แรงบันดาลใจ

Wired to create เรามีสมองที่สร้างมาให้สร้างสรรค์

ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของการค้นหาทิศทางของเราเองในการทำงาน เป็นการฝึกฝนที่ไม่เหมือนหรือทำตามใคร ที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจ มันคือการเรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์ คือการเรียนรู้ที่จะยอมรับคุณค่าในสิ่งที่เราทำ

เราเชื่อว่ามนุษย์มีสมองที่ถูกสร้างมาเพื่อให้สร้างสรรค์ โดยเฉพาะในภาวะที่ลำบาก มีข้อจำกัดมากมาย เป็นเหมือนบททดสอบความพยายามความตั้งใจจริง ศิลปินที่เก่งๆ ก็ยังหาทางออกที่สร้างสรรค์ สามารถใช้ช่วงเวลานั้นสร้างผลงานศิลปะที่โดดเด่นขึ้นมาได้

ในช่วงเวลาที่เราถูกจำกัดออกไปไหนไม่ค่อยได้ บังคับให้กิจกรรมในแต่ละวันของเราช้าลงไป ทำให้มีเวลาที่จะคิดย้อนกลับไป ทำให้นึกถึงสิ่งที่ค้างคา สิ่งสำคัญที่เราอยากทำให้เสร็จแต่ก็ไม่ได้ให้เวลากับมันมากนัก ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่จะกลับไปเริ่มให้ความสำคัญและจริงจังกับมันอีกครั้ง

เราเพิ่งอ่านหนังสือเล่มนึงจบไป Wired to Create: Unraveling the Mysteries of the Creative Mind หนังสือที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ เป็นหนังสือที่เราซื้อเพราะชอบชื่อ มันฟังดูน่าสนใจดี

แต่ละคนอาจมีมุมมองเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ต่างกันไป บางคนอาจคิดว่าตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าใครๆ บางคนอาจรู้สึกกลัวที่จะต้องแสดงออกทางความคิด บางคนอาจคิดว่าจะต้องฝึกฝนอีกเยอะกว่าจะเข้าถึงศักยภาพที่มีอยู่ หรือบางคนอาจจะคิดว่าตัวเองไม่ใช่คนที่คิดสร้างสรรค์เอาซะเลย

ตอนเป็นเด็กเรามักจะชอบสงสัย อยากรู้ว่าสิ่งต่างๆ มันทำงานยังไง ของเล่ชิ้นนี้มันถูกสร้างมาได้ยังไง บางครั้งเราอาจรื้อแกะของเล่นนั้นเพียงเพื่อที่จะประกอบมันเองอีกครั้ง การเป็นคนคิดสร้างสรรค์และสงสัยนั้นเป็นพื้นฐานของเรามาตั้งแต่เด็กๆ เราต่างเกิดมาเพื่อสร้างสรรค์ เพื่อประดิษฐ์ ออกไปสำรวจและทดลอง

เด็กเกิดมาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์ ในช่วงเริ่มต้นที่ต้องใช้ประสาทสัมผัส ใช้สัญชาติญาณที่จะเอาตัวรอดและเรียนรู้โดยที่ไม่ต้องคิดวิเคราะห์ เด็กๆ ชอบสำรวจ ทำความรู้จักสิ่งใหม่ๆ ลองเอาของทุกอย่างยัดเข้าปาก จะได้รู้มันมันมีรสยังไง มีรูปร่างเป็นยังไง

เด็กๆ พัฒนาทักษะการสื่อสารโดยการพยายามทดลองทำเสียงแบบต่างๆ บางครั้งก็ค้นพบว่าการแสดงออกบางอย่างนั้นทำให้ผู้ใหญ่สนใจ ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป อาจจะจับเอาขวดเขวี้ยงทิ้งไป ทำกระถางต้นไม้แตกกระจาย นั่งดูผลงานของตัวเองอย่างภูมิใจ เริ่มเล่นกับดิน กินดิน

เด็กๆ และศิลปินก็คงมีความคล้ายกันในมุมของความอิสระในการแสดงออกในแบบที่ตัวเองรู้สึกจริงๆ ไม่ว่าจะทำเสียงหรือทำกิริยา ที่ทำลงไปเพราะต้องการทำ เพราะต้องการลองทำสิ่งใหม่ๆ เพราะมีสิ่งที่ต้องการจะสื่อออกมา

การเป็นคนคิดสร้างสรรค์นั้น ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง แต่เป็นการสังเกตสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเเรา ให้ความสนใจมากขึ้นเหมือนตอนเป็นเด็ก มันคือการกลับไปรับฟังกับความต้องการของตัวเอง สังเกตและใช้สัญชาติญาณความเป็นในเด็กที่มักจะหายไปเมื่อเราโตขึ้น

ความเป็นศิลปินนั้นมีอยู่ในตัวเราทุกคน ไม่ว่างานศิลปะนั้นจะเป็นอะไร เรามีความสามารถที่จะสร้างสรรค์ ออกไปค้นหา ทำการทดลอง แสดงสิ่งที่ตัวเองสนใจออกมา แสดงความสนใจในตัวของคนอื่นๆ

แต่ความคิดสร้างสรรค์เองก็เข้าใจยาก คนที่คิดสร้างสรรค์นั้นมักจะมีขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อน Picasso เองได้พูดถึงขั้นตอนการทำงานของตัวเอง ว่าการวาดภาพนั้นไม่ใช่งานที่คิดไว้แต่แรกทั้งหมด ระหว่างที่วาดอยู่นั้น ความคิดของเค้าจะเปลี่ยนแปลงไป และถึงแม้จะวาดเสร็จ มันก็ยังเกิดความอยากที่จะเปลี่ยนอีก

นักเขียนบางคนไม่สามารถควบคุมขั้นตอนการทำงานได้ บางครั้งก็เขียนไปได้เรื่อยๆ ทั้งที่ไม่รู้ไม่ได้เข้าใจเรื่องที่จะเขียนทั้งหมด ไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริง แต่การเดินหน้าเขียนต่อไปนั้นก็ทำให้เริ่มเข้าใจมากขึ้น เพิ่มความกระจ่างชัดเจนมากขึ้น และจะรู้บทสรุปของการเขียนนั้นก็เมื่อตอนที่เขียนเสร็จแล้ว

กระบวนการคิดสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ทำให้คนที่ทำงานสร้างสรรค์มีความคิดมีจิตใจที่ยุ่งเหยิง ทำให้เกิดความขัดแย้งกันของความคิด

และที่น่าสนใจคืองานศิลปะที่มีค่านั้นก็เกิดจากความคิดที่ยุ่งเหยิง เกิดจากความขัดแย้งทางความคิดของศิลปิน ศิลปินที่เก่งสามารถนำเอาองค์ประกอบที่ยุ่งเหยิงต่างๆ รวมเข้าด้วยกัน ทำให้มันสอดคล้องประสานเข้ากันได้อย่างลงตัว

คนที่คิดสร้างสรรค์คือคนที่มีความสนใจที่หลากหลาย ได้รับแรงบันดาลใจ ได้รับอิทธิพลจากไอเดียและผลงานที่หลากหลาย สามารถหาทางที่จะนำเอาสิ่งต่างๆ มารวมกันได้อย่างลงตัว

นั่นทำให้ความคิดสร้างรรค์เป็นสิ่งที่อธิบายได้ยาก เพราะมันรวมเอาหลายๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกันในเวลาเดียวกัน

ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้อาศัยเพียงแค่ความเชี่ยวชาญหรือความรู้ แต่มันคือองค์รวมของทั้งภูมิปัญญา อารมณ์ แรงบันดาลใจ แรงกระตุ้น สิ่งที่อยู่เหนือกว่าความธรรมดาทั่วไป มันคือการเปิดรับประสบการณ์ ความต้องการที่ซับซ้อนและไม่แน่นอน คือความสามารถในการจัดระเบียบจากความไร้ระเบียบ โดยที่ไม่ยึดถือธรรมเนียม

ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่สิ่งที่เรามีหรือไม่มี แต่มันเป็นเหมือนกับนิสัยที่เราทุกคนสามารถมีได้ นิสัยหลายๆ อย่างที่รวมกันแล้วทำให้เราคิดสร้างสรรค์ และไม่ใช่เพียงแค่เก่งหรือมีความรู้หลากหลายเท่านั้น แต่ยังต้องปรับเปลี่ยนได้ดี ต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงภายนอก มีความสามารถในการค้นคว้าและคิดหาไอเดียใหม่ๆ

ในหนังสือจะพูดถึงการใช้ชีวิตโดยมีนิสัยของคนคิดสร้างสรรค์ เป็นไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบการมีส่วนร่วมกับสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ คนที่ชอบการสร้างสรรค์มองว่าทุกวันคือโอกาสที่จะได้สร้างได้แสดงออก ได้ฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์คิดแก้ไขปัญหาแบบใหม่ๆ ค้นหาความงาม การพัฒนาต่อยอดความคิด ท้าทายบรรทัดฐานของสังคม ชอบเสี่ยงและแสดงออกในความเป็นตัวเองที่แท้จริงออกมา

ไม่ว่าการแสดงออกของเราจะเป็นในรูปแบบอะไร เช่น ตัวอักษร รูปภาพ ความคิดไอเดียใหม่ๆ ในหนังสือจะพูดถึงนิสัยที่จะช่วยให้เรากลายเป็นคนคิดและแสดงออกได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น

จริงจังกับการเล่น

คนที่คิดสร้างสรรค์มักจะมีนิสัยของความเป็นเด็ก มีจิตวิญญาณของความเป็นเด็ก มีความอยากรู้ สงสัยและชอบค้นหา

และไม่ว่าเรื่องอะไรก็ทำให้มันเป็นเกมสนุกๆ ได้ สามารถเปลี่ยนให้วันน่าเบื่อกลายเป็นวันที่สนุก ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย เล่นเกม หรือบทเรียนใหม่ๆ

งานวิจัยพบว่าการเอาจริงเอาจังกับเล่น การค้นหา ออกตามหาสิ่งของ การคิดไอเดีย การแสดงออกทางอารมณ์ การคิดเพ้อฝัน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการคิดสร้างสรรค์

ผู้ใหญ่มักจะมองงานที่ทำเป็นเรื่องยากและจริงจังกับมัน ศิลปินเองก็จริงจังกับงานและในแต่ละวันก็ใช้เวลากับงานนานหลายชั่วโมง แต่คนที่คิดสร้างสรรค์มักจะรู้จักสมดุลของความจริงจังกับความสนุก สามารถทำงานจนเสร็จและระหว่างนั้นก็สนุกกับการทำงานได้

การมองงานเป็นเรื่องสนุกช่วยให้เรามีความยืดหยุ่นในตอนที่เราต้องคิดไอเดียใหม่ๆ และช่วยกระตุ้นให้เราทำงานต่อไปได้อีกหลายชั่วโมง โดยที่ไม่เครียดหรือหมดแรงเหนื่อยล้าซะก่อน

เมื่อได้ทำงานที่สร้างสรรค์ ก็มักจะมีเวลาสำหรับจริงจังและเล่นสนุก และผลงานที่ดีมักจะเกิดขึ้นจากผลรวมของความพยายามอย่างหนักและความไม่ซีเรียสของศิลปิน

หลายคนมักจะสูญเสียความอยากเล่นแบบเด็กๆ ไป เมื่อเราโตขึ้นเราก็ไม่คิดอยากจะเล่น อะไรๆ ก็ต้องถือเป็นเรื่องจริงจังไปหมด และใช้เวลาทั้งหมดจริงจังไปกับการทำงาน

We don’t stop playing because we grow old; we grow old because we stop playing.

เราไม่ได้หยุดเล่นเพราะเราแก่ แต่เราแก่เพราะหยุดเล่น ผู้ใหญ่ที่ชอบเล่นมักจะรู้สึกเครียดน้อยกว่าคนทั่วไป สามารถรับมือกับความเครียดได้ดี มีชีวิตที่ดี มีความพึงพอใจ มองโลกในแง่ดีกว่า และมีอนาคตที่ดีขึ้น

การเล่นจะช่วยรักษาจิตวิญญาณของความเป็นเด็ก ถึงแม้จะอายุมากขึ้นแต่ก็ยังคงคิดสร้างสรรค์และมีชีวิตชีวา การเล่นด้วยกันจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ ทำให้สามัคคีกัน นำไปสู่แรงบันดาลใจ ทำให้มีความพยายาม ความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่ากิจกรรมนั้นคืออะไร จะเต้น ร้องเพลง วาดภาพ ออกไปค้นหาสถานที่ใหม่ๆ ทำตัวตลก หรือแค่เล่นสนุกๆ

มีใจรักในงานที่ทำ

แหล่งพลังงานของความคิดสร้างสรรค์ ของความสำเร็จและของชีวิตที่เติมเต็ม คือการที่เรามีใจรักในบางสิ่งบางอย่าง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นงานที่เราทำอยู่ทุกวัน หรืออาจจะยังเป็นภาพฝันในอนาคต

สิ่งที่เรารักที่จะทำนั้น สำหรับบางคนมันเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว มันอาจเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของชีวิต หรือบางคนอาจจะค้นพบในช่วงท้ายของชีวิต ใจรักไม่มีวันหมดอายุ เมื่อความต้องการจากภายในเกิดขึ้น มันก็จะเปลี่ยนชีวิตของคนๆ หนึ่งได้มากทีเดียว

Passion has no expiration date

ศิลปินที่ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากจะมีความพยายาม มีความมุ่งมั่น มีแรงกระตุ้น ยังต้องมีใจรักในงานที่ตัวเองทำ รางวัลจากภายนอกหรือคำชมอาจเป็นแรงผลักดันได้ แต่ไม่เท่ากับความสนุกที่ได้ทำงาน และในตอนที่ทำงานก็จะมีสมาธิ สามารถทำงานได้โดยไม่รู้จักเหนื่อย และมักลืมเวลา

การที่รักในงานที่ทำเป็นกุญแจสำคัญ มันไม่ได้เพียงแค่ทำให้งานออกมาดีเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

เด็กที่มีความฝัน รักในความฝันของตัวเองนั้น เป็นตัวทำนายความสำเร็จได้ดีกว่าเกรดที่ได้จากโรงเรียน

คนที่คิดสร้างสรรค์นั้น มักจะพบว่ามีใจรักในงานที่ทำ ในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการคิดจินตนาการ การลงมือทำ การค้นหาไอเดียใหม่ๆ ทดลองและทดสอบความเป็นไปได้

ค้นหาสิ่งที่เรารัก คำที่ได้ยินกันบ่อยๆ มันอาจไม่ใช่คำแนะนำที่ดี ไม่ได้มีประโยชน์สำหรับการทำงานมากนัก เพราะมันคิดง่ายเกินไป การที่คนๆ นึงจะเชี่ยวชาญในทักษะที่จำเป็นจะต้องพยายามอย่างหนัก การมีใจรักและมีความพยายามมันจะเสริมกันและกัน

และต้องแยกให้ออกระหว่างใจรักกับสิ่งที่เรียกว่าลุ่มหลง ใจรักที่สอดคล้อง กับความหลงที่บ้าคลั่งถึงขั้นหมกมุ่น

ตอนที่ทำงานสร้างสรรค์ คนที่มีใจรักจะรู้สึกได้ว่าตัวเองนั้นควบคุมมันได้ และไม่ได้ตกเป็นทาสของของสิ่งนั้น ไม่ได้ทำตามพราะหลง แต่ตัวคนยังมีความเป็นตัวของตัวเอง และหลอมรวมกับงานกลายเป็นสิ่งเดียวที่สอดคล้องกัน

แต่คนที่หมกมุ่น คนที่ลุ่มหลงนั้นมักจะมีแรงกระตุ้นที่เกิดจากภายนอก แรงผลักดันให้ลงมือทำไม่ได้เกิดจากงานที่รัก แต่มักจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีอิสระ มักจะพบว่ากังวลเมื่อต้องทำงานและเครียดในการที่จะเอาชนะคนอื่นๆ เพราะเค้ามองว่าความสำเร็จคือสิ่งที่จะทำให้ได้รางวัลและการยอมรับในสังคม

คนที่หมกมุ่นจะถูกกระตุ้นให้ทำงานจากความคาดหวัง จากรางวัลภายนอก ไม่ใช่แรงกระตุ้นที่เกิดจากภายใน ความลุ่มหลงหมกมุ่นเป็นตัวที่บอกได้ว่ากิจกรรมนั้นไม่ได้สอดคล้องกับตัวของตัวเอง แต่เพราะอีโก้ที่มันมีมาก จนทำให้ต้องแสดงออก ต้องผลักดันตัวเองหนักมากขึ้นเพื่อที่จะพัฒนาตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพทั้งกายใจที่แย่ลง

คนที่มีใจรักมักจะทำให้ลงมือทำงาน ในขณะที่คนที่ลุ่มหลงหมกมุ่นนั้นมักจะสร้างสรรค์เพราะรางวัลจากภายนอก

ถ้าอยากจะทำงานให้ได้ดี เราก็ต้องรักในกระบวนการของมัน ต้องมีใจรักที่จะสร้างสรรค์ บางครั้งความพยายามก็ก่อให้เกิดใจรัก ทำทุกอย่างเพื่อให้สำเร็จตามที่ฝันไว้ มีความอดทน

ความฝันและเป้าหมาย ลำพังไม่อาจช่วยผลักดันให้เราผ่านพ้นช่วงเวลาที่ลำบากได้ ในตอนที่ต้องฝึกฝน ทดลอง ทำงานหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน

คนที่มีความหวังมักจะมีเป้าหมายในการเรียนรู้ ช่วยให้พัฒนาตัวเอง ทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่คนที่ไม่มีความหวัง มักจะเน้นไปที่การทำผลงาน หรือทำได้ดีกว่าคนอื่นๆ

ความฝันคือจุดเริ่มต้นที่ดี และเราต้องจินตนาการถึงอุปสรรคที่มันจะขัดขวางไม่ให้เราทำตามเป้าหมายนั้น ทำความเข้าใจสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมาย ทั้งฝันและลงมือทำ

ชอบฝันกลางวัน

ฝันกลางวันอาจทำให้ถูกมองว่าเป็นคนใจล่องลอย ขี้เกียจ ละเมอ เหม่อลอย อาการของคนที่หลุดไปจากโลกปัจจุบัน ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม แต่เข้าไปยังพื้นที่ส่วนตัว ไปในความทรงจำ ฝันหวาน บางคนมองว่าคนที่ฝันกลางวันนั้น เป็นคนที่ใจไม่เป็นสุข

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เหม่อลอยจะล่องลอยหายไปซะหมด สำหรับบางคน อาการเหม่อลอยคือปัจจัยสำคัญสำหรับการคิดสร้างสรรค์

หลายคนที่มีความสุขอยู่กับการฝันกลางวัน ชอบนึกถึงภาพฝันที่ห่างไกลจากความจริง คนเหล่านี้ชอบและมีความสุขกับการมีประสบการณ์ส่วนตัว แม้จะเสียเวลาไปกับการฝัน แต่บางคนก็สามารถเอาช่วงเวลานั้นมาวางแผนคิด โดยเฉพาะในเวลาที่น่าเบื่อ ไม่มีอะไรตื่นเต้นทำ

แต่การคิดเหม่อลอยไม่ถูกที่ถูกเวลา อาจทำให้เกิดผลเสียได้ เช่น ในเวลาที่ควรมีสมาธิอ่านหนังสือ หรือต้องทำงานเร่งด่วน หากไม่สามารถควบคุมตัวเองให้มีสมาธิสนใจอยู่กับงานนั้น ก็จะทำให้เกิดความสับสน ทำให้เกิดผลเสียต่อตัวเองได้

งานวิจัยพบว่าการเหม่อลอยนั้นช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ได้ ระหว่างที่ทำงานสร้างสรรค์ ทุกๆ ชั่วโมงให้ลองหยุดพักแล้วเริ่มคิดใจลอยดู ใช้เวลาสัก 5 นาที คิดเรื่อยเปื่อย มันจะทำให้ความคิดเราสร้างสรรค์มากขึ้น หรืออาจเป็นกิจกรรมง่ายๆ เบาๆ ที่ทำไปคิดไปได้ เช่น เดินเล่น วาดรูป ทำความสะอาดห้อง หลังจากกลับมาทำงานก็จะรู้สึกได้ว่าสมองปลอดโปร่ง และมีพลังมากขึ้น

ตอนที่ใจเหม่อลอยคิดถึงเรื่องในอนาคตอยู่นั้น มันอาจช่วยให้เราทำตามฝันได้ เราต่างก็ฝันว่าตัวเองเป็นพระเอกของเรื่อง เป็นผู้มากอบกู้โลก เป็นตัวละครหลักของชีวิตตัวเอง เรามักจะคิดย้อนถึงโลกนี้และจินตนาการถึงตัวเองในอนาคต

ความคิดเรามักจะมุ่งไปยังอนาคต หากให้เวลาเราคิด ความคิดเราก็มักจะเอนเอียงไปยังอนาคต ไม่ว่าจะคิดวางแผน คิดถึงความเป็นไปได้ในรูปแบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่ยังทำไม่ได้ หรือสิ่งที่อยากทำในอนาคต

คนที่ชอบฝัน ชอบคิดถึงอนาคต ความคิดมันจะช่วยให้เราเข้าใจความหมายของชีวิต หรืออย่างน้อยก็ให้เราเข้าใจความจริงว่าสิ่งที่วาดฝันนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ทำให้เกิดความคิดที่น่าสนใจ ทำให้มีเหตุผลและเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น

เมื่อเรานอนหลับโครงข่ายในสมองที่เกี่ยวข้องกับการให้ความสนใจในโลกนี้ ก็จะทำงานน้อยลง ปล่อยให้ความคิดที่เป็นจิตใต้สำนึกได้ทำงานมากขึ้น

ฝันกลางวันและฝันกลางคืนนั้นเชื่อมโยงกันยู่ ฝันทั้งสองแบบต่างก็เกี่ยวข้องกับการค้นหาตัวตนของเรา ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความกังวล ความทรงจำที่เกิดขึ้น ฝันทั้งสองแบบนั้นช่วยให้สมองประมวลผลข้อมูลเหล่านั้น และช่วยให้เราเข้าถึงความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น

ความคิดดีๆ มักจะเกิดขึ้นตอนที่เราไม่ตั้งใจ มันจะไม่เข้ามาตอนที่เรานั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในเวลาที่เรานั่งอยู่หลายชั่วโมงพยายามอย่างหนักที่จะคิดแก้ไขปัญหา ความคิดดีๆ มันจะมาก็ตอนที่เราลุกเดินไปห้องน้ำ เดินไปกดน้ำ ทำให้สมองปลอดโปร่ง

ตอนที่เราลุกออกไป นั่นคือตอนที่เราปล่อยใจให้ล่องลอยจากงานที่ทำ หลังจากนั้นสิ่งที่ขาดหายไปก็เข้ามา ทำให้เราคิดออก หลายครั้งที่เราคิดออกตอนที่เราหยุดพัก และปล่อยใจให้คิดเป็นอิสระ บางคนอาจใช้เวลาในห้องน้ำ เดินเล่น ขับรถ หรืออ่านหนังสือ

ให้โอกาสตัวเองได้อยู่คนเดียว

In order to make art, we must find the space to become intimate with our own minds.

การได้อยู่ตัวคนเดียวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการค้นหาตัวเองและการพัฒนาด้านอารมณ์ ช่วยให้ได้ย้อนกลับไปคิดถึงสิ่งที่ทำลงไป

อยู่คนเดียวแต่ไม่เหงาก็ได้ เวลาที่อยู่คนเดียวนั้นช่วยให้คิดสร้างสรรค์มากขึ้น เพราะศัตรูของการทำงานสร้างสรรค์ไม่ใช่การที่เราขาดทักษะหรือขาดพรสวรรค์ แต่เป็นสิ่งรบกวนและการขัดจังหวะจากคนอื่นๆ และการอยู่คนเดียวนั้นช่วยลดการขัดจังหวะจากคนอื่นๆ ทำให้สิ่งรบกวนต่างๆ ลดน้อยลง

และการอยู่คนเดียวนั้นไม่ใช่เพียงแค่ลดสิ่งรบกวน แต่เป็นการเพิ่มพื้นที่ให้ใจสำหรับการย้อนคิด และเชื่อมโยงความคิดต่างๆ เข้าด้วยกัน และค้นหาความหมายของมัน

The capacity for solitude may be a sign of emotional maturity.

คนที่คิดสร้างสรรค์มักจะหาทางค้นหาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อสร้างสรรค์ตัวตนของตัวเองขึ้นมาใหม่ ค้นหาความหมายของการมีอยู่ของชีวิตในจักรวาลที่ตัวเองสร้างขึ้นมา

โลกในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสิ่งรบกวน มีสิ่งต่างๆ มากมายที่ต้องการดึงความสนใจจากเรา การอยู่คนเดียวนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ

สมองของคนที่คิดและมีสมาธิอยู่กับการขับรถหรือเข้าฟังการบรรยายนั้นแตกต่างจากตอนที่เราคิดจินตนาการ นั่นทำให้ความคิดใหม่ๆ มักจะไม่เกิดขึ้นในเวลาที่เราต้องใส่ใจกับสิ่งรอบข้าง

ชีวิตในปัจจุบันเราไม่ได้นึกย้อนกลับไปคิดมากนัก เพราะมันมีสิ่งที่ดึงความสนใจเราไปเยอะเหลือเกิน ใจเราต้องการพื้นที่เพื่อให้มีโอกาสได้คิดไอเดียใหม่ๆ ในตอนที่เราอยู่คนเดียว สมองจะสามารถประมวลผลข้อมูลได้ดีขึ้น ทำให้ความทรงจำชัดเจนมากขึ้น ทำให้สามารถเชื่อมโยงความคิด ค้นหาความหมายจากประสบการณ์ และหาแนวทางในการตัดสินใจ

เมื่อเรามีโอกาสได้อยู่คนเดียว ผ่อนคลายและเริ่มฝันกลางวัน โครงข่ายสมองในส่วนที่จินตนาการก็จะทำงานมากขึ้น ช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น ช่วยให้มองเห็นตัวเอง เห็นคนอื่นชัดมากขึ้น

นิสัยอื่นๆ ของคนคิดสร้างสรรค์

ในหนังสือ Wired to Create ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกที่ถ้าหากเราสามารถทำจนกลายเป็นนิสัยได้แล้ว ก็จะช่วยทำให้เราคิดสร้างสรรค์มากขึ้นได้ เช่น การใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจมากขึ้น และรู้จักปรับสมดุล รู้จักเลือกใช้สัญชาตญาณหรือใช้เหตุผลในการตัดสินใจให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์

อีกเรื่องที่ช่วยให้คิดสร้างสรรค์ได้ คือการเปิดกว้างรับเอาประสบการณ์ใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต เช่น การแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ปัญหายากๆ ที่ซับซ้อน ชอบวิทยาศาสตร์ ชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ชอบเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ค้นหาความหมายของการมีชีวิต เข้าถึงอารมณ์ต่างๆ โดยการฟังเพลง จากงานศิลปะ หรือการชื่นชมความอัศจรรย์ของธรรมชาติ

The best teacher is experience.

การมีสติก็ช่วยให้คิดสร้างสรรค์มากขึ้น หากเรานั่งลงและสังเกต ก็จะพบว่าใจเราไม่เคยหยุดคิด ยิ่งพยายามหยุดคิด มันก็ยิ่งแย่ลง แต่หากปล่อยเวลาให้ผ่านไป ความคิดมันจะสงบลงเรื่อยๆ ทำให้เราได้ยินเสียงใหม่ๆ เสียงที่เราไม่เคยสังเกต นั่นคือตอนที่สัญชาติญาณเริ่มทำงาน เราจะช้าลงและอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น เราจะมองได้ชัดและได้มุมมองใหม่ๆ เราจะเห็นมากกว่าที่เคยเห็น

และสุดท้าย คำแนะนำที่ดีในการใช้ชีวิตก็คือ

  • มีสมาธิสนใจสิ่งที่เกิดขึ้น
  • รู้สึกทึ่งประทับใจในสิ่งที่รับรู้
  • บอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้น

Like what you read? Please share it with your friends so we can get their thoughts!

Previous ArticleNext Article

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *