
หลายคนอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง อยากมีความสุขมากขึ้น อยากมีชีวิตที่เติมเต็มมากขึ้น แต่การจะได้มันมา บางคนมุ่งไปเส้นทางผิดๆ สนใจและไปผิดทาง หลงผิด ไม่เข้าใจ ใช้เส้นทางลัด คิดว่าสุขภาพดีมันจะได้มาง่ายๆ ก็แค่เปลี่ยนไปกินอาหารคลีน ไปยิม ไปออกกำลังกาย หรืออยากมีความสุขก็เพียงแค่เปลี่ยนงาน เพื่อหนีหัวหน้าคนเก่า เพื่อให้ได้เงินเดือนมากขึ้น
แล้วสุดท้ายก็พบว่าเส้นทางที่เลือก มันไม่ได้ทำให้เรามีความสุข เราก็ยังต้องเจอหัวหน้าแบบเดิม เราต้องฝืนทนกินอาหารที่ไม่ชอบ ต้องฝืนไปออกกำลังกายเพียงเพราะอยากลดน้ำหนัก ทำได้ไม่นานความตั้งใจก็จะค่อยๆ หายไป กลับมากินแบบเดิม กลับมาทำแบบเดิมๆ
สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ปลายทาง แต่อยู่ที่ขั้นตอน อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อยู่ระหว่างทางที่เรากำลังไป
แทนที่จะค้นหาความสุขจากปัจจัยภายนอก เราควรจะรู้จักหาความสุขจากภายใน ความสุขที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา มันจะทำให้เราปลี่ยนแปลงชีวิตได้ในแบบที่เราคิด
ความสุขจะไม่เกิดขึ้นจากรูปกายภายนอก แต่ความสุขเกิดจากการรักตัวเองอย่างที่เราเป็น
เปลี่ยนแปลงตัวเอง
บางคนไม่ชอบตัวเองที่รูปร่างหน้าตาไม่ดี และคิดอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะคิดว่าถ้ามีรูปร่างหน้าตาที่ดี มันจะทำให้มีความสุข ทำให้เกิดความภูมิใจ รักตัวเองและมีคนรัก
การที่เราไม่ชอบไม่ยอมรับในสิ่งที่เราเป็นอยู่ มันทำให้เราใช้เส้นทางลัดที่จะช่วยให้เราหนีจากความเป็นจริง เพื่อให้หนีจากจุด A ไปยังจุด B ให้เร็วที่สุด
แต่การเปลี่ยนแปลงตัวเองมันต้องเริ่มต้นจากจุดที่เราเป็นอยู่ ก็เหมือนกับ Google Maps ถ้าเราอยากไปยังจุดหมายปลายทาง สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้จักคือ จุดที่เราอยู่ เราต้องรู้จักตัวเอง ก่อนที่จะค้นหาเส้นทางไปยังจุดหมายได้
ยอมรับในสิ่งที่เราเป็นอยู่ในตอนนี้ แล้วเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
เมื่อเรารู้จักรักตัวเอง เราก็จะเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนการกินแบบใหม่ คนที่รักตัวเองจะมีสติ รู้ว่ากินอาหารอะไรที่จะทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี รู้ว่าสูบบุหรี่ไม่ดีต่อร่างกายก็ต้องหักห้ามใจและหยุดสูบ
เริ่มต้นจากการยอมรับในสิ่งที่เราเป็น ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้มีรูปร่างที่สมบูรณ์แบบ ไม่ได้มีสุขภาพที่ดี แต่ร่างกายเราก็ทำงานหนักเต็มที่ เพื่อทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ สูบฉีดเลือดทำให้เราเคลื่อนไหวได้ตลอด และร่างกายเราก็ยังต่อสู้กับเชื้อโรค ปกป้องเราจากอันตราย ร่างกายเราเป็นส่วนประกอบที่ฉลาดและเราควรจะหลงรักร่างกายของเราเอง
อารมณ์อาจมีผลต่อพฤติกรรมการกินของเรา เวลาที่เครียดเราอาจจะอยากกินอาหารรสจัด หรืออยากกินของหวาน อาหารทอด ตอนที่รู้สึกเบื่อ หรือในตอนที่เหนื่อยล้า
เมื่อเรามีสติรู้ตัว รู้ว่าต้องเปลี่ยนนิสัย ทำให้เราเลือกกินอาหารที่ดีขึ้น ดื่มน้ำเปล่ามากขึ้น ทำให้สดชื่นมากขึ้น ไม่กินอาหารในตอนที่อารมณ์เปลี่ยนแปลง แต่แทนที่ด้วยกิจกรรมอย่างอื่น เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ออกไปวิ่ง หรือคุยกับเพื่อน
ร่ายกายของเราเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เราแต่ละคนมี เริ่มต้นมองจากจุดที่เราเป็นอยู่ แล้วเริ่มเปลี่ยนแปลง ร่างกายเราจะเปลี่ยนได้ ก็ต่อเมื่อใจเราเปลี่ยนได้ก่อน
ความคิดทำให้เราแตกต่างจากคนอื่น
ความพิเศษเฉพาะของแต่ละคน มันไม่ได้อยู่ที่รูปร่างภายนอก ถ้าเราเข้าใจจุดนี้ เราก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างสมบูรณ์
เวลาที่เราอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง สิ่งแรกที่เรานึกถึงก็คือ ปัจจัยภายนอก รูปร่างภายนอก เราอยากจะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ใหม่ เราเริ่มต้นควบคุมอาหาร เริ่มต้นออกกำลังกาย
แต่สิ่งที่เราพลาดไปคือ การมองข้ามส่วนสำคัญ นั่นคือความคิดของเรา
เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เต็มที่ เมื่อเรารู้ว่ามันมีมากกว่าร่างกายภายนอกที่เราเปลี่ยนได้ ร่างกายเราเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของตัวตนของเรา มันเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้นเอง คนเรามีร่างกาย อวัยวะ มีเนื้อ มีกระดูกเหมือนกัน แต่ส่วนที่ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่นๆ ล้วนเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตา หรือไม่สามารถสัมผัสได้
สามัญสำนึกของเรา ความรู้สึก ความคิด และจิตใจ ถ้าเราตั้งใจเปลี่ยนส่วนที่เรามองไม่เห็นนี้ การเปลี่ยนแปลงมันจะส่งผลกระทบและได้ผลมากขึ้น
รูปร่างของเราอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่มันมีขีดจำกัด แต่ความคิดและจิตใจเราไม่มีขีดจำกัด เราสามารถเปลี่ยนความคิดได้ตามใจเรา ไม่รู้จักสิ้นสุด เราควบคุมได้ ไม่มีอะไรมาจำกัดเรา ไม่มีอะไรมาขัดขวางเราได้ เราสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดได้เต็มที่
อัพเดทสมอง
สมองของมนุษย์สมัยใหม่แทบไม่ต่างจากสมองของบรรพบุรุษเมื่อ 10000 ปีที่แล้ว แต่สภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบันนั้น แตกต่างจากสมัยก่อนมาก การอัพเดทสมองจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ และไม่ใช่การเพิ่มหน่วยความจำเหมือนกับที่เราอัพเดทคอมพิวเตอร์ แต่เป็นการอัพเดทในส่วนของซอฟต์แวร์ หรือเปลี่ยนวิธีคิดของเรา
เราอาจจะยังยึดติดและคิดว่าพัฒนาการสมองจะเกิดขึ้นเฉพาะตอนเด็ก แต่ความจริงคือเรายังสามารถพัฒนาสมองได้เรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ สมองก็ยังเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้เราเรียนรู้และเชี่ยวชาญทักษะใหม่ๆ ได้
สมองเปลี่ยนแปลงได้ในระดับเคมี การเพิ่มเคมีในสมองที่ส่งผ่านระหว่างนิวรอน มีผลกับความจำระยะสั้น สมองเปลี่ยนแปลงได้ในระดับโครงสร้าง การจัดระเบียบใหม่ มีผลกับความจำระยะยาว และนอกจากนั้นสมองยังสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานได้ด้วย
การอัพเดทสมองไม่ใช่แค่การฝึกความจำ สมองมีไว้สำหรับคิด ไม่ได้มีไว้สำหรับเก็บความคิด ยิ่งเราจำมากเท่าไหร่ มันก็ทำให้เรามีพื้นที่ว่างสำหรับคิดน้อยลง
Your mind is for having ideas, not holding them.—David Allen
สมองเรามีนิวรอนอยู่มากมาย และสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้เรื่อยๆ เราอาจจะสูญเสียนิวรอนไปวันละ 85000 แต่มันน้อยมากเมื่อเทียบกับที่เรามีอยู่ แค่ในส่วน Cerebral cortex เราก็มีนิวรอนถึง 4 หมื่นล้าน
สมองเราเติบโตและพัฒนาได้เรื่อยๆ โดยการเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ เปิดโอกาสเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทักษะหรือภาษาใหม่ๆ ทำงานและแก้ปัญหายากๆ
การที่เราทำแต่สิ่งเดิมๆ ทุกวัน มันจะปิดโอกาส ไม่ให้เราได้เกิดความสงสัย สมองจะพัฒนาและเติบโตได้เมื่อเราเปลี่ยนบรรยากาศ ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ได้คุยกับคนใหม่ๆ ได้ลองกินอาหารใหม่ๆ
การอ่านก็มีส่วนช่วยให้สมองเติบโต แต่หนังสือพิมพ์ที่เต็มไปด้วยข่าวร้ายมันอาจทำให้เราไม่อยากอ่าน ทำให้อ่านหนังสือน้อยลง ทำให้สมองเราโหยหาความรู้ใหม่ๆ
ไม่ควรประเมินความสามารถของสมองต่ำไป สมองเราทำได้มากกว่าการคิดคำนวณตัวเลข สมองที่เรียนรู้และเติบโตจะช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
เปลี่ยนมุมมอง ลองคิดแบบใหม่
เวลาเราไปออกกำลังกายหรือไปวิ่ง ก็จะมีคนทักว่า ลดน้ำหนักหรอ หรือเวลาที่เรากินผัก กินสลัด ก็จะมีคนทักอีกว่า ลดน้ำหนักหรอ
การลดน้ำหนักด้วยการวิ่งไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด เราไปวิ่งไม่ใช่เพราะต้องการลดน้ำหนัก แต่เป็นเพราะประโยชน์ของการวิ่งมันมีเยอะมากกว่านั้น
ถ้าเรามองการวิ่งเป็นการออกกำลังเพื่อลดน้ำหนัก เป็นไปได้ที่เราจะฝืนไปวิ่งทั้งๆ ที่ไม่ชอบ เหนื่อยก็เหนื่อย เหงื่อออกแต่ก็ต้องทน จนทำให้เบื่อ หมดกำลังใจ ล้มเลิกได้ง่ายๆ แต่ถ้าเราเห็นประโยชน์ของการวิ่งมากกว่าการลดน้ำหนัก มันจะทำให้เราอยากออกไปวิ่งมากขึ้น ถึงแม้รถติดก็ต้องไป เช่น
- การวิ่งหรือการเดินช่วยให้เราคิดได้ดีขึ้น คิดสร้างสรรค์มากขึ้น
- ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขเอ็นโดรฟิน (Endorphin) เพื่อบรรเทาอาการเจ็บจากการวิ่ง
- ร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลีน (Adrenaline) ออกมาในตอนที่เราวิ่งเร็วๆ
- ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขเซโรโทนิน (Serotonin) ในตอนที่เราวิ่งเร็วที่สุด วิ่งได้นานที่สุด
- ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขออกซิโทซิน (Oxytocin) ตอนที่เราวิ่งด้วยกันกับเพื่อน
ถ้าเรามองการกินสลัด กินผักผลไม้ ไม่ใช่แค่การลดน้ำหนัก แต่เป็นเพราะเรารักและเป็นห่วงร่างกายของเราเอง เป็นวิธีการตอบแทนที่ร่างกายเราทำงานหนัก ทำให้เราต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ รู้ว่าน้ำตาล น้ำหวาน อาหารประเภทแป้ง มันไม่ดีต่อร่างกาย ถึงจะอยากแต่ก็ต้องอดใจไว้
หรือการอดอาหาร กำหนดช่วงเวลาของการกิน เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาพัก ที่เราทำไปก็เพื่อให้ร่างกายได้พัก ได้ฟื้นฟู ปล่อยให้น้ำหนักที่ลดลงเป็นผลพลอยได้จากการที่เราห่วงสุขภาพตัวเอง
ลองเปลี่ยนมุมมอง ลองคิดแบบใหม่ มันอาจจะทำให้เราเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น
Insight Eureka Aha moment
ส่วนใหญ่ไอเดียเกิดขึ้นจากการคิดใคร่ครวญ ค่อยๆ กลั่นกรองความคิดความรู้สึกออกมา แต่บางครั้งไอเดียก็เกิดขึ้นได้เองโดยที่เราไม่ได้พยายามคิด อยู่ดีๆ เราก็ คิดออก
ไอเดียที่ทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ ทำให้เราเห็นทางออก คิดออกว่าจะทำอะไรต่อไป ไอเดียที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเรา เช่น ทำให้เราเปลี่ยนงาน ทำให้อยากแต่งงาน ทำให้เลิกกัน ทำให้อยากฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้กลับมาดีเหมือนเดิม ทำให้อยากย้ายบ้าน ทำให้อยากเลิกนิสัยที่ไม่ดี
เราอาจคิดว่าสมองตอนที่เราหยุดคิด จะเป็นช่วงเวลาที่สมองได้พักและทำงานน้อยลง แต่ความจริงสมองก็ยังคงยุ่งและทำงานเต็มที่ เป็นช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้ความคิดอื่นๆ ผ่านเข้ามาในสมอง ทำให้เราคิดอะไรใหม่ๆ ได้
สมองตอนที่เราหยุดคิดช่วยให้เราแก้ไขปัญหาได้ดี แต่ข้อเสียคือมันอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา บางครั้งมันก็คิดไม่ออก
การคิดใคร่ครวญเป็นสิ่งแรกที่เราจะทำเมื่อต้องการแก้ไขปัญหา แต่ปัญหาบางอย่างก็ไม่อาจแก้ไขด้วยความรู้หรือประสบการณ์ที่เราคุ้นเคย ไม่สามารถใช้จิตสำนึกค้นหาคำตอบได้ การคิดใคร่ครวญช่วยให้เราหาคำตอบที่ซ่อนอยู่ในกล่องได้ แต่มันจะไม่ช่วยถ้าคำตอบอยู่นอกกล่อง
บางครั้งการคิดแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบมากเกินไป ก็ทำให้ลดโอกาสที่จะค้นหาคำตอบได้ เพราะการคิดใคร่ครวญมันทำให้เราปิดกั้นตัวเองจากความคิดอื่นๆ ที่เรามองว่าไม่เกี่ยวข้อง ที่มันอาจจะเป็นทางออกที่นำเราไปสู่การค้นพบได้
เหมือนกับว่ายิ่งพยายามมองหาคำตอบ มันก็ยิ่งทำให้เรามองไม่เห็นคำตอบ ดังนั้นเราอาจจะต้องเลี่ยง ไม่มองตรงๆ ลองหันไปมองไปทางอื่น เพื่อเปิดโอกาสให้เรามองเห็นคำตอบ
จังหวะเวลาเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราใช้เวลาคิดใคร่ครวญมากจนเกินไป คำตอบมันอาจจะหายไป แต่ถ้าเราใช้เวลาคิดใคร่ครวญน้อยเกินไป ถ้าเราหยุดคิดเร็วไป เราก็จะไม่มีข้อมูลสำคัญที่จำเป็น สำหรับประกอบกันเป็นคำตอบให้เราได้
สิ่งสำคัญคือการรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ต้องใช้เวลาคิดใคร่ครวญ เมื่อไหร่ที่ควรหยุดคิดและถอยออกมา
เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว
เราอาจจะเชื่อว่าแต่ละคนแยกจากกันอย่างชัดเจน หรือมองว่าเราแตกต่างจากคนอื่นๆ ทำให้บางคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่เป้าหมายส่วนตัว ชิงดีชิงเด่น และทำให้เกิดความขัดแย้ง
การทดลองของ Dr. William Muir เกี่ยวกับประสิทธิภาพของการออกไข่ของแม่ไก่ โดยการคัดเอาแม่ไก่ที่ออกไข่ได้มากที่สุดให้เป็นแม่พันธุ์รุ่นต่อๆ ไป เพื่อทำให้ประสิทธิภาพของการออกไข่เพิ่มขึ้นรุ่นต่อรุ่น
การทดลองแบ่งแม่ไก่ออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มควบคุมที่คัดเอาแม่ไก่ 9 ตัวที่มีประสิทธิภาพการออกไข่ในระดับค่าเฉลี่ย และกลุ่มทดลองที่เป็น Super Chickens ที่คัดเฉพาะแม่ไก่ที่ดีที่สุดในแต่ละรุ่น กลุ่มที่คาดว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการออกไข่ขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ได้ผลลัพธ์ที่เป็นสิ่งเตือนใจ สำหรับกลุ่มควบคุม แม่ไก่ล้วนมีสุขภาพดี และประสิทธิภาพการออกไข่มากกว่าตอนเริ่มต้นทดลอง แต่กลุ่ม Super Chickens นั้นมีสภาพย่ำแย่ มีแม่ไก่รอดเพียง 3 ตัว ที่เหลือโดนตัวอื่นๆ จิกตาย
ผลของการทดลองนี้ถูกนำไปใช้เปรียบเทียบในสภาพแวดล้อมของการศึกษาและการทำงาน ในแง่สมดุลของการแข่งขันและความร่วมมือ จะเน้นการแข่งขันหรือจะเน้นความร่วมมือ รูปแบบไหนคือสิ่งที่ยืนยันความสำเร็จ
Margaret Heffernan พูดไว้ใน TED Talks Forget the pecking order at work บริษัทให้ความสำคัญกับคนเก่ง คนที่เป็น Super Chickens ให้อำนาจแก่คนเหล่านั้น และพบว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนผลการทดลองแม่ไก่ นั่นคือคนเก่งก็จะจิกหัวใช้งานคนอื่นๆ ประสิทธิภาพการทำงานย่ำแย่ ทำให้เสียทรัพยากร
If the only way the most productive can be successful is by suppressing the productivity of the rest, then we badly need to find a better way to work. And a richer way to live.―Margaret Heffernan
เราควรจะต้องเข้าใจว่า เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ แม้แต่ในร่างกายของเราก็ยังมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อาศัยอยู่ แบคทีเรียนับล้านอาศัยอยู่ในร่างกายเรา ทำงานร่วมกัน เราต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
ในชีวิตประจำวันเราก็เหมือนกัน ถึงแม้ว่าราจะไม่มีโอกาสได้พบคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ แต่เราก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้เหมือนกัน ในร่างกายของเรา ถ้าเกิดมีเซลล์ที่อยู่ดีๆ เกิดทำงานต่อต้านเซลล์อื่นๆ ตัดสินใจทำลายเซลล์ปกติอื่นๆ เราก็คงจะมีปัญหาใหญ่
ถ้าเราอยากจะมีความสุขในการใช้ชีวิตในโลกใบนี้ เราก็ควรใช้ชีวิตที่มันสอดคล้องกัน ให้มันไปในทางเดียวกับคนอื่นๆ ให้มันเป็นจังหวะเดียวกัน เพราะทุกอย่าง ทุกคนเชื่อมถึงกันหมด
ขอบคุณในความโชคดี
หลายครั้งที่เราคิดว่า เราจะมีความสุขมากขึ้น ถ้าเรามีเงิน มีเวลา มีโอกาส การที่เรามีเงินไม่พอ มันอาจจะทำให้เราต้องทนทำงานที่เราไม่ชอบ ฝืนทำงานที่ไม่ชอบ ไม่ชอบหัวหน้า ไม่ชอบเพื่อนร่วมงาน แต่ก็ลาออกไม่ได้ ต้องทนทำต่อไป เพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินใช้
มันทำให้เราไม่ได้ทำในสิ่งที่เราชอบ มันทำให้เราไปไม่ถึงจุดหมายที่เราอยากไป ทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จ
ถ้าเราคิดว่าเรายังมีไม่พอ เราก็จะมีไม่พอ
วิธีการแก้ไขคือ เราต้องรู้จักพอใจ และคิดว่าเรามีอยู่แล้วมากมาย และเราต้องเชื่อว่ามีอีกหลายอย่างที่เราทำได้ ไม่มีขอบเขต ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ แค่เราต้องเชื่อมั่น
รู้จักขอบคุณในความโชคดีของตัวเอง สำนึกในบุญคุณสำหรับทุกอย่าง ขอบคุณดวงอาทิตย์ที่ให้แสงสว่าง แสงแดดในตอนเช้า ทำให้เราได้ดูพระอาทิตย์ตกสวยๆ ในตอนเย็น ขอบคุณเพื่อนๆ ครอบครัว ขอบคุณที่เรายังมีชีวิตอยู่
เมื่อเราคิดขอบคุณ เราก็จะรู้ตัวว่า เราไม่ได้ขาดอะไรไป เรามีทุกอย่างที่จำเป็นที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในแบบของเราอยู่แล้ว
รู้จักให้อภัย
ถ้าเรายังโทษเหตุการณ์หรือคนที่ทำให้เกิดสิ่งไม่ดีกับชีวิตเรา เราก็ยังไม่ปล่อยวาง เราก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง
รู้จักให้อภัยคนอื่นหรือให้อภัยตัวเอง
ถ้ามีใครทำไม่ดีกับเรา ทำสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็จะโกรธ หรืออาจจะเกลียดคนๆ นั้น ที่มีส่วนทำให้ชีวิตเราแย่ลง
แต่เราจะไม่ได้อะไรจากการโทษคนอื่น นอกจากความคิดในแง่ลบที่เกิดขึ้น และถ้าเราปล่อยให้ความคิดแง่ลบเข้าครอบงำ ปล่อยให้มันบงการชีวิตเรา ความคิดแง่ลบนี้เองที่มันขัดขวางไม่ให้เราได้ใช้ชีวิตในปัจจุบัน ขัดขวางไม่ให้เราทำตามเป้าหมายหรือสิ่งที่สำคัญจริงๆ
ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นด้วยเหตุผลบางอย่าง และเราก็เรียนรู้จากมันได้ เราเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้
ดังนั้นแทนที่เราจะเกลียด ขุ่นเคือง ไม่พอใจ เราก็ลองเปลี่ยนไปให้อภัยคนที่ทำไม่ดีกับเรา แล้วเราจะปล่อยวางความคิดแง่ลบได้ ทำให้เรามีเวลาเอาไปคิดและทำสิ่งที่สำคัญกับเราจริงๆ
แล้วก็อย่าลืมให้อภัยตัวเองด้วย เราต่างก็เคยทำผิดพลาดกันมา เราเสียใจที่ทำลงไป หรือเสียใจที่ไม่ได้ทำ เสียใจที่ทำสิ่งที่ขัดกับความตั้งใจที่ดี เช่น ห้ามใจไม่ได้ โกหกคนอื่น หรือกินขนมของหวานทั้งๆ ที่ตั้งใจจะลดน้ำหนัก สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้รู้สึกผิดได้
แต่เราก็ไม่ได้อะไรจากการรู้สึกผิด ถ้าเราโทษตัวเอง มันยิ่งทำให้เราเป็นคนแบบนั้น แล้วก็ทำพลาดแบบเดิม
ดังนั้นแทนที่จะรู้สึกผิด ก็รู้จักให้อภัยตัวเอง ลองกลับไปคิดดูดีๆ ว่าสิ่งที่เราทำลงไปมันขัดกับคุณค่าของตัวองหรือเปล่า แล้วเดินไปข้างหน้า อย่ามัวแต่หลงไปกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต
อยู่กับปัจจุบันแล้วสนใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้จะดีกว่า
การเลิกนิสัยที่ไม่ดี
เราทำตามนิสัยเดิมๆ เพราะต้องการกลับเข้าไปอยู่ในสถานะปกติของเรา เราต่างก็มีพื้นฐานของความสงบ มีจิตใจละเอียดลึกซึ่ง แต่ความคิดในแง่ลบ ทำให้เราเชื่อและทำตรงกันข้าม
หลายคนคิดแง่ลบมากไป มองว่านิสัยที่ไม่ดีของตัวเองเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวเอง ทำให้มองว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี
นิสัยที่ไม่ดีที่เราทำมันไม่ได้บ่งบอกถึงตัวเราจริงๆ มันก็แค่เป็นการตอบสนองทางความคิดที่ผิดๆ ที่ผ่านเข้ามาในหัวของเรา
นิสัยไม่ดีอาจจะเข้าครอบงำ มีผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของเรา แต่นิสัยที่ไม่ดีมันไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวเรา ตัวตนของเราก็ยังเหมือนเดิม
การมองนิสัยที่ไม่ดีในมุมใหม่จะเป็นประโยชน์กับเราในการที่จะทิ้งนิสัยไม่ดีเหล่านั้นไป เมื่อเรารู้และเข้าใจว่า นิสัยที่ไม่ดีของเรามันเป็นแค่การแสดงออกชั่วคราว มันไม่ใช่ตัวตนของเราจริงๆ เราก็จะคิดแง่ลบน้อยลง เปลี่ยนไปคิดบวกและเริ่มเปลี่ยนแปลง
การมีสติ คือการสังเกตใจและอารมณ์ของเราในขณะนั้น เป็นวิธีที่ได้ผล ช่วยให้เลิกนิสัยที่ไม่ดีได้ มนุษย์เราเรียนรู้โดยการทำสิ่งเดิมเป็นรูปแบบซ้ำๆ ประกอบไปด้วย ชนวนเหตุที่เป็นจุดเริ่มต้น พฤติกรรมที่เราทำ และรางวัลที่เราได้รับ เราทำทั้ง 3 อย่างนี้จนกระทั่งติดเป็นนิสัย
การฝึกให้มีสติจะทำให้เราเกิด ความสงสัย ทำความเข้าใจความรู้สึกในขณะที่เรากำลังจะทำพฤติกรรมที่ไม่ดี การสงสัยจะทำให้เราหยุดทำพฤติกรรมนั้น ทำให้เราทำลายรูปแบบเดิมๆ ได้ และเราสามารถทำให้เกิดเป็นนิสัยใหม่ได้ นั่นคือ เรารู้ตัวว่ามันกำลังจะเกิด ทำความเข้าใจ ปล่อยวาง และทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ
You can’t be curious and angry at the same time.—Seth Godin
สิ่งเร้า สัญญาณเตือนผิดเวลา
มนุษย์เรามีสมองส่วนที่วิวัฒนาการมาแต่แรกเริ่ม Reptilian brain ทำงานโดยอาศัยสัญชาตญาณและการเอาตัวรอด ทำให้เราทำตามนิสัยเดิมๆ เมื่อมีสิ่งเร้าเกิดขึ้น มันจะมีพลัง มีอำนาจมาก เพราะสมองเชื่อมโยงพฤติกรรมเข้ากับความจำเป็นที่เราต้องทำเพื่อความอยู่รอด เช่น น้ำ อาหาร
พฤติกรรมหรือนิสัยที่ไม่ดีของเราเกิดขึ้นจากการที่เราต้องการรู้สึกดีขึ้น การเลิกนิสัยที่ไม่ดีจึงกลายเป็นเรื่องยากเพราะเราพยายามฝืนความต้องการของเราเอง
เราอยากนอนแช่อยู่บนเตียงไม่ยอมลุก เป็นเพราะร่างกายเราต้องการรู้สึกดี ต้องการคงสถานะนั้นไว้นานๆ เราอยากกินน้ำอัดลมเพราะต้องการความสดชื่น เรากินอาหารเพื่อต้องการลดความเครียด
ความคิดและอารมณ์เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการแสดงออกของเรา แต่ถ้าเราปล่อยให้มันเป็นฝ่ายควบคุมเรา มันก็เป็นเรื่องไม่ดี อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ตลอดทั้งวัน บางครั้งเราจะพบว่า เรากำลังตกเป็นทาสความคิดและอารมณ์ของตัวเราเอง
ถ้าเราเข้าใจและแยกแยะได้ว่าความคิดเราไม่ใช่ตัวเรา มันจะทำให้เราเลือกได้ว่าจะตอบสนองต่อสิ่งเร้ายังไง ต่อไป ถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่มันชวนให้หงุดหงิดหรือไม่พอใจ ขอให้จำไว้ว่าความคิดนั้นมันไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ได้ควบคุมเรา เราสามารถเลือกที่จะทำตามความคิดนั้นหรือไม่ก็ได้
ความคิดเราก็เหมือนกับกล่องรับฟังความเห็น เราอาจจะเปิดอ่านทุกความเห็น แต่เราไม่จำเป็นต้องทำตามทุกอย่าง เราเลือกได้
สิ่งเร้าที่มันผ่านเข้ามาในหัวเรา มันก็เหมือนนาฬิกาที่เราตั้งให้ปลุกผิดเวลา ถ้าเราปล่อยให้สัญญาณที่เข้ามามันผ่านไปโดยที่ไม่ทำอะไร ถึงแม้ว่าสิ่งเร้ามันจะกระตุ้น แต่ถ้าเราไม่ตอบสนอง ต่อไปสัญญาณมันจะค่อยๆ อ่อนแรงลง จนในที่สุดเราก็จะไม่สนใจมัน
พลังของการอยู่เฉยๆ
ลำพังการบังคับใจตัวเอง มันไม่พอที่จะให้เราหยุดทำนิสัยที่ไม่ดีได้ ยิ่งพยายามที่จะหยุดทำ ยิ่งย้ำเตือนว่าจะไม่ทำ มันก็ยิ่งทำให้เราต้องคิดถึงมันอยู่ตลอดเวลา การบังคับใจตัวเองต้องใช้พลังงาน แต่สำหรับบางคน โดยเฉพาะในตอนที่เครียด จะมีพลังงานเหลือน้อย ทำให้ไม่สามารถฝืนบังคับใจตนเองได้
ดังนั้นเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้เราทำนิสัยที่ไม่ดี สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้คือหยุดอยู่เฉยๆ ไม่ตอบสนอง
การหยุดอยู่เฉยๆ จะช่วยให้เราระงับความอยากที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้า เวลาที่เราหยุดและพิจารณาสิ่งเร้า มันจะเป็นโอกาสที่เราจะเข้าควบคุมและปล่อยให้สมองส่วนที่ใช้เหตุผลตัดสินใจ เรามีทางเลือกเสมอ แต่หลายครั้งเราไม่ทันได้เลือกเพราะเราอยู่ใต้การควบคุมทำให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าทันที การหยุดจะทำให้เกิดช่วงเวลาที่ทำให้เราสังเกตและเราก็จะควบคุมการตอบสนองได้
หัดมองโลกแบบเด็กๆ อยู่กับปัจจุบัน ไม่ยึดติดกับความคิดมากเกินไป เด็กๆ จะไม่สนใจคิดเรื่องความคิดของตัวเอง ทำให้หยุดกังวลได้ง่าย และหาเรื่องสนุกๆ ทำได้ตลอด
ความสามารถที่จะฝืนและไม่ทำตามที่ใจคิด เป็นพลังที่จะช่วยทำให้สิ่งเร้ามันอ่อนแอลง ความตึงเครียด ความไม่สบายใจ ผลกระทบจากการคิดในแง่ลบก็จะลดลง ทำให้เราเป็นอิสระมากขึ้น สมองเราก็จะเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนรูปแบบปกติใหม่
เริ่มต้นจากเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนมุมมอง จากนั้นปล่อยให้พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เป็นผลพลอยได้จากการเปลี่ยนมุมมองความคิด
ก่อนจากกันไป
เวลาที่เราอยากจะเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ หรือเรื่องเล็กๆ อย่างเช่นการลุกออกจากเตียงในตอนเช้า เราจะต้องใช้พลังที่เรียกว่า Activation energy
ลองใช้วิธีจากหนังสือ The 5 second rule ลองนับถอยหลัง 5 4 3 2 1 แล้วลุกจากเตียงทันที นับถอยหลัง 5 4 3 2 1 แล้วกดส่งอีเมลนั้นซะที นับถอยหลัง 5 4 3 2 1 แล้ววิ่งเร็วๆ ลองทำเป็นประจำ มันจะช่วยทำให้ง่ายขึ้น
ออกจาก Comfort zone รู้จักให้อภัย อย่าใจร้ายกับตัวเองมากเกินไป มองหาโอกาสเรียนรู้ตลอดเวลา ขอบคุณในความโชคดีของตัวเอง ที่เรายังมีชีวิตอยู่ ขอบคุณในสิ่งที่เรามี และอย่าลืมว่าเราต้องเป็นคนที่ดีขึ้นเท่านั้น
ฝึกทำสมาธิ หาที่เงียบๆ หลับตาลง แล้วสนใจแต่ลมหายใจเข้าออก สงบใจลงและอยู่กับปัจจุบัน สงบใจลงและหยุดกังวล ให้อภัยในความผิดพลาดและปล่อยวาง
หลังจากเปลี่ยนแปลงตัวเองได้สำเร็จ เราอาจจะยังพบว่าตัวเองไม่ได้มีความสุขอย่างที่คิดไว้ เพราะความสุขไม่ได้เกิดจากการหยุดทำพฤติกรรมไม่ดี หรือแค่การมีสุขภาพดีเท่านั้น แต่เรายังต้องได้ทำเรื่องสนุกๆ ได้ทำงานที่ชอบ และได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย
หนังสือ วิดีโอที่แนะนำ
Forget the pecking order at work
When the Strong Outbreed the Weak: An Interview with William Muir
The Little Book of Big Change: The No-Willpower Approach to Breaking Any Habit
11 Comments