ไคเซ็น (Kaizen) คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่ประกอบไปด้วยคำย่อย 2 คำ คือ Kai แปลว่าการเปลี่ยนแปลง และ Zen แปลว่าดี ดังนั้นไคเซ็นจึงแปลว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดีขึ้น ปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในบทความนี้เราจะทำความรู้จักไคเซ็นในมุมของการนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง นำหลักไคเซ็นมาใช้ในการพัฒนาตัวเอง เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
จากหนังสือ One Small Step Can Change Your Life: The Kaizen Way ไคเซ็นเป็นกลยุทธ์การบริหารงานแบบญี่ปุ่น ไคเซ็นไม่ใช่การเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการปรับปรุงเฉพาะบางจุดเท่านั้น แสวงหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้การทำงานง่ายขึ้นและสะดวกมากขึ้น ช่วยให้การบริหารจัดการทำได้อย่างมีประสิทธิผล
จุดกำเนิดของไคเซ็น
จุดกำเนิดของไคเซ็นนั้นต้องย้อนกลับไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภาวะคับขันทำให้ต้องปรับปรุงคุณภาพของการผลิตในโรงงานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสงคราม ต้องใช้กลยุทธิ์การพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องทีละน้อยๆ มองหาสิ่งเล็กๆ ที่สามารถปรับปรุงได้ ไม่เน้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่เน้นการติดตั้งเครื่องมือใหม่ๆ แต่เป็นการนำเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น นำสิ่งที่ใช้งานได้อยู่แล้วมาพัฒนาเพิ่ม ในช่วงหลังสงคราม ประเทศญี่ปุ่นได้นำเอาหลักการนี้ไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพของธุรกิจ ทำให้เกิดเป็นไคเซ็น
ถึงแม้ว่าแนวคิดไคเซ็นจะถูกพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพในการดำเนินธุรกิจ แต่เราก็สามารถนำแนวคิดไคเซ็นมาใช้ปรับปรุงคุณภาพการดำเนินชีวิตส่วนตัวได้เช่นกัน สิ่งที่ต้องรู้และทำก็แค่เพียงค่อยๆ ปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวัน ถึงแม้มันจะเป็นเรื่องเล็กๆ หรือดีขึ้นเพียงเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ขอแค่ทำให้ชีวิตในวันนี้ ทำให้มันดีกว่าเมื่อวานก็พอ
แทนที่จะพยายามเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ให้สนใจและเน้นไปที่การปรับปรุงสิ่งเล็กๆ ทำให้ดีขึ้นครั้งละ 1% สะสมไปเรื่อยๆ ในตอนแรกมันจะดูเหมือนเล็กและยากที่จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ในระยะยาวสิ่งเล็กน้อยเหล่านั้นมันจะค่อยๆ สะสมจนเห็นได้ชัดมากขึ้น จนกระทั่งเราสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง มันอาจจะต้องใช้เวลานานหลายเดือนหรือหลายปี แต่การเปลี่ยนแปลงมันจะเกิดขึ้นแน่นอนถ้าเราใส่ใจและมีวินัย ทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
การปรับปรุงแบบไคเซ็น
การปรับปรุงแบบเดิมมักจะเน้นไปที่การปรับปรุงในระดับใหญ่ ที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ต้องมีการวิจัยและพัฒนา ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ ใช้เครื่องมือใหม่ หรือกระบวนการแบบใหม่ ซึ่งการปรับปรุงในลักษณะนี้จะเป็นแบบนวัตกรรม (Innovation) เป็นการปรับปรุงแบบก้าวกระโดด และมักเป็นภารกิจของระดับบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
ไคเซ็นเป็นการปรับปรุงเพื่อให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทีละเล็กทีละน้อย
เวลาที่เรานึกอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราก็มักจะเปลี่ยนแบบทันทีทันใด เปลี่ยนแปลงแบบนวัตกรรมหรือเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงแบบนี้คือมันมักจะมีการต่อต้าน
การเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดอาจทำให้ได้ผลที่ยิ่งใหญ่ เช่น เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มเหล้า ถ้ามันใช้ได้ผล มันก็จะให้ผลตอบแทนที่ดีมากๆ ทำให้เปลี่ยนชีวิตได้ เป็นเรื่องน่ายินดี
แต่ถ้าผิดพลาด ถ้าทำไม่ได้ตามที่ตั้งใจ หรือสุดท้ายกลับมาทำแบบเดิม ก็อาจทำให้รู้สึกอับอายขายหน้าได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นคนมีวินัยแต่สุดท้ายก็อาจหลุดได้เช่นกัน
ในเชิงระดับของการเปลี่ยนแปลงกลยุทธิ์ สิ่งที่ตรงข้ามกับ Innovation คือ Kaizen คือการค่อยๆ เปลี่ยนแปลงในแบบที่แทบจะไม่รู้สึกว่ามีแรงต้าน
A journey of a thousand miles must begin with the first step—Lao Tzu
เหตุผลที่ไคเซ็นใช้ได้ผลดี
การเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี หรือเรื่องร้าย เวลาที่เรานึกถึงการเปลี่ยน มันก็ยังเป็นเรื่องน่ากลัวอยู่เสมอ เราอาจไม่ได้มีชีวิตที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่อยากให้มันเปลี่ยนแปลง เราอยากมีอนาคตที่ดีขึ้นแต่ก็กลัวที่จะเปลี่ยนงาน วันนี้เราอาจมีความสุขอยู่กับเพื่อนๆ แต่พรุ่งนี้จะต้องจากกันไป ความกลัวฝังอยู่ในสมองของเรา เมื่อความกลัวเข้าครอบงำ มันอาจทำให้ไม่อยากคิดสร้างสรรค์ ไม่อยากเปลี่ยน ไม่อยากจะประสบความสำเร็จ
สมองเป็นอวัยวะที่วิวัฒนาการมากที่สุด ในขณะที่อวัยวะอื่นๆ เช่น หัวใจ ตับ ไต ยังคงทำงานแบบเดิมๆ ช่วงเวลา 4-5 ล้านปี สมองมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ในปัจจุบันเรามีสมองอยู่ 3 ส่วน ส่วนแรกที่พัฒนาขึ้นเมื่อ 5 ล้านปีที่ผ่านมาเรียกว่า Reptilian brain หรือสมองสัตว์เลื้อยคลาน เป็นส่วนที่ปลุกให้เราตื่นขึ้นในตอนเช้า ส่งเรากลับเข้านอนตอนกลางคืน เตือนให้หัวใจเต้นไม่หยุด
สมองส่วนที่ 2 ที่พัฒนาตามมาเมื่อ 3 ล้านปีที่ผ่านมา คือ Mammalian brain หรือสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลือดอุ่นและมีขน เป็นสมองส่วนกลางที่ทำหน้าที่ปรับอุณภูมิภายในร่างกาย เกี่ยวข้องกับการใช้อารมณ์ ตอบสนองทำให้เราสู้หรือหนีเอาตัวรอดในสถานการณ์อันตราย
สมองส่วนที่ 3 ที่พัฒนาหลังสุดเมื่อประมาณ 1 ล้านปีที่ผ่านมา คือ Cortex สมองส่วนที่ครอบสมองส่วนอื่นๆ เอาไว้ สมองส่วนที่ทำให้เกิดอารยธรรม ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ส่วนที่ทำให้เราสามารถใช้เหตุผลและความคิดสร้างสรรค์ ในยามที่เราอยากเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ก็จะต้องใช้สมองส่วนนี้
ความท้าทายของเราในทุกๆ วันคือการใช้สมองทั้ง 3 ส่วนให้ทำงานสอดคล้องกัน ไม่ขัดกัน
สมองทั้ง 3 ส่วนไม่ได้ทำงานสอดคล้องกันประสานงานกันอย่างดี สมอง Cortex บอกให้เราลดอาหาร แต่เรากลับนั่งกินมันฝรั่งทอดได้ไม่หยุด หรือในเวลาที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ สมองเรากลับตันคิดอะไรไม่ออก
ในเวลาที่เราอยากเปลี่ยนแปลง เราพบว่ามีอุปสรรคที่ขัดขวางเรา ก็โทษสมองส่วนกลางได้เลย ในสมองส่วนกลางเราจะพบ Amygdala ที่ทำหน้าที่ควบคุมการตอบสนองแบบสู้หรือหนี การส่งสัญญาณเพื่อเอาตัวรอดที่ออกแบบมาให้ร่างกายตอบสนองทันทีเมื่ออยู่ในสถานการณ์อันตราย ตัวอย่างการตอบสนองเช่น ลดการใช้สมองส่วนที่คิดแบบใช้เหตุผลหรือสร้างสรรค์ เพื่อเร่งความเร็วของการตอบสนองของร่างกายส่วนอื่นๆ เพื่อวิ่งหนีให้เร็วหรือสู้สุดกำลัง
นึกถึงบรรพบุรุษของเราในตอนที่เผชิญหน้ากับสิงโต สมองไม่ต้องการให้เสียเวลาคิดรอบคอบ แค่ตัดการทำงานของอวัยวะส่วนอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น การย่อยอาหาร การใช้เหตุผล แล้วส่งสัญญาณให้ร่างกายตอบสนองสู้หรือหนีทันที ทำให้เอาตัวรอดได้
แต่ Amygdala และการตอบสนองแบบสู้หรือหนี อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้น การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน หากเราต้องการเปลี่ยนแปลง ออกจากพื้นที่คุ้นเคย ทำกิจกรรมท้าทาย สมองเราที่ออกแบบมาให้ตอบสนองต่อความท้าทายจะทำให้เกิดความกลัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนงาน หรือมีนัดกับคนที่ไม่รู้จัก Amygdala ส่งสัญญาณให้ร่างกายเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายนั้น แล้วสมองส่วน Cortex ก็จะถูกลดการทำงานลง ความสามารถในการคิดถูกจำกัด ทำให้เราทำผิดพลาด
ยิ่งความท้าทายมากขึ้น ก็เกิดความกลัวกังวลมากขึ้น สมองส่วน Cortex ก็จะทำงานน้อยลง ทำให้ผิดพลาดมากขึ้น ทำให้ล้มเหลว
บางคนอาจจะโชคดีที่สามารถเปลี่ยนความกลัวให้เป็นความตื่นเต้น ยิ่งท้าทาย ก็ยิ่งทำให้กล้ามากขึ้น แต่บางคนที่ไม่โชคดีก็ต้องรับผลกระทบจากความกลัวกังวล ความมีเหตุผลและความคิดสร้างสรรค์ถูกจำกัดไว้ในยามที่เราต้องการ
การใช้ไคเซ็นเป็นทางออกที่ดี ลดระดับการเปลี่ยนแปลง ลดความท้าทายลง ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่ทำได้แน่ๆ หลีกเลี่ยงไม่ให้สมองตอบสนองต่อความท้าทาย ก็จะทำให้สมองส่วน Cortex ได้ทำงานมากขึ้น การฝึกฝนทำสิ่งเล็กๆ ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้สมองปรับเปลี่ยนเป็นความกระหาย ไม่นานก็จะทำให้กลายเป็นนิสัยใหม่ ความต้านทานการเปลี่ยนแปลงก็จะลดลง เราจะสนุกกับการเปลี่ยนแปลง สมองเราจะคิดถึงแต่การมุ่งไปข้างหน้า ไปยังเป้าหมายอย่างช้าๆ จนอาจทำให้ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายได้
สมองชอบคำถาม
เราอาจชินกับการทำตามคำสั่ง แต่ระหว่างการสั่งให้ทำและการถาม การขอให้เสนอไอเดียจะได้ผลดีมากกว่า เช่น ถ้าหากสุขภาพดีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถามว่าวันนี้เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองยังไงบ้าง จะมีวิธีเตือนตัวเองให้ดื่มน้ำมากขึ้นได้ยังไง ทำยังไงให้มีเวลาออกกำลังกายมากขึ้นและทำให้เป็นกิจวัติ
คำถามปลุกสมองให้ตื่น การถามคำถามเดิมๆ ซ้ำไปมา คำถามเล็กๆ น้อยๆ เช่น เราจะค่อยๆ ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้ยังไง เราจะลดค่าใช้จ่ายสำหรับมื้อกลางวันนี้ได้ยังไง คำถามง่ายๆ คำถามสนุกๆ ที่ไม่ปลุก Amygdala ให้ตื่นจนทำให้เรากลัว
เมื่อเราถามคำถามเดิมๆ ซ้ำไปมา วันหนึ่งเมื่อถึงเวลา อาจจะเป็นตอนที่เราเดินเล่นในสวน อาบน้ำ หรือขับรถ สมองเราจะตอบสนองต่อคำถามนั้น แล้วหาคำตอบที่ดีๆ ไอเดียน่าที่สนใจให้เราได้
สมองชอบคำถาม พยายามถามตัวเองอยู่เสมอว่า เรื่องนี้จะแก้ไขยังไง ถามอยู่เรื่อยๆ ถามบ่อยๆ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราก็จะได้รับคำตอบ
หลีกเลี่ยงคำถามยากๆ คำถามที่ทำให้เกิดภาวะหดหู่ อย่าถามตัวเองว่าทำไมถึงโชคร้าย อย่าถามว่าทำไมถึงไม่มีโอกาสแบบเดียวกับคนอื่นๆ อย่าถามว่าทำไมต้องมีชีวิตลำบากเช่นนี้
ถ้ารู้ตัวว่ากำลังคิดในแง่ร้าย ให้ลองถามตัวเองใหม่ ถามว่าวันนี้เราทำอะไรที่ภูมิใจที่สุด สิ่งเล็กๆ แต่พิเศษที่สุดในตัวเราคืออะไร ถามบ่อยๆ มันจะทำให้สมองเรามองโลกในแง่ดี
ไคเซ็นเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
ไม่ว่าเป้าหมายของเราคืออะไร การใช้ไคเซ็น การปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ทำให้ดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อย สิ่งเล็กๆ ที่เราค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นความสงสัย ความมีน้ำใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น เราสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง มองโลกในแง่ดีและเชื่อว่าสักวันเราจะทำมันสำเร็จ