
ตั้งแต่ปี 1980 จนถึงปี 2016 จำนวนคนที่เป็นเบาหวานเพิ่มมากขึ้นถึง 4 เท่า โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคเรื้อรังอาการรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โรคที่เกิดจากการกินอาหารไม่เหมาะสม การรักษาด้วยอินซูลินในระยะยาวไม่ได้ทำให้ดีขึ้น แต่มันยิ่งทำให้แย่ลง สิ่งสำคัญในการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 คือทำให้น้ำหนักตัวลดลง แต่การฉีดอินซูลินนั้นทำให้น้ำหนักเพิ่ม
จากหนังสือ The Diabetes Code: Prevent and Reverse Type 2 Diabetes Naturally เขียนโดย Jason Fung อ่านจบแล้วรู้เรื่องเบาหวานเยอะมาก
เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากการมีอินซูลิน (Insulin) ในร่างกายมากเกินไป ฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งออกมาตอนที่กินอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาลเยอะ วิธีย้อนกลับเบาหวานจึงต้องลดระดับอินซูลินลง โดยการลดอาหารที่มีน้ำตาลลง
เมื่อเรากินอาหารที่มีน้ำตาลเข้าไปในร่างกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาเพื่อจัดการกับน้ำตาล ย้ายน้ำตาลไปไว้ที่เซลล์ เพื่อให้เซลล์นำไปใช้เป็นพลังงาน แต่ถ้าเราไม่ได้นำพลังงานนั้นไปใช้ ก็จะเกิดการสะสม เวลาผ่านไปจนกระทั่งร่างกายไม่สามารถจัดการกับน้ำตาลที่เกินนั้นได้ อินซูลินไม่สามารถบังคับให้เซลล์รับน้ำตาลเพิ่มได้
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นอาการของเบาหวานชนิดที่ 2 เมื่อร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูง เกิดจากการทำงานผิดปกติของอินซูลิน ไม่สามารถส่งน้ำตาลไปยังเซลล์ได้ตามปกติ นั่นคือภาวะที่เรียกว่าดื้ออินซูลิน เพราะเซลล์มีน้ำตาลเยอะจนรับเพิ่มเข้าไปไม่ได้แล้ว
ไม่เพียงแค่น้ำตาลในเลือดสูงเท่านั้น แต่ยังมีน้ำตาลในเซลล์เต็มไปหมด เบาหวานชนิดที่ 2 จึงเป็นภาวะที่น้ำตาลในร่างกายเรามากเกินไป
ในภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจะจัดการกับน้ำตาลโดยการหลั่งอินซูลินออกมาเพิ่ม บังคับให้เซลล์รับเอาน้ำตาลเข้าไปอีก เพื่อทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง แต่มันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี เพราะเราเพียงแค่ย้ายน้ำตาลจากเลือดไปไว้ในเซลล์ ซึ่งทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินแย่ลงไปอีก ถึงจุดหนึ่งที่ถึงแม้จะมีอินซูลินมากแต่ก็ไม่สามารถบังคับให้เซลล์รับน้ำตาลได้อีกแล้ว
เหมือนกับการพยายามยัดเสื้อผ้าลงในกระเป๋าที่เต็มจนแทบจะปิดไม่ได้แล้ว ถ้ายังฝืนออกแรงพยายามเอาเสื้อผ้าใส่เข้าไปอีก มันก็ยิ่งยากขึ้น และไม่ใช่เพราะกระเป๋าดื้อ แต่เป็นเพราะมันไม่มีที่เหลืออีกแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถกำจัดน้ำตาลออกไปได้ ร่างกายจะเพิ่มอินซูลินออกมาเพื่อบังคับให้เซลล์รับน้ำตาลเข้าไป แต่นั่นจะยิ่งทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินมากขึ้น และกลายเป็นวงจร เมื่อระดับอินซูลินไม่สามารถเอาชนะแรงต้านได้ก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น สูงจนกระทั่งระดับที่ตรวจพบว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
หมออาจให้ยาเพื่อลดระดับน้ำตาลลง แต่ยาเหล่านี้ไม่ได้กำจัดน้ำตาลที่มีอยู่มากในร่างกาย มันแค่ย้ายน้ำตาลไปไว้ในอวัยวะส่วนอื่นๆ เช่น ไต ตา หัวใจ อวัยวะที่ยิ่งทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงยิ่งกว่าเดิม
ยิ่งพยายามบังคับให้เซลล์รับน้ำตาลเข้าไป อินซูลินก็ยิ่งต้องพบกับแรงต้านเพิ่มมากขึ้น ต้องเอาชนะแรงต้านมากขึ้น และเมื่อร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินเพิ่มมากขึ้นได้อีกแล้ว ก็ต้องพึ่งยา และเมื่อเวลาผ่านไปก็ต้องการเพิ่มปริมาณยามากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้เบาหวานแย่ลงมากขึ้นเรื่อยๆ
ภาวะน้ำตาลในเลือดดีขึ้นได้จากการฉีดอินซูลิน แต่เบาหวานกลับแย่ลง ยาทำได้เพียงแค่ซ่อนน้ำตาลไว้โดยย้ายมันไปไว้ในเซลล์ อาการเบาหวานดูเหมือนจะดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วกลับแย่ลง และยาเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคหัวใจ ไตวายหรือตาบอด
เกิดอะไรขึ้นเมื่อร่างกายมีน้ำตาลมากเป็นเวลา 10 หรือ 20 ปี? ร่างกายจะเริ่มผุพัง ตาเริ่มเสื่อมลง จนกระทั่งตาบอด ไตเรื่อมเสื่อมลงจนกระทั่งต้องฟอกไต หัวใจเริ่มเสื่อมลงจนกระทั่งเป็นโรคหัวใจ สมองเสื่อมลงจนเป็นอัลไซเมอร์ ตับเสื่อมจนกระทั่งมีไขมันพอกตับ ขาเสื่อมลงจนต้องตัดทิ้งไป ไม่มีอวัยวะไหนที่รอดพ้นจากเบาหวานได้
วิธีรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ดีคือต้องไม่ซ่อนน้ำตาลไว้ แต่ต้องกำจัดมันออกไปจากร่างกาย โดยการลดน้ำตาลลง และเผาผลาญน้ำตาลในร่างกายออกไป ไม่ต้องพึ่งยา ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ลดอาหารที่มีน้ำตาลลง
ลดอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตผ่านกระบวนการ น้ำตาลที่เติมเข้าไปในอาหารนั้นนอกจากให้พลังงานแล้วก็ไม่มีสารอาหารที่มีคุณค่าใดๆ เพียงแค่ทำให้อาหารมีรสชาติดีเท่านั้น คาร์โบไฮเดรตที่ผ่านกระบวนการ เช่น แป้งสาลี ร่างกายจะย่อยให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคสได้เร็วมาก
วิธีที่ดีคืองดอาหารที่ทำจากคาร์โบไฮเดรตผ่านกระบวนการ เช่น ขนมปัง พาสต้า อาหารที่ทำจากแป้ง ลดมันฝรั่ง นอกจากนั้นยังต้องลดข้าวขาวขัดสีลงด้วย
ไม่กินอาหารประเภทโปรตีนมากเกินไป ควรกินให้พอดี เพราะโปรตีนจะถูกย่อยให้กลายเป็นกรดอะมิโน ซึ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย แต่หากมีกรดอะมิโนในร่างกายมากเกินไปจนกระทั่งไม่สามารถเก็บไว้ในร่างกายได้ ตับก็จะต้องเปลี่ยนให้กลายเป็นกลูโคส
หากกินโปรตีนเข้าไปเยอะๆ ก็เหมือนกับการเพิ่มน้ำตาลเข้าไปในร่างกายเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องหลีกเลี่ยงโปรตีนที่ผ่านกระบวนการ โปรตีนเข้มข้น เช่น ผงโปรตีน โปรตีนเชค
ส่วนอาหารประเภทไขมันจากธรรมชาติ เช่น อะโวคาโด ถั่ว น้ำมันมะกอก อาหารธรรมชาติเหล่านี้มีผลน้อยมากต่อระดับน้ำตาลในเลือดหรืออินซูลิน ไข่หรือเนยก็เป็นแหล่งไขมันธรรมชาติที่ดี
คอเลสเตอรอลที่อยู่ในอาหารเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลเสียหายต่อร่างกาย ไม่ได้ทำลายสุขภาพร่างกาย กินเข้าไปไม่ได้ทำให้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 หรือไม่ได้ทำให้เป็นโรคหัวใจ ยิ่งกินมากก็ยิ่งทำให้อิ่มเร็ว นั่นคือช่วยให้เราหลีกเลี่ยงเอาน้ำตาลเข้าไปในร่างกาย
หลีกเลี่ยงน้ำตาลโดยการกินอาหารตามธรรมชาติ อาหารที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการ หรือผ่านกระบวนการน้อยๆ อาหารที่ไม่ได้มีแต่ส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตบริสุทธิ์ กินโปรตีนแต่พอดี กินไขมันตามธรรมชาติ
เผาผลาญน้ำตาลในร่างกาย
การออกกำลังกายทั้งแบบออกแรงต้านหรือแอโรบิก ต่างก็ช่วยให้อาการเบาหวานดีขึ้นได้ แต่มันไม่ได้ผลดีเท่ากับการเปลี่ยนการกินอาหาร การอดอาหารก็เป็นวิธีที่ง่ายและมั่นใจได้ว่ามันได้ผลดี เพราะทำให้ร่างกายนำเอาน้ำตาลออกมาใช้เป็นพลังงาน
การอดอาหารตรงข้ามกับการกินอาหาร ถ้าเราไม่กิน เราก็อด เมื่อเราไม่ได้กินอาหาร ร่างกายจะนำเอาพลังงานที่เก็บสะสมไว้มาใช้งาน (ได้ใช้ซะที) เมื่อเราไม่ได้กินอาหาร ร่างกายจะเผาผลาญพลังงาน และกลูโคสก็เป็นแหล่งพลังงานที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด ดังนั้นยิ่งเราอดอาหารเป็นเวลานาน ก็ยิ่งทำให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลได้มากขึ้น
การอดอาหารเป็นวิธีการรักษาที่มีมายาวนานโดยไม่ทำให้เกิดปัญหาใดๆ ถ้าไม่กิน ระดับน้ำตาลก็ลดลง ถ้าไม่กิน น้ำหนักก็ต้องลดลง ไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไร
เผาผลาญน้ำตาลออกไป โดยการอดอาหารเป็นเวลานาน 24 ชั่วโมง ทำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรืออดอาหาร 16 ชั่วโมง ทำ 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์
เข้าใจโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน ภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดมากเกินไป มีเบาหวานชนิดที่ 1 เบาหวานชนิดที่ 2 เบาหวานที่เกิดจากการตั้งครรภ์ และเบาหวานเฉพาะอื่นๆ
เมื่อก่อนเบาหวานชนิดที่ 1 นั้นพบได้มากกว่าชนิดที่ 2 แต่ในปัจจุบัน เบาหวานชนิดที่ 1 นั้นมีเพียงประมาณ 10% ของเบาหวาน
เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากจนกระทั่งไตไม่สามารถดึงกลูโคสกลับมาได้ จึงทำให้พบน้ำตาลในปัสสาวะ ทำให้ต้องปัสสาวะบ่อยขึ้น และหิวน้ำบ่อยขึ้น
ภาวะที่สูญเสียน้ำตาลทำให้ผู้ป่วยน้ำหนักตัวลดลงและกระตุ้นให้อยากกินอาหารมากขึ้น อาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเบาหวานทั่วไป
- หิวน้ำบ่อย
- ปัสสาวะบ่อย
- น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่รู้สาเหตุ
- หิวและกินบ่อยแต่น้ำหนักตัวไม่เพิ่ม
- เหนื่อยไม่มีแรง
เบาหวานชนิดที่ 1 ในระดับรุนแรงที่ร่างกายขาดอินซูลิน ทำให้ระดับความเป็นกรดในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ทำให้สับสน หายใจเร็วขึ้น ปวดท้องและหมดสติ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการฉีดอินซูลินเพื่อรักษาอาการ
ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จะไม่มีอาการเหล่านี้เพราะระดับอินซูลินในร่างกายปกติหรือสูงกว่าปกติ แต่ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นจะทำให้ปัสสาวะบ่อย ทำให้เสียน้ำ หมดสติโคม่าและเสียชีวิตได้
เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นโรคภูมิต้านตัวเอง (Autoimmune disease) ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลิน แต่สาเหตุของการเกิดออโตอิมมูนนั้นยังไม่แน่ชัด
มากกว่า 90% ของเบาหวานคือเบาหวาานชนิดที่ 2 ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นจากภาวะดื้ออินซูลิน ร่างกายเอาชนะการดื้อต่อต้านโดยการสร้างอินซูลินเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดลง จนทำให้ระดับของอินซูลินเพิ่มสูงขึ้น และเมื่ออินซูลินไม่สามารถเอาชนะการต้านทานได้ ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
เบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเหมือน 2 ขั้วตรงข้าม เบาหวานชนิดแรกเกิดจากร่างกายมีระดับอินซูลินต่ำ แต่อีกชนิดเกิดจากระดับอินซูลินสูง แต่การรักษาเบาหวานทั่วไปสำหรับเบาหวานทั้งสองชนิดกลับเหมือนกัน คือมุ่งไปที่การลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยการเพิ่มอินซูลิน
การเพิ่มอินซูลินช่วยในกรณีเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ เพราะปัญหาคือร่างกายขาดอินซูลิน แต่ในเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เป็นภาวะดื้ออินซูลินจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ผลร้ายของเบาหวาน
หลอดเลือดขนาดเล็กที่เชื่อมอยู่กับอวัยวะบางส่วนเช่น ตา ไต และเส้นประสาท ถ้าหลอดเลือดเหล่านี้เกิดความเสียหายก็จะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น เกิดโรคไต และโรคระบบประสาท
ส่วนอวัยวะเช่น หัวใจ สมอง และขา จะเชื่อมอยู่กับหลอดเลือดขนาดใหญ่ ถ้าหลอดเลือดถูกทำลายก็จะทำให้เกิดการอักเสบ เกิดปัญหาหลอดเลือดอุดตันทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือเนื้อเยื่อที่ขาตาย
เบาหวานเป็นโรคที่ทำให้ตาบอดได้ เรตินา (Retina) จอตา ชั้นของเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลังตา ทำหน้าที่ส่งภาพไปยังสมอง เบาหวานทำให้หลอดเลือดในเรตินาอ่อนแอลงและเกิดการรั่ว ทำให้เลือดและของเหลวอื่นๆ ซึมออกมา
หลอดเลือดสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ แต่มันเปราะบางมากทำให้ถูกทำลายได้ง่าย และทำให้เกิดแผลเป็น ผลที่เกิดขึ้นคือยิ่งทำให้มีเลือดไหลออกมากขึ้นจนทำให้ตำแหน่งของเรติน่าเปลี่ยนไป ทำให้ตาบอดได้ เบาหวานส่งผลร้ายต่อตาก่อนที่จะตรวจพบว่าเป็นเบาหวานอีก
หน้าที่ของไตคือฟอกเลือด ถ้าไตมีปัญหา เลือดก็จะเป็นพิษ ทำให้ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด อาเจียน หากไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้โคม่าและเสียชีวิตได้ ผลกระทบต่อไตที่เกิดขึ้นอาจใช้เวลา 15-20 ปี แต่มันอาจเริ่มต้นก่อนที่จะตรวจพบว่าเป็นเบาหวานได้
ยิ่งเป็นเบาหวานนาน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เบาหวานทำลายเส้นประสาท เส้นประสาทที่อวัยวะต่างๆ เช่น เท้า มือและแขน อาการจะเริ่มจาก ชา ไร้ความรู้สึก แสบร้อน เจ็บปวด
ความเจ็บปวดเป็นเพราะร่างกายต้องการปกป้องตัวเอง ความเจ็บปวดช่วยให้เรารู้ว่าเราควรปรับตัวเองใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย ถ้าเราไม่รู้สึกเจ็บปวด เราก็อาจได้รับความเสียหายต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้น เส้นประสาทถูกทำลายลุกลามไปที่ข้อต่อ ทำให้ไม่สามารถเดินจนกระทั่งต้องตัดอวัยวะทิ้ง
ระบบประสาทที่ควบคุมการหายใจ การย่อยอาหาร การระบายความร้อน และควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ หากถูกทำลายก็จะทำให้อาเจียน ปวดท้อง หากเส้นประสาทหัวใจได้รับผลกระทบ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและเสียชีวิต
ไขมันอุดตันในเส้นเลือดที่ทำให้หลอดเลือดเปราะบาง ทำให้เกิดโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเหล่านี้ หลอดเลือดเสียหายถูกทำลายอาจเกิดจากปัจจัยเช่น อายุที่มากขึ้น กรรมพันธุ์ ความดันเลือดสูง ไม่ออกกำลังกาย
ความเสียหายในหลอดเลือดที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการก่อตัวของคอลลาเจน ทำให้จำกัดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ถ้าหลอดเลือดอุดตัน ก็จะทำให้การไหลเวียนของเลือดน้อยลง ทำให้อวัยวะขาดออกซิเจน ทำให้เซลล์ตาย ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ เบาหวานเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจถึง 4 เท่า
โรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลออดเลือดอุดตัน กันไม่ให้เลือดส่งไปยังสมอง สมองขาดออกซิเจนทำให้บางส่วนในสมองตาย อาการขึ้นอยู่ที่ว่าสมองส่วนไหนตายไป เบาหวานเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
โรคทั่วไปมักจะเกิดขึ้นกับอวัยวะเฉพาะส่วนของร่างกาย แต่เบาหวานเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ส่งผลร้ายในหลายๆ ทาง
ผลร้ายที่เกิดขึ้นทำให้ตาบอด ทำให้ไตวาย เป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง ทำให้ต้องถูกตัดแขนตัดขา ทำให้เกิดโรคทางสมองและระบบประสาท
การรักษาทั่วไปมุ่งไปที่การลดระดับน้ำตาลในเลือด ในขณะที่ระดับน้ำตาลในเลือดเป็นเพียงแค่อาการ ไม่ใช่ต้นเหตุ ต้นเหตุจริงๆ อยู่ที่ภาวะดื้ออินซูลิน
ภาวะดื้ออินซูลิน
เบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอ้วน เกี่ยวข้องกันอย่างมาก แทบจะเป็นโรคเดียวกัน คนอ้วนถือเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่บอกได้ว่าจะกลายเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
ดัชนีมวลกาย (Body mass index – BMI) 25 หรือสูงกว่าถือว่าน้ำหนักเกิน ในขณะที่ 18.5-24.9 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติของคนมีสุขภาพดี
นักวิจัยพบว่าน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นเบาหวาน น้ำหนักเพิ่มประมาณ 8-10 กิโลกรัม ทำให้เพิ่มความเสี่ยงถึง 270%
การรักษาสุขภาพ ให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ กินอาหารที่มีประโยชน์ สามารถป้องกันโรคเบาหวานได้มากถึง 91% แต่คำถามสำคัญคือ อาหารเพื่อสุขภาพคืออะไร?
หลังจากที่ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรต มันจะถูกย่อยให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคส ในผลไม้อาจมีน้ำตาลประมาณ 50 กรัม อาหารที่มีน้ำตาลสูงและคาร์โบไฮเดรตผ่านกระบวนการ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้มากกว่าโปรตีนและไขมัน
เมื่อก่อนความเชื่อผิดๆ ที่มองว่าอาหารไขมันคืออาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หลายคนเชื่อว่าอาหารเพื่อสุขภาพต้องเป็นอาหารที่ไร้ไขมัน เช่น นมไขมันต่ำ เพราะเชื่อว่าไขมันจากอาหารจะทำให้เกิดการสะสมในหลอดเลือด แต่นั่นเป็นความเชื่อที่ผิด
คาร์โบไฮเดรต อาหารประเภทแป้งผ่านกระบวนการขัดเกลา ข้าวขัดสี และน้ำตาลต่างหากที่เป็นตัวการสำคัญ และเป็นอันตรายมากกว่าอาหารที่มีไขมันตามธรรมชาติ
ดัชนีมวลกาย ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดีที่สุดที่จะบอกว่าคนๆ นั้นจะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่เป็นมาตรฐานรอบเอวหรือรอบพุง ที่ใช้วัดไขมันสะสมในร่างกาย และเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุด
ไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat) ที่สะสมอยู่ในอวัยวะช่วงท้องเช่น ตับ ไต และลำไส้ สามารถตรวจพบได้จากการวัดรอบพุงรอบเอว
ไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังนั้นจะสะสมอยู่ในอวัยวะทั่วร่างกาย แต่ไขมันในช่องท้องนั้นส่วนใหญ่จะสะสมในอวัยวะภายในช่วงท้อง ไขมันที่สะสมอยู่ชั้นใต้ผิวหนังนั้น แทบไม่เกี่ยวข้องกับเบาหวาน คนที่มีน้ำหนักตัวปกติ อาจมีภาวะที่ใกล้เป็นเบาหวานได้เพราะมีการสะสมของไขมันในช่องท้อง
ไขมันในช่องท้องที่พบในอวัยวะของร่างกาย เช่น ตับ ตับอ่อน เป็นอันตรายมากกว่าไขมันที่สะสมอยู่ในชั้นใต้ผิวหนัง ไขมันภายในเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
ทำไมถึงอ้วนลงพุง
เราไม่เคยสงสัยว่าทำไม เพราะเชื่อว่ารู้ดีอยู่แล้ว แคลอรีเกินทำให้อ้วน แคลอรีที่กินเข้าไปมากกว่าที่เผาผลาญออก
น้ำหนักเพิ่ม = แคลอรีเข้า – แคลอรีออก
ที่ผ่านมาเรามักจะถูกแนะนำให้ลดแคลอรีลง แน่นอนว่าต้องลดอาหารไขมันลง เช่น เนื้อสัตว์ เนย ชีส ถั่ว เพื่อลดแคลอรีที่ร่างกายจะได้รับ
ร่างกายเราปรับระดับการเผาผลาญพลังงานในชีวิตประจำวัน (Basal metabolic rate – BMR) พลังงานที่จำเป็นสำหรับให้หัวใจสูบฉีด ให้ปอดหายใจ ให้สมองได้คิด ใช้สร้างความร้อน
เมื่อเรากินอาหารที่มีแคลลอรีน้อยลง ร่างกายก็จะลดอัตราเผาผลาญลงเช่นกัน แคลอรีลดลง 40% ก็ไปทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงานลดลง 40% ทำให้น้ำหนักไม่ลดลงสักที การลดความอ้วนแบบเดิมโดยการกินอาหารแคลลอรีต่ำจึงไม่ได้ผล
เราตัดสินใจเองได้ว่าจะกินอะไร จะกินเมื่อไหร่ แต่เราไม่สามารถตัดสินใจ ไม่สามารถควบคุมได้ว่าเมื่อไหร่จะหิว เราไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะต้องเผาผลาญพลังงานให้มากขึ้น หรือเมื่อไหร่ที่จะสะสมไขมัน สิ่งที่เป็นตัวกำหนดคือฮอร์โมนส์
ระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ไธรอยด์ พาราไธรอยด์ ซิมพาเธติกส์ ระบบการหายใจ ระบบการไหลเวียนของเลือด ล้วนถูกควบคุมโดยฮอร์โมนส์
น้ำหนักตัวและไขมันในร่างกายก็เช่นกัน ถูกปรับโดยฮอร์โมนส์ ดังนั้นความอ้วนจึงไม่ได้อยู่ที่แค่การตัดสินใจว่าจะกินหรือไม่กินอะไรเท่านั้น
ฮอร์โมนส์ควบคุมความหิว บอกร่างกายให้กินและให้หยุดกิน Ghrelin เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เรารู้สึกหิว ส่วน Cholecystokinin และ Peptide YY เป็นฮอร์โมนส์ที่บอกว่าเราอิ่มและให้หยุดกิน
ฮอร์โมนส์นั้นทรงพลังมากจนทำให้เราต้องหยุดกิน ถึงแม้ว่าอาหารจะเหลือ จะเสียดายแค่ไหนก็ตาม
การสะสมของไขมันนั้นไม่ได้เกิดจากแค่กินอาหารแคลอรีมากเกินไป แต่เป็นปัญหาของการจัดการและกระจายพลังงาน เราอ้วนเพราะพลังงานถูกนำไปใช้สร้างไขมันแทนที่จะนำไปใช้สำหรับเผาผลาญหรือสร้างเนื้อเยื่อในกระดูก
พลังงานที่ถูกใช้ควบคุมโดยฮอร์โมนส์ เราไม่สามารถตัดสินได้ว่าเมื่อไหร่ควรหิว ไม่สามารถกำหนดเองว่าควรจะเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน ถ้าเรากินอาหารแคลอรีน้อยลง ร่างกายก็จะปรับให้อัตราการเผาผลาญลดลงเช่นกัน โรคอ้วนจึงไม่ใช่ปัญหาของแคลอรี แต่เป็นปัญหาของการขาดสมดุลของฮอร์โมนส์
ฮอร์โมนอินซูลิน
ฮอร์โมนส์เป็นเคมีที่ใช้สื่อสาร ถูกสร้างขึ้นจากระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine system)
เครือข่ายที่อยู่ทั่วร่างกายเพื่อรักษาการทำงานของร่างกาย
ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) เป็นต่อมที่สร้างฮอร์โมนส์ที่ควบคุมกระบวนการเผาผลาญพลังงานในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย สร้าง โกรทฮอร์โมน (Growth hormone – GH) ที่ส่งสัญญาณให้ร่างกายสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ
ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ส่งไปยังทั่วร่างกาย เมื่อได้รับอาจทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้นและอัตราการเผาผลาญ Basal metabolic rate สูงขึ้น
ตับอ่อนสร้างอินซูลิน ฮอน์โมนที่ส่งสารเกี่ยวกับอาหารที่กินเข้าไปและการเก็บสะสมพลังงาน เมื่อเรากินอาหาร มันจะถูกย่อยที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กเพื่อให้ดูดซึมได้ง่าย อาหารทั่วไปประกอบไปด้วยสารอาหารเช่น โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และสารอาหารอื่นๆ เช่น วิตามินและเกลือแร่
โปรตีนจะถูกย่อยให้เล็กลงกลายเป็นกรดอะมิโน ไขมันถูกย่อยให้เล็กลงเป็นกรดไขมัน ส่วนคาร์โบไฮเดรตถูกย่อยกลายเป็นน้ำตาลกลูโคส
หน้าที่ของอินซูลินคือจัดการนำเอาน้ำตาลกลูโคสส่งไปยังเซลล์ โดยการเปิดช่องให้มันเข้าไปได้ อินซูลินทำหน้าที่เหมือนกุญแจ ทุกเซลล์ในร่างกายต้องการกลูโคส ดังนั้นหากไม่มีอินซูลิน เซลล์ก็จะไม่ได้รับพลังงาน
อีกหน้าที่ของอินซูลินคือการส่งสัญญาณไปบอกตับว่ามีสารอาหารกำลังส่งไป กรดอะมิโนถูกส่งไปที่ตับ ในขณะที่กรดไขมันจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรงโดยที่ไม่ผ่านตับ
เมื่อร่างกายเราได้รับพลังงานเพียงพอ อินซูลินจะส่งสัญญาณไปบอกให้เก็บพลังงานนั้นสำหรับใช้ในโอกาสต่อไป ร่างกายเราใช้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตส่งให้กล้ามเนื้อและระบบประสาท แต่หากมีน้ำตาลเหลือก็จะส่งไปยังตับ
กรดอะมิโนจะถูกนำไปใช้สร้างโปรตีนเช่น กล้ามเนื้อ ผิวหนัง เนื้อเยื่อ แต่ถ้ามีมากเกินไปตับก็จะเปลี่ยนให้กลายเป็นกลูโคสเพราะร่างกายไม่สามารถเก็บกรดอะมิโนได้โดยตรง
พลังงานจากอาหารถูกเก็บไว้ในร่างกายได้ 2 แบบ คือไกลโคเจน (Glycogen) และไขมัน น้ำตาลที่มีมากเกินไปไม่ว่าจะมาจากคาร์โบไฮเดรตหรือโปรตีน จะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นไกลโคเจนสะสมที่ตับ
ไกลโคเจนสามารถเปลี่ยนกลับไปเป็นกลูโคสได้ง่ายๆ และส่งกลับเข้ากระแสเลือดสำหรับส่งให้เซลล์ใช้ในยามต้องการ
กล้ามเนื้อลาย (Skeletal Muscle) ก็สามารถเก็บไกลโคเจนไว้ได้เช่นเดียวกัน แต่มันจะถูกนำไปใช้ได้เฉพาะเซลล์ในส่วนนั้นเท่านั้น
ตับสามารถเก็บไกลโคเจนได้จำกัด เมื่อเต็มแล้วกลูโคสที่เกินจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นไขมันแทนโดยกระบวนการ De novo lipogenesis (DNL)
อินซูลินจะส่งสัญญาณบอกให้ตับเปลี่ยนกลูโคสที่เกินให้เป็นไขมันในรูปของไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ไขมันที่ถูกสร้างขึ้นจะถูกนำไปเก็บในเซลล์สำหรับใช้เป็นพลังงานในยามจำเป็น
ส่วนในตอนที่เราไม่ได้กินอาหาร ตอนอดอาหาร หรือหลังจากกินได้ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงและระดับอินซูลินก็จะลดลง ตับจะเริ่มเปลี่ยนไกลโคเจนให้กลายเป็นกลูโคสส่งกลับเข้าไปในกระแสเลือดสำหรับใช้เป็นพลังงาน
ไกลโคเจนสามารถเปลี่ยนกลับไปเป็นกลูโคสได้ง่ายๆ แต่สามารถเก็บไว้ได้จำนวนจำกัด ในช่วงเวลาที่เราอดอาหารนานประมาณ 24-36 ชั่วโมง ไกลโคเจนก็จะเปลี่ยนเป็นกลูโคสให้ร่างกายได้ใช้
ในช่วงอดอาหารตับจะสร้างกลูโคสจากไขมัน กระบวนการที่เรียกว่า Gluconeogenesis (GNG) ที่หมายถึง การสร้างน้ำตาล นั่นคือไขมันถูกเผาผลาญให้กลายเป็นพลังงาน
อีกหน้าที่ของอินซูลินคือ เมื่อตับเก็บกูลโคสในรูปแบบของไกลโคเจนจนเต็มที่แล้ว ไม่มีที่ว่างสำหรับไขมันจาก DNL ดังนั้นไตรกลีเซอไรด์ก็จะถูกส่งออกไปยังกระแสเลือดในรูปแบบของ Low density lipoprotein VLDL และอินซูลินจะกระตุ้นให้เซลล์ไขมันดึงเอาไตรกลีเซอไรด์ไปเก็บไว้ในระยะยาว
อินซูลินที่มีมากเกินไปทำให้เกิดการสะสมไขมันเพิ่มขึ้นและทำให้อ้วน ถ้าช่วงเวลาที่เรากินมันมีมากกว่าช่วงที่เราอด นั่นหมายถึงอินซูลินจะทำหน้าที่สะสมไขมันได้มากขึ้น ทำให้รับเอากลูโคสมาใช้สำหรับสร้างเป็นไขมันมากขึ้น
ภาวะดื้ออินซูลิน
มีบางอย่างที่เป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินและทำให้เกิดโรคอ้วน นั่นคือระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น
ร่างกายของเราหากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทางใดทางหนึ่งมากเกินไป ร่างกายก็จะตอบสนองพยายามปรับตัวทำให้กลับมาเป็นปกติ เช่น ถ้าร่างกายเย็น ร่างกายก็จะปรับตัวทำให้สั่นเพื่อสร้างความร้อนทำให้อุ่นขึ้น หรือถ้าร้อน ก็จะมีเหงื่อออกเพื่อระบายความร้อน ความสามารถในการปรับตัวเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้เราอยู่รอดได้
ภาวะดื้อต่อต้านก็เป็นอีกหนึ่งกลไกของการปรับตัว ร่างกายต้านการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้หนีจากภาวะปกติ การเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการปรับตัวและเกิดการต้านทาน ยิ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นมีระดับสูงและเป็นเวลานาน ร่างกายก็จะยิ่งเกิดภาวะดื้อหรือต้านทานมากขึ้น
โฮมีโอสเตซิส (Homeostasis) การที่ร่างกายสามารถรักษาภาวะในร่างกายให้คงที่ เป็นพื้นฐานของการเอาตัวรอดที่ร่างกายปรับตัวในหลายแบบเพื่อสร้างความต้านทาน เป็นหนึ่งในความสามารถที่ถูกเลือกเพื่อความอยู่รอดและถ่ายทอดไปสู่รุ่นต่อไป
หากเอาสิ่งกระตุ้นออกไป ก็จะลดความต้านทานลง ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อผลของยา ทำให้ดื้อยาหรือสารต่างๆ เช่น นิโคติน คาเฟอีน แอลกอฮอล์
การจะทำให้ร่ายกายกลับมาเหมือนเดิม ทำให้ได้รับผลของสารเหล่านี้เหมือนเดิม จะต้องมีช่วงเวลาที่งดใช้สาร หากงดดื่มเหล้าสักปี หลังจากนั้นก็จะกลับมาเมาเร็วได้อีกครั้ง
ในกรณีของอินซูลิน การเพิ่มขึ้นของอินซูลินเป็นระยะเวลานาน ร่างกายต้องเผชิญกับภาวะที่มีอินซูลินในระดับสูงเป็นเวลานาน เพราะระดับน้ำตาลในเลือดสูง จนทำให้เกิดภาวะดื้อต้านทานอินซูลิน
โดยธรรมชาติร่างกายเรามีกลไกที่ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดื้อต้านทานโดยการเพิ่มอินซูลินมากขึ้นเพียงแค่บางช่วงเวลาเท่านั้น หลังจากนั้นระดับอินซูลินก็จะลดลง ร่างกายจะทำงานตามนาฬิกาชีวิต
เช่น ร่างกายหลั่ง เมลาโทนิน (Melatonin) ตอนเย็นเพื่อให้เราปรับเวลานอน และจะลดลงในตอนกลางวัน คอร์ติซอล (Cortisol) ก็จะเพิ่มระดับสูงขึ้นในตอนเช้า ปรับความเครียด ช่วยปลุกเราในตอนเช้าและจากนั้นก็จะลดต่ำลง โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ก็จะหลั่งออกมาตอนที่หลับลึกและตอนกลางวันแทบจะตรวจหาไม่พบ รอบการทำงานทำให้ร่างกายป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดื้อต้านทาน
โดยปกติระดับของฮอร์โมนส์จะต่ำ ฮอร์โมนส์จะถูกกระตุ้นให้เพิ่มสูงขึ้นโดยนาฬิกาชีวิต และหลังจากนั้นก็จะลดระดับลงเป็นปกติ และไม่ทำให้เกิดภาวะดื้อต้านทาน ทำให้ร่างกายได้รับผลเต็มประสิทธิภาพของฮอร์โมนส์
ในการที่จะทำให้เกิดภาวะดื้อต้านทานขึ้นได้นั้น มีปัจจัย 2 อย่างที่จำเป็น นั่นคือระดับที่สูงของฮอร์โมนส์และสิ่งที่กระตุ้นอยู่ตลอดเวลา
โดยปกติอินซูลินจะหลั่งออกมาเยอะเป็นบางช่วงเวลา ทำให้ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดื้อต้านทาน แต่หากร่างกายต้องรับมือกับระดับอินซูลินที่สูงขึ้นตลอดเวลา บ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน
ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นทำให้มีอินซูลินมากขึ้น ยิ่งมีอินซูลินมาก ก็ยิ่งทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินมากขึ้น และเกิดเป็นวงจรทำให้มีอินซูลินมากขึ้นไปอีก วงจรนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องจนกระทั่งพัฒนาเป็นโรคอ้วนและเบาหวาน
สิ่งที่อินซูลินสั่งให้ตับทำได้แก่
- หยุดเผาผลาญพลังงานที่สะสมไว้ เช่น ไขมันในร่างกาย
- เก็บพลังงานไว้ในรูปของไกลโคเจนและไขมัน
หากเซลล์ดื้อต้านทานอินซูลินก็จะทำให้ไม่ได้รับพลังงานอดอยากและตายไป อินซูลินสั่งให้ตับหยุดสร้างกลูโคส แต่ตับยังคงสร้างกลูโคสออกมาจนกระทั่งมีกลูโคสเต็มไปหมดในกระแสเลือด
ในภาวะดื้ออินซูลิน จะพบว่ามีไขมัน DNL เพิ่มจำนวนมากขึ้น ไขมันถูกสร้างเพิ่มมากขึ้นจนไม่มีที่เก็บ
ไขมันพอกตับ
เบาหวานเป็นโรคที่มีความผิดปกติ 2 อย่าง นั่นคือ ภาวะดื้ออินซูลิน และภาวะที่มีน้ำตาลกลูโคสเต็มไปหมด
ภาวะดื้ออินซูลินเริ่มขึ้นก่อนที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ประมาณ 10 ปี ในขณะที่ระดับน้ำตาลในเลือดยังคงปกติเพราะตับอ่อนสร้างอินซูลินออกมาปรับสมดุลได้
แต่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการกิน ภาวะดื้ออินซูลินนี้ก็จะนำไปสู่ปัญหาใหม่นั่นคือ ความผิดปกติของ Beta cell dysfunction ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ตามปกติ นั่นคือตอนที่ร่างกายไม่สามารถเอาชนะภาวะดื้ออินซูลินได้ จนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
ตับเป็นเหมือนศูนย์กลางของการสร้างและสะสมพลังงาน หลังจากที่อาหารถูกดูดซึมเข้าสู่ทางเดินอาหาร สารอาหารจะถูกส่งไปที่ตับ
ไขมันในอาหารที่มีมากเกินจะถูกส่งไปที่ตับและสามารถเก็บไว้ที่ไหนก็ได้ในร่างกาย ไขมันที่สะสมใต้ชั้นผิวหนังส่งผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้เกิดภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic syndrome)
แต่คาร์โบไฮเดรตและโปรตีนที่มีมากเกินไป หลังจากย่อยให้เป็นกลูโคสแล้วจะถูกส่งไปเก็บไว้ที่ตับก่อนในรูปของไกลโคเจน และเมื่อเต็มแล้วก็จะเปลี่ยนกลูโคสให้กลายเป็นไขมันที่สามารถเก็บไว้ที่อื่นๆ ในร่างกาย รวมถึงไขมันช่องท้องและอวัยวะภายใน
เมื่อ DNL ถึงขีดจำกัดไม่สามารถนำเอาไขมันออกไปจากตับได้ ไขมันก็จะสะสมที่ตับ ทำให้เกิดเป็นไขมันพอกตับ สุดท้าย เมื่อตับเต็มไปด้วยไขมัน จนไม่สามารถรับกลูโคสได้อีกแล้ว ก็จะเริ่มเกิดเป็นภาวะดื้ออินซูลิน
วงจรดื้ออินซูลินมีดังนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำให้เกิดไขมันพอกตับ
- ไขมันพอกตับทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน
- ภาวะดื้ออินซูลินทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
ไม่ใช่รูปร่างที่อ้วน แต่เป็นไขมันที่พบในตับ ที่เป็นตัวการทำให้กลายเป็นเบาหวาน ไขมันพอกตับเกี่ยวข้องกับภาวะดื้ออินซูลินตั้งแต่ก่อนน้ำหนักเกิน ก่อนเป็นเบาหวาน จนกระทั่งตรวจพบว่าเป็นเบาหวานเต็มตัว
ไขมันพอกตับ (Fatty liver) เป็นสัญญาณชัดเจนของระดับน้ำตาลในเลือดสูงและภาวะดื้ออินซูลินกำลังเกิดขึ้น ไขมันพอกตับเกิดขึ้นก่อนที่จะตรวจพบว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ประมาณ 10 ปี เมื่อตับค่อยๆ สะสมไขมันจนกลายเป็นภาวะดื้ออินซูลิน
การกินอาหารที่มีแป้งเยอะ ขนมที่มีน้ำตาลหวาน น้ำตาลกลูโคสที่มีมากในร่างกายทำให้เกิดการสะสมไขมัน DNL และถ้ามันเกิดขึ้นเร็วมากจนตับไม่สามารถนำไขมันออกไปเก็บที่อื่นได้ทัน มันก็จะสะสมที่ตับ
และที่สำคัญการกินขนมไม่กี่ถุง กินน้ำผลไม้ กินน้ำอัดลมไม่กี่กระป๋อง กินประมาณ 3 สัปดาห์ ก็ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นไขมันพอกตับก็เพิ่มขึ้นได้ถึง 27%
แต่ไขมันพอกตับเป็นสิ่งที่ทำให้ย้อนกลับได้ โดยการกลับมากินอาหารที่เหมาะสม ก็จะทำให้น้ำหนักกลับมาเท่าเดิม ไขมันที่ตับหายไป ย้อนกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง
ไขมันพอกกล้ามเนื้อ
กล้ามเนื้อลายเช่น Biceps Triceps Quadriceps และ Gluteal muscles เป็นกล้ามเนื้อที่เราใช้เคลื่อนไหวอวัยวะ แตกต่างจากกล้ามเนื้อที่หัวใจที่เราไม่อาจควบคุมได้
กล้ามเนื้อลายเผาผลาญกลูโคสจากการกินอาหารและเก็บไว้ใช้ส่วนตัวในรูปแบบของไกลโคเจน โดยปกติจะไม่ค่อยมีไขมันที่กล้ามเนื้อลายเพราะ เซลล์กล้ามเนื้อไม่ใช่ที่เก็บไขมัน เรามีเซลล์ไขมันสำหรับเก็บไขมันโดยเฉพาะอยู่แล้ว
แต่เมื่ออยู่ในภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูงและมีน้ำตาลมากเกินไป ตับจะสร้างไขมันโดย NDL และนำเอาไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ออกไปเก็บไว้ในเซลล์ไขมันส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
เมื่อเซลล์ไขมันไม่สามารถรับรองได้ กล้ามเนื้อลายก็จะต้องรับไปแทนทำให้เกิดการสะสมของไขมันบริเวณนี้ ทำให้เกิดไขมันพอกกล้ามเนื้อ
ถ้ามันเกิดขึ้นกับสัตว์ที่เอาเนื้อไปทำสเต้ก มันก็จะมีรสชาติอร่อย ราคาก็จะแพง แต่หากเกิดขึ้นกับคน มันไม่ใช่เรื่องดีเลย
ไขมันพอกกล้ามเนื้อทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินได้เช่นเดียวกับตับ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำให้มีไขมันและน้ำตาลในกล้ามเนื้อลายสะสมมากขึ้นจนเต็ม ทำให้อินซูลินไม่สามารถฝืนยัดเข้าไปได้อีก และเนื่องจากกล้ามเนื้อลายเป็นส่วนที่มีเยอะมากในร่างกาย ดังนั้นจึงมีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินได้มาก
Beta cell dysfunction
ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นทันทีเมื่อ Beta cells ในตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินเข้าไปจัดการกับภาวะดื้ออินซูลินได้สำเร็จ เมื่อกลไกนี้ทำงานบกพร่องมันจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ก่อนที่จะกลายเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
ในช่วงก่อนที่จะพัฒนากลายเป็นเบาหวาน การสร้างอินซูลินจะเพิ่มสูงขึ้นถึงจุกพีค และจะค่อยๆ ลดลง สาเหตุเกิดจาก Beta cell dysfunction หรือตับอ่อนสู้ไม่ไหว
หลังจากที่ภาวะดื้ออินซูลินเกิดขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดจะยังคงเป็นปกติ กลูโคสไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก จนกระทั่ง Beta cells ทำงานบกพร่องไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ตามปกติ และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
เมื่อเราใช้งานอวัยวะในร่างกาย มันจะทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ไม่ใช่แย่ลง ถ้าใช้กล้ามเนื้อส่วนไหน ก็จะทำให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นแข็งแรงขึ้น ไม่ใช่อ่อนแอลง
ในกรณีของตับอ่อน การที่ต้องทำงานหนักมากขึ้นไม่ได้ทำให้มันอ่อนแอลง แต่เป็นเพราะว่ามันมีไขมันขัดขวางการทำงาน เพราะมีไขมันพอกตับอ่อน
ยิ่งมีไขมันพอกตับอ่อนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้มีอินซูลินน้อยลง ดังนั้นการกำจัดเอาไขมันออกไปจะทำให้สามารถย้อนกลับมามีร่างกายที่สุขภาพดีได้เช่นเคย
ไขมันที่อยู่ในเซลล์ไขมันเป็นเรื่องปกติ แต่ไขมันที่อยู่ในเซลล์อวัยวะอื่นๆ นั้นไม่ใช่เรื่องดี ไขมันที่สะสมผิดที่ผิดทาง แทนที่จะสะสมในเซลล์ไขมัน แต่ดันไปสะสมที่เซลล์อื่นๆ เช่น ไขมันพอกตับ ไขมันพอกกล้ามเนื้อ ไขมันพอกตับอ่อน มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน
น้ำตาลเป็นพิษ
คาร์โบไฮเดรตก็คือน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว โมโนแชคคาไรด์ (Monosaccharide) หรือโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) กลูโคสและฟรุกโตสเป็นตัวอย่างของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว
ส่วนน้ำตาลทรายหรือซูโครสนั้นเป็นน้ำตาลโมเลกุลเชิงซ้อนที่ประกอบไปด้วยกลูโคสและฟรุกโตสอย่างละ 1 โมเลกุล
โดยธรรมชาติน้ำตาลจะไม่อยู่ในรูปที่บริสุทธิ์ น้ำตาลที่พบได้ในผลไม้ ในผักบางชนิดหรือในเมล็ดพืช ส่วนน้ำตาลผ่านกระบวนการเช่น น้ำตาลจากแป้งสาลี ข้าวขัดสีหรือข้าวโพดที่กลายเป็นน้ำเชื่อม
กลูโคสเป็นน้ำตาลที่พบได้ในกระแสเลือดเป็นหลัก ทุกๆ เซลล์ในร่างกายสามารถใช้กลูโคสเป็นพลังงาน น้ำตาลที่ไหลเวียนอยู่ทั่วร่างกาย นอกจากนั้นกล้ามเนื้อยังนำเอากลูโคสจากกระแสเลือดไปเก็บไว้สำหรับใช้ในยามต้องการทันที แต่สำหรับเซลล์เม็ดเลือดแดงสามารถใช้สำหรับเป็นพลังงานได้เท่านั้น
ฟรุกโตสป็นน้ำตาลที่พบได้ในผลไม้ เป็นน้ำตาลที่หวานมาก และตับเท่านั้นที่จะสามารถเผาผลาญน้ำตาลชนิดนี้ได้ และน้ำตาลฟรุกโตสจะไม่ได้ไหลเวียนทั่วร่างกายโดยอิสระในกระแสเลือด สมอง กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่ออื่นๆ ไม่สามารถใช้ฟรุกโตสเป็นพลังงานได้โดยตรง
การกินอาหารที่มีน้ำตาลฟรุกโตสไม่ได้ทำให้ระดับกลูโคสในเลือดสูงขึ้น เพราะมันเป็นคนละน้ำตาลกัน แลไม่ได้ทำให้เพิ่มระดับของอินซูลิน
น้ำตาลซูโครสประกอบไปด้วย 1 โมเลกุลของกลูโคสและ 1 โมเลกุลของฟรุกโตส น้ำเชื่อมข้าวโพดเต็มไปด้วยฟรุกโตสถึง 55% และกลูโคสอีก 45%
มันฝรั่ง ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว ก็เป็นน้ำตาลกลูโคสที่สร้างขึ้นจากพืช ที่ทำหน้าที่เก็บพลังงาน อาจพบใต้ดิน บางชนิดอยู่ในหัว หรือบนดินในข้าวโพดและข้าวสาลี แป้งที่พบในพืชเหล่านี้มีการสะสมกลูโคสในรูปแบบของ Amylopectin 70% และ Amylose 30%
สำหรับสัตว์รวมถึงคนด้วย จะสะสมพลังงานคาร์โบไฮเดรตในรูปของไกลโคเจน เมื่อเรากินแป้งหรือน้ำตาลเข้าไป ก็จะถูกย่อยให้เล็กลงกลายเป็นกลูโคสและดูดซึมเข้าสู่ทางเดินอาหาร แป้งที่ผ่านกระบวนการจะย่อยได้เร็ว ในขณะที่คาร์โบไฮเดรตจากธรรมชาติที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการจะต้องใช้เวลานานกว่า
ดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index – GI) คือระดับที่บอกได้ว่าอาหารชนิดนั้นทำให้ระดับกลูโคสในเลือดสูงขึ้น กลูโคสบริสุทธิ์ทำให้เพิ่มระดับกลูโสในกระแสเลือดทันที นั่นคือจะมีดัชนีน้ำตาลเท่ากับ 100
ส่วนอาหารที่มีน้ำตาลฟรุกโตสจะไม่ทำให้ระดับกลูโสเพิ่มสูงขึ้น เช่น ผลไม้หรือแลคโตสในนม ทำให้มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ
ส่วนน้ำตาลทรายนั้นประกอบไปด้วยทั้งกลูโคสและฟรุกโตส ดังนั้นจึงทำให้มีดัชนีน้ำตาลระดับปานกลาง
น้ำตาลฟรุกโตสที่ไม่ได้ทำให้เพิ่มระดับกลูโคสหรืออินซูลิน เคยถูกมองว่าเป็นน้ำตาลเพื่อสุขภาพ เพราะมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ แต่มันซ่อนอันตรายเอาไว้ มันมีด้านมืดของมัน
พิษของฟรุกโตสไม่สามารถมองเห็นได้เมื่อมองไปที่กลูโคสอย่างเดียว แต่มันจะเห็นชัดเมื่อดูจากการสะสมเพิ่มขึ้นของไขมันที่ตับ
อะไรก็ตามที่มีมากเกินไป ถึงแม้มันจะเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ แต่หากมีมากเกินไปก็อาจเป็นพิษได้ ออกซิเจนที่มีมากเกินไป หรือน้ำที่มีมากเกินไปก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน
ในสมัยก่อนคนๆ หนึ่งอาจกินอาหารและได้รับฟรุกโตสเข้าไปในร่างกายเพียงแค่ 15-20 กรัมต่อวัน โดยรับจากผลไม้สด แต่คนในปัจจุบันนั้นได้รับเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่า
น้ำเชื่อมข้าวโพดเป็นน้ำตาลที่ราคาต้นทุนต่ำกว่าน้ำตาลทราย ทำให้เป็นที่นิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อลดต้นทุน ทำให้พบน้ำเชื่อมข้าวโพดได้ในอาหารผ่านกระบวนการทั่วไป เช่น พิซซ่า ซอส ขนมปัง คุ้กกี้ เค้ก
ปริมาณฟรุกโตสที่เราได้รับต่อวันจึงเพิ่ม จาก 15-20 กรัมกลายเป็นมากกว่า 100 กรัมต่อวัน
น้ำตาลฟรุกโตสนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเบาหวานได้มากกว่ากลูโคสอีก เซลล์ในร่างกายทุกเซลล์สามารถใช้พลังงานจากกลูโคสได้ แต่ไม่สามารถใช้พลังงานจากฟรุกโตสได้โดยตรง จะต้องให้ตับเผาผลาญเท่านั้น กลูโคสที่มีมากสามารถส่งออกไปให้เซลล์ได้ทั่วร่างกาย แต่สำหรับฟรุกโตสนั้นจะส่งไปที่ตับเท่านั้น
ดังนั้นเมื่อเรากินอาหารที่มีกลูโคสมากๆ น้ำตาลจะถูกส่งไปยังเซลล์เพื่อให้ใช้เป็นพลังงาน เพื่อช่วยลดภาระของตับ ตับจะเผาผลาญกลูโคสเพียงแค่ประมาณ 20% และที่เหลือ 80% จะถูกส่งไปยังเซลล์อื่นๆ เช่น หัวใจ ไต ปอด สมอง กล้ามเนื้อ ต่างก็ช่วยลดภาระ ให้ตับทำหน้าที่เปลี่ยนอีก 20% กลายเป็นไกลโคเจน
เมื่อเรากินอาหารที่มีฟรุกโตสเยอะๆ มันจะถูกส่งไปที่ตับโดยตรง เพราะว่าไม่มีเซลล์ที่สามารถใช้งานฟรุกโตสได้โดยตรง
ตับสามารถเผาผลาญฟรุกโตสได้ไม่มีจำกัด ยิ่งเรากินเข้าไปมาก ก็ยิ่งเผาผลาญที่ตับมาก ยิ่งเรากินอาหารผ่านกระบวนการที่เอาโปรตีน ไขมัน เอาสารอาหารออกไปเหลือแต่น้ำตาล ก็ยิ่งทำให้เราไม่รู้สึกอิ่ม
เมื่อตับไม่สามารถเก็บสะสมน้ำตาลในรูปแบบไกลโคเจนได้อีก ก็จะต้องเปลี่ยนฟรุกโตสเป็นไขมันแทน การกินฟรุกโตสมากเกินไปจึงทำให้เพิ่มไขมัน DNL และไขมันพอกตับที่เกิดขึ้นนี้ ไม่สามารถตรวจพบได้จากการวัดค่าระดับน้ำตาลกลูโคส
ทำให้ฟรุกโตสมีอันตรายมากกว่ากลูโคสอีก ฟรุกโตสจึงเป็นกระสุนทะลุเกราะเข้าทำลายตับของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก
อันตรายของฟรุกโตส
- ฟรุกโตสเผาผลาญได้ที่ตับเท่านั้น ทำให้เกิดการสะสมไขมันพอกตับได้ง่ายๆ
- ตับเผาผลาญฟรุกโตสได้ไม่จำกัด ยิ่งกินมาก ยิ่งสะสมไขมันมาก
ฟรุกโตสไม่มีหนทางอื่น ตับสะสมกลูโคสในรูปแบบไกลโคเจนไว้ใช้ในยามจำเป็น แตร่างกายไม่สามารถเก็บฟรุกโตสได้โดยตรง เมื่อมีพลังงานเกิน ร่างกายจะเปลี่ยนฟรุกโตสเป็นไขมันที่ไม่สามารถย้อนกลับได้
Metabolic syndromes
ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) คือ ภาวะที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายที่ผิดปกติไป มีเงื่อนไข 5 อย่างดังนี้
- อ้วนลงพุง
- High-density lipoprotein (HDL) ต่ำ
- ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) สูง
- ความดันเลือดสูง
- ระดับน้ำตาลกลูโคสสูง
เมแทบอลิกซินโดรมเป็นปัญหาทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจมากถึง 300% และยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งอีกด้วย
ตับเป็นศูนย์กลางของการเก็บสะสมและกระจายพลังงาน เมื่อร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน สารอาหารจะถูกดูดซึม และตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมา
อินซูลินเร่งให้ร่างกายเก็บสะสมพลังงานไว้ใช้ในภายหลัง เป็นกลไกที่ช่วยให้บรรพบุรุษเราอยู่รอดในยุคที่อาหารขาดแคลน
ตับจะสะสมกลูโคสในรูปของไกลโคเจน ซึ่งสามารถเข้าถึงและเปลี่ยนกลับเป็นกลูโคสได้ง่าย แต่ตับมีขีดจำกัดในการเก็บไกลโคเจน
หลังจากที่ไกลโคเจนเต็มแล้ว ตับจะต้องหาที่เก็บกลูโคสใหม่ โดยเปลี่ยนกลูโคสเป็นไขมัน ด้วยกระบวนการ Denovo lipogenesis (DNL) ได้เป็น ไตรกลีเซอไรด์หรือไขมันร่างกาย ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัว
ไตรกลีเซอไรด์สูง
ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันที่ถูกสร้างขึ้นจากกลูโคสส่วนเกิน ไม่ใช่จากอาหารไขมันที่เรากินเข้าไป เรากินอาหารคาร์โบไฮเดรตมากจนทำให้ร่างกายเปลี่ยนไปเป็นไตรกลีเซอไรด์ ไม่ได้มาจากการกินอาหารไขมันอิ่มตัว
ดังนั้นไขมันอิ่มตัวในเลือดเป็นสิ่งอันตราย แต่ไม่ใช่อาหารไขมัน ในยามจำเป็นไตรกลีเซอไรด์จะถูกย่อยให้กลายเป็นกรดไขมัน ที่อวัยวะในร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้
กระบวนการเปลี่ยนไตรกลีเซอไรด์ให้กลายเป็นกรดไขมันเป็นเรื่องยุ่งยากมากกว่าการเปลี่ยนไกลโคเจนให้กลายเป็นกลูโคส เนื่องจากไตรกลีเซอไรด์เก็บไว้ในที่ห่างไกล
ไกลโคเจนนั้นสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว แต่มีพื้นที่จำกัด ต่างจากไตรกลีเซอไรด์ที่เข้าถึงยากแต่เก็บได้ไม่จำกัด
ไตรกลีเซอไรด์จะรวมกับโปรตีนพิเศษได้เป็น Very low-density lipoprotein (VLDL) ซึ่งจะถูกลำเลียงเข้าไปในกระแสเลือดเพื่อช่วยลดภาวะที่ตับมีน้ำตาลมากเกินไป
ยิ่งเรากินน้ำตาลกลูโคสหรือฟรุกโตสเข้าไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมี VLDL ถูกสร้างมากขึ้น หลังจากที่ VLDL ถูกลำเลียงเข้ากระแสเลือด อินซูลินจะกระตุ้นให้ Lipoprotein lipase (LPL) และลำเลียงไตรกลีเซอไรด์ออกจากกระแสเลือดเข้าไปเก็บในเซลล์ไขมัน Adipocyte
ระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงขึ้น เป็นตัวที่บอกได้ว่าจะเกิดโรคหัวใจ แต่ลำพังยาที่ใช้ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ ไม่อาจทำให้ความเสี่ยงน้อยลง เพราะไตรกลีเซอไรด์ไม่ได้ทำให้เกิดโรคหัวใจ
ระดับไขมัน HDL ต่ำ
ระดับไขมัน HDL ที่ต่ำเป็นตัวชี้วัดของการเป็นโรคหัวใจ โดยมักจะพบได้ในคนที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง
การที่ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น มันจะไปกระตุ้น Clolesterol ester transfer protein (CETP) ซึ่งจะไปลดระดับของ HDL ลง แต่ระดับ HDL ที่ต่ำก็ไม่ได้ทำให้เกิดโรคหัวใจ แค่มันเป็นตัวชี้วัดที่ดี
ไตรกลีเซอไรด์สูง HDL ต่ำ เกิดจาก VLDL มีมากเกินไป เกิดจากมีอินซูลินมากเกินไป และเกิดจากการกินอาหารกลูโคสฟรุกโตสมากเกินไป
Adipocyte เป็นที่เก็บไขมัน ดังนั้นการมีไขมันเยอะไม่ได้เป็นอันราย แค่ไม่เหมาะที่จะใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่มีนักล่า คนที่อ้วนอาจถูกจับกินได้ง่ายๆ ดังนั้น Adipocyte จึงมีกลไกที่จะป้องกันไม่ให้ขยายตัวมากเกินไป
โดยมันจะหลั่งฮอร์โมน Leptin ซึ่งสัญญาณที่บอกให้สมองส่วน Hypothalamus รู้ว่าอิ่มแล้วนะ ทำให้เราหยุดกิน ทำให้น้ำหนักลด
อินซูลินเป็นตัวที่บอกให้เก็บสะสมพลังงานในขณะที่ Leptin พยายามที่จะลดการสะสมพลังงาน ถ้า Leptin เหนือกว่า เราก็จะมีน้ำหนักลดลง ทำให้ไขมันลดลง
ถ้าร่างกายมีไขมันมากเกินไป Leptin จะถูกหลั่งออกมา เพื่อให้เรารู้สึกอิ่มและลดอินซูลินลง แต่ในภาวะดื้ออินซูลิน ระดับอินซูลินจะยังคงที่ และทำให้เราต้องสะสมพลังงานไขมัน
Leptin จึงยังคงมีระดับสูงเช่นกัน และเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะ Leptin สูงบ่อยๆ ก็จะเกิดภาวะดื้อ Leptin ได้เช่นกัน
ไขมันที่สะสมอยู่ในอวัยวะที่ไม่ได้ทำหน้าที่เก็บไขมันนั้นเป็นอันตราย เช่น ไขมันที่ตับ ไขมันในกล้ามเนื้อ มันจะทำให้อวัยวะเหล่านั้นทำงานบกพร่อง
ไขมันพอกตับทำให้ตับทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ระดับอินซูลินต่ำลง ก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลกลูโคสสูง
ความดันเลือดสูง
ระดับความดันเเลือดสูงเป็นภัยเงียบ มันเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง
ร่างกายที่มีอินซูลินสูงจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นความดันสูง อินซูลินเพิ่มปริมาณเลือดที่ปั๊มออกจากหัวใจ โดยทำให้ไตดูดโซเดียมกลับมากขึ้น นอกจากนั้นยังกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมน Diuretic ซึ่งทำให้ร่างกายดูดน้ำกลับมากขึ้น
การที่ร่างกายดูดโซเดียมและน้ำกลับมามากขึ้น ก็จะทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น
ภาวะที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ร่างกายอ้วน ดื้ออินซูลิน และ Beta cell dysfunction ต่างเป็นกลไกป้องกันตัวเองของร่างกาย จากการที่มีน้ำตาลมากเกินไป
ร่างกายอ้วนเพราะพยายามไม่ให้มี DNL อยู่ที่ตับมากเกินไป โดยจะลำเลียงไปเก็บไว้ที่เซลล์ไขมัน Adipolyte ถ้าไขมันสะสมในเซลล์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เก็บไขมัน ก็จะทำให้เกิด Metabolic syndrome ดังนั้นร่างกายที่อ้วนจึงเป็นกลไกป้องกันตนเองของร่างกาย เป็นปราการด่านแรก
ภาวะดื้ออินซูลินเป็นความพยายามของร่างกายที่ป้องกันไม่ให้มีไขมันสะสมที่อวัยวะโดยการป้องกันไม่ให้กลูโคสเข้าไปในเซลล์ที่เต็มแล้ว และผลที่เกิดคือภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นปราการด่านที่ 2
ปราการด่านสุดท้ายคือปิดการทำงานของตับอ่อนในการสร้างอินซูลินซะเลย ทำให้กลูโคสในเลือดที่สูงขึ้นมากจนทำให้เกิดอาการต่างๆ ของเบาหวาน แต่กลูโคสเหล่านั้นจะถูกกำจัดออกไปจากร่างกายทางปัสสาวะ ไม่สามารถทำอันตรายหรือทำให้เกิด Metabolic syndrome ได้อีก
ภาวะทั้ง 3 อย่างนี้เราคิดว่าเป็นปัญหา แต่มันคือกลไกป้องกันตนเองของร่างกาย เป็นวิธีการแก้ปัญหาของร่างกายของเรา และปัญหาที่แท้จริงคือร่างกายมีน้ำตาลมากเกินไป ถ้าเรารู้ต้นเหตุ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ นั่นคือต้องลดน้ำตาลลง ลดอินซูลินลง
การรักษาเบาหวานชนิดที่ 2
การรักษาเบาหวานโดยทั่วไปมักจะใช้การฉีดอินซูลิน โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ร่างกายขาดอินซูลิน หากไม่มีอินซูลินทดแทนก็ไม่สามารถใช้กลูโคสเพื่อเป็นพลังงานได้และทำให้อด เซลล์ขาดอาหาร ทำให้น้ำหนักตัวลดลงอาจถึงขั้นเสียชีวิต
แต่การฉีดอินซูลินก็มีผลข้างเคียงที่ตามมาเช่นกัน เช่นทำให้อ้วนขึ้น จากไขมันสะสมโดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง อินซูลินทำให้เกิด Metabolic syndrome
ส่วนเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากร่างกายมีอินซูลินเยอะอยู่แล้ว ดังนั้นการฉีดอินซูลินเพิ่มเข้าไปจึงทำให้เกิดปัญหายิ่งกว่าเดิม ถึงแม้จะช่วยให้ระดับกลูโคสในเลือดลงได้ แต่มันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด ไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุ เราจะต้องทำให้ทั้งกลูโคสและอินซูลินลดลง
สิ่งสำคัญในการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 คือ ต้องกำจัดน้ำตาลกลูโคสที่มีเยอะออกไป ไม่ใช่เพียงแค่ย้ายมันไปเก็บไว้ที่อื่น เพราะปัญหาคือมีน้ำตาลและมีอินซูลินเยอะเกินไป
ยิ่งมีอินซูลินมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะทำให้เสียชีวิตมากขึ้น ยิ่งรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยอินซูลินนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจมากขึ้น
นอกจากนั้นระดับอินซูลินสูงยังทำให้เซลล์มะเร็งก่อตัวเติบโตได้ดี เพราะอินซูลินเป็นเหมือนปัจจัยที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโต และอีกอย่างเซลล์มะเร็งจะมีอัตราการเผาผลาญพลังงานมากและจำเป็นต้องใช้พลังงานจากกลูโคส การเพิ่มอินซูลินจึงทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งขึ้นอีก
การรักษาเบาหวานทั้งแบบฉีดอินซูลินและยาที่มุ่งทำให้ระดับกลูโคสต่ำลงนั้น ในระยะยาวใช้ไม่ได้ผล เพราะไม่ได้ทำให้ลดระดับอินซูลินลง ไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุ นอกจากนั้นยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจอีกด้วย
อาหารประเภทไขมันไม่ได้ทำให้เพิ่มระดับกลูโคส ดังนั้นการลดอาหารมันหรือลดอาหารที่แคลอรีน้อยลงจึงไม่ได้ช่วยทำให้เบาหวานดีขึ้นได้ กลับกันหากงดอาหารไขมันสูง เราก็หันไปกินคาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้นหรือกินโปรตีนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาหารทั้งสองอย่างนี้ทำให้เพิ่มกลูโคสในร่างกายได้
ออกกำลังกายช่วยได้แต่ไม่มาก
การออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายแข็งแรง เพิ่มความสมดุล ช่วยในเรื่องของความดันเลือด ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดระดับน้ำตาลกลูโคส และเพิ่มประสิทธิภาพของอินซูลิน โดยที่ไม่ต้องพึ่งยา
นักกีฬาต่างก็ได้รับประโยชน์จากการออกกำลังกาย ทำให้ลดระดับอินซูลิน การออกกำลังกายจึงเป็นแนวทางที่ดี
แต่การออกกำลังกายไม่ได้ทำให้เห็นผลทันที มันอาจไม่ได้เห็นผลทันทีอย่างที่โฆษณาไว้ น้ำหนักที่ลดลงจากการออกกำลังกายก็น้อยไป ทำให้คนไม่ได้กระตือตือร้นหรือตั้งใจที่จะไปออกกำลังกายเป็นประจำ
ระดับการออกกำลังกายที่แนะนำโดยทั่วไปคือวันละ 30 นาที เพื่อเผาผลาญกลูโคสที่เกินออกไป 5 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเฉลี่ยเราจะเผาผลาญได้ประมาณ 150-200 ต่อวัน และ 700-1000 แคลอรีต่อสัปดาห์ ตัวเลขนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับแคลอรีที่ได้รับสัปดาห์ละ 14000
การออกกำลังกายได้ผลน้อยกว่าที่คาดหวังไว้มาก เหตุผลก็คือ การออกกำลังกายกระตุ้นทำให้หิว ทำให้อยากกินอาหารมากขึ้น สองคือการออกกำลังกาย 30 นาทีนั้น ดันไปลดกิจกรรมที่เราทำในแต่ละวัน ถ้าไปออกกำลังกาย หลังจากออกกำลังกาย เราก็มักจะกลับมาพัก ทำกิจกรรมออกแรงน้อยลง
ยิ่งเราออกกำลังกายมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งกินมากขึ้นและทำกิจกรรมอื่นๆ น้อยลง นั่นทำให้มันลดผลของการออกกำลังกายไป
เบาหวานไม่ได้เกิดจากการขาดออกกำลังกาย แต่เป็นเพราะมีน้ำตาลกลูโคสหรือฟรุกโตสในร่างกายมากเกินไป การออกกำลังกายอาจช่วยลดภาวะดื้ออินซูลินได้ที่กล้ามเนื้อ แต่มันไม่ช่วยทำให้ภาวะดื้ออินซูลินที่ตับดีขึ้นได้
ไขมันพอกตับเป็นตัวการที่ทำให้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 และเราไม่สามารถไปออกกำลังตับได้ ดังนั้นการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 จึงต้องอาศัยการเปลี่ยนอาหารใหม่ ต้องแก้ที่ต้นเเหตุนั่นคือเรื่องของการกิน
ผ่าตัดลดความอ้วนได้ผลดี
การผ่าตัดลดความอ้วนหรือเพื่อรักษาเบาหวานนั้นได้ผลดี สามารถทำให้เบาหวานหายไปได้ในเวลาสั้นๆ แต่การผ่าตัดมีค่าใช้จ่ายที่แพง ต้องจ่ายทั้งเงินและร่างกาย
การผ่าตัดได้ผลดีเพราะมันทำให้ร่างกายได้รับแคลอรีลดลงทันที ทำให้ร่างกายต้องใช้ไกลโคเจนที่สะสมในตับไปจนหมดภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อไกลโคเจนหมดไปเราก็จะถูกบังคับให้เผาผลาญไขมัน ร่างกายเผาผลาญไขมันจากตับและจากอวัยวะอื่นๆ เพราะมันเข้าถึงได้ง่ายกว่าไขมันที่สะสมไว้ในเซลล์ไขมัน Adipolyte
การลดไขมัน Ectopic ไขมันที่สะสมผิดที่ ลดไขมันช่องท้อง (Viseral fat) ช่วยให้เบาหวานชนิดที่ 2 ย้อนกลับได้ และเห็นผลก่อนที่ไขมันส่วนอื่นๆ ของร่างกายจะหายไป เบาหวานเริ่มย้อนกลับได้ภายในแค่ไม่กี่สัปดาห์ ถึงแม้ว่าน้ำหนักตัวจะยังเยอะอยู่
การลดไขมันที่สะสมตามอวัยวะนั้นช่วยทำให้ระบบเผาผลาญดีขึ้น การลดไขมันที่สะสมในตับอ่อนช่วยให้แก้เรื่อง Beta cell dysfunction ได้ ทำให้อินซูลินหลั่งออกมาได้ตามปกติ ทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสลดต่ำลง
อีกวิธีที่จะช่วยให้เกิดการเผาผลาญไขมันได้ทันที การลดแคลอรีได้ทันทีแบบเดียวกับการผ่าตัด ก่อนที่จะเสียเงินหลายแสนบาทเพื่อไปผ่าตัดลดน้ำหนัก วิธีที่ปลอดภัยและไร้ค่าใช้จ่ายคือการเปลี่ยนการกินใหม่ กินอาหารคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลงนั่นเอง
อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ ไขมันดีสูง
การเปลี่ยนอาหาร เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและย้อนกลับเบาหวานได้ อาหารที่เหมาะสำหรับคนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 คืออาหารไขมันรสชาติอร่อย
เนย ชีส ครีม เคยถูกมองว่าเป็นอาหารที่ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดและทำให้เป็นโรคหัวใจ นั่นทำให้เกิดคำแนะนำให้งดอาหารมันเหล่านี้
ไขมันอิ่มตัวจากอาหารไม่ได้ทำให้เกิดการอุดตันในเส้นเลือดหรือโรคหัวใจ อาหารไขมันสูง ไขมันดีที่อยู่ในอะโวคาโดนั้น เมื่อก่อนมองว่าเป็นอันตราย ตอนนี้กลายเป็นอาหารแนะนำไปแล้ว
ปลาที่มีไขมันโอเมก้า 3 สูง ก็เป็นส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคหัวใจ ไข่แดงที่มีคอเลสเตอรอลสูง กินทุกวันก็ไม่ได้ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ
กินอาหารไขมันนอกจากจะไม่ได้ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจแล้วยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานได้ด้วย
ไขมันเป็นอาหารที่กระตุ้นระดับกลูโคสได้น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน ไขมันบริสุทธิ์เช่น น้ำมันมะกอก เนย แทบไม่ได้กระตุ้นให้หลั่งอินซูลินออกมาเลย
ดังนั้นการเปลี่ยนจากกินคาร์โบไฮเดรตไปกินอาหารไขมันสูงที่ได้จากธรรมชาติ จึงเป็นวิธีที่ช่วลดอินซูลินลงได้
น้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตผ่านกระบวนการขัดเกลานั้นมีค่าดัชนีน้ำตาลสูง ทำให้เพิ่มระดับน้ำตาลกลูโคสได้มากและเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน เสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ
ลดอาหารคาร์โบไฮเดรตลงจะมีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนัก ลดรอบเอว และลดน้ำตาลในเลือดลง
ธัญพืชขัดสีและน้ำตาลเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต เป็นอาหารที่เราควรเลี่ยง คาร์โบไฮเดรตยิ่งผ่านกระบวนการมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีค่าดัชนีน้ำตาลสูงขึ้น มันจะเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้เร็วขึ้นกว่าคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการ
กินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต ไมได้หมายความว่าจะทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินได้ แต่ตัวการที่แท้จริงคือคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านกระบวนการ อาหารที่เอาไฟเบอร์ เอาไขมัน และโปรตีนออกไป ทำให้ได้คาร์โบไฮเดรตบริสุทธิ์ เช่น แป้ง ทำให้ดูดซึมได้ดีและทำให้กลูโคสสูงขึ้นอย่างเร็ว
เวลาที่เรากินอาหารคาร์โบไฮเดรตผ่านกระบวนการ เรามักจะกินได้เยอะเพราะสารอาหารโปรตีน ไฟเบอร์ และไขมันถูกเอาออกไป
น้ำตาลฟรุกโตสกลายเป็นส่วนประกอบหลักที่พบในอาหาร ทำให้เกิดไขมันพอกตับ ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้ระดับอินซูลินสูง
การลดอาหารคาร์โบไฮเดรต เพิ่มอาหารไขมัน มีส่วนช่วยทำให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พึ่งพายาน้อยลง โดยการเปลี่ยนไปกินอาหารไขมันจากธรรมชาติ ลดแป้งและน้ำตาลลง ช่วยให้เดินไปเส้นทางที่จะหายจากเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
เอาน้ำตาลออกไป เอาเบาหวานออกไป เบาหวานคือภาวะร่างกายมีน้ำตาลในร่างกายมากเกินไป ทั้งที่อยู่ในเลือดและสะสมตามอวัยวะอื่นๆ เนื่องจากปัญหาคือน้ำตาล ดังนั้นทางแก้ก็คือต้องกำจัดน้ำตาลออกไป
- หยุดเอาน้ำตาลเข้าร่างกาย
- เผาผลาญน้ำตาลให้หมดไป
อาหารแต่ละอย่างกระตุ้นอินซูลินแตกต่างกัน ไขมันจะถูกย่อยให้เป็นกรดไขมันซึ่งไม่ได้จำเป็นต้องใช้อินซูลินสำหรับการเผาผลาญ โปรตีนถูกย่อยให้กลายเป็นกรดอะมิโน ซึ่งต้องการอินซูลินปริมาณน้อยเพื่อให้ตับจัดการ
คาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารที่กระตุ้นอินซูลินมากที่สุด มันจะถูกย่อยให้กลายเป็นกลูโคส ซึ่งจำเป็นต้องมีอินซูลินเพื่อให้สามารถส่งเข้าไปยังเซลล์ได้
ฟรุกโตสในน้ำเชื่อมข้าวโพดนั้น ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินได้โดยตรง ทำให้เกิดภาวะอินซูลินในร่างกายสูง ฟรุกโตสเป็นอันตรายมากกว่ากลูโคส
งดอาหารที่ผ่านกระบวนการ งดอาหารที่ทำจากข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวขาว มันฝรั่ง ลดอาหารที่ผ่านกระบวนการเช่น ขนมปัง พาสต้า วาฟเฟิล มัฟฟิน คัพเค้ก โดนัท ป้อบคอร์น มันฝรั่งทอด งดน้ำหวาน น้ำอัดลม กินข้าวขาวขัดสีให้น้อยลง เปลี่ยนไปกินข้าวกล้อง
คาร์โบไฮเดรตไม่ใช่อาหารที่เลวร้าย แต่อาหารที่ผ่านกระบวนการเท่านั้นที่เป็นปัญหา กระบวนการที่เอาโปรตีน ไขมัน สารอาหารอื่นๆ ออกไป ให้เหลือแต่คาร์โบไฮเดรตนั้น ไม่ใช่อาหารธรรมชาติที่ร่างกายเราวิวัฒนาการมากินอาหารแบบนี้
เปลี่ยนไปกินอาหารไขมันจากปลา น้ำมันมะกอก อะโวคาโดและถั่ว ไขมันจากเนื้อสัตว์ เบคอน เนย ครีมและมะพร้าวเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพ อาหารทะเลส่วนใหญ่ ไข่ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี
แต่ก็ใช่ว่าน้ำมันจะดีทุกอย่าง น้ำมันที่มีโอเมก้า 6 สูง ไขมันที่ผ่านกระบวนการไม่ใช่จากธรรมชาติก็ทำให้เกิดการอักเสบเกิดขึ้นในร่างกายและทำให้สุขภาพแย่ลงได้
น้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน น้ำมันจากข้าวโพด น้ำมันคาโนลา น้ำมันเมล็ดคำฝอย ไม่ควรนำมาใช้ประกอบอาหารที่ผ่านความร้อนสูง เพราะมันจะได้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย งดของทอดและงดไขมันทรานส์
การอดอาหารเป็นช่วง
เบาหวานชนิดที่ 2 คือภาวะที่มีน้ำตาลในร่างกายมากเกินไป การจะย้อนกลับไปได้จะต้อง
- หยุดเอาน้ำตาลเข้าไป
- เผาผลาญน้ำตาลให้หมดไป
อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ และมีไขมันที่ดีต่อสุขภาพนั้น ช่วยลดกลูโคสลงได้ การออกกำลังกายอาจพอช่วยเผาผลาญน้ำตาลออกไปได้บ้าง แต่ประสิทธิภาพมีจำกัด
ออกกำลังกายช่วยลดไขมันได้เฉพาะกล้ามเนื้อลาย แต่ไขมันพอกตับนั้นเราไม่สามารถออกกำลังตับได้
การอดอาการเป็นช่วง (Intermittent fasting) ดีกว่าการลดแคลอรีลง เพราะการลดแคลอรีลงจะไปกระตุ้นให้อยากกินอาหารมากขึ้น และลดกระบวนการเผาผลาญพลังงานลง ทำให้ผลของการลดแคลอรีนั้นด้อยประสิทธิภาพลงไป
การอดอาหารเป็นช่วงนั้นดีกว่าเพราะมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนส์ ที่สำคัญคือมันช่วยลดอินซูลินและลดภาวะดื้ออินซูลินลงได้
การอดอาหารเป็นช่วงช่วยทำให้ลดอินซูลินลงได้เรื่อยๆ และลดภาวะดื้ออินซูลินได้เรื่อยๆ การอดอาหารเป็นวิธีที่ปลอดภัยและได้ผลดี ช่วยให้ลดน้ำหนักลดไขมันโดยเฉพาะไขมันช่องท้องได้
การอดอาหารได้ผลดีเพราะว่ามันไม่ได้ไปกระตุ้นให้ร่างกายลดอัตราการเผาผลาญพลังงานลงไป เพราะว่าร่างกายมีกลไกเพื่อความอยู่รอด ในช่วงอดอาหารร่างกายจะหันไปใช้พลังงานที่เก็บสะสมไว้ นั่นคือไกลโคเจนและไขมันร่างกาย ทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงานไม่ได้ลดลง
ช่วงของการอดอาหาร ร่างกายจะเริ่มนำเอาพลังงานจากไกลโคเจนออกมาใช้ก่อน หลังจากหมดไป ก็จะใช้ไขมันร่างกาย ซึ่งมีเยอะมาก จนทำให้ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปลดอัตราการเผาผลาญพลังงานลงไป
ทั้งวิธีอดอาหารเป็นช่วงๆ และการลดอาหาร์คาร์โบไฮเดรตลง จะช่วยให้ลดอินซูลินลงได้ผลดีและย้อนลับเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ยิ่งถ้าเราสามารถใช้ทั้งสองวิธี ยิ่งทำให้ได้ผลดีมากยิ่งขึ้น