ดูแลตัวเอง

เดิน ออกกําลังกาย แต่ละก้าว เพื่อสุขภาพ ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ

เวลาที่คิดอะไรไม่ออก เราก็จะเดิน การเดินอาจจะไม่ได้ทำให้เราฉลาดขึ้น แต่มันทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ถ้าคิดอะไรไม่ออกเราก็แค่เดินออกไป ความคิดของเรามันมีความ Dynamic ถ้าเราเดิน เคลื่อนไหว มันก็คงช่วยให้ความคิดเราวิ่งเข้าออกสมองได้ดีขึ้น

การเดินดียังไง ทำไมเราถึงต้องเดินเยอะๆ ถ้าคิดไม่ออก ก็ลองเดินดูสิ

All truly great thoughts are conceived by walking.–Friedrich Nietzsche

ความคิดสร้างสรรค์ กับ การเดิน

งานวิจัยจาก Stanford University Give your ideas some legs: The positive effect of walking on creative thinking ให้อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลอง นึกถึงประโยชน์ด้านอื่นๆ ของเครื่องมือทั่วไป เช่น มีดเอาไว้ทำอะไรได้อีกบ้าง

จากการทดลองเค้าพบว่า คนที่เดินไปคิดไป ไม่ว่าจะเดินข้างนอกหรือเดินบนลู่วิ่ง ก็สามารถคิดได้ดีมากกว่าการนั่งอยู่เฉยๆ ถึง 60% นอกจากนั้น หลังจากที่เดินเสร็จแล้ว ยังมีการทดสอบอีกครั้ง และผลที่ได้คือ กลุ่มที่เดินมาก่อนก็ยังคิดได้ดีกว่า นั่นหมายถึง การเดินช่วยให้เราคิดได้ดีขึ้น และยังส่งผลต่อไปอีก ถึงแม้เราจะกลับมานั่งก็ตาม เป็นไปได้ว่าการเดินช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นและไปเลี้ยงสมองมากขึ้น

จากงานวิจัยยังพบว่าการเดิน ไม่ว่าจะเดินที่ไหน ก็ส่งผลดีทำให้เราคิดได้ดีขึ้น ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกับบรรยากาศการเดินของเรา ว่าจะเป็นแบบไหน จะเดินในสวนหรือเดินในบ้านก็ให้ผลดีได้เช่นกัน

หลายครั้งที่เราไม่สามารถวิ่งไปคิดไปได้ โดยเฉพาะวันที่วิ่งเร็วๆ เพราะใจเราจดจ่ออยู่กับการวิ่งมากไป ต้องคอยหลบคนข้างหน้า บ่อยครั้งที่เรากังวลอยู่กับอาการบาดเจ็บ ดังนั้นถ้าวันไหนเราอยากคิด เราก็จะเลือกที่จะเดินให้มากขึ้น ที่เคยเจอกับตัวคือ ถ้าเราคิดตอนเดินมันจะทำให้เรามุ่งมั่นอยู่กับความคิดนั้นได้ง่าย ไม่เผลอไปคิดเรื่องอื่น ทำให้เราคิดจนจบ แต่ถ้าคิดตอนวิ่ง มันมักจะมีความคิดอื่นๆ แทรกเข้ามาเสมอ จะหลุด Focus ได้ง่าย

เดินเพื่อสุขภาพ

มี TED Talk ที่พูดเกี่ยวกับการเดิน Walking as a revolutionary act of self-care เค้ารณรงค์ให้ผู้หญิงเดินให้ได้วันละ 30 นาที เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ เพราะยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่าเราสามารถลดความเสี่ยงจากโรคเหล่านี้ได้ และที่สำคัญมันทำได้ง่ายๆ ด้วยการเดิน และนี่ก็เป็นที่มา ทำให้เราอยากเขียน อยากหาข้อมูลประโยชน์ของการเดิน

2400 ปีที่แล้ว Hippocrates ได้บอกไว้ว่า การเดินคือยารักษาโรคที่ดีที่สุด เพื่อพิสูจน์ความจริง นักวิทยาศาสตร์สองคนช่วยกันวิเคราะห์งานวิจัย (Meta-analysis) ที่ตีพิมพ์ในปี 1970-2007 จากงานวิจัยทั้งหมด 4295 ชิ้น เค้าค้นพบว่า มีงานวิจัย 18 ชิ้นที่มีคุณภาพตรงตามที่ต้องการ มีอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 459833 คนที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคหัวใจ งานวิจัยแต่ละชิ้นได้ติดตามเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการเดินของอาสาสมัคร และปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น อายุ การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ โดยได้ติดตามเก็บข้อมูลเฉลี่ยคนละ 11.3 ปี และบันทึกผลข้อมูลการเจ็บป่วยเป็นโรคหัวใจ การเข้ารับการรักษาโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ การเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ

การวิเคราะห์งานวิจัยในครั้งนั้น ได้ข้อสรุปว่า การเดินช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจมากถึง 31% และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจในช่วงทดลองถึง 32% โดยให้ผลในชายและหญิงเท่าเทียมกัน การเดินที่ให้ผลช่วยป้องกันความเสี่ยงคือ เริ่มจากเดินสัปดาห์ละ 5.5 ไมล์ (8.85 กิโลเมตร) ด้วยความเร็ว 2 ไมล์ต่อชั่วโมง (3.21 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และคนที่เดินเร็วหรือเดินนานกว่านี้ก็ยิ่งได้รับผลที่ดีขึ้นไปอีก งานวิจัยที่เค้าวิเคราะห์ในครั้งนั้น ประกอบไปด้วยอาสาสมัครจาก 7 ประเทศ ใน 3 ทวีป

ถ้าผลจากงานวิจัยมันดูเกินจริงมากไปหน่อย ก็ให้ลองดูข้อสรุปที่ได้จาก Harvard study ประกอบไปด้วย

  • นักศึกษาชาย 10269 คนที่จบจาก Harvard เดินอย่างน้อย 9 ไมล์ (14.48 กิโลเมตร) ต่อสัปดาห์ มีส่วนช่วยให้ลดอัตราการเสียชีวิต
  • บุคลากรด้านสุขภาพเหศชาย 44452 คน เดินอย่างน้อยวันละ 30 นาที มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • พยาบาลหญิง ที่เดิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ช่วยลดความเสี่ยงจากหัวใจวายถึง 35%

งานวิจัย 18 ชิ้นที่นำมาวิเคราะห์ในครั้งนั้น ทั้งหมดเป็นการวิจัยโดยการสังเกต เริ่มจากการแยกกลุ่มอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี จากนั้นสังเกตพฤติกรรมโดยเฉลี่ยคนละ 11.3 ปี เพื่อดูว่าการเดินมีผลต่อการลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจหรือลดอัตราการเสียชีวิตหรือไม่ แต่การวิจัยโดยการสังเกตไม่อาจสรุปได้ชัดเท่าการศึกษาทางการแพทย์ Clinical trial

แต่ก็มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ให้อาสาสมัครหญิงวัยหมดประจำเดือน 229 คน เดินอย่างน้อยวันละ 1 ไมล์ (1.6 กิโลเมตร) ใช้เวลาศึกษานาน 10 ปี และได้ข้อสรุปพบว่า การเดินช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจถึง 82%

การเดิน นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงสำหรับคนที่มีสุขภาพดีแล้ว ยังช่วยในการฟื้นฟูสภาพในผู้ป่วยโรคหัวใจด้วย มีการศึกษาทางการแพทย์อีก 18 ครั้ง ที่ชี้ให้เห็นว่า ในบรรดาคนป่วยทั้งหมด 8946 คน ที่ออกกำลังกาย (เดิน 100 ก้าวต่อนาที) อย่างน้อย 30 นาทีต่อสัปดาห์ ช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจถึง 26% และลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคอื่นๆ อีก 20%

การเดินเร็วๆ จะมีสิทธิภาพในการผลาญแคลอรี่มากกว่าการเดินช้าๆ แต่อย่ามองแค่นั้น เพราะการเดินนอกจากจะเผาผลาญแคลอรี่แล้ว ยังส่งผลช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และความดันเลือดอีกด้วย

เห็นประโยชน์ของการเดินแบบนี้แล้ว เราน่าจะต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ จากเดิมที่คิดว่า ถ้าไม่มีมีตัวเลือกอื่นๆ เราค่อยเดิน ให้เปลี่ยนเป็น ถึงแม้จะมีตัวเลือกอื่นๆ ที่สะดวกสบายกว่า เราก็ต้องเลือกที่จะเดิน

เดิน หรือ วิ่ง

การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการเดินในแง่ของเวลา การเดินไม่ใช่การวิ่งช้าๆ การเดินคือการเคลื่อนไหวที่เรามีเท้าข้างใดข้างหนึ่งเหยียบพื้นอยู่เสมอ แต่การวิ่งมันจะมีจังหวะลอยตัว ที่เรายกขาทั้งสองข้างเหนือพื้น นักวิ่งบางคนมีช่วงเวลาที่ลอยตัวมากถึง 45% ตลอดระยะเวลาการวิ่ง

การออกกำลังกายที่ให้ผลดีต่อสุขภาพขึ้นอยู่ปัจจัย 3 อย่าง คือ ความหนักของการออกกำลังกาย ระยะเวลาที่ออกกำลังกาย และความถี่ของการออกกำลังกาย เนื่องจากการเดินจะไม่หนักเท่าการวิ่ง ดังนั้นถ้าเราอยากจะเดินให้ได้ประโยชน์เท่ากับการวิ่ง เราจึงควรเพิ่มระยะเวลาที่เราเดินเข้าไป และเดินให้บ่อยมากขึ้น

ร่างกายเราแต่ละคนเผาผลาญแคลอรี่ได้แตกต่างกัน ตามเพศ อายุ น้ำหนักตัว หรือความฟิตของร่างกาย กิจกรรมเดียวกันคนน้ำหนักเยอะก็มักจะเผาผลาญได้มากกว่าคนน้ำหนักน้อยกว่า ส่วนคนที่มีความฟิตมากกว่าก็จะเผาผลาญได้น้อยลง แต่ข้อดีคือจะเป็นการเผาผลาญไขมันมากกว่า

หลายคนออกกำลังกายเพียงแค่ต้องการลดน้ำหนัก เพื่อให้เผาผลาญแคลอรี่ มากกว่าที่จะคิดถึงเรื่องความฟิต (ความสามารถในการฟื้นตัว) ทั้งๆ ที่ ถ้าเรามุ่งมั่นที่จะออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายฟิต ไม่ต้องสนใจว่าเราจะเผาผลาญได้เยอะแค่ไหน สุดท้ายเราก็จะมีความสุขกับผลข้างเคียงที่น้ำหนักเราลดลง ปล่อยให้มันเป็น Happy side effect

การวิ่งให้ความรู้สึกต่างจากการเดิน ปกติเราหายใจเข้าออกโดยไม่รู้สึกอะไร การวิ่งทำให้เราเข้าถึง เหมือนได้สัมผัสหัวใจตัวเอง ทำให้เกิดความรู้สึก ทำให้รับรูู้ถึงความเหนื่อย แต่การเดินก็ช่วยให้เราวิ่งได้ดีขี้น มันเป็นช่วงเวลาที่เราได้ทบทวนและฟื้นฟูร่างกาย

สำหรับเรา ตราบใดที่ยังวิ่งได้ เราก็คงจะวิ่งไปเรื่อยๆ เหนื่อยเป็นเรื่องปกติ เจ็บก็ทนเอา ไม่ไหวก็เดิน พักเอาแรง ฟื้นคืนสภาพให้กลับมาวิ่งได้อีกครั้ง

References

Walking: Your steps to health http://www.health.harvard.edu/newsletter_article/Walking-Your-steps-to-health

Give your ideas some legs: The positive effect of walking on creative thinking | Oppezzo, Marily; Schwartz, Daniel L. | The Journal of Experimental Psychology: Learning, Memory, Cognition

Walking Benefits Body and Brain, Heart and Soul

Like what you read? Please share it with your friends so we can get their thoughts!

Previous ArticleNext Article