
ร่างกายมนุษย์อาจดูอ่อนแอถ้าเทียบกับสัตว์นักล่าอื่นๆ ไม่มีกงเล็บ ไม่มีเขา ไม่มีความแข็งแกร่ง ในด้านความเร็วเราก็ทำได้แค่กลางๆ เทียบกับชีตาร์ที่ระเบิดพลังพุ่งได้เร็วถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ม้าแข่งที่วิ่งเร็วสุดๆ 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สุนัขพันธุ์เกรย์ฮาวด์ที่วิ่งได้เร็วถึง 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือแม้แต่แมวแถวบ้าน ก็ยังวิ่งได้ถึง 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วอะไรที่ทำให้เราอยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้ เมื่อ 2 ล้านปีที่แล้ว บรรพบุรุษของเราหนีผู้ล่าหรือล่าเหยื่อได้ยังไง
มีการศึกษาที่บ่งบอกว่ามนุษย์ลงจากต้นไม้หลังจากที่ร่างกายวิวัฒนาการให้เป็นนักวิ่งที่มีความอึดมากขึ้น ความสามารถนี้สามารถอธิบายหลายๆ อย่างเกี่ยวกับรูปร่างของมนุษย์เราในปัจจุบัน
นักวิจัยได้ศึกษาลักษณะทางกายภาพของมนุษย์ พบสิ่งที่บ่งบอกว่าร่างกายของมนุษย์ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นนักวิ่งระยะไกล การปรับเปลี่ยนช่วยให้มนุษย์สมัยนั้นไล่ล่าเหยื่อแข่งกับสัตว์ล่าเหยื่อที่มีความเร็วสูงอื่นๆ ในแอฟริกาได้
Dennis Bramble ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย Utah ได้กล่าวไว้ว่า ร่างกายมนุษย์ถูกปรับตัวมาเพื่อวิ่ง และการวิ่งก็เป็นหนึ่งในการปรับตัวที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษย์ ความสามารถในการวิ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยในการที่มนุษย์ยืนหยัดได้ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง เพราะมนุษย์เราไม่มีกงเล็บ รูปร่างก็ไม่ได้ใหญ่โต ไม่ได้ทรงพลังมาก ค่อนข้างจะอ่อนแอด้วยซ้ำ
ถ้าดูเพียงแค่ความเร็วของการวิ่งอย่างเดียว มนุษย์เราก็ไม่ได้ถือว่าเป็นนักวิ่งที่มีประสิทธิภาพหรือเป็นนักวิ่งที่เก่งอะไรเลย เพราะเราวิ่งไม่ทันเหยื่อ เช่น กวางที่สามารถวิ่งได้ที่ความเร็วมากถึง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงติดต่อกันได้หลายนาที แต่สิ่งที่มนุษย์เราทำได้ หรือที่ถูกมองข้ามคือ เราสามารถวิ่งได้ในความเร็วกลางๆ แต่วิ่งได้นานเป็นเวลาหลายชั่วโมง เรามีความอึดเป็นที่สุด
มีการศึกษาพบว่ามนุษย์เราสามารถวิ่งทางไกลมากๆ และเอาชนะม้าได้ ซึ่งความสามารถนี้นี่เองที่บรรพบุรุษของเราใช้เพื่อล่าเหยื่อ โดยการต้อนเหยื่อให้วิ่งเป็นระยะทางไกลๆ จากนั้นเหยื่อก็จะหมดแรงและกลายเป็นอาหารของเราในที่สุด
ร่างกายเราถูกออกแบบมาให้ วิ่งมาราธอน
การศึกษาฟอสซิลอย่างละเอียดของมนุษย์ Australopithecus, Homo erectus และ Homo habilis พบการปรับเปลี่ยนในร่างกายที่มีความจำเป็นสำหรับการวิ่ง ได้แก่
- เอ็นกล้ามเนื้อยาวที่คล้ายสปริง เช่น เส้นร้อยหวาย ที่ใช้เก็บสะสมพลังงานและช่วยลดการใช้พลังงานในการวิ่งได้ถึงครึ่งหนึ่ง และการศึกษาฟอสซิลพบว่า Australopithecus ไม่มีเอ็นร้อยหวาย
- เท้าที่โค้งยาวของเรา ที่ทำหน้าที่เหมือนสปริง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการวิ่ง พบได้ในมนุษย์ Homo habilis
- ขาที่ยาวก็เป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการวิ่งระยะไกล เพราะความเร็วของการวิ่งจะได้มาจากการที่เราก้าวยาวๆ ไม่ใช่อัตราเร็วของการก้าว พบได้ในมนุษย์ Homo erectus เมื่อประมาณ 1.8 ล้านปีที่แล้ว
การวิ่งจะทำให้เกิดความเครียดขึ้นในร่างกายอย่างมาก เยอะกว่าการเดินมาก การศึกษาบ่งบอกว่า ร่างกายมนุษย์ปรับเปลี่ยนพื้นที่ข้อต่อในท่อนล่างของร่างกายเพื่อลดแรงกระแทกในระหว่างวิ่ง
ส่วนหัวของเราก็มีส่วนช่วยในการวิ่ง เปรียบเทียบกับบรรพบุรุษของเราซึ่งสามารถวิ่งได้แค่ระยะสั้นๆ ร่างกายของมนุษย์เรามีส่วนหัวที่มีความสมดุลมากกว่า มีฟันและจมูกที่เล็กกว่า จมูกที่ยื่นออกมาข้างนอกก็เพื่อช่วยระบายความร้อน กระดูกสันหลังมีส่วนโค้งรูปตัว S ช่วยให้นั่งหรือยืนตรงได้ง่ายและข้อต่อก็ใช้พลังงานน้อย และศูนย์กลางของน้ำหนักที่ขยับไปยังด้านหลัง ทำให้ง่ายกว่าที่จะทำให้เกิดสมดุลเวลาวิ่ง
ร่างกายเรามีไหล่ที่กว้าง เอวที่แคบ ท่อนแขนที่สั้น นอกจากนั้นเรายังมีสะโพกที่ใหญ่ ทั้งหมดนี้ช่วยให้เราสร้างสมดุลของส่วนล่างในขณะที่เราวิ่ง
ร่างกายเรามีระบบระบายความร้อนที่ดีกว่า ในสัตว์บางประเภทจะระบายความร้อนด้วยการหายใจหอบเท่านั้น มนุษย์มีต่อมเหงื่ออยู่ทั่วร่างกายโดยจะทำงานแบบอัตโนมัติ นอกจากนั้นยังมีขนตามตัวน้อยกว่า ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับการทำกิจกรรม เช่นการวิ่งเป็นระยะทางไกลๆ
การที่เราต้องวิ่งเป็นเพราะเราต้องการโปรตีนเพื่อให้พลังงานกับสมองที่ใหญ่ขึ้นมาก เราจึงต้องแข่งขันกับสัตว์ล่าเนื้ออื่นๆ ที่สามารถวิ่งได้เร็วกว่าเรา เราใช้ความสามารถนี้ในการล่าเหยื่อก่อนที่เราจะพัฒนาเครื่องมือช่วย ในช่วงเวลาก่อนที่เราจะเริ่มไช้เครื่องมือ หรือเราอาจใช้ความสามารถนี้เพื่อต้อนเหยื่อเพื่อที่เราจะเข้าใกล้ได้มากพอที่จะขว้างหินใส่
ถ้าร่างกายเราไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อวิ่งให้ดี เราก็คงมีรูปร่างคล้ายลิงมากกว่านี้ เพราะลำพังการเดินคงไม่สามารถทำให้เกิดวิวัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้เท่านี้
ไม่แน่อาการฟินของนักวิ่งมาราธอนก็อาจจะเกิดจากวิวัฒนาการด้วยก็ได้ ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงใน Journal of Experimental Biologyy เค้าพบว่ามีสัตว์บางประเภทเท่านั้นที่เกิดอาการฟินจากการวิ่งได้ ซึ่งเป็นกระบวนการให้รางวัลกับตัวเราเอง เกิดจากการหลั่งของสารประเภท Endocannabinoids ซึ่งเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจ นักวิจัยได้วัดค่าระดับของสารนี้ในสมองของมนุษย์ สุนัขและพังพอน หลังจากวิ่ง และพบว่ามีแค่มนุษย์กับสุนัขเท่านั้นที่เกิดอาการฟินหลังจากการออกกำลังกายเป็นระยะเวลานานๆ
ดูเหมือนว่าร่างกายเราจะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อวิ่งอย่างเดียว แต่ยังให้สนุกไปกับการวิ่งด้วย
ร่างกายเราถูกออกแบบมาให้ รักษาพลังงาน
มีงานวิจัยที่พบว่า ในเวลาที่ไม่เร่งรีบ เรามักจะใช้พลังงานเท่าที่จำเป็นในการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งโดยไม่รู้ตัว งานวิจัยได้ศึกษาทางเลือกของคน ว่าจะเดินหรือวิ่ง โดยขอให้อาสาสมัครเดินทางเป็นระยะทางและเวลาที่กำหนด โดยไม่ให้มองนาฬิกา สิ่งที่พบคือ ถ้าให้เวลามากพอ คนก็มักจะเลือกเดินตลอดเวลา แต่ถ้าให้เวลาน้อยๆ คนก็เลือกที่จะวิ่ง ส่วนถ้าให้เวลาไม่มากหรือน้อยไป คนก็เลือกที่จะเดินช้าๆ สลับกับวิ่งเร็วๆ
เนื่องจากบรรพบุรุษของมนุษย์ต้องใช้พลังงานเป็นจำนวนมากเพื่อออกล่าเหยื่อและเก็บกักตุนอาหาร ดังนั้นจึงต้องพักเพื่อเอาแรงเมื่อไหร่ก็ตามที่มีโอกาส ร่างกายมนุษย์ต้องปรับตัวเพื่อให้เก็บรักษาพลังงานและให้ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า จะใช้พลังงานเฉพาะเวลาที่ต้องล่าเหยื่อหรือเวลาที่อยากจะเล่นสนุกเท่านั้น
ในแต่ปัจจุบัน เราไม่ได้อยู่ในยุคที่ต้องออกล่าเหยื่อ เราไม่มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานมากในการหาอาหาร แต่ร่างกายเราตอนนี้กับเมื่อล้านปีที่แล้วแทบไม่ต่างกัน ดังนั้นร่างกายเราก็ยังพยายามที่จะให้เราได้พักอยู่ตลอดเวลา ให้เราเลือกที่จะทำน้อยๆ เลือกที่จะอยู่เฉยๆ เลือกที่จะไม่ต้องออกแรง
ดังนั้นเวลาที่เราชวนเพื่อนออกไปวิ่ง แล้วเพื่อนไม่อยากไป ก็อย่าไปว่าเค้าขี้เกียจ มันเป็นเพราะร่างกายเค้าถูกออกแบบมาเพื่อให้รักษาพลังงาน
วิ่งออกกําลังกาย ประโยชน์ของการวิ่ง วิ่งเพื่ออายุที่ยืนยาว
มีงานวิจัยใหม่ที่นำเสนอข้อมูลที่พบว่า คนที่วิ่งเป็นประจำจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรน้อยกว่าประมาณ 25-40% และมีอายุยืนกว่าคนที่ไม่วิ่งประมาณ 3 ปี ซึ่งให้ผลดีมากกว่าการออกกำลังกายประเภทอื่นๆ เช่น การเดิน หรือปั่นจักรยาน
New York Times ได้สรุปข้อมูลจากงานวิจัยที่น่าสนใจกว่าคือ ถ้าเราวิ่ง 1 ชั่วโมง ก็อาจจะช่วยยืดอายุเราไปได้อีก 7 ชั่วโมง
ถือเป็นข่าวดี เพราะนอกจากการวิ่งจะไม่ได้เป็นอุปสรรคในการที่จะให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นแล้ว เรายังสามารถยืดชีวิตเราออกไปได้ด้วยการวิ่งสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง
References
Humans Were Born to Run, Fossil Study Suggests http://news.nationalgeographic.com/news/2004/11/1117_041117_running_humans_2.html
Walking, running, and resting under time, distance, and average speed constraints: optimality of walk–run–rest mixtures http://rsif.royalsocietypublishing.org/content/10/81/20120980
5 Comments