
เราอาจจะเคยสงสัยกันว่าทำไมนักกีฬาถึงได้อึดกันจัง นักวิ่งมาราธอนระยะไกลๆ เค้าวิ่งได้นานๆ โดยไม่เจ็บเลยหรอ อะไรคือตัวการที่ทำให้เรายังวิ่งได้ ถึงจะวิ่งแล้วเจ็บ แต่ก็ยังคงวิ่งต่อไปได้เรื่อยๆ หรืออะไรที่ทำให้เราอยากกินอาหารประเภทแป้ง หรือทำไมเราถึงง่วงนอนและรู้สึกดีเวลากินอาหารประเภทแป้ง ทำไมเรารู้สึกดีเวลาได้คุยกับคนอื่นๆ ได้สังสรรค์กับเพื่อนๆ คำตอบทั้งหมดอยู่ในสมองของเรา
บันทึกการอ่าน ข้อคิดดีๆ
- รู้จักสารสื่อประสาททั้ง 4 Dopamine Oxytocin Serotonin และ Endorphin
- ร่างกายหลั่ง Dopamine เป็นรางวัลที่เราได้รับจากการที่เราทำบางอย่างสำเร็จ
- Oxytocin ช่วยให้เราอารมณ์ดี ทำให้เราเข้ากับคนอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น
- เวลาที่เรารู้สึกว่าเป็นคนสำคัญ การที่เราคิดถึงความสำเร็จหรือความทรงจำดีๆ ในอดีต จะช่วยให้ร่างกายหลั่ง Serotonin
- Endorphin ช่วยลดความเจ็บปวดของร่างกายและจิตใจ
- เรียนรู้ที่จะรับมือกับความเครียด คิดบวก ยื่นมือขอความช่วยเหลือ เข้าใจสถานการณ์
- รู้จักฮอร์โมน Serotonin ให้มากขึ้น ถ้ามีมากไปหรือมีน้อยไปก็ไม่ดี
สมองเป็นอวัยวะที่ซับซ้อนที่ควบคุมและมีผลต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างมาก สมองประกอบไปด้วย Neurons นับพันล้าน เชื่อมต่อกันด้วย Synapse แต่ละ Neuron สามารถสื่อสารกันผ่าน Axons โดยจะนำสัญญาณที่เกิดขึ้นส่งไปยังสมองหรือเซลล์ในร่างกายส่วนอื่นๆ สารสื่อประสาท (Neurotransmitters) เป็นสารเคมีที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณ มันจะถูกปล่อยออกมาตอนที่มีสัญญาณเกิดขึ้นที่ Synapse
ความสามารถของสมองที่จะส่งสัญญาณนั้นๆ ไปยังเซลล์อื่นๆ หรือรับสัญญาณจากเซลล์อื่นๆ มีความสำคัญอย่างมาก และสารสื่อประสาทกับตัวรับ (Receptor) ก็เป็นหัวใจหลักของการสื่อสาร เมื่อสารสื่อประสาทถูกปล่อยออกมา มันจะผูกเชื่อมกับโมเลกุลตัวรับ สัญญาณไฟฟ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงและทำให้เกิดผลต่างกันตามแต่ละประเภทของสารสื่อประสาทและประเภทของตัวรับ มีสารสื่อประสาทที่รู้จักดีมากกว่า 60 ชนิด แต่สารสื่อประสาทสำคัญที่น่าสนใจ และที่เราจะพูดถึงมีอยู่ 4 ชนิด ทั้งหมดเป็นสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนได้ด้วย (เราจะใช้คำสลับไปมาระหว่าง สารสื่อประสาทกับฮอร์โมน ถ้าอธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรมเราจะใช้คำว่าฮอร์โมน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสมอง เราจะเลือกใช้คำว่าสารสื่อประสาท)
สารแห่งความสุข Dopamine Endorphin Oxytocin Serotonin
Dopamine ฮอร์โมน “รู้สึกดี” ที่ช่วยกระตุ้นให้เราทำในสิ่งที่เราชอบ ทุกครั้งที่เรารู้สึกดี ไม่ว่าจะเป็น ทำงานเสร็จทันเวลา ไปถึงสถานีรถไฟทันเวลา ได้กินไอศครีมช๊อกกะแล็ตลาวา นั่นเป็นเพราะว่าร่างกายหลั่ง Dopamine ออกมา Dopamine เป็นรางวัลที่เราได้รับจากการที่เราทำบางอย่างสำเร็จ เช่น ค้นพบบางอย่างหรือลดน้ำหนัดลงได้ตามที่ตั้งใจ
Oxytocin ฮอร์โมน “สายสัมพันธ์” ที่ช่วยให้เราสร้างสายใยระหว่างเรากับคนรอบตัว ทำให้เกิดความรู้สึกดีจากการที่เราเชื่อใจคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นแม่กับลูก หรือความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก Oxytocin ช่วยให้เราอารมณ์ดีหัวเราะได้ง่าย ทำให้เราเข้ากับคนอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น ช่วยให้เราสนุกกับการเข้าสังคม และการที่เราอยู่กับคนเยอะๆ ก็ยิ่งทำให้เราหัวเราะได้ง่ายขึ้นไปอีก
Serotonin ฮอร์โมน “คนพิเศษ” ทำให้เรารู้สึกเป็นคนสำคัญ การที่เราคิดถึงความสำเร็จหรือความทรงจำดีๆ ในอดีต จะช่วยให้ร่างกายหลั่ง Serotonin ออกมาได้ คนที่ไม่ชอบเข้าสังคมมักจะขาดฮอร์โมนนี้ วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้มีฮอร์โมนนี้คือ กินกล้วยและออกไปรับแสงแดดสัก 20 นาที จะช่วยให้ร่างกายหลั่ง Serotonin ออกมา
Endorphin ฮอร์โมน “บ้าพลัง” ช่วยให้เราพ้นจากความเจ็บปวดของร่างกาย Endorphin ช่วยให้นักวิ่งระยะไกลยังคงวิ่งต่อไปได้ ช่วยให้ฟื้นฟูจากอาการบาดเจ็บและเพิ่มความต้านทานให้ร่างกายอีกด้วย ช่วยให้เราทนต่อความเจ็บปวดหรือเมื่อยล้า ถึงจะหมดแรงแต่ก็ยังไปต่อได้อีก เป็นเหตุผลที่ทำให้เรายังไปยิมได้อีกถึงแม้จะยังมีอาการเจ็บจากวันก่อนๆ และอาจจะเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่บรรพบุรุษของเราที่สามารถออกล่าสัตว์ได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะต้องทนฝืน หมดแรงหรือบาดเจ็บจากการล่าสัตว์ ทั้งหมดก็เพื่อความอยู่รอดของกลุ่ม
ฮอร์โมน Endorphin ยังช่วยลดความเจ็บปวดทางใจได้ด้วย คนที่มีปัญหาทางใจและทำร้ายตัวเอง ร่างกายจะหลั่ง Endorphin ออกมาเพื่อลดความเจ็บปวดของร่างกาย ความเจ็บปวดทางใจก็ลดลง ทำให้รู้สึกดีขึ้น
ฮอร์โมนส์กับการอยู่รอด
สมองส่วนที่สั่งการเกี่ยวกับความสุข จะคอยจัดการสารที่สร้างความสุข Dopamine Endorphin Oxytocin และ Serotonin สารเหล่านี้จะถูกหลั่งออกมาในสภาวะที่ดีหรือเหมาะสมกับความอยู่รอดของเรา เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์อะไรก็ตาม สมองเราจะตัดสินใจว่า จะหลั่งสารเคมีเหล่านี้ออกมาหรือเปล่า มันคุ้มไหมที่จะหลั่งสารเหล่านี้ออกมา
ฮอร์โมนส์ดังกล่าวมีส่วนช่วยให้เกิดพื้นฐานของการดำรงชีวิต เกิดวิถีการดำรงชีวิต เกิดโครงสร้างและชนชั้นของสังคม ในสังคมการล่าสัตว์และเก็บเกี่ยว ฮอร์มโมน Endorphin ช่วยทำให้กลุ่มคนที่แข็งแกร่งออกล่าสัตว์ได้ และนั่นทำให้คนเหล่านั้นได้รับการยอมรับในสังคม ส่วนกลุ่มคนที่อ่อนแอกว่าก็ยอมรับสถานะในสังคมที่ต่ำกว่า และทำหน้าที่อย่างอื่นเช่นเก็บเกี่ยวพืขผลไม้
จากการที่ในสังคมมีกลุ่มคนที่แข็งแกร่งและอ่อนแอ แตกต่างอย่างชัดเจน ทำให้กลายเป็นจุดเริ่มของระบบชนชั้นในสังคม แต่ถึงแม้ว่าฮอร์โมนส์จะทำให้เกิดความแตกต่างกันในสังคม ก็ยังมีฮอร์โมนส์ Serotonin และ Oxytocin ที่ช่วยหลอมรวม ทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันในสังคมเช่นกัน โดยจะทำให้เกิดความรู้สึกดีที่ได้อยู่ร่วมกัน ความรู้สึกอบอุ่น รู้สึกปลอดภัยเมื่อได้อยู่ร่วมกัน
ในกลุ่มคนแข็งแกร่งกว่าหรือกลุ่มผู้นำ ก็ยังมีความรู้สึกเมตตา มีความเห็นอกเห็นใจต่อคนที่อ่อนแอกว่าตัวเอง ส่วนในกลุ่มคนที่อ่อนแอกว่า ก็มีความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยที่ได้รับการปกป้อง ทำให้เกิดความชื่นชมซาบซึ้งต่อกลุ่มผู้นำ และนั่นทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ ทั้งหมดก็เพื่อความอยู่รอดร่วมกันได้ของสังคม เพราะการอยู่ร่วมกันเป็นฝูงช่วยให้เพิ่มโอกาสในการอยู่รอด
ฮอร์โมนส์กับความเครียด
เวลาที่เราต้องทำงานให้เสร็จทันเวลา มีปัญหาให้แก้ มีหนี้ต้องจ่าย หรือต้องเจอกับรถติดหนักๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเครียดได้ ชีวิตสมัยใหม่มันเต็มไปด้วยความเครียดตั้งแต่ที่ต้องตื่นแต่เช้า จนกระทั่งถึงเวลาที่ต้องพยายามหลับให้ได้
เรามักจะมองความเครียดเป็นเรื่องแย่ เรามักจะมองความเครียดในแง่ลบ แต่ในหนังสือ The Upside of Stress ผู้เขียนได้บอกไว้ว่า ความเครียดจะเป็นอันตรายกับเรา ถ้าเราเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องร้าย และในความเครียดก็มีส่วนที่ดีอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะถ้าเรามองมันในแง่บวก
ในปี 2006 มีการศึกษาและค้นพบว่าความเครียดมีผลทำให้เกิดความสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากถึง 43% แต่จะเกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มคนที่เชื่อว่า ความเครียดเป็นเรื่องอันตรายเท่านั้น สำหรับกลุ่มคนที่มีระดับความเครียดสูงแต่ไม่เชื่อว่ามันจะเป็นอันตรายกลับมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตน้อยที่สุดในกลุ่มอาสาสมัครในการทดลอง นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ความเครียดเป็นอันตรายกับเรา เมื่อเราคิดว่ามันอันตราย
คนที่มองความเครียดในแง่ร้ายมักจะพยายามหลีกเลี่ยงมันให้ถึงที่สุด ตรงกันข้ามกับคนที่มองความเครียดเป็นเรื่องดี ซึ่งมักจะหาทางออก หาตัวช่วย และมีวิธีการจัดการกับความเครียดและสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี คนกลุ่มนี้มองปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย
เราสามารถเรียนรู้ที่จะรับมือกับความเครียดและเผชิญหน้ากับมันด้วยการคิดบวก เริ่มต้นด้วยการมองมันเป็นเรื่องท้าทาย ร่างกายเราจะหลั่ง Cortisol และ Adrenaline ออกมา เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกมั่นใจในตัวเองและเพื่อกระตุ้นให้เราเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ยากลำบาก แทนที่จะกังวลกับสถานการณ์ ก็ให้ยอมรับแต่ไม่ต้องระงับความกังวล แทนที่จะปลอบใจตัวเองว่าอย่ากังวล ก็ให้เปลี่ยนไปบอกตัวเองว่า ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นที่สุด เปลี่ยนพลังงานความเครียดไปเป็นความแข็งแกร่ง
ความเครียดไม่ใช่แค่สิ่งที่เราต้องเผชิญ แต่มันยังเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้ ได้ร่วมแรงร่วมใจ แสดงความตั้งใจ ในสถานการณ์ยากลำบาก แทนที่จะรับมือมันด้วยตัวคนเดียว ก็ให้ใช้ประโยชน์จากคนรอบข้าง ให้โอกาสร่างกายได้หลั่ง Oxytocin ออกมาจากการยื่นมือขอความช่วยเหลือ ให้ระบบความห่วงใยของสังคมได้ทำงาน ผลที่เกิดขึ้นคือมันจะทำให้เราเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น เกิดความเชื่อใจกันมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ปล่อยให้ Dopamine จุดให้ระบบรางวัลได้ทำงาน ทำให้เรารู้สึกมั่นใจในความสามารถของคนในกลุ่ม เพิ่มความกระตือรือร้นและกำจัดความกลัวออกไป สุดท้าย Serotonin ก็จะทำให้เรารู้สึกมีตัวตน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทำให้ง่ายที่จะเข้าใจสถานการณ์ที่กำลังรับมือ รู้ว่าจะต้องทำอะไร ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
วิวัฒนาการของ Serotonin
Serotonin เป็นสารสื่อประสาทที่น่าสนใจ Serotonin ถูกค้นพบเมื่อประมาณปี 1940 และพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบประสาท ช่วงปี 1950 นักวิทยาศาสตร์ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับความหลากหลายของ Serotonin กับตัวรับ ในร่างกายคนเรา Serotonin ไม่ได้พบในแค่ระบบประสาทเท่านั้น แต่ยังพบได้ในระบบทางเดินหายใจ หลอดเลือดและกล้ามเนื้ออีกด้วย Serotonin ในร่างกายมนุษย์ ทำหน้าที่หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสารที่พบและตัวรับที่มันเชื่อมกันอยู่
Serotonin ในร่างกายมนุษย์ ถ้ามีมากไปก็ทำให้เกิดความสับสน ทำให้ความดันในเลือดสูงขึ้นมาก อารมณ์แปรปรวนและก้าวร้าว แต่ถ้ามีน้อยไปก็จะทำให้เกิดความหงุดหงิด มีแนวโน้มว่าจะใช้ความรุนแรง ทำให้นอนไม่หลับ มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรักษาระดับของ Serotonin ในร่างกายหรือในสมองให้อยู่ในระดับปกติ
Serotonin เกิดขึ้นและวิวัฒนาการมานานมากๆ โดยจะสร้างขึ้นมาได้จากกรดอะมิโน Tryptophan ซึ่งร่างกายเราไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องได้รับจากการกินอาหาร Serotonin จะถูกสร้างขึ้นได้ในเซลล์เม็ดเลือดขาวและใน Neuron เท่านั้น แต่เซลล์อื่นๆ แทบจะทุกส่วนในร่างกายเราสามารถนำเอา Serotonin ไปใช้ประโยชน์ได้ Melatonin ก็เป็นอีกโมเลกุลที่สร้างขึ้นมาจาก Tryptophan อีกที
Tryptophan ดูดซับพลังงานแสง เป็นกรดอะมิโนที่ใช้สำหรับกระบวนการสังเคราะห์แสงในแบคทีเรีย รา และพืช กระบวนการสังเคราะห์แสงจะทำให้เกิดออกซิเจนและน้ำ โดยการนำพลังงานที่ได้จากอิเล็กตรอนที่วิ่งรอบๆ Tryptophan กระบวนการเกิดออกซิเจนนี้ได้เปลี่ยนบรรยากาศของโลกและทำให้ชีวิตของคนเราเกิดขึ้นมาได้
Chloroplast เป็นโรงไฟฟ้าชีวภาพในพืช และเป็นที่ๆ เราจะพบ Chlorophyll ได้ หน้าที่ของ Chloroplast คือการดึงพลังงานจากแสงและสร้าง Tryptophan ซึ่งสัตว์ เช่น มนุษย์เราไม่สามารถสร้างได้ แต่เราจะได้รับจากการกินเท่านั้น และแหล่งที่ดีที่สุดที่เราจะได้รับคือเนื้อสัตว์ แต่มันก็ยากที่เราจะได้รับ Tryptophan ให้เพียงพอต่อความต้องการของสมองเพื่อนำไปสร้าง Serotonin
ถ้าเรากินอาหารที่เน้นแต่เนื้อสัตว์ ร่างกายเราจะได้รับกรดอะมิโนหลายชนิด แล้ว Tryptophan ก็ดันเป็นกรดอะมิโนส่วนน้อยที่อยู่ในเนื้อสัตว์ เมื่อเปรียบเทียบกับโปรตีนอื่นๆ ที่จะถูกส่งไปยังสมอง มันก็มักจะพ่ายแพ้เค้าตลอด ดังนั้นอาหารที่มีโปรตีนสูงแต่คาร์โบไฮเดรตต่ำ จึงส่งผลให้สมองเราได้รับ Tryptophan ได้น้อย
แต่เมื่อเราเน้นกินอาหารประเภทแป้ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อินซูลินจะเริ่มทำงาน โปรตีนจะถูกดึงออกจากกระแสเลือดไปยังกล้ามเนื้อ แต่อินซูลินดันไม่มีผลต่อ Tryptophan ทำให้ในกระแสเลือดมี Tryptophan มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกรดอะมิโนอื่นๆ ทำให้มันเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่จะถูกส่งไปยังสมอง จากนั้นก็จะถูกนำไปสร้าง Serotonin นอกจากกินแป้งจะทำให้เราอิ่มท้องแล้ว มันยังทำให้เรารู้สึกดี ผ่อนคลาย และง่วงนอนได้อีกด้วย และจากนั้นอีกสัก 2-3 ชั่วโมง หลังจากฤทธิ์ Serotonin หมดไป ก็จะทำให้เราเริ่มอยากกินอาหารประเภทแป้งมากขึ้นอีก
สรุป
ความสุขไม่ใช่สิ่งที่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นได้ แต่มันยังเกี่ยวข้องกับเคมีในสมองและร่างกายที่วิวัฒนาการมาก่อนบรรพบุรุษของเราซะอีก และเราก็สามารถเลือกและตัดสินความสุขของเราได้เอง
ความเครียดไม่ได้เป็นเรื่องร้ายอย่างที่คิด ถ้าเรารู้จักเผชิญหน้าและมองว่าสถานการณ์ต่างๆ เป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้ นอกจากนั้นร่างกายเรายังวิวัฒนาการช่วยให้เราตอบสนองกับความเครียด ส่งเสริมให้สร้างความสัมพันธ์ เพิ่มความมั่นใจ และช่วยให้เรากลับมาจัดการกับความเครียดได้อย่างลงตัว
References
Food, mood and health: a neurobiologic outlook http://www.scielo.br/pdf/bjmbr/v31n12/3323c.pdf
How to make stress your friend https://www.ted.com/speakers/kelly_mcgonigal
Thank you for a good thing . i’m feeling good.