การเรียนรู้

Ego-less programming สิ่งสำคัญที่ Programmer ควรมี และจำใส่ใจไว้

เรารู้จักแนวคิด Ego-less Programming ครั้งแรกตอนที่อ่านบทนำของ Code Magazine #2011 May/Jun เขียนโดย Ted Neward เค้ามองว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่ Programmer ควรมี และจำใส่ใจไว้

แนวคิด Ego-less Programming มีที่มาจากหนังสือ The Psychology of Computer Programming เขียนโดย Gerald M. Weinberg เราเองก็ยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้หรอก ถ้าใครสนใจซื้อมาอ่านก็ดี บางทีหนังสือเก่าๆ มันอาจจะยังมีแนวคิดบางอย่างที่ยังคงใช้ได้ในยุคปัจจุบัน บางอย่างที่ไม่ตกยุค สิ่งที่สำคัญคือในหนังสือได้กล่าวถึงบัญญัติ 10 ประการของ Ego-less Programming เอาไว้

เราติดใจกับแนวคิด Ego-less Programming นี้มาก เราว่าการที่เราอ่านต้นฉบับซ้ำๆ หลายๆ รอบมันก็จะช่วยให้เราเข้าใจแนวคิดนี้มากขึ้น และถ้าเราพยายามแปลมัน มันก็จะยิ่งช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นไปอีก และสุดท้าย การที่เราเขียนให้คนอ่านเข้าใจด้วย มันก็จะยิ่งยกระดับความเข้าใจมากขึ้นไปอีก จะยกสูงไปไหนเนี่ย

เข้าใจและยอมรับว่าเราจะ ทำผิดพลาด

สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องรีบทำผิดและแก้ไขให้เร็ว ก่อนที่จะส่งมอบให้เจ้าของงาน อย่าปล่อยให้คนใช้เจอความผิดพลาดในภายหลัง

โดยปกติงานที่เราทำมันไม่ได้ Critical มากถึงขั้นว่า ถ้าเราทำผิดพลาดแล้วต้องมีคนตาย เว้นซะแต่ว่าเราจะทำ Software ที่ใช้ในจรวดส่งคนออกนอกโลก รีบๆ ทำผิด เรียนรู้ และแก้ไขให้เร็ว สนุกไปกับมัน

เชื่อฟังคนเพราะความรู้ที่เค้ามี ไม่ใช่ตำแหน่งหรืออายุงาน

ถ้าอยากให้คนอื่นนับถือ รับฟังสิ่งที่เราเสนอ ก็จงแสวงหาความรู้หรือกำจัด ความไม่รู้ ออกไปซะ

ถึงเราจะเก่งแค่ไหน ก็จะมีคนที่เหนือกว่าเรา

เราเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากคนอื่นได้เสมอ ขอแค่ให้เราถาม หัดรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เราคิดว่าไม่จำเป็น

การเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ยิ้มและเปิดใจยอมรับมัน ไม่ว่าจะเป็น Requirement Platform หรือ Tool ให้มองสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องท้าทาย อย่ามองว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้งานเรายากขึ้น อย่ามองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ อย่ามองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกกับเรา อย่าฝืน

สู้ในสิ่งที่เราเชื่อ และยอมรับถ้าเราแพ้

ทำใจไว้เลย ว่าบางครั้งคนอื่นอาจจะไม่เห็นด้วยกับเรา ถึงแม้ว่าเราจะเป็นฝ่ายถูก และอย่าซ้ำเติมคนอื่นหรือเอาคืนด้วยการพูดว่า ก็บอกแล้ว

ดูแลและเห็นใจคนที่รู้น้อยกว่าเรา

เราต่างก็ผ่านจุดที่เราไม่รู้ ให้นึกถึงช่วงเวลานั้นไว้ อย่าทำตัววางอำนาจ อย่าคิดว่าตัวเองเก่งเหนือคนอื่น อย่าเสพติดความคิดแง่ลบ มันจะทำให้งานไม่เสร็จ

ที่สำคัญเราเรียนรู้ได้มากขึ้นด้วยการสอนคนอื่นๆ เห็นใจและอดทนในความไม่รู้ของคนอื่นแล้วตั้งใจสอนเค้า

อย่าหลบอยู่ที่มุม

แสดงตัว เสนอตัว เสนอความคิด มีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ ในการพูดคุย อย่ามัวแต่หลบอยู่ในมุมมืด

เราไม่ใช่ Code ที่เราเขียน

มองให้กว้างไปกว่านั้นคือ เราไม่ใช่ไอเดียที่เราเสนอ ถ้าเราคิดได้แบบนี้แล้ว เราก็จะไม่ยึดติด เราจะปล่อยวาง Code ที่เราเขียน หรือไอเดียที่เราเสนอ ไม่มีใครเป็นเจ้าของมัน เวลาที่คนอื่นเห็นต่างกับเรา อย่ามองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

เห็นใจคนเขียน Code แต่อย่าปราณี Code ที่เค้าเขียน

พยายามออกความเห็นในเชิงบวก และสนใจที่ Code หรือไอเดียเท่านั้น เพื่อที่เราจะปรับปรุงมันได้

อย่าแก้ Code โดยไม่ปรึกษาใคร

เวลาทำงานเป็นทีม การแก้ Code โดยไม่บอกใครมันทำจะให้คนอื่นงงได้ โดยเฉพาะเวลาที่แก้หรือเอา Code ของคนอื่นออกไป

ก่อนจะแก้อะไรก็ตาม ต้องคิดให้ดีๆ และแจ้งให้คนอื่นรู้ด้วย ว่าทำไมเราถึงแก้ อธิบายให้เข้าใจว่า Code ใหม่มันทำงานได้ดีกว่าเดิมยังไง

คนเราต่างก็มี Ego กันทั้งนั้น ไม่ว่าเราจะทำอะไร แต่ละคนจะมี Ego มากน้อยไม่เท่ากัน เราก็แค่ต้องลดมันลงบ้าง มันมีเส้นบางๆ ระหว่าง Ego กับความมั่นใจในตัวเอง

มันไม่ยากเลยที่จะเป็นคนเขียน Code ก็แค่ใส่ความเป็นคนเข้าไป

Like what you read? Please share it with your friends so we can get their thoughts!

Previous ArticleNext Article

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *