
นิสัย สิ่งที่เรามองไม่เห็น ไม่รู้ตัว เป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตเรา มากกว่า 40% ของกิจกรรมทั้งวันเกิดจากนิสัยของเรา ถ้าเราสร้างนิสัยที่ดี ที่มันจะช่วยให้ชีวิตเราราบรื่น มันก็จะทำให้เรามีชีวิตที่เป็นสุข มีสุขถาพดี และทำงานได้อย่างมีประสิทธิถาพ
บันทึกการอ่าน ข้อคิดดีๆ
- รู้จักนิสัยหรือสไตล์การทำงาน ของเราหรือของเพื่อนร่วมงาน
- ทำไมมันเป็นเรื่องยากที่เราจะเปลี่ยนนิสัย
- บางคนชอบทำงานแบบเรื่อยๆ ค่อยเป็นค่อยไป บางคนชอบทำงานเร็วๆ
- บางคนชอบคิดและเสนอไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ บางคนชอบทำงานให้เสร็จไปทีละอย่าง
- บางคนชอบความหรูหรา บางคนชอบความเรียบง่าย
- รู้จักบุคลิกภาพทั้ง 4 แบบ ข้อดีและข้อเสีย ของแต่ละแบบ
- เคล็ดลับของการสร้างนิสัยใหม่ ทำให้เป็นเรื่องง่ายที่เราจะรักษานิสัยดีๆ เช่น ไปออกกำลังกาย
Your actions become your habits. Your habits become your values. Your values become your destiny.–Mahatma Gandhi
มหาตมะ คานธี กล่าวไว้ว่า สิ่งที่เราทำจะกลายเป็นนิสัย นิสัยที่เราทำเป็นประจำจะทำให้เกิดคุณค่า และคุณค่านั่นเองที่จะกำหนดโชคชะตาของเรา ดังนั้นถ้าจะมีสิ่งที่กำหนดชะตาชีวิตของเราได้ ก็คงเป็นนิสัยของเรานั่นเอง
นิสัยเป็นสิ่งสำคัญ และการเข้าใจธรรมชาติของนิสัยที่ติดตัวเรา ก็ยิ่งสำคัญ เพราะมันจะช่วยให้เราปรับเปลี่ยนนิสัยให้เหมาะกับเรา หลายครั้งที่เราพยายามเปลี่ยนนิสัยที่ไม่ดี หลายครั้งที่เราทำไม่สำเร็จ ท้อแท้ จนเราต้องล้มเลิก มันไม่ใช่เพราะเราขาดความตั้งใจจริง ไม่ได้ขาดความกระตือรือร้น แต่มันเป็นเพราะว่าเรายังไม่ได้สร้างนิสัยที่มันเหมาะสมกับตัวเราต่างหาก
ค้นหาตัวเอง และ เปลี่ยนแปลงตัวเอง
มีหลายวิธีที่จะช่วยให้เราปรับเปลี่ยนนิสัยให้เข้ากับตัวเรา วิธีที่จะทำให้เราเห็นความเหมือนหรือความแตกต่างของเราแต่ละคน การเข้าใจว่าเรามีอะไรเหมือนหรือต่างจากคนอื่นยังไงบ้าง จะช่วยให้เราปรับเปลี่ยนนิสัยได้สำเร็จ และการเปลี่ยนแปลงนิสัย มันจะเปลี่ยนชีวิตของเราด้วย
รู้จักตัวเอง คำสอนของอริสโตเติล ก็ยังใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ การจะกำจัดนิสัยที่ไม่ดี สร้างและรักษานิสัยที่ดีเอาไว้ได้ การจะควบคุมตัวเราเองได้ เราต้องรู้จักตัวตนของเรา
คนที่มีสไตล์การทำงานแบบเรื่อยๆ กับคนที่มีสไตล์การทำงานแบบรวดเร็ว
การเข้าใจความเหมือนและความแตกต่าง สไตล์การทำงานของเรากับคนอื่น จะช่วยให้เป็นเรื่องง่ายที่จะให้เราสร้างและรักษานิสัยเอาไว้ได้ ช่วยให้เราทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะคนที่มีสไตล์การทำงานแตกต่างจากเรา
บางคนชอบที่จะเริ่มงานแต่เนิ่นๆ ทำงานส่วนเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันให้สำเร็จ ช้าแต่มั่นคง เหมือนนักวิ่งมาราธอน ทำให้งานเสร็จก่อนกำหนด มีเวลาเหลือเฟือกว่าจะถึงวันกำหนดส่ง
แรงบันดาลใจของคนที่ทำงานแบบเรื่อยๆ เกิดจากการเริ่มต้นทำงาน ค่อยๆ ทำไป จนถึงจุดที่เข้าสู่ Flow ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มุ่งมั่น ใจจดจ่ออยู่กับงานอย่างเดียว
ต่างจากคนที่ชอบทำงานแบบรวดเร็ว คนที่ชอบช่วงเวลาที่อะดรีนาลีนหลั่งออกมาตอนที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา คนที่ชอบความเข้มข้นของการใส่แรง ลุ้นในนาทีสุดท้าย เหมือนนักวิ่งระยะสั้น อัดเต็มที่เพื่อให้งานเสร็จทันเวลา คนกลุ่มนี้มักจะเริ่มงานช้าเพราะไม่อยากให้เสียโมเมนตัม ไม่อยากให้งานมันกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ ไม่ชอบทำอะไรที่ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพราะคิดว่ามันเสียเวลา
แรงบันดาลใจของคนกลุ่มนี้เกิดจากการได้พัก การได้ทำอย่างอื่น รอจนถึงจุดที่พร้อมเริ่มงานจริงจัง คนเหล่านี้ก็พร้อมจะลุยและทำงานอย่างเต็มที่
ถึงจะต้องรอจังหวะ รอให้มีแรงบันดาลใจ รอจนกว่าจะมีอารมณ์ทำงาน คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ผัดวันประกันพรุ่ง เพราะหลังจากทำงานเสร็จ ก็มักจะหันกลับไปมอง และภูมิใจที่ทำงานได้เสร็จ ได้ผลลัพธ์ในแบบที่ตัวเองคาดไว้ ในขณะที่คนที่ผัดวันประกันพรุ่งมักจะทำงานไม่เสร็จ และโทษว่ามีเวลาน้อยไป
ปัญหาจะเกิดถ้ามีคนทั้ง 2 แบบทำงานด้วยกัน คนที่มีสไตล์การทำงานแบบเรื่อยๆ และคนที่มีสไตล์การทำงานแบบรวดเร็ว เพราะคนนึงก็อยากจะรีบทำงานให้เสร็จ หงุดหงิดถ้าเห็นเพื่อนไม่ยอมเริ่มทำงานสักที ส่วนอีกคน เวลาได้ที่ ก็จะมองว่าคนอื่นๆ ทำงานช้าอืดอาด ทำเสียเวลา
คนที่ชอบเปิดงาน กับคนที่ชอบปิดงาน
สไตล์การทำงานอีกแบบที่แต่ละคนมีแตกต่างกันคือ การเป็นคนเริ่ม ชอบทำอะไรใหม่ๆ เป็นคนเปิดงาน กับคนที่ชอบจบ ชอบเก็บรายละเอียดและปิดงาน
คนมี่ชอบปิดงานมักจะสนุกกับการได้ทำงานจนสำเร็จ การเก็บรายละเอียด จนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือให้ทำอีกแล้ว คนกลุ่มนี้อาจจะมีปัญหากับการเปิดงาน มันไม่ใช่เรื่องง่ายในตอนที่ต้องเริ่มงานใหม่ เพราะมักจะใส่ใจและคำนึงถึงทุกอย่าง ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นจนกระทั่งจบงาน
ต่างจากคนที่ชอบเปิด คนที่ชอบและตื่นเต้นที่จะได้ทำโปรเจคต์ใหม่ๆ ที่ต้องคิดไอเดียใหม่ๆ สำหรับคนกลุ่มนี้ งานของเค้าเสร็จตั้งแต่ตอนที่ได้คิด ได้ทำส่วนที่ยากที่สุด ได้ทำส่วนที่ท้าทายเสร็จหมดแล้ว
ในการทำงานร่วมกัน เราจึงต้องดูให้ออกว่าใครมีสไตล์ชอบเปิด ใครชอบปิดงาน เพราะเราจำเป็นต้องมีคนทั้งสองกลุ่ม เราต้องการทั้งคนที่ตื่นเต้น พลังงานเต็ม เพื่อมาคิดไอเดีย มาเปิดงาน และคนที่เติมรายละเอียด ทำให้งานเสร็จจริงๆ
ปัญหาจะเกิดถ้าเราเอาคนชอบเปิดมาเก็บรายละเอียด เพราะมันจะเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับเค้า หรือเอาคนชอบปิดมาคิดงานใหม่ๆ
คนที่ชอบทางเลือกเยอะมากมาย กับคนที่ชอบความเรียบง่าย
ความแตกต่างอีกแบบที่มีผลต่อการทำงานร่วมกันคือ คนที่ชอบความเยอะ มากมาย กับคนที่ชอบความเรียบง่าย
บางคนชอบความสับสน ชอบมากเวลาที่มีตัวเลือกเยอะๆ ชอบเสียงดังวุ่นวาย ชอบทัศนียภาพที่หลากหลาย แต่บางคนชอบความเงียบสงบ พื้นๆ สบายตา
ดังนั้นการสร้างบรรยากาศในที่ทำงานจึงต้องคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละคน บรรยากาศที่เอื้อให้คนคิด ที่กระตุ้นและบันดาลใจให้คนมีสมาธิทำงาน
แบบทดสอบบุคลิกภาพ บุคลิกภาพ ทั้ง 4 แบบ
ความแตกต่างที่สำคัญที่แยกเราออกจากคนอื่นๆ บุคลิกภาพทั้ง 4 แบบ ที่เกี่ยวข้องกับความคาดหวัง ที่เรามักจะเอนเอียงเป็นแบบใดแบบหนึ่งมากเป็นพิเศษ
ความคาดหวังเกิดจากทั้งภายนอกและภายใน เกิดจากคนอื่นที่คาดหวังให้เราทำบางอย่าง ที่เค้าจะได้บางอย่างจากเรา และเกิดจากความคาดหวังที่เราจะทำเพื่อตัวเราเอง ได้ทำในสิ่งที่เราตั้งใจไว้
Gretchen Rubin คนเขียนหนังสือ The Four Tendencies แบ่งคนออกเป็น 4 บุคลิก คนที่ตั้งมั่น (Upholder) คนที่ตั้งคำถาม (Questioner) คนที่ตอบสนองความต้องการ (Obliger) และคนที่ต่อต้าน (Rebel)
คนที่ตั้งมั่นจะทำตามความคาดหวังของตัวเองและของคนอื่นๆ ได้ดี ตัดสินใจทำได้โดยที่ไม่ลังเล ไม่ต้องถามหาเหตุผลที่ต้องทำ คนกลุ่มนี้มักจะต้องการอะไรที่ชัดเจน มีวินัย และทำงานเป็นขั้นตอน ถ้าคนที่ตั้งมั่น ตั้งใจว่าจะไปยิม ถึงฝนจะตกหรือต่อให้ทำงานเหนื่อยแค่ไหน เค้าก็จะไป แต่ถ้าไม่ได้วางแผน ไม่ได้ตั้งใจไว้ ต่อให้มันเป็นวันที่อากาศดี สภาพร่างกายพร้อม เค้าก็จะไม่ไป
คนที่ตั้งคำถามกังขากับทุกความคาดหวัง จะทำก็ต่อเมื่อเห็นว่ามันสมควรทำ มีเหตุผลรองรับ ไม่ใช่แค่สักแต่ทำๆ ไป แต่มันต้องเกิดประโยชน์ ต้องมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าที่ลงแรงและเวลา ถ้าเราโน้มน้าวคนกลุ่มนี้ด้วยเหตุผลที่ดีพอ เค้าก็จะทำงาน ทำตามความคาดหวังของเราได้ดี คนที่ตั้งคำถามจะไปยิมก็ต่อเมื่อมีอุปกรณ์วัด มีแอพ และทำให้เค้าเห็นได้ว่าน้ำหนักลดลงตามที่ตั้งเป้าไว้ มีข้อมูลพร้อมที่จะยืนยันได้ว่าการไปยิมมันช่วยลดน้ำหนักได้จริง นั่นแหล่ะถึงจะกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้มีแรงบันดาลใจ สร้างนิสัยออกไปยิมเป็นประจำได้
คนที่ตอบสนองความต้องการ ทำตามความคาดหวังจากภายนอกได้ดี ทำงานเสร็จทันเวลา แต่พอเป็นเรื่องส่วนตัว เช่น การออกกำลังกาย การคุมอาหาร การรักษาสัญญาที่จะทำให้ตัวเอง จะทำได้ไม่ดี วิธีที่จะให้คนกลุ่มนี้ทำตามความคาดหวังภายในของตนเอง คือการผูกกับปัจจัยภายนอก ให้รับรู้ถึงความรับผิดชอบ ให้รู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ การจะให้คนกลุ่มนี้ออกไปยิมได้ จะต้องพึ่งพาคนอื่นๆ ต้องมีคนไปด้วย ต้องมีเพื่อนกระตุ้นให้ไปออกกำลังกาย
ข้อเสียของคนที่เป็น Obliger คือ หลังจากที่รับปากทำงานหลายๆ อย่าง จนรู้สึกว่างานที่รับผิดชอบมันมีมากไป ก็จะงอแงไม่อยากทำต่อ ไม่อยากทำอะไรอีกเลย
คนที่ต่อต้าน จะปฏิเสธความคาดหวังจากทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นภายนอก ความคาดหวังของคนอื่น หรือภายใน สิ่งที่ตนเองต้องการ คนกลุ่มนี้อยากทำเพราะอยากทำ เพราะได้ทำในแบบของตัวเอง ถ้ามีคนมาขอให้ทำหรือสั่งให้ทำงาน คนกลุ่มนี้มักจะต่อต้าน ไม่ชอบทำงานตามคำสั่งของใคร และไม่ชอบสั่งใครให้ทำงาน คนกลุ่มนี้จะไปยิมก็เพราะว่าอยากไป ไม่ใช่เพราะเค้าวางแผนไว้
คนที่รู้จักปรับเปลี่ยน กับคนที่ไม่รู้จักพอประมาณ
เวลาที่เราต้องระงับใจ เช่น เรารู้ว่าไอศครีมมันอร่อย แต่กินบ่อยก็ไม่ดี ถ้าต้องชั่งใจว่าจะกินไอศครีมหรือไม่นั้น บางคนจะแนะนำว่า ให้กินได้บ้าง แต่อย่ากินทุกวัน คำแนะนำนี้อาจจะใช้ได้กับบางคน คนที่รู้จักปรับเปลี่ยน คนที่ทำตามข้อตกลงได้ถ้ามันไม่เคร่งครัดจนเกินไป
แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จักพอประมาณ คนที่ถ้าจะกินก็ต้องกินให้หมด กินทุกวัน กินจนเบื่อไปเอง หรือถ้าไม่มีให้กิน ไม่กินก็ได้ มันจะกลายเป็นเรื่องยุ่งยากมากถ้าจะต้องคิดว่า วันนี้ควรจะกินหรือเปล่า แล้วทำไมวันนี้ถึงกินได้ ต้องกินบ่อยแค่ไหน กินได้วันละเท่าไหร่
บางคนอาจจะแนะนำว่าให้ใช้หลัก 80/20 กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย 80% และกินอาหารที่ดีต่อใจได้อีก 20% คำแนะนำนี้ใช้ได้เฉพาะกับคนที่รู้จักปรับเปลี่ยน แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จักพอประมาณ ถ้าไม่กินก็ไม่กินเลย แต่ถ้ากินก็ขอ 100% ไปเลย ง่ายกว่า
คนที่ไม่รู้จักปรับเปลี่ยน คนที่ไม่รู้จักพอประมาณ (Abstainer) คือคนที่ถ้าจะทำอะไรก็จะทำเต็มที่ หรือไม่ก็ไม่ทำเลย คือคนที่พอได้ทำแล้วก็จะหยุดไม่ได้ จะกินก็ต้องกินให้หมด จะวิ่งก็ต้องวิ่งให้ครบจำนวนรอบที่ตั้งใจไว้ ไม่ทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ เป็นคนที่จะไม่เคยมีขนมเหลือบนโต๊ะ ต้องกินให้หมด ไม่งั้นก็ทำงานต่อไม่ได้ เพราะใจจดจ่ออยู่กับขนมที่ยังเหลืออยู่
คนที่ทำอะไรพอประมาณ (Modulator) คือคนที่ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง แต่ต้องได้ทำ ถึงจะน้อยก็ขอให้ได้ทำ ไม่ใช่ห้ามไม่ให้ทำเลย คนแบบนี้ต้องได้บ้าง ขอให้มี ถึงจะเล็กน้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย
ดังนั้นเวลาเห็นเพื่อนแกะขนมแล้วต้องกินให้หมด ก็ไม่ต้องสงสัย ว่าทำไมไม่รู้จักห้ามใจ ทำไมไม่ควบคุมตัวเอง อย่าไปว่าเค้า เพราะไม่มีใครผิดใครถูก เป็นเรื่องความชอบส่วนตัวของแต่ละคน
ระวัง อย่าไปบอกคนที่เป็น Modulator ว่าปีนี้จะไม่มีโบนัส หรือไม่มีการปรับเงินเดือน
ลองสังเกต ลองสำรวจตัวเองว่าเราเป็นคนแบบไหน หรือเพื่อนร่วมงานเราเป็นแบบไหน ถ้าเรามีเพื่อนทั้ง 2 แบบ เราก็อาจจะต้องทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย ให้แต่ละคนเข้าใจ และได้ทำตามที่ตัวเองถนัด
สร้างนิสัยที่ดี ทิ้งนิสัยแย่ๆ
หลังจากรู้จักตนเองแล้ว เราก็เริ่มเปลี่ยนนิสัยที่เหมาะสมกับตัวเรา คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วจะเริ่มเมื่อไหร่ จะเริ่มที่ไหน จะเริ่มเปลี่ยนยังไง เทคนิคที่ช่วยให้การเปลี่ยนนิสัยเกิดขึ้นได้ และช่วยให้เราเอาชนะอุปสรรค และรักษานิสัยที่เราสร้างเอาไว้ได้ เช่น
- จัดระเบียบ
- อย่าตัดสินใจ แต่ให้ใช้ตารางเวลา
- ทำให้เป็นเรื่องง่าย
- วัดผลเพื่อตรวจสอบและดูความก้าวหน้า
- ขอให้คนอื่นช่วยบังคับ
- ใช้โอกาสพิเศษให้เป็นประโยชน์
- ตามใจตัวเองบ้าง
จัดระเบียบชีวิต ช่วยให้มี ความคิดสร้างสรรค์
สำหรับบางคน การได้จัดของ จัดระเบียบ ทำความสะอาดห้อง เคลียร์โต๊ะให้โล่ง เคลียร์งานให้เสร็จ จะช่วยให้มีความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้รู้สึกโล่ง เช่นเดียวกับการจัดระเบียบชีวิต มั่นใจว่าเราได้นอนเพียงพอ ได้กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การจัดระเบียบจะช่วยให้เราสร้างระบบ ทำให้เป็นเรื่องง่ายที่จะสร้างและรักษานิสัยใหม่เอาไว้ได้
หลีกเลี่ยง การตัดสินใจ แต่ให้ใช้ตารางเวลาเข้าช่วย
มนุษย์เราชอบตัวเลือก แต่ตามหลัก Parkinson’s Law ถ้ามีตัวเลือกมากไปมันก็จะกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก ตอนเย็นถ้าเราต้องเลือกระหว่าง จะไปยิมไปวิ่งไปออกกำลังกาย กับไปกินบุฟเฟ่อาหารญี่ปุ่น เราคงต้องเลือกงดวิ่งแล้วออกไปกินอาหารอร่อยๆ แล้วเราก็จะต้องงดวิ่งไปตลอด ทำให้ยากที่เราจะสร้างนิสัยการไปออกกำลังกาย ดังนั้นอย่าตัดสินใจ แต่ให้ใส่มันลงไปในตารางกิจกรรมในแต่ละวัน หลังเลิกงาน ถึงเวลาแล้วก็เด้งออกไปวิ่งเลย
ตารางเวลาใช้ได้ผลดีมากกับหลายคน ใช้ได้กับคนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งด้วย เพราะเมื่อไหร่ที่เห็นสิ่งที่ต้องทำในตารางเวลา ก็มักจะทำได้เลย ดังนั้นถ้าต้องการสร้างนิสัยไปออกกำลังกาย ก็อย่ามัวแต่บอกว่าสักวันฉันจะไปออกกำลังกาย แต่ให้ใส่มันลงไปในตารางเวลา
ตารางเวลาจะใช้กับคนที่เป็นคนชอบต่อต้านไม่ได้ผล
ทำให้เป็นเรื่องง่าย
ความสะดวก มีผลต่อการเปลี่ยนนิสัย ถ้าเราทำให้อะไรๆ มันง่าย มันสะดวก เราก็จะทำตามได้ โดยไม่บ่น ไม่มีข้ออ้าง ถ้าเราต้องขับรถไปสวนสาธารณะ ถ้าเราต้องเจอรถติดนานๆ มันจะกลายเป็นเรื่องยาก ทำให้เกิดข้ออ้างของการงด
มนุษย์เราวิวัฒนาการมาเพื่อให้ใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์ที่สุด ทำให้เราเป็นคนขี้เกียจ ดังนั้นวิธีที่ดีที่จะช่วยให้เราสร้างและรักษานิสัยที่ดีเอาไว้ หรือทิ้งนิสัยที่ไม่ดีไป คือการทำให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับนิสัยที่ดี และทำให้มันเป็นเรื่องยากที่สุดสำหรับนิสัยที่แย่ เช่น
งานวิจัยพบว่าคนจะตักอาหารน้อยลงถ้าต้องใช้ที่คีบแทนการใช้ช้อนที่สะดวกมากกว่า และอีกงานวิจัยพบว่า ลูกค้า 30% ตัดสินใจซื้อไอศครีมถ้าพบว่าถังไอศครีมเปิดไว้อยู่แล้ว แต่จะลดลงเหลือ 14% ถ้าลูกค้าต้องเปิดถังไอศครีมเอง
วัดผลเพื่อตรวจสอบและดูความก้าวหน้า
การกินอาหารแต่น้อยและกินอาหารที่มีประโยชน์เป็นนิสัยที่ดี วิธีที่เราจะสร้างและรักษานิสัยนี้ไว้ได้คือการจดบันทึกอาหารที่เรากินในแต่ละวัน ช่วยทำให้เรารู้ตัวว่า วันนี้เรากินมากไปแล้ว
มันเป็นเรื่องยากที่จะให้เรากะหรือประเมินว่า วันนี้เรากินไปมากเท่าไหร่แล้ว ยิ่งถ้าเรากินอาหารที่ไม่มีใยอาหาร หรืออาหารที่สกัดเอาน้ำมันออกไปเพื่อให้เก็บไว้ได้นาน มันจะทำให้เราไม่รู้สึกอิ่ม แต่การที่เราจดบันทึกการกิน จะช่วยให้เรารู้ว่ากินมากเท่าไหร่ ช่วยให้เราควบคุมอาหารได้ดี
การที่เราใช้อุปกรณ์วัดจำนวนก้าว ก็จะช่วยให้เรารู้ว่าวันนี้เราเดินได้กี่ก้าว หรือวิ่งเป็นระยะทางเท่าไหร่แล้ว ทำให้เรารู้ว่าควรจะเดินหรือวิ่งเพิ่มหรือเปล่า
ขอให้คนอื่นช่วยบังคับ
บางคนชินกับการโดนบังคับ ไม่มีแรงกระตุ้นจากภายใน จะทำอะไรก็ต้องโดนบังคับถึงจะทำได้ เช่น ต้องให้หัวหน้าเตือน ให้เพื่อนบอก ต้องรอให้พ่อแม่สั่ง เหมือนตอนเด็กๆ ที่เรามีบันทึกการเข้าชั้นเรียน ช่วยให้เราตื่นเช้าเข้าเรียนตามเวลา หรือตอนทำงานเราก็มีระบบบันทึกการเข้างาน ช่วยให้เราตื่นเช้าเพื่อให้ไปทันเวลาเริ่มงาน
บางคนทำงานได้ดีถ้ามี Deadline ความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ทำให้เราทำงานได้สำเร็จ โดยเฉพาะคนที่เป็น Obliger ที่จะต้องหาคนมาคุม จ้างโค้ช ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบ ให้รู้ว่ามันคือหน้าที่ที่ต้องทำ
ดังนั้นถ้ามีใครมาบอกเราว่าตั้งเป้าหมายว่าจะทำบางอย่าง ก็ช่วยใส่ใจเค้าหน่อย ถามเป็นระยะว่าตอนนี้ทำได้ถึงไหนแล้ว เพราะสำหรับบางคน ความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น
ใช้โอกาสพิเศษ ให้เป็นประโยชน์
การเริ่มต้นใหม่ การเปลี่ยนงาน การย้ายที่อยู่ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เป็นโอกาสที่ดีที่ช่วยให้เราเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนนิสัย ช่วยให้เราสร้างนิสัยใหม่ๆ ได้
การย้ายบ้านหรือที่ทำงานใหม่ที่ทำให้เราเดินทางไปสวนสาธารณะได้ง่ายขึ้น ก็จะทำให้เราเริ่มสร้างนิสัยการไปวิ่ง ไปออกกำลังกายได้ง่ายขึ้น
รู้จักตามใจตัวเองบ้าง
การตามใจตัวเองบ้าง การให้รางวัล ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้การเปลี่ยนนิสัยเป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะรางวัลที่มันดีต่อเราทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การได้พัก ผ่อนคลาย
สิ่งสำคัญคือพยายามอย่าตามใจตัวเองแล้วต้องรู้สึกผิดในภายหลัง เช่น ทำงานเสร็จแล้วตามใจตัวเองโดยการกินเค้กชิ้นใหญ่ แล้วต้องมาเสียใจรู้สึกไม่ดีในภายหลัง
สรุป
การเข้าใจตัวเองและรู้จักปรับเปลี่ยนนิสัยของเราให้เหมาะสม มันจะเปลี่ยนชีวิตของเราให้ดีขึ้นได้ เทคนิคที่เรานำไปใช้ได้ เช่น การจัดระเบียบ การพยายามลดการตัดสินใจแต่ให้ใช้ตารางเวลา หรือเตรียมการล่วงหน้า พยายามทำให้เป็นเรื่องง่ายที่จะได้ทำกิจกรรมที่เราอยากทำให้เกิดเป็นนิสัย และทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับนิสัยเก่าๆ ที่เราอยากเลิก วัดผลเพื่อตรวจสอบและดูความก้าวหน้า ขอให้คนอื่นช่วยบังคับ ใช้โอกาสพิเศษให้เป็นประโยชน์ และการตามใจตัวเอง โดยการให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ กับตัวเอง
2 Comments