ถึงแม้เราจะคิดว่าตัวเองมีเหตุผล แต่ความจริงก็คือเราเอนเอียง มีอคติในการตัดสินใจในแต่ละวัน เริ่มตั้งแต่จ่ายเงินซื้อของใช้ ตัดสินใจเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ พฤติกรรมการเลือกถูกชี้นำด้วยความไร้เหตุผล แต่ความเอนเอียงบางอย่างก็มีประโยชน์ ความเอนเอียงที่จะมองโลกในแง่ดีช่วยให้เรามีความสุขและประสบความสำเร็จมากกว่าการรับสภาพและมองโลกตามความจริง
ถึงแม้จะประสบกับความยากลำบาก แต่มนุษย์ก็ยังคงมีความหวัง นั่นเป็นเพราะความเอนเอียงที่จะมองโลกในแง่ดี (Optimism bias) อคติที่พบได้ในคนทั่วไปกว่า 80% ของประชากรทั้งหมด
อคติ ความเอนเอียง ดูไม่น่าใช่เรื่องดี แต่ความเอนเอียงที่จะมองโลกในแง่ดี กลับทำให้เรามีความสุขและประสบความสำเร็จได้มากกว่าการมองโลกในแบบที่เป็นจริง แต่ก็ไม่จริงเสมอไป เพราะการมองโลกในแง่ดีมากเกินไปโดยที่ไม่รู้ตัว อาจทำให้เราไม่ระวังและเกิดเรื่องร้ายขึ้นได้
ในบทความนี้จะอธิบายว่า ทำไมคนถึงคาดหวังความสุขที่จะเกิดขึ้นและประเมินโอกาสที่จะทำสำเร็จไว้สูงเกินไป ทำไมคนจึงคิดว่าตัวเองยังคงโชคดีในขณะที่คนรอบข้างประสบเรื่องร้าย ถึงแม้จะมีข่าวอุบัติเหตุทุกวัน มีข่าวขโมยขึ้นบ้านอย่บ่อยๆ แต่คนก็ยังคิดว่าเหตุการณ์ร้ายเหล่านั้นมันมีโอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง
จากหนังสือ Optimism Bias: Why We’re Wired to Look on the Bright Side ความเอนเอียงที่จะมองโลกในแง่ดี เกิดขึ้นจาก ขีดจำกัดของการมองโลกในแง่ร้าย ขีดจำกัดของการประมวลผลสัญญาณเตือนภัย การมีสติรู้ตัวจะช่วยให้เรามองโลกในแง่ดีแบบพอประมาณ และไม่ทำให้ข้อดีของมันหายไป
มีโอกาสสูงมากที่เราจะเป็นหนึ่งในคนสวนใหญ่ 80% ที่จะเอนเอียงและมองโลกในแง่ดี สิ่งที่ทำให้คนประเมินโอกาสที่จะประสบความสำเร็จไว้สูงเกินไป ราวกับว่าตัวเองมีภูมิคุ้มกันความล้มเหลว มีเกราะป้องกันเรื่องร้ายๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง
ความเอนเอียงที่จะมองโลกในแง่ดี เป็นอคติส่วนตัว ที่คิดว่าตัวเองยังคงอยู่เย็นเป็นสุข ในขณะที่คนรอบข้างตกระกำลำบาก คนทั้งประเทศประสบภาวะระส่ำระสาย
ความเอนเอียงที่จะมองโลกในแง่ดี ไม่ว่าจะที่ใดในโลกนี้ ก็เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย มันทำให้คนยังโหยหาเนื้อคู่อยากแต่งงาน โดยไม่สนใจอัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้น ถ้ารู้ว่าต้องหย่าก็คงไม่อยากแต่ง แต่อคติทำให้สถิติใช้ไม่ได้ผล ถึงจะรู้อัตราการหย่าร้างที่สูงถึง 40% แต่คนก็ยังมองว่ามันจะไม่เกิดขึ้นกับตัวเองหรอก
มายาที่ถูกสร้างขึ้นโดยสมอง
โลกจริงที่เรามองเห็นคือมายา คือสิ่งที่สมองวาดภาพให้เราเข้าใจ ภาพที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา หน้าที่อีกอย่างของสมองคือเติมสิ่งขาดหายไป ทำให้สิ่งที่เรามองเห็นนั้นคือภาพลวงตา มันจึงไม่ผิดที่จะบอกว่า เราเห็นภาพหลอนอยู่ตลอดเวลา
จากภาพมีช่อง A และ B ช่องไหนที่สว่างมากกว่ากัน? สิ่งที่เราเห็นเหมือนกันนั่นคือ ช่อง B สว่างมากกว่า A
ผิด ทั้งสองช่องมีความสว่างเท่ากัน มีสีเดียวกัน แต่การที่เรามองเห็นภาพแตกต่างกันคนละสีเป็นเพราะภาพลวงที่สร้างขึ้นจากสมอง ระบบการมองเห็นของเราเชื่อว่า B อยู่ใต้เงา ในขณะที่ A อยู่ในที่สว่าง
สมองเราพยายามปรับความเข้าใจและคิดว่าจากตำแหน่งของทั้งสองช่อง ที่อยู่ใต้เงาและอยู่ในที่สว่าง และสรุปว่า B สว่างมากกว่า A
เรารับรู้และมองโลกแตกต่างไปจากความจริง ไม่ว่าจะกี่ครั้งที่มองไปยังภาพ สมองก็ยังคงชี้นำให้เราเข้าใจแตกต่างไปจากวัตถุจริง
ถึงแม้สมองจะให้ข้อมูลผิดๆ กับเรา แต่ที่ทำไปก็เพราะมีเหตุผลที่ดี ระบบการมองเห็นของเราไม่ได้ถูกสร้างขึ้นให้รับรู้ภาพที่สร้างจาก Photoshop ภาพที่มันไม่ได้ยึดหลักตามความจริง
ระบบการนำทางหรือระบบการมองเห็นถูกพัฒนาให้แปลผลวัตถุบนโลกที่เราพบบ่อยๆ โดยการใช้ทางลัด สร้างสมมติฐานเเกี่ยวกับโลก ทำให้สมองทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพในทุกสถานการณ์ แต่มันก็ทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้น ในกรณีที่สมมติฐานเหล่านั้นผิด
ความผิดพลาดเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดี ว่าเราใช้ชีวิตในแต่ละวันโดยที่ไม่สงสัยการรับรู้โลกนี้ของเรา ที่บางครั้งมันไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของวัตถุ แต่สมองกลับทำให้เรารับรู้ว่ามันคือความจริง
ลองดูอีกตัวอย่างหนึ่ง จากภาพสิ่งที่เราเห็นเหมือนกันคือภาพผู้หญิงกลับหัวที่กำลังยิ้ม ลองกลับภาพแล้วดูอีกด้าน สิ่งที่เราเห็นได้ในทันทีคือความผิดปกติ ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้ยิ้มหวาน ภาพลวงนี้เรียกว่า Thatcher illusion
ภาพที่เกิดจากการพลิกกลับหน้าโดยที่ยังคงปากและตาเอาไว้ ถ้ามองภาพกลับหัว ก็จะเห็นเป็นภาพผู้หญิงที่กำลังยิ้มปกติ
การจะอยู่ในโลกนี้ได้ การจะใช้ชีวิตในโลกนี้ได้ตามปกติ เราจำเป็นต้องแยกแยะและจดจำใบหน้าของคนหลายคน ทำให้เรารู้ว่าคนนี้คือคนที่เรารู้จัก ทำให้เราเข้าใจอารมณ์ของคนจากการแสดงออกทางสีหน้า รู้ว่าคนนี้กำลังโกรธหรือกลัว และรู้ว่าควรจะตอบสนองยังไง ควรจะเข้าหาหรือหลีกเลี่ยงถอยออกไป
Fusiform face area (FFA) คือส่วนหนึ่งในสมองที่ทำให้เราสามารถจดจำใบหน้าของแต่ละคนได้ หากไม่มี FFA เราก็จะกลายเป็นคนตาบอดหน้า แยกแยะไม่ออกว่าใครเป็นใคร
สมองคุ้นเคยกับใบหน้าที่ตั้งตรง และประมวลผลการแสดงออกทางสีหน้าพร้อมกันทั้ง ตา จมูก และปาก แต่ภาพกลับหัวไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคย ไม่ได้พบเจอเป็นประจำ ทำให้สมองไม่ได้เรียนรู้วิธีการประมวลผลภาพกลับหัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมองจะต้องประมวลผล ตา จมูก และปาก แยกกัน
การที่สมองประมวลผลใบหน้าแยกกัน ทำให้สมองใช้เงื่อนงำในการตรวจจับอารมณ์ เห็นปากที่ดูเหมือนยิ้มทำให้สมองสรุปว่าผู้หญิงในภาพกำลังยิ้ม
แต่พอกลับไปดูอีกด้าน ก็พบว่าเป็นภาพผิดปกติ ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้กำลังยิ้มหวาน แต่มันกลายเป็นภาพใบหน้าผิดเพี้ยนที่ทำให้เกิดความกลัว
จากภาพลวงตาและความผิดพลาดของสมองเป็นตัวอย่างที่ดี ว่าเราใช้ชีวิตอยู่ในโลกมายาโดยที่ไม่รู้ตัว ไม่เคยคิดสงสัยการรับรู้โลกแห่งความจริงของตัวเอง ไม่รู้ว่ามันสะท้อนตัวตนจริงๆ ของวัตถุนั้นหรือเปล่า สมองให้ข้อมูลที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง
เราจะรู้และเข้าใจความจริงก็ต่อเมื่อมีหลักฐานยืนยัน มีเครื่องมือที่เชื่อถือได้ ทำให้เราตระหนักว่าสมองไม่ได้เป็นสิ่งที่เชื่อได้เสมอไป สิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา หรือสิ่งที่อยู่ภายในตัวเรา มันอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด
ภาพหลอน มายา ทำให้เรารู้จักธรรมชาติการปรับตัวของมนุษย์ เพราะมันทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จในการเอาตัวรอด ถึงแม้บางครั้งมันอาจนำไปสู่หายนะ
มายาทางความคิด
ใจเราไม่ได้มีแต่เหตุผล แต่เต็มไปด้วยอคติ
คนมักจะบอกว่าตัวเองมีเหตุผล ยกตัวเองเป็นผู้รอบรู้ เป็น Homo sapiens แต่สิ่งที่เราพบกลับกลายเป็นว่า เรามองในแง่ดีมากเกินจริงไปหน่อย
ลองตอบคำถามนี้ โดยการเรทตัวเองด้านความสามารถในการเข้ากับคนอื่นๆ แล้วเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ว่าเราอยู่ในระดับไหน 25% ล่าง, 25% บน หรืออยู่ตรงกลาง
เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ ที่จะเรทตัวเองว่าเข้ากับคนอื่นได้ดีกว่าคนทั่วไป บางคนอาจจะเรทตัวเองอยู่ในกลุ่ม 25% บน
ในทางสถิติเป็นไปไม่ได้ที่คนส่วนใหญ่จะดีกว่าคนส่วนใหญ่ เราไม่อาจยัดคนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม 25% บนได้ทั้งหมด มันต้องมีคนที่ทำได้ไม่ดีอยู่บ้าง ต้องมีคนที่อยู่ในกลุ่ม 25% ล่างบ้าง แต่ปรากฏการณ์ที่คนเรทตัวเองดีกว่าคนส่วนใหญ่นี้เรียกว่า Superiority bias อคติที่มองตัวเองดีกว่าคนอื่น
เรามั่นใจมากเหลือเกินว่าเป็นคนน่าสนใจ น่าหลงไหล เป็นมิตรและประสบความสำเร็จมากกว่าคนทั่วไป เราอาจไม่ได้เที่ยวบอกใครหรือเวลาคนถามเราอาจปฏิเสธไม่ยอมรับ แต่ในใจนั้นมันใช่จริงๆ แน่นอนว่ามันจะต้องมีคนที่น่าสนใจ น่าหลงไหล แต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่แน่นอน
เรามีอคติที่จะมองตัวเองดีกว่าคนอื่น เราตาบอดไม่รู้ว่ามันคือมายา แต่ในทางกลับกัน เรากลับตาดีและจับได้ในตอนที่คนอื่นคิดว่าตัวเค้าดีกว่าคนทั่วไป
เราแต่ละคนมองโลกในแบบของตัวเองที่ต่างจากคนอื่น เราต่างก็จับได้เวลาที่คนอื่นคิดว่าตัวเค้าดีกว่าคนทั่วไป การที่เราตรวจจับอคติของคนอื่นได้ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองก็มีอคติ ทำให้เราคิดว่าเราได้รับผลกระทบจากอคตินี้น้อยกว่าคนทั่วไป
ความย้อนแย้งของมายาทางความคิด ทำให้เราถูกลวงว่ามีภูมิคุ้มกันอคติ
มันยากที่จะไม่ให้ตัวเองหลงผิดเกี่ยวกับโลกรอบๆ ตัวเรา เรามักจะเชื่อในการรับรู้โลกความจริงของเราเอง เราไม่ได้สงสัย ไม่ได้ตระหนักว่าสิ่งที่เราเห็นบนโลกนี้ล้วนถูกชี้นำให้เข้าใจผิด ทำให้เราไม่รู้ตัวว่าทำผิดพลาด แล้วเราก็มั่นใจเหลือเกินว่าไม่ผิด และเราคิดว่าต้องรู้ตัวแน่ๆ หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น
เช่นเดียวกับภาพลวงตา อคติหรือความเอนเอียงที่จะมองโลกในแง่ดี ก็เป็นมายาทางความคิด เราตาบอดมองไม่เห็นความจริงของภาพลวง เราไม่เชื่อว่าจะโดนหลอก จนกระทั่งมีข้อมูลสนับสนุน มีหลักฐานยืนยัน
สมองของคนมองโลกในแง่ดี
หากเราไม่สามารถจินตนาการถึงตัวเองในอนาคต เราก็คงมองโลกในแง่ดีไม่ได้
คนที่มองโลกในแง่ดีคือคนที่คาดหวังสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คาดหวังว่าจะมีชีวิตที่ดี มีความสัมพันธ์ที่ดี ได้งานที่ดี สุขภาพดีและมีความสุข การคาดหวังสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นนี้เองที่ทำให้ลดความกังวลและความสิ้นหวังลงได้ ทำให้คนมองโลกในแง่ดีปรับตัวได้ดีในตอนลำบากหรือเกิดปัญหา
และถึงแม้สิ่งที่คาดหวังไว้มันจะไม่เป็นจริง แต่คนเหล่านี้ก็รู้จักเรียนรู้จากความผิดพลาดและลองใหม่อีกครั้ง ถ้าสุดท้ายทุกอย่างมันลงเอยด้วยดี ก่อนหน้านั้นจะเป็นยังไงก็ไม่ต้องสนใจ และถ้าตอนนี้มันยังไม่ดี ก็แสดงว่ามันยังไม่จบ
ความเอนเอียงที่จะมองโลกในแง่ดีเป็นอคติที่จะคาดหวังว่าสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้น แต่คาดหวังว่าสิ่งร้ายๆ จะไม่เกิดขึ้น คนที่มองโลกในแง่ดีจะมองเห็นอนาคตที่สดใสชัดเจนมีรายละเอียดมากกว่าอนาคตที่เลวร้าย
สำหรับเรื่องดีๆ ที่อยากให้เกิดขึ้น คนมองโลกในแง่ดีจะสนุกกับการคาดหวังให้มันเกิดขึ้น
ที่มาของความเอนเอียงที่จะมองโลกในแง่ดี มันอยู่ลึกในสมอง จากการสแกนสมองด้วย fMRI ทำให้รู้ว่าสมองทำงานยังไง และเข้าใจที่มาของความเอนเอียงที่จะมองโลกในแง่ดี
ในสมองมีสองส่วนหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเอนเอียงที่จะมองโลกในแง่ดี ทั้งสองส่วนมีความสำคัญต่ออารมณ์และแรงจูงใจ ส่วนแรกคือ Amygdala ที่ประมวลผลอารมณ์ ทำให้เกิดความกลัว ส่วนที่สองคือ Rostral anterior cingulate cortex (rACC) ทำหน้าที่ปรับอารมณ์และแรงจูงใจ โดยลดการตอบสนองต่อความกลัวและความเครียดที่มาจาก Amygdala ลง
ยิ่งสมองทั้งสองส่วนนี้เชื่อมต่อกันมากเท่าไหร่ สมองก็จะยิ่งสนใจแต่ด้านบวกมากขึ้น ทำให้เรามองโลกในแง่ดีมากขึ้น ทำให้จินตนาการถึงเหตุการณ์ดีๆ ในอนาคตได้ชัดเจน
ตรงข้ามกับคนที่ประสบปัญหาภาวะซึมเศร้า ที่สมองทั้งสองส่วนไม่ได้เชื่อมกันทำงานประสานกันไม่ดี คนเหล่านี้ก็จะจินตนาการถึงเหตุการณ์ร้ายในอนาคตได้ชัดเจนมากกว่าเหตุการณ์ดี
สมองกับการคาดหวัง
การคาดหวังส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ถ้ามีคนบอกว่าเราฉลาดก่อนที่เราจะทำผิดพลาด สมองส่วนที่ตอบสนองต่อการทำผิดจะมีกิจกรรมเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามีคนบอกว่าเราโง่ก่อนที่เราจะทำผิดพลาด กิจกรรมในสมองจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง หลังจากที่คนบอกว่าเราโง่ เราก็จะไม่คาดหวังว่าจะทำได้ดี และพอผลลัพธ์ออกมาไม่ดี เราก็จะไม่แปลกใจ
ถ้าเราคาดหวังว่าจะได้รับการเลื่อนขั้น แต่ปรากฎว่าเราไม่ได้ สมองเราก็จะวิ่งเต้นเกิดกิจกรรมมากขึ้น เพราะพยายามหาสาเหตุว่าทำไมเราไม่ได้เลื่อนขั้น แต่ถ้าเราไม่ได้คาดหวัง เราก็จะไม่แปลกใจ กิจกรรมในสมองก็จะไม่เปลี่ยนแปลง
คนจะรู้สึกสนุกมากขึ้นหากได้รอบางอย่างแทนที่จะได้รับสิ่งนั้นทันที ตรงข้ามกับความเจ็บปวดที่คนมักจะอยากให้เกิดขึ้นทันทีและให้มันจบลงเร็วๆ
คนที่มองโลกในแง่ร้ายมักจะจินตนาการถึงเหตุการณ์ร้ายๆ ที่จะเกิดขึ้น คนเหล่านี้จะเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่มองโลกในแง่ดี เพราะหากเจ็บป่วย คนเหล่านี้จะยอมรับสภาพ ทำให้เพิ่มโอกาสที่จะเสียชีวิต ดังนั้นคนมองโลกในแง่ร้ายจึงมีความเสี่ยงมากว่า เพราะคิดว่าไม่มีอะไรจะเสีย
ส่วนคนที่มองโลกในแง่ดีมักจะสนใจดูแลตัวเองได้ดีกว่า ทำให้ลดความเสี่ยงเรื่องสุขภาพลง คนเหล่านี้คาดหวังสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้ลดความเครียดและความกังวลลง
การคาดหวังสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้น ทำให้มีความสุขและประสบความสำเร็จ
การมองโลกในแง่ดีทำให้เราพยายามมากขึ้น ทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะทำงานให้สำเร็จได้ และทำทุกอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมาย
การมองโลกในแง่ดีทำให้เรียนรู้จากความผิดพลาด ทำให้เพิ่มโอกาสที่จะทำสำเร็จในครั้งต่อไป
สมองเรียนรู้จากความคาดหวังและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ถ้าเราคาดหวังว่าจะทำได้แต่กลับทำพลาด สมองจะตอบสนองและเรียนรู้ แต่ถ้าเราไม่ได้คาดหวังว่าจะทำได้ มันจะไม่ทำให้สมองเรียนรู้ การไม่คาดหวังสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้น ทำให้ไม่มีเหตุผลที่สมองจะเรียนรู้
ความพอประมาณในการมองโลกในแง่ดี
เราควรมีความพอประมาณในการมองโลกในแง่ดี
การมองโลกในแง่ดีมีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน คนที่มองโลกในแง่ดีพอประมาณสามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล คนเหล่านี้คาดการณ์ได้สอดคล้องกับความจริงมากกว่าคนที่มองโลกในแง่ดีมากเกินไป
คนที่มองโลกในแง่ดีมากเกินไป คาดหวังว่าจะมีชีวิตอยู่ได้นานกว่าปกติถึง 20 ปี ในขณะที่คนมีความพอดี คาดการณ์ไว้เกินประมาณ 2-3 ปี
การสแกนสมองทำให้เรารู้ว่า สมองด้านซ้ายตอบสนองต่อข่าวดี ส่วนด้านขวานั้นถูกจำกัดไม่ให้ประมวลผลข้อมูลด้านลบ เช่น สัญญาณเตือนต่างๆ นักวิจัยค้นพบวิธีที่จะหยุดอคติคิดในแง่ดีได้ โดยการส่งสัญญาณรบกวนกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสมองด้านซ้าย
การหยุดอคติคิดในแง่ดี ช่วยให้สามารถป้องกันเหตุการณ์ร้ายได้ เช่น นักดับเพลิงที่ถึงแม้จะมีประสบการณ์มาก แต่ก็ไม่ควรประมาทอันตรายจากเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในการทำงานแต่ละวัน
การมองโลกในแง่ดี หากมีมากเกินไปอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ร้าย สิ่งสำคัญอยู่ที่ความพอดี ที่จะทำให้เรามองโลกที่เต็มไปด้วยความหวัง แต่ก็ยังระมัดระวังและใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท รู้ตัวว่าเราต่างก็มีอคติเอนเอียงที่จะมองโลกในแง่ดี การมีสติรู้ตัวไม่ได้ทำให้ข้อดีของมันหายไป แต่มันจะทำให้เราได้มุมมองที่มีค่ามากขึ้น