
ตอนเรียน เรามีเวลาทั้งเทอมให้ทำโปรเจคต์จบ เราก็จะทำตัวสบายๆ แล้วก็จะไปเร่งทำเอาตอนอาทิตย์สุดท้าย แล้วก็ส่งงานวันสุดท้าย มีเวลาทดสอบและเตรียมนำเสนองานแค่คืนเดียว
ตอนสมัครงาน บริษัทส่งแบบทดสอบออนไลน์มาให้ทำ มีเวลาทั้งอาทิตย์ไม่ทำ แต่เราจะไปเริ่มทำเอาวันสุดท้าย
ตอนทำงาน หัวหน้าสั่งงานให้งานง่ายๆ มา แต่ให้เวลาทั้งวัน เราก็มักจะใช้เวลาไปกับงานนั้น 1 วัน ถึงแม้ว่าทำจริงๆ แค่ชั่วเดียวก็เสร็จแล้ว
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างที่ Parkinson’s Law มีผลกระทบต่อเราในด้านต่างๆ เช่น กำลังคน เวลา พื้นที่ เงินหรืองบประมาณใช้จ่าย
กำลังคน
เริ่มแรกมีงานเยอะ คนไม่พอ ทำให้แต่ละคนทำงานไม่ทัน ต้องเลิกงานดึก จากนั้นเราก็จ้างคนเพิ่มเข้ามาหวังว่าจะกระจายงาน ให้ช่วยเบาแรง แต่สุดท้ายเมื่อมีคนเพิ่ม งานหรือความต้องการก็เพิ่มตามมาอยู่ดี
ว่างใช่มั้ยล่ะ เอางานนี้ไปช่วยทำหน่อยสิ
เวลา
ตัวอย่างในมุมของเวลานั้นเยอะเลย เช่น เรามีงานที่ทำค้างไว้ไม่เสร็จสักที บางทีเราคิดว่าเป็นเพราะผัดวันประกันพรุ่ง แต่จริงๆ แล้วอาจจะเป็นเพราะ Parkinson’s Law ก็ได้ งานโปรเจคต์ทั้งหลายที่เราเคยทำมา ไม่ค่อยจะเจอหรอกที่ทำเสร็จก่อนเวลา ส่วนใหญ่ถ้าไม่ทันพอดีก็จะส่งงานช้า
แย่ที่สุดเลยคือ ถ้ามีงานที่เราไม่ได้กำหนด Deadline โดยเฉพาะงานส่วนตัว เราก็จะทำมันไปเรื่อยๆ คิดฟีเจอร์ใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น ไม่เสร็จสักที
สำหรับงานในออฟฟิส มันอาจจะพอมีเหตุผลอยู่บ้าง ว่าทำไมเราถึงต้องใช้เวลามากเกินไปกับงานง่ายๆ
- ทำงานนี้เสร็จแล้ว หัวหน้าก็จะหางานอื่นให้เราทำอยู่ดี
- ถ้าทำงานนี้เสร็จเร็ว ต่อไปหัวหน้าก็จะให้เวลาน้อยลง
เรามักจะใช้เวลามากเกินไปกับงานง่ายๆ แต่กลับกัน พอเป็นงานยาก งานที่มีความซับซ้อน เราดันประเมินเวลาไว้น้อยกว่าที่ควร ทำให้ส่งงานไม่ทัน—Law of triviality
พื้นที่
สังเกตได้จากห้องของเรา เริ่มแรกเรายังไม่มีของ เราเห็นว่าห้องโล่ง แล้วพอเราเริ่มซื้อของเข้ามามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์กีฬา ขนม แล้วเราก็มักจะวางของไว้กระจายจนเต็มห้อง ไม่นานห้องมันก็จะดูแคบ
พื้นที่บนมือถือหรือ SD Card ยิ่งเรามีพื้นที่เก็บไฟล์มาก เราก็จะถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอเก็บไว้ ไม่ยอมลบเลย จนกว่ามันจะเต็ม
คอมพิวเตอร์มีหน่วยความจำ RAM 4GB ทำให้เราเปิด Browser ได้ไม่เกิน 5-10 Tab เพราะเปิดค้างไว้มากกว่านั้นเครื่องมันจะช้า และถ้าเราเพิ่ม RAM ให้กับเครื่องนั้นเป็น 8GB เราก็จะเปิด Tab ได้มากขึ้น และหน่วยความจำก็จะถูกใช้มากขึ้น แล้วเครื่องมันก็จะช้า
เงิน
เรามีรายรับมากขึ้น รายจ่ายของเราก็จะมากขึ้นตามไปด้วย เราใช้จ่ายมากขึ้นตามงบที่เรามี
รู้ตัวและหาทางแก้ไข
ถ้าเรารู้ตัวว่าเคยเป็นหรือเคยทำแบบนี้ มันก็จะง่ายขึ้นที่เราจะหาทางแก้ไข หาทางทำให้เราหลุดพ้นจาก Parkinson’s Law เช่น ในเรื่องของงาน
- เราควรจะแบ่งงานออกเป็นงานเล็กๆ ที่เราพอจะรู้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ แล้วก็กำหนด Deadline ให้เหมาะสม
- หัวหน้าบางคนคิดว่ามันเป็นเรื่องดีที่จะให้ลูกน้องทำงานหรือยุ่งตลอดเวลา บางทีทำงานยุ่งทั้งวันก็ไม่ได้หมายความว่าทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเสมอไป รีบๆ ทำงานให้เสร็จแล้วเอาเวลาที่เหลือไปเรียนรู้อย่างอื่นได้จะดีกว่า
- ที่สำคัญคือเราต้องทบทวนใหม่ ในแต่ละวัน เราทำงานเพื่อให้งานหรือโปรเจคต์เสร็จ ไม่ได้มาเพื่อทำงานให้ครบ 8 ชั่วโมงแล้วกลับบ้าน
เราใช้เวลามากถึง 3 อาทิตย์ เริ่มจากคิดหัวข้อที่จะเขียน แล้วก็ Draft จนกระทั่งเขียนบทความนี้เสร็จ ทั้งๆ ที่ ถ้าตั้งใจจริงๆ เขียนชั่วโมงเดียวก็เสร็จละ :1
4 Comments