การเรียนรู้

สมรรถนะสําคัญของผู้เรียน ตอนที่ 2 ความสามารถในการคิด

ความสามารถในการคิดไม่ได้มีติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด แต่เป็นความสามารถที่เราพัฒนาได้เรื่อยๆ หลายคนมักจะหลีกเลี่ยงการคิด มันเป็นธรรมชาติของเราทุกคน วิวัฒนาการมันทำให้สมองเราพยายามใช้พลังงานให้น้อยที่สุด อย่าให้ต้องเสียเวลาคิด ทำให้เราอยากทำอะไรเร็วๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เร็วๆ

ข้อดีของการทำได้โดยที่ไม่ต้องคิด ทำตามสัญชาตญาณ หรือทำตามนิสัย มันจะทำให้เราทำงานได้เร็ว แต่มันก็มีข้อเสียเช่นกัน เพราะการทำอะไรแบบเดิมซ้ำๆ เราก็ไม่อาจคาดหวังผลลัพธ์แบบใหม่ๆ ได้ มีแต่คนบ้าเท่านั้น ที่จะทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง

Insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results.—Albert Einstein

ใช้ความคิด

ในหนังสือ Think Better ผู้เขียนได้บอกไว้ว่า ความสามารถในการคิดไม่ได้มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่เราเรียนรู้และฝึกที่จะคิดให้ดีขึ้นได้เรื่อยๆ ในปัจจุบันความสามารถในการคิดเป็นทักษะที่สำคัญมากกว่าการใช้แรงกาย เป็นความสามารถในการเข้าใจ ควบคุมและเปลี่ยนแปลงแนวคิดหรือข้อมูล

การเรียนรู้เพื่อให้คิดให้ดีขึ้น เริ่มต้นจากการยอมรับความจริงก่อน ถึงแม้ว่าเราจะบอกกับตัวเองหรือบอกคนอื่นว่าเราเป็นคนที่ใช้ความคิด แต่ความเป็นจริงคือ เราในตอนนี้ไม่ได้ใช้ความคิดมากเท่าที่ควร

อาการใจลอยเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการไม่ใช้ความคิด เป็นการปล่อยให้ใจคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปเรื่อย ปล่อยใจให้ล่องลอยไป จากความคิดหนึ่ง สักพักเราก็จะกระโดดไปคิดอีกเรื่องหนึ่ง เหมือนลิงปีนต้นไม้

การตอบสนองตามสัญชาตญาณก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการไม่ใช้ความคิด เทียบกับน้ำหนักตัวแล้ว สมองของเราใช้พลังงานเยอะมาก สมองมีน้ำหนักแค่ 2% แต่ใช้พลังงานมากถึง 20% นั่นทำให้สมองส่วน Reptilian ต้องรีบตอบสนอง รีบตัดสินใจเพื่อที่จะไม่ต้องให้สมองส่วนอื่นๆ ได้ใช้พลังงาน ที่ทำไปก็เพื่อความอยู่รอด

รูปแบบของการไม่ใช้ความคิดอีกแบบคือ การที่คิดแบบเดิมๆ ความคิดที่ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เหมือนช้างที่ถูกล่ามโซ่ไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังตัวเล็กๆ ไม่มีกำลังมากพอที่จะหลุดและปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ และถึงแม้ช้างจะโตและมีกำลังมากพอ แต่ความคิดที่ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ช้างต้องติดกับดักนั้นตลอดไป คนเราเองก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ย้อนกลับไปคิดทบทวน เราก็จะต้องติดกับดักนั้นเหมือนกัน

ใครๆ ก็แนะนำให้เรา think outside the box มันพูดง่าย แต่ทำยาก เพราะกล่องความคิดมันทำให้เราประมวลความคิดและเข้าใจความเป็นจริงที่ซับซ้อนได้ ถ้าไม่มีกล่องความคิด ความสามารถในการคิดก็จะลดลง ทุกอย่างมันจะไม่เป็นเหตุเป็นผล

ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือคิดในกล่องใหม่ ต้องเข้าใจว่ากล่องความคิดของเรามันไม่สมบูรณ์แบบ และไม่มีกล่องไหนถูกหรือผิด แต่เราก็ต้องดูด้วยว่ากล่องนี้มันมีประโยชน์หรือเปล่า เราจะต้องเปลี่ยนมุมมองของเรา และขยายกล่องความคิดให้ใหญ่ขึ้น

หลายคนเชื่อว่าเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองมันเกิดจากปัจจัยภายนอกและความโชคร้าย แต่ในความเป็นจริง โลกความคิดของเรามันไม่มีอะไรเลยนอกจากความคิดที่เกิดจากประสบการณ์ชีวิตของเรา

ถ้าเราคิดบวก คิดในแง่ดี มันก็จะเกิดพลังงานที่จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีๆ ได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราคิดลบ คิดในแง่ที่ไม่ดี มันก็จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดี

Critical thinking

Critical thinking คือการไม่ด่วนสรุป เวลามีปัญหา แล้วเรารู้คำตอบ รู้วิธีแก้ไขปัญหา หลายครั้งเราก็มักจะลงมือแก้ไขปัญหานั้นทันที โดยที่ไม่คิดให้ดีก่อน และสุดท้ายก็จะพบว่า วิธีการแก้ไขปัญหาที่เราใช้มันทำให้เกิดปัญหาอื่นที่ใหญ่กว่า หรือเราแก้ไขปัญหาแค่ปลายเหตุ แต่ต้นตอของมันก็ยังจะก่อให้เกิดปัญหาแบบเดียวกันได้อีก

Critical thinking คือการหาต้นตอของปัญหา โดยการถามว่าทำไมมันถึงเกิดปัญหานี้ การหยุดและย้อนกลับไปถามสาเหตุของปัญหา การถาม ทำไม ไปเรื่อยๆ จะทำให้เราพบต้นตอของปัญหา ทำให้เราแก้ไขปัญหา ไม่ใช่แค่แก้ไขอาการ

Being a lawyer is like being a doctor. You keep pressing it until it hurts, then you know where to look.—Harvey Specter

Critical thinking คือการหาผลที่ตามมาหลังจากการแก้ปัญหา การคิดถึงผลข้างเคียงว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น การถามว่า แล้วยังไง ไปเรื่อยๆ มันจะทำให้เรารู้และเข้าใจว่าการแก้ไขปัญหามันจะก่อให้เกิดผลอะไรตามมา ทำให้เราเลือกใช้วิธีการแก้ไขปัญหาหรือให้คำแนะนำที่เหมาะสม

Some people think I will do anything to win. They are wrong. It’s not about doing anything, it’s about doing the RIGHT thing at the right time.—Harvey Specter

บางครั้งเราจะเจอปัญหาที่ใหญ่หรือซับซ้อนเกินกำลังของเราที่จะแก้ไขได้ การแตกปัญหาใหญ่ออกเป็นปัญหาย่อยหลายๆ ปัญหา จะช่วยทำให้เราแก้ไขปัญหาได้ง่ายขึ้น

บางครั้งปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นก็มาจากสาเหตุเดียวกัน เช่น 80% ของปัญหาทั้งหมด อาจจะเกิดมาจากสาเหตุเดียวกัน 20% ดังนั้นเวลาเราแก้ไขปัญหา เราจึงต้องเริ่มแก้ไขที่สาเหตุของปัญหาที่มันก่อให้เกิดปัญหาในสัดส่วนที่ใหญ่กว่า

เวลาที่เราได้รับมอบหมายให้แก้ไขปัญหา อย่าเพิ่งด่วนสรุปลงมือแก้ปัญหาทันที แต่ให้หยุด จากนั้นถาม ถามว่าทำไมปัญหานี้จึงเกิดขึ้น ถามว่าทำไมต้องเป็นเราที่ต้องแก้ไข ลองมองในมุมของหัวหน้าที่มอบหมายงานให้เรา ถามหาสิ่งที่เค้าต้องการจริงๆ ว่ามันคืออะไร มันจะทำให้เรามีคำตอบ มีคำแนะนำมากขึ้น มันจะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากขึ้น

คิดถึงผลข้างเคียง ผลที่ตามมาของการแก้ไขปัญหา ว่ามันจะกระทบต่อเรายังไง มันกระทบต่อบริษัทยังไง มันกระทบต่อลูกค้ายังไง แล้วมันจะทำให้คู่แข่งของเราต้องตอบสนองยังไง มันจะไปก่อให้เกิดปัญหาอื่นอีกหรือเปล่า มันจะทำให้เราเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาหรือให้คำแนะนำที่เหมาะสม

Tell me where it hurts, and I’ll make it go away.

Strategic thinking

เราใช้เวลาไปกับการทำตามคำสั่ง เค้าสั่งอะไรเราก็ทำตามนั้น บางครั้งเราก็ไม่ถามว่าทำไมต้องทำแบบนั้น ทำแบบนี้ไม่ง่ายกว่าหรอ การทำได้สำเร็จตามคำสั่งจนชำนาญเป็นเรื่องดีในช่วงแรกๆ แต่มันจะทำให้เราไม่พัฒนา ไม่ก้าวหน้าไปมากกว่านี้ What Got You Here Won’t Get You There  สิ่งที่พาเรามาถึงจุดนี้ มันจะไม่ทำให้เราไปไกลได้มากกว่านี้

วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ เป้าหมาย เราคงจะได้ยินคำเหล่านี้อยู่ตลอด บางคนก็ใช้สลับกันไป เรากำลังพูดถึง Strategy หรือกลยุทธ์ ถ้าไม่รู้ว่ามันคืออะไรก็ให้ลองนึกถึงเป้าหมายในระยะยาวแล้วมองกลับไปยังจุดที่เราอยู่ เราจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ยังไง ให้เริ่มมองจากภาพกว้างๆ แล้วมองลึกลงไปจนเห็นรายละเอียด เราจะทำอะไร หรือเราจะไม่ทำอะไร กลยุทธ์จะช่วยให้เราตัดสินใจว่าเราจะเลือกเดินทางไหน

Strategic thinking คือการประเมินสถานการณ์จากข้อมูลใหม่ๆ และปรับตัวปรับวิธีการทำงานให้เหมาะสมตามสถานการณ์นั้น เริ่มต้นจากการสงสัย การถามว่าทำไมเราต้องทำแบบนั้น มันอาจจะทำให้คนอื่นรู้สึกรำคาญอยู่บ้าง แต่มันจะเป็นความรำคาญที่จำเป็น จากนั้นให้สังเกต กระโดดออกมาแล้วเฝ้ามองดูคนอื่นๆ ดูว่าเค้าทำยังไง เรียนรู้จากคนอื่นๆ สุดท้ายคือการสะท้อน สร้างพื้นที่ให้เราได้คิด

การที่จะคิดกลยุทธ์ได้นั้น เราจะต้องหาเวลาอ่านและเรียนรู้ให้มาก การทำงานให้เสร็จในแต่ละวันมันยังไม่พอ เราจะต้องรู้ว่าวันข้างหน้ามันจะเกิดอะไรขึ้น ถึงจะไม่มีใครรู้อนาคต แต่เรารู้ว่าจะเดาหรือทำนายมันได้ยังไง โดยการเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เข้าใจว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้น สังเกตแนวโน้ม แล้วประเมินดูว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง มันจะทำให้เราไม่ตกใจเวลาที่มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่มันจะทำให้เรารู้ตัวก่อนคนอื่นๆ ทำให้เรานำหน้าคนอื่นอยู่เสมอ

Strategic thinking ทำให้เรานำหน้าคนอื่น น้อยคนที่จะคิดได้ก่อน ถ้าเราคิดได้ เราก็จะเป็นผู้นำ

ใจเรามีไว้คิด ไม่ใช่เอาไว้เก็บข้อมูล

Your mind is for having ideas, not holding them.—David Allen

ความเครียดความกังวลไม่ได้เกิดจากเรามีงานที่ต้องทำเยอะ แต่เป็นเพราะเราเริ่มงานค้างไว้ แต่ไม่ยอมทำมันให้เสร็จสักที

ในแต่ละวันเราต้องเจอเรื่องมากมาย มีข้อมูล มีโอกาส มีความคิดหลายอย่างเข้ามาในหัว จับมันไว้แล้วดูว่าเราจะทำอะไรกับมัน อย่าพยายามจำ แต่ให้บันทึกไว้ข้างนอก เขียนลงกระดาษหรือกระดาน ใช้โปรแกรม Evernote หรือ OneNote แล้วเริ่มลงมือทำทีละอย่าง อย่างตั้งใจ

สมองเราไม่ใช่คอมพิวเตอร์ เราเพิ่มแรมไม่ได้ แต่เราต้องย้ายความคิดไปเก็บไว้ข้างนอก เพื่อจะทำให้เราคิดได้ดีขึ้น เราไม่ต้องการเวลาสำหรับคิดไอเดียใหม่ๆ สิ่งที่เราต้องการคือพื้นที่

อะไรคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำในตอนนี้ อะไรคือสิ่งที่สำคัญ เราไม่จำเป็นต้องทำเยอะ ไม่จำเป็นต้องยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่เราต้องทำสิ่งที่สำคัญ

เข้าใจก่อนเข้าหัว

เคยสงสัยหรือเปล่าว่าทำไมเราถึงใช้คำว่า เข้าใจ เพื่อแสดงว่าเรารู้ ทำไมไม่ใช้คำว่า เข้าหัว หรือเข้าสมอง

สมองมนุษย์ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ Reptilian brain , Limbic brain และ Neocortex

  • Reptilian brain คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับสัญชาตญาณและการเอาตัวรอด
  • Limbic brain คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองทางอารมณ์
  • Neocortex คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคิด การใช้เหตุและผล

มนุษย์เราจะตอบสนองทางอารมณ์มากกว่าเหตุผล นั่นทำให้คนยังสูบบุหรี่ ทั้งๆ ที่มีฉลากแสดงข้อความเกี่ยวกับสารพิษหรือสารก่อมะเร็งในฉลากของบุหรี่ทุกซอง

What the heart knows today, the head will understand tomorrow.—James Stephens

แฟชั่น ก็เป็นอีกตัวอย่างของความจริง ที่ใช้ประโยชน์จากการที่มนุษย์เราถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ ทำให้ความสวยงามและความรู้สึกที่มีต่อสินค้า มีผลต่อการตัดสินใจมากกว่าการใช้งาน มันเข้าใจก่อนเข้าหัว

ความคิดกับคนคิด

ในหนังสือ Thoughts Without A Thinker คนเขียนได้พูดถึงตัวตนของเราผ่านมุมมองของทฤษฎีจิตวิเคราะห์

ความคิดของเราไม่ใช่ตัวตนของเรา แนวคิดแบบพุทธเองก็มีบอกไว้ว่า ตัวตนของเรามันไม่มีอยู่จริง และถ้าเรายังไม่บรรลุ เราก็จะยังต้องทนทุกข์กับตัวตนที่ลวงตา

ชีวิตในตอนเด็กๆ เรามักจะต้องเจอกับผู้ใหญ่ที่คาดหวังให้เราต้องประพฤติตัวดีๆ ทั้งที่หลายอย่างมันเป็นสิ่งที่ขัดกับธรรมชาติของเด็ก เด็กไม่สามารถทำตามสิ่งที่สัญชาตญาณบอกให้ทำ เพราะผู้ใหญ่คาดหวังให้เด็กต้องอยู่ในกรอบของสังคม เป็นเด็กจะต้องทำตัวดีๆ

ความขัดแย้งระหว่างสัญชาตญาณตามธรรมชาติของเด็ก กับความคาดหวังของสังคม มันจะไปบีบให้ตัวตนของเด็กบิดเบี้ยว ตอนเด็กๆ เราอาจจะเคยต้องฝืนเงียบในเวลาที่เราอยากตะโกนออกมาดังๆ หรือบางครั้งเราอยากจะเงียบ ไม่อยากเสนอความคิดอะไร แต่เราก็จะโดนบังคับให้พูด โดยไม่สนว่าเราจะรู้สึกยังไง

มันทำให้เราเรียนรู้ว่า การจะเป็นที่ยอมรับหรือเป็นที่สนใจของสังคม เราจะต้องฝืนทำสิ่งที่เราไม่อยากทำ และฝืนเป็นคนที่เราไม่อยากเป็น เราจะต้องเป็นคนที่เก่ง ฉลาด แข็งแกร่ง และมีความมั่นใจ แต่การฝืนทำแบบนั้นมันจะไปกดทับความคิดและความรู้สึกที่แท้จริงของเรา

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เราจะกลายเป็นคนที่เอาแต่ใจ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางและเป็นที่ต้องการของสังคมอยู่เสมอ ทำให้เราหมกมุ่นอยู่กับตัวตนมากเกินไป

ส่วนผลลัพธ์อีกด้านหนึ่งก็ใช่ว่าจะดี คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะเกิดจากความคิดที่มองว่าตัวเองไร้ค่า ว่างเปล่า อยู่ไปก็ไร้ค่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนทั้งโลก ตัวตนของเราคนเดียวมันก็ไม่สำคัญ ในสถานการณ์แบบนั้นก็ทำให้ไม่อยากมีตัวตนอีกต่อไป

ความไม่ลงตัวของตัวตนจึงก่อให้เกิดปัญหา ไม่ว่าจะหมกมุ่นอยู่กับคุณค่าของตัวเองมากเกินไป หรือหมกมุ่นอยู่กับความไร้ค่าของตัวเองก็ตาม

การมีสติอยู่กับปัจจุบัน การทำสมาธิจะช่วยให้ใจเราสงบลงและทำให้เราคิดได้ เมื่อเรามีสมาธิ ตอนนั้นเองที่เราจะไม่ยึดติดอยู่กับความคิดและกายสัมผัส ทำให้เราอยู่เหนือความคิดและรูปรสกลิ่นเสียง และเมื่อเราฝึกสมาธินานมากพอ เราก็จะเข้าใจได้ว่าตัวตนของเรานั้นมันว่างเปล่า

การเข้าใจและเห็นใจคนอื่น การเห็นแก่ประโยชน์และความต้องการของคนอื่นก่อนตัวเอง ก็ช่วยให้เราหลุดจากอำนาจของ Ego ได้เช่นกัน

ความคิดสร้างสรรค์

ความหมายของ Creative หรือความคิดสร้างสรรค์มีหลากหลาย The expression of self ก็เป็นอีกความหมายหนึ่ง ที่ทำให้เรารู้ว่า ทุกคนต่างก็มีความคิดสร้างสรรค์

ได้ยินว่าเมื่อก่อนเคยมีการศึกษาการละเล่นของเด็กไทย กิจกรรมที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ที่มันส่งผลต่อการพัฒนาความคิดและจินตนาการของเด็กๆ เช่น

  • ตี่จับ เป็นการเล่นที่ช่วยก่อให้เกิดความสมานสามัคคีในหมู่คณะ
  • เตย เป็นการเล่นที่ช่วยพัฒนาร่างกาย ความคิด และจิตใจ ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากต้องอาศัยความว่องไว ไหวพริบ อีกทั้งวิธีการหลอกล่อคู่ต่อสู้เพื่อจะได้เป็นฝ่ายชนะ
  • อังกะลุง เครื่องเล่นดนตรีที่ช่วยฝึกความสามัคคี ความพร้อมเพรียง และมีสติรู้จังหวะ

เรามีสิ่งดีๆ อยู่ในมือ อยู่ที่ว่าเราจะรู้จักนำมาใช้หรือเปล่า

ในปัจจุบัน ในวันที่ทุกอย่างเร็วไปหมด อยากกินเมื่อไหร่ก็ได้กิน การสื่อสารก็เกิดขึ้นแบบทันที เราทำงานกันแบบเร่งด่วน แต่การไปเร็วๆ ก็ใช่ว่าจะดีต่อเรา มันทำให้เราไม่มีเวลาพัก ทำให้เราเครียด นอกจากนั้นยังเป็นตัวทำลายความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย มันถึงเวลาที่เราจะต้องช้าลงบ้างแล้ว

โซเชียลมีเดียทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไป มันทำให้เรารู้เรื่องของคนที่อยู่ไกลตัวเราเป็นอย่างดี แต่กลับทำให้เรามองข้ามและไม่รู้เรื่องของคนใกล้ตัวหรือเพื่อนบ้าน มันทำให้เราต้องเชื่อมต่อและออนไลน์อยู่เสมอ มันทำให้เรากลัวที่จะไม่ทันคนอื่น กลัวที่จะพลาดข้อมูลข่าวสาร

ในปี 2014 มีผลการสำรวจที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Women’s Marketing, Inc และ SheSpeaks พบว่าผู้หญิงมักจะใช้โซเชียลมีเดียเพื่อโฆษณาชีวิตตัวเองและซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ติดตาม และ 46% ของผู้หญิงตื่นมาเปิดดูมือถือเป็นสิ่งแรกในตอนเช้า ในขณะที่ 31% เปิดใช้คอมพิวเตอร์ การที่เราอยู่ในโลกโซเชียลมันทำให้เรารับรู้เรื่องของคนอื่นๆ ตลอดเวลา ทำให้เราเครียด และทำให้เกิดปัญหาการสื่อสารได้

เราจะคิดได้ดี ที่สุด ในตอนที่เราไม่คิด ไอเดียที่ดีเกิดขึ้นตอนที่เราพักหรือเดินอยู่ในสวน หรือตอนที่เราอาบน้ำ การไม่ทำอะไรเลย ปล่อยใจให้ล่องลอยไป ก็เป็นอีกวิธีที่จะให้เราได้ไอเดียใหม่ๆ

ไอเดียไม่ได้เกิดขึ้นเองจากความว่างเปล่า แต่มันมีที่มาเสมอ บางทีก็เกิดจากการชนกันของไอเดียเก่าๆ หรือเราแกะไอเดียเก่าแล้วประกอบเป็นไอเดียใหม่ ไอเดียก็เหมือนสายน้ำ ที่ไหลจากอดีตมายังปัจจุบัน ดังนั้นเวลาที่เราอยากได้ไอเดียใหม่ เราก็ต้องย้อนกลับไปในอดีต ลองนึกดูว่าคนสมัยก่อนเค้าคิดเรื่องอะไรกันบ้าง มันจะทำให้เราได้ไอเดียเร็วขึ้น

ความสามารถในการแก้ปัญหา

ในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องของการตัดสินใจและการแก้ปัญหา การจัดประเภทปัญหา เราจะแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้ยังไง และเราจะตัดสินใจเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหายังไง

เราแบ่งบทความออกเป็น 5 ตอน ตอนแรกจะเป็นเรื่องของความสามารถในการสื่อสาร การสื่อสารเพื่อโน้มน้าวคน การสื่อสารจากใจ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

Like what you read? Please share it with your friends so we can get their thoughts!

Previous ArticleNext Article

1 Comment

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *