
ในยุคที่เครื่องมือสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ทำให้เราเสี่ยงที่จะเสพติดมัน ในแต่ละวัน มีกี่ครั้งที่เราห้ามใจไม่ได้ที่จะหยิบมือถือขึ้นมาดู เพื่อเปิดดูข้อความ ถึงแม้ว่าตอนนั้นเราจะทำงานเร่งด่วนอยู่ก็ตาม แล้วบางครั้งเราก็รู้สึกผิดหวัง ที่พบว่าไม่มีข้อความใหม่เข้ามาเลย
ติดมือถือ
เคยสงสัยบ้างหรือเปล่าว่า ทั้งวันเราใช้เวลาไปกับมือถือเท่าไหร่ ในปี 2014 Kevin Holesh ได้สร้างแอพ Moment จุดประสงค์เพื่อต้องการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ เพื่อบอกว่าเราใช้เวลาไปกับมือถือมากเท่าไหร่ ซึ่งบางคนเข้าใจว่าตัวเองใช้เวลาไปกับมือถือไม่มาก แต่ปรากฎว่าข้อมูลจากแอพ ทำให้เรารู้ว่าในแต่ละวัน เฉลี่ยแล้วคนหยิบมือถือขึ้นมาดูถึง 48 ครั้ง และใช้เวลาจ้องมองมือถือมากถึง 2 ชั่วโมง
กลายเป็นว่านี่คือสิ่งเสพติดชนิดใหม่ เราสามารถเสพติดอุปกรณ์เหล่านี้ได้จริงๆ ลองนึกดูว่า ถ้าทั้งวันเราไม่ได้ใช้หรือหยิบมือถือขึ้นมาดูเลย มันจะเป็นยังไง แล้วถ้าเป็นสัปดาห์หนึ่งล่ะ เราจะทนอยู่ได้หรือเปล่า เอาง่ายๆ แค่ 2 ชั่วโมงที่ไม่ได้หยิบมันขึ้นมาดู ก็คงไม่ชอบใจกันแล้ว
เราอาจจะเคยเข้าใจว่า การเสพติดเป็นเรื่องของจิตที่ไม่ปกติ เกิดจากการที่คนไม่สามารถหักห้ามใจได้ หรือใจอ่อนเกินไป แต่จากการศึกษากลับพบว่า มันไม่ใช่อย่างที่เราคิดเลย ในช่วงสงครามเวียดนาม มีทหารอเมริกันจำนวนมากที่ติดเฮโรอีน ภายหลังจากสงครามจบลง หน่วยงานรัฐได้ให้ Lee Robbins ทำการวิจัยสถานการณ์นี้ ซึ่งเค้าพบว่าทหารที่ติดยาสามารถรักษาให้หายได้ภายหลังจากกลับอเมริกาแล้ว ซึ่งท้าทายความคิดคนในสมัยนั้นที่เข้าใจว่าไม่สามารถรักษาได้ โดยเค้าเชื่อว่าเกิดจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทหารเหล่านั้นไม่ได้มีความเครียดเหมือนกับตอนที่อยู่ในสงคราม และเฮโรอีนก็ไม่ได้หาได้ง่ายๆ เหมือนตอนที่ยังอยู่ในเวียดนาม นั่นทำให้เราคิดต่อไปว่า การเสพติดไม่ได้เกี่ยวข้องกับความใจอ่อนหักห้ามใจไม่ได้ แต่มันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ต้องอยู่ในสภาวะแบบนั้น
ในปี 1953 James Olds กับ Peter Milner ได้วิจัยเกี่ยวกับ Brain stimulation reward ทำการทดลอง โดยเค้าได้ติดตั้ง Electrode ไว้ที่สมองส่วนควบคุมความพึงพอใจของหนู จากนั้นฝึกให้หนูกระตุ้นสมองส่วนนี้โดยการกดปุ่ม ภายใต้สถานการณ์หลายๆ แบบ หนูมันจะกดปุ่ม กดแล้วกดอีกโดยไม่สนใจอาหารหรือน้ำ จนกระทั่งมันตาย และการทดลองแบบเดียวกันกับลิง ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน ทำให้เข้าใจว่า ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม สัตว์ต่างก็สามารถที่จะเสพติดได้
ยาเสพติดส่งผลกระทบกับสมองตรงศูนย์ควบคุบความพึงพอใจ เมื่อรวมกับสถานการณ์ที่ต้องการหลีกหนีจากความเครียด ความน่ากลัวของสงคราม ทำให้เกิดเงื่อนไขหรือสภาวะที่เหมาะสม จึงทำให้เกิดการเสพติดขึ้นได้ เทคโนโลยีก็สามารถทำให้เราเสพติดได้เช่นกัน มันไปกระตุ้นให้เกิดความพึงพอใจ และมันทำให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพได้เหมือนกัน
ยาเสพติด ผลกระทบต่อสมอง
ยาเสพติดส่งผลกระทบต่อสมองโดยจะเข้าไปแทรกการสื่อสารหรือการส่งข้อมูลระหว่าง Neurons ในที่สุดก็จะส่งผลทำให้การสื่อสารล้มเหลว ยาเสพติดส่วนใหญ่จะมีผลกระทบกับศูนย์ควบคุมความพึงพอใจ จะไปทำให้เกิดการหลั่ง Dopamine มากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกพึงพอใจ ทำให้ตื่นเต้น ทำให้เกิดการเสพติด ทำให้ต้องเสพยาซ้ำอีก และความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเสพยาแต่ละครั้งมันจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เพราะความเคยชิน และนั่นทำให้คนเสพต้องการปริมาณมากขึ้นอีก หรือทำให้ต้องใช้เวลาเสพนานมากขึ้น เพื่อให้ได้ความรู้สึกเหมือนตอนเสพครั้งแรกๆ
Positive feedback
เด็กๆ ชอบที่จะทำอะไรซ้ำๆ เค้าจะกดปุ่มที่ทำให้มีแสง หรือมีเสียงดังครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะเด็กๆ ชอบที่จะได้รับ Positive feedback จากการได้มองเห็นแสง จากการได้ยินเสียงแปลกๆ บางครั้งเราอยู่ในลิฟต์ อาจจะเคยเจอเด็กที่กดปุ่มทุกชั้น เพราะเด็กๆ อยากรู้อยากเห็น และชอบที่จะได้รับ Feedback ทันทีจากการทำบางอย่าง ผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกัน เราก็ต้องการ Positive feedback และเมื่อเราได้รับรางวัลจากการทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เราก็เริ่มที่จะเสพติด
Unpredictable feedback
ในปี 1971 Michael Zeiler ได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาว่าสัตว์จะตอบสนองต่อรางวัลแบบต่างๆ อย่างไรบ้าง โดยได้ทดลองฝึกนกพิราบให้รู้จักกดปุ่มเพื่อที่จะได้รับอาหาร เค้าพบว่าถ้าให้รางวัลกับนกพิราบทุกครั้งที่มันกดปุ่ม นกพิราบมันก็จะกดปุ่มโดยเว้นช่วงความถี่ตามปกติ แต่ถ้าเปลี่ยนใหม่ โดยในแต่ละครั้งที่นกพิราบกดปุ่ม มันจะไม่ได้อาหารเสมอไป ผลที่ได้คือนกพิราบมันก็จะกดถี่มากขึ้นและกดปุ่มย้ำมากขึ้น การที่รางวัลเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและคาดเดาไม่ได้ ทำให้ร่างกายหลั่ง Dopamine มากขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม การพนันจึงทำให้คนติดได้ง่ายๆ
ในปี 2008 Facebook เป็น Social network เจ้าแรกที่เริ่มมีปุ่ม Like ซึ่งก็ทำให้เกิด Feedback เช่นเดียวกันกับการทดลองในนกพิราบ นั่นคือมันทำให้เราคาดเดาไม่ได้ว่า หลังจากที่เราโพสต์ จะมีคนมากด Like หรือเปล่า ทำให้เราต้องคอยเข้ามาดูอยู่ตลอด หรือต้องพยายามทำให้มีคนเข้ามากด Like มากขึ้น เช่น พยายามมีเพื่อนออนไลน์ให้เยอะมากขึ้น และนั่นก็ทำให้ Social network เจ้าอื่นๆ ต่างก็พากันใส่ปุ่ม Like ตามๆ กัน เช่น Youtube หรือ LinkedIn
การเสพติด ส่งผลเสียต่องานและสุขภาพ
การที่เราเล่นมือถือก่อนนอนทำให้นอนหลับยากขึ้น เพราะร่างกายเราตอบสนองต่อแสงสีน้ำเงิน โดยมันจะส่งสัญญาณทำให้ร่างกายเราตื่นตัว ทำให้ไปยับยั้งไม่ให้ร่างกายหลั่ง Melatonin ออกมา บางคนเข้านอนไปพร้อมๆ กับมือถือก็มี ในหนังสือ The sleep revolution ที่เขียนโดย Aarianna Huffington เค้าบอกไว้ว่า 60% ของคนอเมริกันวางมือถือไว้บนเตียงนอน และข้อมูลจาก Gallup poll ก็ทำให้เรารู้ว่า 40% ของคนอเมริกันนอนน้อยกว่าที่แนะนำคือ 7 ชั่วโมง การพักผ่อนนอนหลับที่ไม่เพียงพอ จะทำให้เราเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ เกิดความเครียด วิตกกังวล และส่งผลเสียต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย
การอ่านและตอบอีเมลทันที ทำให้เราต้องหยุดงานอะไรก็ตามที่เราทำอยู่ตอนนั้น ทำให้เราหลุดจากการ Focus จากการศึกษาพบว่าเราจะต้องใช้เวลานานถึง 25 นาที กว่าที่เราจะสามารถกลับเข้าไป Focus งานได้อีกครั้ง การตอบอีเมลก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้รับรางวัลเล็กๆ มันทำให้เราติดเป็นนิสัยได้ และการที่เราให้ความสนใจแต่งานเล็กๆ ที่ไม่สำคัญเช่นการตอบอีเมล มันก็ทำให้เราเสียโอกาสที่จะได้ทำงานที่สำคัญมากว่า
มีกลุ่มคนในบริษัทที่ทำการทดลองกับพนักงาน โดยอนุญาตให้พนักงานเช็คอีเมลได้เพียงวันละ 5-7 ครั้งเท่านั้น ผลที่ได้คือ พนักงานแต่ละคนจะเข้าไปคุยกันมากขึ้น จะโทรหากันมากขึ้น และแทนที่จะนั่งอยู่แต่หน้าจอ พนักงานก็เริ่มที่จะลุกออกไปข้างนอกมากขึ้น ถึงแม้ว่าช่วงแรกๆ มันจะติดขัด เกิดความไม่สะดวกในการทำงานอยู่บ้าง แต่หลังจากนั้นไม่นานทุกอย่างมันก็เริ่มดีขึ้น และมันยังส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย ทำให้ Focus ได้นานมากขึ้น เป็นผลให้ทำงานได้เสร็จเร็วขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจลดลง เพราะระดับความกังวลและความเครียดลดน้อยลง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพียงเพราะการที่พนักงานไม่ต้องกังวลกับการแจ้งเตือนอีเมล
การเสพติด ส่งผลเสียต่อเด็ก
ตอนเด็กๆ เรามักจะถูกห้ามไม่ให้ดูโทรทัศน์นานๆ เรามักจะถูกขัดจังหวะเป็นประจำ พ่อแม่จะบ่น หรือไม่ให้เราดูหนังดูละครมากไป ตอนนี้เราควรจะสำนึกขอบคุณผู้ใหญ่ที่เมื่อก่อนเค้าคอยเตือน เพราะการที่เด็กใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์นานมากไป จะทำให้ขาดทักษะการเข้าสังคม จะทำให้มีปัญหาเรื่องการเข้าใจและการอยู่ร่วมกับคนอื่น
ในปี 2014 Yalda T.Uh เสนอผลงานวิจัยจากการที่เค้าสนใจอยากรู้ผลข้างเคียงของการที่เด็กใช้เวลาไปกับหน้าจอเยอะๆ โดยได้ทดลองกับเด็ก โดยให้เด็กจำนวนหนึ่งอยู่ห่างจากหน้าจอเป็นเวลา 5 วัน จากนั้นให้ทำแบบทดสอบเกี่ยวกับความเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น พบว่าเด็กกลุ่มนั้นสามารถทำคะแนนสอบได้ดีมากกว่าเด็กที่อยู่ในกลุ่มควบคุม (กลุ่มที่ไม่ได้จำกัดเวลาการอยู่หน้าจอ) และนั่นทำให้เข้าใจถึงผลของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีต่อการพัฒนาการด้านอารมณ์และการเข้าสังคมของเด็ก
เรารู้ว่าเทคโนโยยี อุปกรณ์คอมพิวเตอร์มันเมีประโยชน์มากแค่ไหน แต่การทำอะไรที่มันมากเกินไปมันก็เกิดผลเสียได้เช่นกัน แล้วมันก็เป็นความรับผิดชอบของผู้ใหญ่อย่างเรา มันต้องอาศัยเราที่จะต้องคอยแนะนำ เพราะเด็กเค้าไม่รู้ ไม่เข้าใจพฤติกรรมของตัวเอง และไม่มี Willpower หรือความตั้งใจจริงที่จะเปลี่ยนแปลง ก่อนหน้านี้เราป้องกันไม่ให้เด็กเข้าใกล้ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ แต่ต่อไปนี้ เราต้องพยายามให้เด็กๆ อยู่ห่างจากหน้าจอโทรทัศน์หรือมือถือด้วย
สิ่งที่สำคัญคือการทำให้เด็กได้รู้จักและเข้าใจความสำคัญของความน่าเบื่อ ให้เค้าได้เรียนรู้ว่าความน่าเบื่อว่ามันมีความสำคัญเช่นเดียวกันกับความท้าทาย เพราะการที่เราจะทำงานใดๆ ให้สำเร็จได้นั้น มันมักจะต้องเกิดจากการที่เราเพียรพยายามทำงานที่น่าเบื่อให้เสร็จอยู่เสมอ
ขั้นตอนของการติดนิสัย
เพื่อความอยู่รอด สมองเราพยายามที่จะรักษาพลังงานอยู่ตลอดเวลา โดยการลดขั้นตอนการคิดออกไป ทำให้เราสามารถทำกิจกรรมบางอย่างโดยอัตโนมัติ และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มันกลายเป็นนิสัยของเราได้
ในหนังสือ The power of habit คนเขียนเค้าได้บอกไว้ว่า การติดนิสัยประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนด้วยกันคือ ต้นกำเนิด (Cue), กิจวัตร (Routine) และรางวัล (Reward) การที่เราจะเข้าใจวงจรการติดมือถือของเราได้ เราต้องหาให้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นรางวัลที่ขับดันพฤติกรรมของเรา เราต้องบอกได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้มันเกิดขึ้น และอะไรคือกิจวัติ หลังจากนั้นเราค่อยหาทางเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา เพื่อเปลี่ยนกิจวัติของเราใหม่ ให้มันกลายเป็นนิสัยที่ดีขึ้น
ง่ายๆ เลยคือ เมื่อเราเจอต้นกำเนิด เราก็จะทำกิจวัติโดยอัติโนมัติ เพื่อที่เราจะได้รับรางวัล
- ตัวอย่างของต้นกำเนิด คือการที่เราหยิบมือถือขึ้นมาดู
- ตัวอย่างของกิจวัตร คือการที่เราเช็ค Social app แล้วก็ลากนิ้ว เลื่อนดูไปเรื่อยๆ
- ตัวอย่างของรางวัล คือการที่เรารู้สึกถึงการเชื่อมโยง รู้สึกว่าตัวเองอัพเดทอยู่ตลอดเวลา ทันโลก ทันเพื่อน ได้เห็นว่ามีคนมากด Like
สิ่งที่เราต้องทำคือการพิจารณารางวัลที่เราได้รับจากการทำกิจวัติ ลองทำความเข้าใจว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เราต้องการมันคืออะไรกันแน่ หรือสิ่งนั้นมันจำเป็นสำหรับเราจริงๆ หรือเปล่า หรือเราจะหาอะไรอย่างอื่นมาทดแทนได้ไหม แล้วเราก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน การเปลี่ยนนิสัยบางอย่างมันอาจจะเป็นเรื่องยากมาก การที่เราเข้าใจวงจรของมันก็เป็นจุดเริ่มต้น ช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงนิสัยของเราได้
นิสัยไม่ดี แก้โดยการหาสิ่งที่จะมาทดแทน
ถ้าเราเคยตั้งใจที่จะเลิกนิสัยบางอย่าง เราจะรู้ว่ามันยากเหลือเกินที่จะไม่กลับไปติดนิสัยเดิมๆ อีกครั้ง เราเคยพยายามเลิกกาแฟ เริ่มต้นจากค่อยๆ ลดลงจากวันละ 2 แก้ว เป็นวันละแก้ว จากนั้นก็ลดลงอีกเหลือวันละครึ่งแก้ว เราแบ่งกินกับเพื่อนคนละครึ่ง จนสุดท้ายเราก็สามารถเลิกกินกาแฟได้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ไม่กี่เดือน เราก็กลับมากินจนติดอีกเหมือนเดิม ดังนั้นความตั้งใจอย่างเดียวมันอาจจะไม่พอสำหรับการเปลี่ยนนิสัย เราอาจจะต้องหาสิ่งที่จะมาทดแทนด้วย
เราต้องหาสิ่งที่จะมาทดแทน เพื่อมาเปลี่ยนนิสัยที่แย่ของเรา แล้วเชื่อว่านิสัยใหม่จะทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น เช่น ถ้าเราติดเหล้า แล้วเราอยากเลิก เราก็ต้องหาข้อดีที่เราได้จากการดื่ม เช่น การดื่มทำให้เราได้พบปะกับเพื่อน ช่วยให้เราได้ผ่อนคลาย จากนั้นเราก็ค่อยหากิจกรรมอื่นๆ ที่ให้ผลเช่นเดียวกัน หรือที่มีผลเสียน้อยกว่า เช่น แทนที่จะนัดเจอเพื่อนในร้านเหล้า ก็นัดเจอกันที่ร้านกาแฟ หรือนัดเพื่อนไปออกกำลังกาย
Willpower ความสามารถในการบังคับใจ
Motivation คือการเพิ่มแรงปรารถนาที่จะทำบางอย่าง ในขณะที่ Willpower คือการห้ามใจตัวเอง คือการยับยั้งชั่งใจ หรือการบังคับใจตัวเองให้ทำบางอย่าง
Willpower เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้และฝึกฝนได้ แต่ทำไมเราถึงรู้สึกว่า บางวันมันยากที่จะพาตัวเองเข้ายิม หรือมันเหนื่อยที่จะออกไปวิ่ง ในขณะที่อีกวันกลับเป็นเรื่องที่ง่ายมาก การทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้ทำให้เราเข้าใจว่า Willpower ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการควบคุมตัวเอง แต่มันยังเกี่ยวข้องกับการทำงานของจิตใจ และยังเกี่ยวข้องกับเคมีในสมองของเราด้วย
Willpower ก็เหมือนกับกล้ามเนื้อที่เราสร้างมันขึ้นมาได้ มันมีปริมาณจำกัด คนเขียนหนังสือเค้าได้ทดลองและได้ผลที่เชื่อได้ว่า Willpower ที่เราใช้มันไปกับการตัดสินใจในแต่ละวัน ระดับพลังมันก็จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ยิ่งถ้าเรามีงานสำคัญๆ ที่ต้องตัดสินใจ Willpower ก็จะยิ่งลดลงเยอะ แต่เราก็สามารถฝึกเพื่อเพิ่มระดับ Willpower ที่เรามีได้ เช่น การฝึกฝนออกกำลังกายตามตารางที่กำหนด จะช่วยให้เพิ่ม Willpower ได้
ถ้าเราทำงานที่เครียดหรือต้องทำงานที่เราฝืนทำ มันก็จะยิ่งทำให้ Willpower ของเราลดลงเร็วขึ้น และถ้าเราปล่อยให้พลังลดจนหมด เราก็จะอยู่ในโหมดเอาตัวรอด (Survival mode) หรือโหมดดีฟอลท์ มันจะเหมือนกับว่า เราไม่มีแรงที่จะมุ่งมั่นทำอะไร จะไม่มีแรงที่จะฝืน แล้วเราก็จะปล่อยตัวตามสบาย เอาตามที่เราสบายสมองที่สุด
มีการศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างระดับกลูโคสในร่างกายกับ Willpower มาจากข้อสันนิษฐานที่ว่า ถ้าเราหิวหรือระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ สมองเราก็จะเข้าสู่โหมดเอาตัวรอด สมองเราจะลดการใช้พลังงานลง นั่นคือพยายามทำตามสัญชาตญาณให้มากที่สุด ผลก็คือเราจะมักง่ายและทำตามใจตัวเองมากขึ้น แล้วก็พยายามผลักดันให้เรากินให้มากขึ้นเพื่อสะสมพลังงาน
แต่ก็มีการศึกษาที่ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ปัจจัยที่ทำให้เราต้องกินมากขึ้น มันไม่ได้เกิดจากปัญหาเรื่องพลังงานหรือสัญชาตญาณการเอาตัวรอดเท่านั้น นักวิจัยได้ทดลองปรับระดับน้ำตาลในเลือดของอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลอง จากนั้นวัดผลเคมีในสมองและร่างกาย ในระหว่างที่ทำให้เกิดความอยากกินอาหารที่ให้พลังงานสูง พบว่าระบบให้รางวัลในสมองเป็นตัวการที่ทำให้เราเกิดความอยาก และมันจะไวต่ออาหารมากขึ้นถ้าระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง สมองส่วน Neocortex จะถูกปิดกั้นไม่ให้ทำงาน ทำให้เราไม่สามารถสกัดกั้นความอยากได้ นอกจากนั้นยังพบว่าฮอร์โมนส์ความเครียดที่เกิดขึ้น เป็นตัวการที่ขับดันให้เกิดผลแบบนั้น
ดังนั้นถ้าเราอยากจะลดความอ้วน เราจึงต้องกินให้พอดีเพื่อให้เรามี Willpower จากนั้นเดินออกไปข้างนอก ออกไปวิ่ง อย่าปล่อยให้เกิดความเครียด
I won’t… I want… I will…
เริ่มจากรู้ตัวและห้ามใจตัวเองไม่ให้เห็นแก่ประโยชน์ชั่วคราวที่มันล่อลวงเราอยู่ตรงหน้า จากนั้นพยายามนึกถึงสิ่งที่เราต้องการจริงๆ นึกถึงผลประโยชน์ในระยะยาวที่มันจะทำให้เรามีความสุขที่แท้จริง แล้วเปลี่ยนเป็นพลัง เปลี่ยนเป็นแรงปราถนาที่จะทำ
7 Comments