด้วยความพยายามอย่างหนัก ต้องยืดแขนเหยียดขาให้สุด การฝึกฝนที่ถูกต้อง ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเป็นผู้ฝึกฝนที่เก่ง ไม่ต้องมีพรสววรค์ เพราะคนที่ไม่เก่ง คนที่มีอุปสรรคในการฝึกนั้นจะค้นพบความหมายของมันได้ดีกว่า

เป้าหมายของการฝึกคือการได้ฝึกเช่นนี้ตลอดไป โดยไม่ยึดติดกับการได้รับหรือบรรลุ เพียงแค่แสดงตัวตนของตัวเอง แสดงออกให้เป็นธรรมชาติที่สุด

ทัศนคติที่ถูกต้อง

ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดหมาย ไม่มีสิ่งที่เราจะได้รับ เป้าหมายของการฝึกฝนไม่ใช่เพื่อให้บรรลุ แต่เป็นการแสดงออก แสดงธรรมชาติของตัวเองออกมา

อย่าสนใจใน Zen มากเกินไป ไม่ต้องตื่นเต้น ไม่ต้องถึงกับลาออกจากโรงเรียน หรือเข้าป่าไปฝึกฝน การฝึก Zen ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น แต่เป็นการสนใจกิจกรรมที่เราทำเป็นประจำ ถ้าใจเรายุ่งหรือตื่นเต้นก็จะทำให้ใจเราหยาบ ยากที่จะทำให้สงบลงได้

เพียงแค่ทำใจให้สงบ ค่อยๆ ฝึกฝน ค่อยๆ สร้างบุคลิกของตัวเอง ถ้าจิตใจเรายุ่งวุ่นวายหรือตื่นเต้น ก็จะทำให้เราไม่มีเวลาในการสร้างและทำให้การฝึกนั้นเสียเปล่า

ในการฝึกเราต้องกำจัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป บางครั้งเวลาที่เราฝึกสำเร็จจะทำให้เกิดความรู้สึกภูมิใจ ความรู้สึกภูมิใจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและต้องกำจัดออกไป เพราะมันจะทำให้การฝึกมัวหมองไม่บริสุทธิ์ เราต้องทำให้การฝึกเป็นเพียงแค่การฝึก ไม่หวังว่าจะได้อะไร

ถ้าเราพยายามมองบางสิ่งบางอย่าง สิ่งนั้นมันก็อาจหายไป แต่ถ้าเราไม่ได้มองมัน มันก็ไม่สามารถหายไปจากสายตาเราได้ ดังนั้นเราจึงต้องพยายามไม่มองหาสิ่งใดเป็นพิเศษ พยายามไม่บรรลุอะไร เพราะเรามีพร้อมมีครบทุกอย่างอยู่แล้ว

ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร เราก็ควรทำให้เต็มที่ทั้งกายและใจ สนใจแต่สิ่งนั้นสิ่งเดียว อย่าสนใจสิ่งที่เราจะได้รับ ความคาดหวังที่จะได้ก็เป็นเหมือนการทิ้งร่องรอยเอาไว้ ถ้าเราทิ้งร่องรอยทางความคิดแบบนั้นไว้ในกิจกรรมที่เราทำ มันจะทำให้เรายึดติดอยู่กับร่องรอย ทำให้ไม่ได้รับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นได้เต็มที่

ความเข้าใจที่ถูกต้อง

การฝึกโดยมีความคิดที่จะบรรลุเป็นการทำกรรมซ้ำ วิถีพุทธไม่ควรเป็นเรื่องเกี่ยวกับกรรม จุดมุ่งหมายของการฝึกฝนคือการตัดความคิดเรื่องกรรมออกไป ถ้าเรายังคงหวังว่าจะบรรลุหรือรู้แจ้ง นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของกรรม ทำให้เราเสียเวลา

ความเข้าใจพุทธไม่ได้เกิดจากการอ่านหรือคิดเชิงปรัชญา แต่เป็นการแสดงออกตามธรรมชาติ จากการฝึกฝนจนมั่นใจในธรรมชาติของตัวเอง และทำลายห่วงโซ่แห่งกรรม

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเปลี่ยนแปลง นั่นเป็นคำสอนพื้นฐานของพุทธ การเปลี่ยนแปลงคือพื้นฐานของการมีอยู่ ไม่มีใครปฏิเสธความจริงข้อนี้ได้

การเปลี่ยนแปลงคือต้นเหตุของความทุกข์ หากเราไม่ยอมรับความจริงว่าทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลง เราจะไม่สามารถค้นหาความสงบได้ การที่เราไม่ยอมรับความจริงข้อนี้จึงทำให้เกิดทุกข์

ค้นหาความสมบูรณ์แบบจากความไม่สมบูรณ์แบบ ความสมบูรณ์แบบของการมีอยู่ที่ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป การค้นหาความสุขในความทุกข์ โดยการยอมรับความจริงว่าทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนเปลี่ยนแปลง ความพยายามที่จะขัดขืนจึงเป็นความพยายามที่สูญเปล่า

ส่งท้ายก่อนจากกันไป

การฝึก Zen ไม่ใช่การมุ่งหวังเพื่อบรรลุอะไร ไม่ใช่เพื่อความสุข แต่เป็นการรู้ตัวทุกลมหายใจและเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน ในแต่ละวันไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องมีสติให้มากที่สุด

  • ในการฝึกฝน ท่านั่งเป็นสิ่งสำคัญและมีความหมาย
  • การฝึกกำหนดลมหายใจจะทำให้เรารู้ตัว รู้จักธรรมชาติของเรา
  • ไม่ว่าจะเป็นการฝึกหรือการใช้ชีวิตในแต่ละวัน การเฝ้าดูจะดีกว่าการควบคุม
  • ความยากลำบากที่ต้องเจอระหว่างการฝึก จะช่วยให้การฝึกก้าวหน้ามากขึ้น
  • การฝึก Zen ความเก่งไม่ใช่เป้าหมาย ผู้ฝึกฝนที่แย่อาจกลายเป็นผู้ที่ทำได้ดีที่สุด
  • การฝึก Zen ไม่ใช่เรื่องของความตื่นเต้นหรือการบรรลุสิ่งใด แต่เป็นการเรียนรู้จักให้

Like what you read? Please share it with your friends so we can get their thoughts!

Previous ArticleNext Article

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *