แรงบันดาลใจ

เบื่อจัง ทำไงดี……………………….

เรารู้สึกเบื่อเพราะลึกๆ ในใจรู้ดีว่าเราทำอะไรได้มากกว่านี้ ความรู้สึกเบื่อหน่ายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากศักยภาพที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ เป็นช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างสิ่งที่เรารู้สึกอยากทำจริงๆ กับสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำหรือโดนบังคับให้ทำอยู่ในตอนนี้

เพิ่งอ่านหนังสือจบไป bored af: An Inspiring Guide To Beating Boredom And Living An Awesome Life Now หนังสือเล่มเล็กๆ เกี่ยวกับความน่าเบื่อ แปลเป็นไทยน่าจะได้เป็นเบื่อโคตรๆ

เรามักจะรู้สึกเบื่อในตอนที่ไม่มีอะไรน่าสนใจให้ทำ ไม่มีอะไรทำให้เบื่อได้เร็วเท่าความจืดชืด สถานการณ์เดิมๆ ที่ไร้ความตื่นเต้น ขาดความสดใหม่

เรามักจะหาอะไรตื่นเต้นทำเพื่อให้หายเบื่อ เพื่อหลบหนีจากความน่าเบื่อ เพื่อให้รู้สึกบางอย่าง เพื่อรู้สึกว่าได้เป็นบางอย่าง รู้สึกเจ็บ รู้สึกประหลาดๆ ดีกว่าไม่รู้สึกอะไรเลย สังคม เทคโนโลยี ล้วนดึงเราออกไปจากตัวตนของเราเอง ทำให้เราเน้นใช้เหตุและผล ทำให้เราเสพสื่อที่เป็นนามธรรม ทำให้หนีออกจากความรู้สึกของตัวเอง ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความคิดของตัวเอง

ทำไมจึงรู้สึกเบื่อ ความเบื่อหน่ายคือช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างสิ่งที่เรารู้สึกอยากทำจริงๆ กับสิ่งที่เราทำอยู่ในตอนนี้ โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่ต้องทำนั้นมันทำให้รู้สึกว่า เสียเวลา

ความเบื่อหน่ายคือช่องว่างระหว่างสิ่งที่ดี สิ่งที่คู่ควรแก่การใช้เวลาอันมีค่า กับสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำหรือถูกบังคับให้ทำมัน

Anhedonia เป็นภาวะผิดปกติ สิ่งที่เมื่อก่อนเคยทำแล้วรู้สึกดี ตอนนี้กลับเป็นเรื่องไม่อยากทำ เกิดความคิดและความเชื่อว่าชีวิตนี้ไม่มีจุดมุ่งหมาย ทำให้ไม่อยากทำอะไร เพราะมันยากที่จะสนใจสิ่งที่รู้สึกว่ามันช่างไร้สาระ

สังคมในทุกวันนี้ทำให้เราเสพสื่อมากกว่าจะสร้างสรรค์สื่อ เราค้นหาสื่อเสพอย่างเมามันไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย เราใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้มากมายจนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่แทนที่จะรู้สึกเติมเต็ม เรากลับเสพสื่อจนมึนเมา และต้องการมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

กิจกรรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมการบริโภค เมื่อเราเสพสื่อบันเทิง เราก็จะต้องการมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปริมาณและคุณภาพ ต้องเสพบ่อยขึ้น บางอย่างเสพจนเคยชิน ก็ต้องมองหาสื่อใหม่ๆ ที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นมากขึ้น

ความเบื่อหน่ายไม่ได้เกิดจากการขาดสิ่งกระตุ้น แต่เป็นเพราะมีสิ่งรบกวนจากด้านนอกมากเกินไป ยิ่งมีสิ่งรบกวนมาก ก็ยิ่งทำให้เบื่อหน่ายมากขึ้น ความเบื่อหน่ายเป็นปัญหาของการที่เราไม่ได้นำเอาศักยภาพออกมาใช้

ทำไมเรารู้สึกเบื่อ?

เราต่างก็ต้องการเวลามากขึ้น แต่พอมีเวลาว่าง เรากลับไม่รู้ว่าจะใช้มันทำอะไร อันนี้ก็เคยทำแล้ว อันนี้เคยกินแล้ว อันนี้ก็เคยดูแล้ว รอบๆ ตัวเราไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรตื่นเต้นคู่ควรกับเวลาของเรา สุดท้ายก็ไม่ได้ทำอะไรและรู้สึกเบื่อหน่าย

สังคมทำให้เราเชื่อว่าความบันเทิง กิจกรรมสนุกๆ คือสิ่งที่เยียวยารักษาความเบื่อหน่าย

ทุกวันนี้เรามีอะไรให้ทำเยอะแยะมากมาย ทุกวันนี้เรามีหลายสิ่งให้ทำ เรามี Internet เราเลือกฟังเพลงนับล้านได้ตามใจชอบ ดาวน์โหลดเกมใหม่ๆ มาเล่นได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เพียงแค่ปลายนิ้วจิ้มโทรศัพท์หรือกดไม่กี่ปุ่ม

ความรู้สึกเบื่อหน่ายเกิดขึ้นไม่ใช่เพราะไม่มีอะไรให้ทำ แต่เป็นเพราะมุมมองที่มีต่อความเบื่อหน่ายมันผิดเพี้ยน เมื่อก่อนมีอะไรให้ทำน้อยกว่า คนในตอนนั้นก็เบื่อ ทุกวันนี้เรามีอะไรมากมายให้ทำ แต่ก็ยังเบื่ออยู่ดี

เรามีอะไรหลายอย่างให้ทำ แต่เราก็ยังเบื่อ เป็นไปได้ยังไง หรือว่าสิ่งที่จะรักษาความเบื่อหน่ายจริงๆ แล้ว มันไม่ใช่ความบันเทิง?

เราหลบหนีจากความคิดของตัวเอง

แต่ละวันประสาทสัมผัสของเราได้รับการกระตุ้นจากสัญญาณภายนอก ไม่ว่าจะเป็นแสง เสียง กลิ่น มือถือเราเต็มไปด้วยข้อมูลมากเกินกว่าที่เราจะรับและเข้าใจได้ทั้งหมด บางอย่างเป็นเรื่องไม่จริงกำกวมต้องพิจารณาดีๆ หลายอย่างเป็นเรื่องไร้สาระ เราต้องใช้พลังงานคิดมากจนไม่มีเหลือให้ทำสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ

การคิดทำให้ความคิดเราเติบโต ทุกครั้งที่คิด ก็จะทำให้เกิดความคิดอื่นๆ อีก แต่การคิดเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานเยอะทำให้เหนื่อยมาก หลายคนจึงไม่ชอบคิด และเวลาที่เราต้องการหลบหนีจากความคิด ก็เป็นเวลาที่เราเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย

The price of being a sheep is boredom. The price of being a wolf is loneliness. Choose one or the other with great care. — Hugh MacLeod

การจะเอาชนะความเบื่อหน่ายได้นั้น เราต้องลดสิ่งกระตุ้นรบกวนให้น้อยลงไม่ใช่เพิ่มมากขึ้น และถ้าเราไม่สามารถอยู่กับความคิดของตัวเองได้ เราก็จะพบว่าตัวเองเบื่อหน่าย

ความเบื่อหน่ายเป็นจุดเริ่มต้นของงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ ความเบื่อหน่ายเปิดพื้นที่สำหรับไอเดียใหม่ๆ หากไม่มีความเบื่อหน่าย ก็จะขาดความคิดสร้างสรรค์ เพราะถ้าเราไม่เบื่อ ถ้าเราสนุกไปกับเรื่องเดิมๆ สถานการณ์เดิมๆ ก็จะไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

สมองเรามักจะหลบหนีจากความรู้สึกเบื่อ ดังนั้นแทนที่จะกระตุ้นมันด้วยสัญญาณรบกวนภายนอก ก็ปลดปล่อยความคิดภายในออกมา แทนที่จะเสพสื่อจากจากนอก ก็ปลดปล่อยทุกความคิดข้างในให้มันไหลออกมา

เมื่อรู้สึกเบื่อหน่าย ลองอยู่ให้ไกลจากเทคโนโลยี เพราะความบันเทิงจะทำให้เราต้องการมันมากขึ้น สิ่งรบกวนเหล่านั้นไม่อาจทำให้เราพึงพอใจในระยะยาวได้ เทคโนโลยีไม่ได้เป็นยารักษาอาการเบื่อหน่าย สังคมปลูกฝังให้เราหลบหนีจากอารมณ์ของตัวเอง ทำให้เราไม่เคยเรียนรู้ที่จะอยู่กับความคิดของตัวเอง

ความเบื่อหน่ายเป็นแค่อาการ

อาการที่บอกให้เรารู้ตัวว่า มันยังมีปัญหาจริงๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ที่ต้องวินิจฉัยก่อนที่จะรักษามันได้

อาการปวดหัวอาจรักษาให้หายได้ด้วยยาแก้ปวด แต่ในขณะที่อาการปวดหายไป ปัญหาที่แท้จริง มะเร็งที่ไม่ได้ถูกวินิจฉัยก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น สังคมที่มุ่งแก้อาการเบื่อหน่ายด้วยความบันเทิง ก็เหมือนกับการจ่ายยาแก้ปวดให้กับคนที่เป็นมะเร็ง

ความเบื่อหน่ายเป็นอาการของคนที่ใช้ชีวิตโดยขาดวิสัยทัศน์ ความเบื่อหน่ายจึงเป็นเหมือนนาฬิกาปลุก ปลุกให้เราตื่นในเวลาที่ต้องทำอะไรซ้ำๆ ทำงานเดิมๆ ที่น่าเบื่อ ความเบื่อหน่ายจะกระซิบข้างหูให้เราตื่นขึ้นมาทำสิ่งที่เราถูกสร้างมาให้ทำ กระตุ้นให้เราเข้าสู่อีกโลกนึง โลกที่เราฝันถึงในขณะที่ยังลืมตา

ความเบื่อหน่ายปลุกให้เราตื่น บอกให้รู้ว่ามันถึงเวลาของเราแล้ว

ถ้าความเบื่อหน่ายเป็นอาการของชีวิตที่ขาดวิสัยทัศน์ ปัญหาที่แท้จริงที่ต้องแก้ไขก็คือการมอง และไม่ใช่เพราะปัญหาในดวงตา แต่เป็นความสามารถในการฝันกลางวัน ฝันในขณะที่ยังลืมตา

เราไม่ได้เป็นแค่ตัวของตัวเอง

ถ้าให้จินตนาการถึงชีวิตที่เราต้องการ เราก็จะคิดภายในข้อจำกัด คิดตามประสบการณ์ที่เคยรับรู้มา คิดใกล้เคียงกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เพราะมองว่าศักยภาพนั้นคือขีดจำกัดที่เราทำได้

ในสังคมที่บอกให้เราเป็นแค่ตัวของตัวเอง สังคมที่จำกัดขีดความสามารถ จำกัดความเป็นไปได้ของเรา หากเราเชื่อเช่นนั้น ก็เท่ากับจำกัดขีดความสามารถของตัวเองเอาไว้

ความสามารถบางอย่างเราอาจมีจำกัด แต่ความเป็นไปได้นั้นมีไม่จำกัด เมื่อเราพัฒนาตัวเองจนกระทั่งพบว่ามันทำให้เราสนุกและเห็นความหมายของมัน พยายามเรียนรู้ที่จะทำในแบบใหม่ๆ ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น หรือใช้แรงน้อยลง

การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ก็ยิ่งทำให้เพิ่มขีดความสามารถ ขยายขอบเขตของศักยภาพออกไป และนอกจากนั้นความสามารถในการเรียนรู้ก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก การพัฒนาตัวเองจึงเป็นการเปิดช่องทางให้กับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เมื่อก่อนเราอาจคาดไม่ถึง

การมุ่งแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดวิธีการใหม่ๆ ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง ทำให้สร้างความแตกต่าง และสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากขึ้น

และที่สำคัญคือ เราไม่ได้ทำมันแค่คนเดียว เราสามารถดึงเอาคนอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย ยิ่งเราเรียนรู้มากขึ้น ยิ่งเราดึงเอาคนอื่นๆ เข้ามาร่วมมากขึ้น ในแต่ละครั้งมันจะทำให้เราได้แนวคิดใหม่ๆ ทำให้ขยายขอบเขตเพิ่มศักยภาพมากขึ้นไปอีก

ศักยภาพที่ขยายขอบเขตออกไปได้เรื่อยๆ จนกระทั่งศักยภาพนั้นกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย เพราะขอบเขตของมันไม่ได้คงที่ แต่ขยายออกไปได้อีกเรื่อยๆ

ศักยภาพจึงไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง และแนวคิดที่บอกว่าเรามีขีดความสามารถที่จำกัดจึงไร้สาระ การที่บอกกับตัวเองว่าดีไม่พอจึงไร้ความหมาย

เมื่อเราพัฒนาตัวเองมากขึ้น เราจะกลายเป็นคนที่เก่งมากขึ้น การร่วมมือกับคนอื่นๆ เพื่อมุ่งไปยังจุดหมายที่มองไว้ ความเป็นตัวเราก็จะเปลี่ยนไป เพราะเราไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่

เลือกที่จะสร้างสรรค์ผลงาน เลือกที่จะร่วมมือกัน เลือกที่จะค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ศักยภาพเราก็จะขยายออกไปได้อีกมาก

สิ่งที่เราต้องทำคือเลือก เลือกที่จะสร้าง เลือกที่จะค้นหาและเรียนรู้ เลือกที่จะร่วมมือกัน สิ่งที่มุ่งหวังไว้ก็จะเกิดขึ้นได้

ถ้ารู้สึกเบื่อ ก็เป็นเพราะเราไม่ได้มุ่งหวังที่จะทำอะไร เราก็แค่รอคอย แค่คิดหลับตาฝันถึงสิ่งที่อยากทำ แต่ไม่คิดที่จะลงทุนในตัวเอง ไม่กล้าที่จะลงมือทำจริงๆ

มีคนมากมายที่มีพรสววรค์แต่ขี้เกียจ คนที่ทำอะไรได้ดีกว่าคนทั่วๆ ไป แต่ไม่เคยที่จะลงมือทำมัน เพราะไม่ได้พัฒนาตัวเองขยายศักยภาพของตัวเองออกไป

เริ่มเลยตอนนี้ เปิดตา มุ่งมั่น ตัดสินใจแล้วลงมือทำ ความเบื่อหน่ายมันบอกให้เรารู้ว่า เราพร้อมแล้วที่จะไปยังระดับต่อไป และเราจะทำอะไรก็ได้ ถ้าเราตั้งใจที่จะทำมันจริงๆ

ถ้าหยุดทำตัวน่าเบื่อ ชีวิตนี้เราก็จะไม่เบื่อหน่ายอีกต่อไป

สร้างสรรค์ผลงาน (ห่วยๆ) ออกมาเยอะๆ

ถ้าเรายังคงยืนยันที่จะใช้ชีวิตโดยคาดหวังว่าจะเสพความบันเทิง เราก็จะพบกับความเบื่อหน่ายเข้าสักวัน เพราะสิ่งเหล่านั้นมันน่าเบื่อ ตรงกันข้ามถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงความคาดหวังนั้นให้กลายเป็นความตั้งใจที่จะลงมือทำสิ่งที่มีคุณค่า ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำสิ่งที่น่าเบื่อให้กลายเป็นน่าสนใจได้

Seth Godin เคยพูดไว้ว่า ชีวิตเราประกอบไปด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกเหมือนกับถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ที่ได้เกิดมา ส่วนที่สองคือการได้เลือกว่าจะใช้ชีวิตนั้นยังไง การเลือกที่ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมวัฒนธรรมรอบๆ ตัวเรา คนที่เลือกและตัดสินใจได้ดีก็อาจประสบความสำเร็จและพูดได้ว่าตัวเองโชคดี

แต่บางครั้งก็อาจเลือกผิด หลายครั้งตัดสินใจได้ไม่ดี แต่ก็ใช่ว่าเราต้องเลือกและตัดสินใจถูกทุกครั้ง ผิดพลาดไม่ใช่ปัญหา เวลาไม่ใช่ปัญหา

ปัญหาอยู่ที่ไม่ตัดสินใจ เพราะมีตัวเลือกที่ดีมากมาย จึงต้องใช้เวลาวิเคราะห์ เพราะกลัวเสียดายหากเลือกผิด ทำให้เราอยู่ในสภาพเลือกไม่ถูก วิเคราะห์ทุกอย่างมากเกินไปจนไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย

You don’t need more time. You just need to decide.

ความไม่มั่นใจในตัวเอง กลัวทำผิดพลาด ทำให้ต้องหลบซ่อนตัว การหลบซ่อนไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เว้นเสียแต่ว่ามันจะขัดขวางไม่ให้เราได้ในสิ่งที่อยากได้ ขวางทางความเจริญของตัวเอง กีดกันความสามารถของตัวเอง

ทุกวันนี้การสร้างสรรค์ผลงานหลายๆ อย่างเป็นเรื่องง่าย ไม่มีใครห้ามเราได้ อยากร้องเพลงก็ร้อง อยากเขียนก็เขียน อยากวาดก็วาด ทำยังไม่เป็นก็มีคนสอนออนไลน์ ในชีวิตของเรา ถ้าไม่ได้ก้าวไปข้างหน้า ก็เป็นเพราะเราหลบซ่อนไม่กล้าเผยตัว

บางครั้งคิดว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์ ไม่ดีพอที่จะทำ อยากเป็นนักดนตรีหรือเป็นศิลปิน แต่ศิลปินมีชื่อเสียงก็มีเยอะอยู่แล้ว ถึงเราจะทำได้ดี แต่ก็คงไปไม่ถึงเป้าหมาย ไม่อาจเทียบเท่าคนเหล่านั้น

นึกถึงตอนเด็กๆ ไม่ว่าจะทำอะไร ผู้ใหญ่มักจะชมว่าทำได้ดี มองเห็นอนาคตอยู่ข้างหน้า แต่พอเข้าโรงเรียนเราก็ถูกจัดให้อยู่ในคนแค่สองประเภท คือคนที่คิดเองทำได้เอง และคนที่เอาแต่รอให้คนอื่นบอกให้ทำ

เราไม่ได้ต้องการเวลามากขึ้น เราแค่ต้องตัดสินใจ ลงมือสร้างสรรค์ผลงานห่วยๆ ออกมา ทำบ่อยๆ และค่อยๆ ปรับทำให้มันดียิ่งขึ้น ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ ตอนเป็นเด็กเราเรียนรู้ที่จะเดิน เรียนรู้ที่จะพูด ความผิดพลาดเป็นธรรมชาติของเราทุกคนที่จะเรียนรู้เรื่องอะไรก็ตาม ความสำเร็จไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในทันที เราไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าจะมั่นใจ

ไม่มีใครจะรับประกันได้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันจะประสบความสำเร็จ สิ่งที่ต้องทำคือตั้งใจทำมันเรื่อยๆ ถึงแม้มันจะห่วยแค่ไหน เราก็ยังมีโอกาสแก้ตัวและเรียนรู้ทำให้มันดียิ่งขึ้นได้

Like what you read? Please share it with your friends so we can get their thoughts!

Previous ArticleNext Article

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *