การเรียนรู้

เทคนิคเรียนเก่ง ความจำดี เร่งการเรียนรู้ที่ได้ผล ที่ทำตามได้ง่ายๆ

วิชา การเรียนรู้ ไม่ได้มีสอนในชั้นเรียน ไม่เคยมีการสอนให้รู้ว่า เราควรจะเรียนยังไงให้ได้ผล ทำยังไงให้เข้าใจความรู้ใหม่ๆ ได้เร็ว และจำสิ่งนั้นได้นานๆ ไม่ใช่จำได้วันเดียวแล้วก็ลืม

นักจิตวิทยาการศึกษาได้คิคค้นเทคนิคการเรียนหลายแบบ เช่น การอ่านบทเรียนซ้ำ การสรุปบทเรียน หรือการทดสอบความรู้ด้วยตนเอง บางเทคนิคก็ใช้ได้ผลและช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ แต่บางเทคนิคก็ไม่ได้ผล ไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้เสียเวลา

เราควรจะรู้ไว้ว่ามีเทคนิคอะไรบ้างที่มันใช้ได้ผล เทคนิคที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วและมีหลักฐานรองรับว่าใช้งานได้ผลดี และเป็นพื้นฐานทำให้เราประสบความสำเร็จในการเรียนได้

แมกกาซีน Scientific American ได้ประเมินเทคนิคการเรียนทั้ง 10 แบบ จากการรีวิวบทความงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 700 บทความ โดยเน้นไปที่เทคนิคที่ทำตามได้ง่ายๆ เทคนิคใช้ได้ผลดีกับคนทั่วไป และเทคนิคที่เป็นที่นิยม

Scientific American ได้ข้อสรุปและแนะนำเทคนิคที่ดีที่สุด 2 แบบ นั่นคือ การทดสอบความรู้ด้วยตนเองและการแบ่งบทเรียนออกเป็นหลายตอน โดยทั้ง 2 เทคนิคได้คะแนนมากที่สุดจากเกณฑ์และเงื่อนไขเหล่านี้

  • เป็นเทคนิคที่ใช้ได้ผลดีกับทุกวิชาและการทดสอบหลายแบบ
  • เป็นเทคนิคที่ใช้ได้ผลไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในแต่ละคนหรือเรียนรู้แบบกลุ่ม
  • เป็นเทคนิคที่ใช้ได้กับคนทุกวัย
  • เป็นเทคนิคที่ใช้สำหรับคนที่เริ่มเรียนรู้หรือมีพื้นฐานอยู่แล้ว
  • เป็นเทคนิคที่มีการทดลองในชั้นเรียนจริง
  • เป็นเทคนิคที่ช่วยให้พัฒนาการเรียนรู้ เพิ่มความเข้าใจ ได้ผลดีในระยะยาว

การทดสอบความรู้ด้วยตนเอง

ไม่ใช่การทดสอบเพื่อประเมิน แต่เป็นการฝึกฝนด้วยตนเองนอกชั้นเรียน เช่น ใช้แฟลชการ์ด บัตรคำ เพื่อทบทวนความจำ หรือใช้วิธีปิดหนังสือแล้วทบทวน เทคนิคการทดสอบด้วยตนเองใช้ได้ผลดี ถึงแม้ผู้เรียนมักจะฝึกแค่ไม่กี่ครั้ง แต่จากการทดลองจำนวนมาก ที่แสดงให้เห็นผลลัพธ์ของเทคนิคนี้ที่ช่วยให้พัฒนาการเรียนรู้และจดจำข้อมูลได้ดีขึ้น

มีผลการทดลองที่ให้นักศึกษาจำคำศัพท์และทดสอบความจำเมื่อเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ พบว่าเทคนิคนี้ช่วยให้นักศึกษาจำคำศัพท์ได้มากถึง 35% เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่จำได้เพียง 4%

ส่วนอีกการทดลองที่พบว่านักศึกษาสามารถจำคำศัพท์ภาษา Swahili-English ได้ดี ถ้าได้ทบทวนและฝึกทำแบบทดสอบเป็นประจำ โดยได้คะแนนมากถึง 80% เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่จำได้เพียง 36%

การฝึกทบทวนจะช่วยให้สมองย้ายข้อมูลไปเก็บไว้ในความจำระยะยาว และทำให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย

การฝึกทบทวนสามารถทำได้ง่ายๆ ได้ผลเป็นเวลานาน และเป็นเทคนิคที่ได้คะแนนจากการประเมินมากที่สุด

การแบ่งบทเรียนออกเป็นหลายตอน

หลายคนชอบอ่านหนังสือเตรียมสอบรวดเดียวจบ ในเวลาไม่กี่วันหรือใน 1 สัปดาห์ การทดลองพบว่า การแบ่งบทเรียนหรือเว้นช่วงเวลาเรียนรู้ จะได้ผลดีกว่าเรียนรู้ในครั้งเดียว

มีการทดลองที่ให้นักเรียนจำคู่คำศัพท์ภาษา Spanish-English โดยแบ่งออกเป็น 6 ส่วน นักเรียนกลุ่มแรกทบทวนคำศัพท์รวดเดียวจบ กลุ่มที่ 2 ทบทวนโดยเว้นช่วงห่าง 1 วัน และกลุ่มที่ 3 ทบทวนโดยเว้นช่วงห่าง 1 เป็นเวลาเดือน ผลปรากฎว่า กลุ่มที่ 3 ทำคะแนนได้ดีที่สุด สามารถจำได้ 47% เปรียบเทียบกับกลุ่มแรก ที่จำได้ 37%

จะเห็นว่ายิ่งเว้นช่วงห่างนานก็จะทำให้จำได้ดีขึ้น ถ้าเราอยากจำได้นานเป็นอาทิตย์ เราก็ควรเว้นช่วงห่างเป็นเวลา 1 วัน แต่ถ้าอยากจำให้นานหลายปี เราก็ควรเว้นช่วงห่างเป็นเวลาหลายเดือน

เทคนิคที่อาจจะใช้ได้ผล

Scientific American ได้อธิบายอีก 3 เทคนิคที่ดูเหมือนจะช่วยในการเรียนรู้ แต่หาข้อสรุปไม่ได้เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ต้องทำวิจัยเพิ่มเติม ได้แก่

  • Elaborative Interrogation การซักถามเหมือนเด็ก 4 ขวบ ที่จะสงสัยและถามเพื่อไขข้อข้องใจ เพื่อหาคำอธิบาย ทำไมๆๆ
  • Self-explanation การอธิบายว่าสิ่งที่เราเพิ่งเรียนไปนั้น เราเรียนรู้อะไรใหม่บ้าง มันเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับความรู้เดิมของเราไหม
  • Interleaved practice แทนที่เราจะเรียนรู้และฝึกฝนทีละอย่าง ก็ให้ลองเอาการแก้ปัญหาหลายแบบมาฝึกพร้อมกัน หรือสลับกันไป

เทคนิคที่ไม่ได้ผล

เทคนิคที่เป็นที่นิยมเหล่านี้ ไม่มีประสิทธิภาพหรือมีประโยชน์น้อย เมื่อเทียบกับเวลาที่ต้องใช้ เมื่อเทียบกับเทคนิคที่ดีที่สุดทั้ง 2 แบบ หรือการซักถามและการอธิบาย

  • Highlighting การทำไฮไลท์ หรือขีดเส้นใต้ เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เราทำ แต่การทดลองพบว่า มันจะไปลดความสามารถในการสรุปเนื้อหา เพราะมันจะทำให้เราสนใจแต่ส่วนที่เราทำไฮไลท์ไว้เท่านั้น
  • Rereading การอ่านซ้ำ อาจช่วยให้จำได้ดีขึ้นบ้าง แต่ถ้าต้องแลกกับเวลาที่ใช้ เทคนิคการทบทวนหรือการฝึกทำแบบทดสอบด้วยตนเองจะให้ผลที่ดีกว่ามาก

สรุป ทำไมเราไม่ใช้เทคนิคที่ได้ผลดี?

คงเพราะเราไม่รู้ว่าเทคนิคแบบไหนที่ใช้ได้ผลดี หรือเทคนิคแบบไหนที่ทำให้เราเสียเวลา คงเป็นเพราะว่าไม่เคยมีใครบอก เพราะการเรียนการสอนในปัจจุบันเน้นให้เราได้เรียนรู้ในแต่ละวิชา แต่ไม่เคยสอนเรื่อง การเรียนรู้ ไม่ได้สอนว่าจะทำยังไงให้เราเรียนรู้ได้ดีขึ้น

รูปแบบปัจจุบันมันอาจใช้ได้ผลดีสำหรับการเรียนรู้ในช่วงแรกๆ ช่วงที่ครูเอาใจใส่เด็กๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การเรียนรู้ในชั้นสูงขึ้นไปที่ครูไม่เอาใจใส่หรือสอนเร็วเกินไป ตอนนั้นแหล่ะที่จะทำให้เกิดปัญหา

References

What Works, What Doesn’t

Like what you read? Please share it with your friends so we can get their thoughts!

Previous ArticleNext Article

1 Comment

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *