
เหตุผลอันดับหนึ่งที่ทำให้คนลาออกจากงาน ทำให้คนอยากเปลี่ยนงานใหม่คือหัวหน้า ทนหัวหน้าไม่ไหว อยู่ด้วยกันไม่ได้ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า มันจะมีหัวหน้าแย่ๆ เยอะขนาดนั้นจริงหรือ หรือมันมีเหตุผลอื่นซ่อนอยู่ อาจเป็นเพราะขาดกลยุทธ์ในการรับมือกับหัวหน้า อาจเป็นเพราะคนเหล่านั้นไม่รู้จักวิธีปรับเปลี่ยนตัวเองแล้วบอกว่าหัวหน้าคนนี้ทำงานด้วยยาก
เราจะเห็นว่ามีหนังสือ มีสื่อการสอนมากมายที่พูดถึงการเป็นผู้นำที่ดี แต่มีน้อยที่จะสอนการเป็นผู้ตามที่ดี หรือสอนวิธีรับมือกับหัวหน้า ในหนังสือ Managing Up เป็นหนึ่งในนั้นที่จะสอนเราเกี่ยวกับการรับมือกับหัวหน้า จัดการกับบอสในแต่ละแบบ บอสที่ต้องอาศัยกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน มันจะช่วยให้เราเป็นผู้ตามที่ประสบความสำเร็จได้
ไม่มีใครชอบที่จะตาม ไม่ว่าใครก็อยากเป็นผู้นำกันทั้งนั้น แต่ในชีวิตจริงเราทุกคนล้วนมีหัวหน้า เราชอบพูดถึงความเป็นผู้นำ สอนกันเยอะแยะ เราหมกมุ่นอยู่กับการคิดแบบผู้นำ แต่ในชีวิตจริงของเรา ส่วนใหญ่จะไม่ได้นำใครเค้าหรอก ชีวิตการทำงานในแต่ละวันที่มักจะต้องเป็นผู้ตาม เป็นคนทำตามคำสั่งของคนอื่นๆ แม้กระทั่ง CEO เองก็ยังต้องตาม ไม่ว่าใครก็ต้องมีบอส
ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีผู้นำ มีผู้ตาม มีหัวหน้า มีลูกน้อง มันก็ต้องมีการร่วมมือกัน ประสานงานกันในแต่ระดับ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยกระดับ เสริมกำลังให้กับผู้ตาม ให้เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ตามที่ดี เรียนรู้วิธีจัดการกับบอส จัดการกับคนที่จัดการเรา จัดการคนที่อยู่เหนือเรา
หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เรามีกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการจัดการหัวหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับบุคลิกและพฤติกรรมของหัวหน้าแต่ละแบบ สอนให้เราเรียนรู้วิธีที่จะเข้าใจหัวหน้า รู้ว่าเค้าแสดงออกหรือมีไสตล์การทำงานยังไง ทำให้เราได้ไอเดียที่จะสืบดูว่าหัวหน้าเป็นคนแบบไหน เค้าจะมีบุคลิกและมีพฤติกรรมเฉพาะแบบไหนบ้าง
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกให้เราพยายามเปลี่ยนแปลงหัวหน้า แต่ให้เราค้นหาวิธี พยายามเข้าใจ จากนั้นจึงปรับตัวเราเองให้เข้ากับสไตล์ของหัวหน้า ไม่ใช่ให้ประจบเอาใจหรือทำให้หัวหน้าชอบ แต่เป็นการค่อยๆ ปรับพฤติกรรมของเราเอง ปรับทางเลือก ปรับทัศนคติ แล้วมันจะช่วยให้เราเอาตัวรอด หรือประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกับหัวหน้าได้
Managing Up คือการรับมือหัวหน้า คือการมีสติและอดทนในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้า หรือคนที่อยู่เหนือเราขึ้นไป คือการใช้ความพยายามที่จะทำให้เกิดความร่วมมือกัน ประสานงานกันของแต่ละคน ซึ่งหลายครั้งที่มักจะมีมุมมอง มีระดับอำนาจที่แตกต่างกัน คือการทำงานร่วมกับหัวหน้าอย่างมีสติ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับทั้งตัวเรา หัวหน้าและองค์กร
หนังสือ Managing Up เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเราโดยตรง บอกให้เราแต่ละคนรับผิดชอบต่ออาชีพ โอกาส อนาคตหน้าที่การงานของตัวเอง ให้รู้จักสร้างบรรยากาศในที่ทำงานที่เหมาะสมเอง
เรื่องหัวหน้าเป็นเรื่องสำคัญ
หัวหน้าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออนาคตหน้าที่การงานของเรา เงินเดือน โบนัส ความสำเร็จของเรา เส้นทางอาชีพของเราขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับหัวหน้า มันเป็นตัวกำหนดว่าเราจะได้รับโอกาสที่อยู่ข้างหน้าในองค์กรหรือไม่
การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในที่ทำงานเป็นวิธีที่ดีที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในองค์กร ถ้าทำให้หัวหน้าเชื่อไจ ไว้วางใจ ถ้าหัวหน้าเชื่อใจเรา สิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้น แต่ถ้าทำให้หัวหน้าโมโห หรือทะเลาะกัน เรื่องร้ายๆ ก็จะเข้ามาแทน อาจส่งผลต่อเงินเดือน โบนัส หรือโอกาสในการเลื่อนตำแหน่ง
หัวหน้าจะไม่เปลี่ยนตัวเองเพื่อเรา จะไม่เปลี่ยนตัวเองเพียงเพื่อที่จะให้ทำงานร่วมกับลูกน้องราบรื่นขึ้น บุคลิกและพฤติกรรมของหัวหน้ามันช่วยให้เค้ามาถึงจุดนี้ วิธีการทำงาน วิธีการแสดงออกของเค้ามันได้รับการยอมรับจากคนที่เหนือกว่าเรา ทำแบบนั้นมันได้ผลดี วิธีการจัดการแบบนั้นทำให้เค้าได้รางวัล ทำให้เค้าได้เป็นหัวหน้าเรา
เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหัวหน้าได้ เป็นตัวเราเองที่ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการรับมือกับหัวหน้า ทำความเข้าใจว่าอะไรที่ทำให้หัวหน้าเราเป็นคนแบบนั้น จะช่วยให้เราปรับกลยุทธ์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหัวหน้า แต่เราต้องเปลี่ยนวิธีการรับมือ
อย่ามัวแต่คิดฝันว่าหัวหน้าที่ดีควรต้องเป็นแบบนี้ หัวหน้าที่ดีควรต้องทำแบบนี้ หัวหน้าแย่ๆ ในความคิดเรา ไม่ได้เป็นข้ออ้างที่ให้เราอยู่เฉย เพราะนี่คืออนาคตหน้าที่การงานของเรา เราต้องรู้จักเรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญของการเป็นผู้ตามที่ดี ต้องเรียนรู้วิธีรับมือกับหัวหน้า จัดการกับบอสที่อยู่ตรงหน้า
เวลาที่ต้องเจอกับหัวหน้าแย่ๆ คนที่ทำงานด้วยยาก คนที่รับมือดัวยยาก ส่วนใหญ่เราจะมีทางเลือกอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ
- เปลี่ยนแปลงสถานการณ์
- หนีออกไปจากสถานการณ์
- ยอมรับและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์
แต่สิ่งที่เราไม่ควรทำคือ ทำตัวเป็นเหยื่อของสถานการณ์แย่ๆ นั้น เพราะมันจะเป็นภัยต่ออาชีพการทำงานของเรา นอกจากนั้นยังทำให้สภาพจิตใจเราแย่ลงอีกด้วย อย่าปล่อยให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อ อย่าให้จิตวิญญาณของเราถูกทำร้าย
เราอาจคิดอยากให้หัวหน้าทำตัวเป็นคนที่ดีขึ้น มันคงจะดีถ้ามีหัวหน้าดีๆ คนที่ใส่ใจลูกน้อง สอนน้อง ช่วยเหลือ ให้อภัย ให้กำลังใจในเวลาที่น้องทำผิดพลาด ให้โอกาส ให้แก้ไข แก้ตัว ให้ลองทำใหม่
ถ้ามีหัวหน้าแบบนี้เราก็คงมีกำลังใจ อยากตื่นและเด้งออกจากเตียงทุกวัน ไปทำงานแต่เช้า ทำงานเพื่อหัวหน้าคนดีของเรา มีพลัง มีแรงบันดาลใจ สู้งานเต็มที่ และรู้สึกเติมเต็ม
แต่สิ่งเหล่านี้มันจะไม่เกิดขึ้น เราควรหยุดคิดเพ้อฝันถึงหัวหน้าแบบนั้นได้แล้ว และเริ่มเรียนรู้วิธีรับมือกับหัวหน้างาน จัดการกับบอสที่อยู่ข้างหน้า
การเรียนรู้ปรับตัวเพื่อให้เป็นผู้ตามที่ดี มันจะใช้ทักษะเดียวกันกับที่เราจะใช้ในตอนที่ป็นผู้นำ ในตอนที่เรามีโอกาสได้จัดการลูกน้อง ถ้ารู้จักเรียนรู้ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของคนอื่น รู้จักสร้างความสัมพันธ์อันดีกับหัวหน้า ต่อไปเราก็จะรู้ว่าควรเป็นหัวหน้าที่ดีแบบไหน
หัวหน้าแบบไหนที่เราต้องการจะเป็น แบบไหนที่ไม่มีวันจะเป็น การที่เราได้มีโอกาสอยู่กับหัวหน้าที่ยากๆ ได้ทำงานร่วมกับหัวหน้าที่รับมือยาก มันจะเป็นโอกาสอันดีของเราที่จะได้เรียนรู้ รู้จักเปิดใจ สยบอีโก้ของเราเอาไว้ แล้วรับมือหัวหน้าด้วยกลยุทธ์ หัดสงสัย และทดลองวิธีใหม่ๆ
Managing Up ไม่ใช่การชี้ไปยังคนอื่นๆ แต่เป็นการมองหาวิธี ดูว่าเราจะทำอะไรได้บ้างที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้ดีขึ้น ช่วยเหลือตัวเองให้เอาตัวรอดหรือประสบความสำเร็จได้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือต้องรู้จักวิเคราะห์ตัวเราเองและวิเคราะห์หัวหน้า จากนั้นดูว่าเราตั้งใจจะเปลี่ยนจริงๆ หรือเปล่า คุ้มมั้ยที่จะเปลี่ยน หรือควรเปลี่ยนงาน หนีจากบอสสุดโหดที่อยู่ข้างหน้า
ประเมินบุคลิกและพฤติกรรม
ก่อนที่จะหาวิธีจัดการหัวหน้า เราต้องรู้ก่อนว่าคนข้างบนเป็นยังไง เราจะทำตัวเป็นนักสืบ ตั้งใจหาเงื่อนงำ สังเกตดูว่าเพื่อนร่วมงานหรือใครที่ทำงานกับหัวหน้าได้ดี คนไหนที่หัวหน้าชอบ มองหารูปแบบ แล้วตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้
- หัวหน้ามีสไตล์การทำงานแบบไหน ทำงานร่วมกับคนอื่นยังไง
- หัวหน้าชอบข้อมูล ชอบการสื่อสารแบบไหน
- หัวหน้าให้ความสำคัญกับอะไรก่อน
- เป้าหมายของหัวหน้าคืออะไร
- หัวหน้ากังวลเรื่องอะไร มีเรื่องยุ่งยาก อะไรทำให้หัวหน้ากดดัน
- หัวหน้าผ่านอะไรมาบ้าง ก่อนจะมาเป็นแบบทุกวันนี้
- หัวหน้ามีบุคลิกแบบไหน องค์กรคาดหวังอะไรจากเค้า
- หัวหน้าชอบการทำงานแบบไหน
- หัวหน้าคาดหวังอะไรจากเรา หรือคาดหวังอะไรจากทีม
- หัวหน้าสั่งงานบ่อยแค่ไหน สั่งงานเมื่อไหร่ และสั่งงานยังไง
- อะไรทำให้หัวหน้าหงุดหงิด
- สิ่งสำคัญที่สุดของหัวหน้าคืออะไร
เราต้องรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ ประเมินตามสภาพความเป็นจริง ไม่ใช่การตัดสินจากความรู้สึกส่วนตัว ถ้าเราไม่รู้คำตอบ ก็ต้องถามตรงๆ ถามหัวหน้า หรือถามเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ คนที่ใกล้ชิดหัวหน้า ต้องพยายามหน่อย
หลังจากนั้นเราต้องกลับมามองตัวเอง ก่อนจะจัดการคนข้างบน เราจะต้องจริงใจกับตัวเองก่อนว่าแท้จริงเราเป็นแบบไหน เราต้องการอะไร อะไรที่ขาดไม่ได้ มันคือการเข้าใจว่าตัวเราเองส่งผลต่อความสัมพันธ์ยังไง โดยถามและตอบคำถามเหล่านี้
- เรามีสไตล์การทำงานยังไง เราติดต่อกับคนอื่นๆ แบบไหน
- เราชอบการสื่อสารแบบไหน
- สิ่งสำคัญ เป้าหมายของเราคืออะไร
- เราต้องการทำอะไร อะไรที่ขาดไม่ได้ อะไรที่ทำให้งานออกมาดี
- เราเข้ากับหัวหน้าได้หรือเปล่า เรื่องไหนที่เข้ากันไม่ได้
- หัวหน้าเป็นคนรับมือยากสำหรับทุกคน หรือยากแค่ตัวเองคนเดียว
- จุดเด่นของเราในองค์กรนี้คืออะไร
- จุดด้อยของเราคืออะไร
- เราทำหน้าที่ของเราได้ดีหรือเปล่า
- งานนี้เหมาะกับเราจริงๆ หรือไม่
- เรามีทัศนคติที่ดี มีแรงกระตุ้นเพื่อจะประสบความสำเร็จมั้ย
- เพื่อนร่วมงานคิดยังไง คิดว่าเราทำงานดีหรือเปล่า
- เรามีส่วนทำให้เกิดสถานการณ์ที่ดีหรือแย่ยังไง
- เราต่อต้านเรื่องอะไร
การจัดการกับคนข้างบนเป็นการใช้กลยุทธ์ ที่เราต้องปรับตัว ต้องตั้งใจจริงที่จะปรับตัว เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคนอื่นๆ แต่เป็นเราเองที่ต้องเปลี่ยนวิธีการรับมือกับคนเหล่านั้น ถามตัวเองว่า
- เรารักงานนี้หรือเปล่า รักองค์กรนี้แค่ไหน
- เราต้องการงานนี้มากแค่ไหน ลาออกตอนนี้จะมีเงินใช้มั้ย
- เรามีความสุขหรือเปล่าที่ได้ทำงานนี้
- หัวหน้ารับมือยากแค่ไหน ระบุความยากของบอส
- เราตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติแค่ไหน
- เราตั้งใจจริงที่จะเข้าใจหัวหน้าแค่ไหน
- เราต้องการประสบความสำเร็จหรือแค่เอาตัวรอด
- เราเป็นเหยื่อของสถานการณ์นี้หรือเปล่า
- เรามีโอกาสจัดการคนข้างคนหรือไม่ มันคุ้มค่ากับความพยายามมั้ย เราอยากลองมั้ย
หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกับหัวหน้า พัฒนาความสัมพันธ์ที่ตอนนี้อาจไม่ดีนัก ก็เปลี่ยนให้มันกลายเป็นดีซะ มันอาจช่วยให้เราเอาตัวรอดระหว่างหางานใหม่ หรืออาจช่วยให้เราประสบความสำเร็จกับหัวหน้าในปัจจุบันได้
หัวหน้าเป็นประเภท Innie หรือ Outie
หัวหน้าอาจเป็นคนประเภท Introvert (Innie) หรือ Extrovert (Outie) ขึ้นอยู่กับว่ามีแหล่งพลังงานและสไตล์การสื่อสารแบบไหน การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้าได้นั้น จะต้องมั่นใจว่าเราจะไม่ขัดแย้งกัน เวลาคุยกันเราจะไม่ไปลดพลังงาน แต่เราจะต้องเพิ่มพลังให้หัวหน้า ต้องช่วยชาร์จแบต ไม่ใช่ไปกินแบตของหัวหน้า
Innie คือคนที่เพิ่มพลังงานจากภายใน จากความคิดของตัวเอง ในขณะที่ Outie คือคนที่เพิ่มพลังงานจากภายนอก จากการพูดคุยกับคนอื่นๆ Innie คือคนที่ชอบการกระตุ้นจากภายใน สนใจความคิดและจินตนาการของตัวเอง ส่วน Outie คือคนที่ชอบกระตุ้นจากภายนอก ได้รับแรงบันดาลใจจากคนอื่นๆ
แต่ไม่ว่าใครก็ไม่ได้เป็นแบบ Innie หรือ Outie เต็มตัว 100% เราต่างก็มีความ Innie และ Outie อยู่ในตัว บางคนอาจมีความเป็น Introvert มากกว่า Extrovert บางคนอาจจะอยู่ตรงกลาง เป็นประเภท Ambivert
ถ้าหัวหน้าเราเอียงไปทาง Extrovert ส่วนเราเอียงไปทาง Introvert การสื่อสารระหว่างกันก็จะไม่สอดคล้องกัน หัวหน้ามักจะใช้สไตล์การสื่อสารแบบเดียวกับทุกๆ คน ดังนั้นเวลาคุยกันเราจะต้องปรับสไตล์ของเราให้เข้ากับหัวหน้า ให้เข้ากับประเภทของแหล่งพลังงาน และสไตล์การสื่อสารของเค้า
สัญญาณที่บอกว่าใครเป็น Innie หรือ Outie
หัวหน้าแบบ Outie | หัวหน้าแบบ Innie |
มักจะแชร์ข้อมูล บางครั้งมากเกินไป | ไม่ค่อยแชร์ข้อมูล ไม่บอกอะไร |
นัดประชุมทีม และเป็นฝ่ายพูด | ไม่ค่อยประชุมทีม ฟังมากกว่าพูด |
พูดยาวๆ พูดไม่หยุด | พูดสั้นๆ ได้ใจความ |
เข้าถึงง่าย มีส่วนร่วมกับลูกน้อง | ทำงานคนเดียว ไม่ชอบคุยเล่นกับใคร |
พยายามทำความรู้จักเรา | ไม่สร้างความสัมพันธ์ |
รู้สึกอบอุ่นและเป็นมิตร | ปิดตัวเองและไม่เป็นมิตร |
เปิดเผยความคิดและขั้นตอน | จะบอกก็ต่อเมื่อมีคนถาม |
มักจะทักทายเป็นประจำเสมอ | ไม่ค่อยทักทาย |
เดินบ่อยในออฟฟิส | ไม่ค่อยเห็นเดินไปเดินมา |
ทักทายตรวจงานน้องๆ | ไม่ค่อยเข้ามาดูงานน้อง |
ชอบพูดคุยแบบเห็นหน้า | ชอบส่งเมลหรือไลน์ |
ชอบลงมือทำงานทันที | ชอบคิดก่อนทำ |
มีเครือข่ายกว้างขวาง | ไม่ค่อยรู้จักใคร |
ชอบประชุมร่วมกับคนอื่นๆ | ไม่ค่อยชอบประชุมกับใคร |
สนใจความคิดเห็นของคนอื่น | ไม่ค่อยขอความเห็นจากใคร |
ชอบ Brainstorm กับทีม | ไม่ชอบ Brainstorm |
ชอบพูดสิ่งที่คิด | ไม่ค่อยพูดสิ่งที่คิด |
ตอบสนองเร็วและบ่อย | ตอบสนองช้า ขอเวลาคิดก่อน |
ไม่ว่าถ้าคนอื่นขัดจังหวะ | ไม่ชอบเวลาคนอื่นขัดจังหวะ |
เดาใจได้ว่าเค้าคิดอะไรอยู่ | ไม่รู้หรอกว่าเค้าคิดอะไรอยู่ |
หลังจากที่รู้แล้วว่าหัวหน้าและตัวเราเองเป็นประเภทไหน เป็น Innie หรือ Outie ก็กลับมาคิดต่อ ประเมินดูว่าสิ่งที่เราทำ มักจะไปในทางเดียวกับหัวหน้าหรือเปล่า เรามักจะเป็น Innie หรือ Outie แล้วข้อไหนที่เราแตกต่างจากหัวหน้า แล้วเราคาดหวังอะไรจากหัวหน้าบ้าง
ความเป็น Innie หรือ Outie มันช่วยให้เราหรือหัวหน้าได้ในสิ่งที่ต้องการหรือเปล่า แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงยังไงได้บ้างเพื่อช่วยให้เราเองและหัวหน้าทำงานประสบความสำเร็จ
ความเป็น Innie หรือ Outie ไม่ได้หมายความว่าแบบไหนดีกว่ากัน ทั้งสองแบบต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของคนทั่วไป ต่างก็สำคัญในการทำงาน สิ่งสำคัญคือต้องหาทางทำให้แต่ละคนเติมเต็มและทำให้สอดคล้องกัน ไม่ใช่หักล้างสวนทางกันหรือแย่งชิงปะทะกัน
จัดการหัวหน้าที่เป็น Innie
ต้องมั่นใจว่าเราเลือกโหมดการสื่อสารและสไตล์การทำงานที่ถูกต้อง สอดคล้องกับหัวหน้าที่เป็น Innie เพื่อที่เราจะไม่ไปลดระดับพลังงานของเค้าลง แต่ต้องทำให้เพิ่มระดับพลังงานให้มากขึ้น ไปชาร์จแบตไม่ใช่ไปกินแบตเค้า
หัวหน้าแบบ Innie มักจะปล่อยให้เราทำงานอยู่คนเดียว ทำให้มีพื้นที่ มีเวลาที่จะทำงานให้เสร็จ หัวหน้าแบบนี้จะไม่ทำให้เราเสียเวลา จะไม่มาคุยเรื่อยเปื่อย ไม่ได้มาทักทายบ่อยๆ
หัวหน้าแบบ Innie มักจะคิดก่อนพูด จะพูดคุยเรื่องงานหรือโปรเจคต์เท่านั้น ความคิดของหัวหน้าจะชัดเจนและครบถ้วน ยิ่งมีเวลาให้เค้าได้คิดทบทวน ก็ยิ่งมีข้อมูลแน่น
หัวหน้าแบบ Innie มักจะฟังเรา ใช้เวลาฟังมากกว่าพูด แต่สำหรับลูกน้องที่เป็น Outie อาจมองว่าตัวเองต้องการหัวหน้าที่สื่อสารกันบ่อยๆ พูดคุยกันบ่อยๆ ต้องช่วยเหลือ ต้องให้คำแนะนำ แต่ถ้าไม่ได้สิ่งเหล่านี้ ก็จะมองว่าหัวหน้าไม่ดี ทำงานด้วยยาก หัวหน้าไม่เป็นมิตร ไม่เป็นกันเอง
ส่วนลูกน้องที่เป็น Innie เองก็อาจมีปัญหากับหัวหน้าแบบ Innie ได้เหมือนกัน เช่นในเวลาที่ห่างเหินกับหัวหน้า
หัวหน้าแบบ Innie ไม่ค่อยแชร์ข้อมูล ทำให้ลูกน้องไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หัวหน้าอาจจะไม่ได้ใช้เวลาทำความรู้จักลูกน้อง ไม่ได้สร้างความสัมพันธ์มากพอ
สิ่งสำคัญสำหรับลูกน้องที่อยู่กับหัวหน้าแบบ Innie คือต้องรู้จักเข้าหาหัวหน้า อย่ารอให้เค้าเข้ามาหาเรา และให้เวลาหัวหน้าได้คิดทบทวน มีอะไรก็ควรแจ้งล่วงหน้า ให้เวลาเค้าได้คิดก่อนตัดสินใจ
อย่าคิดว่าการที่หัวหน้าไม่ค่อยเข้าหา แล้วเราจะคิดไปเองว่าหัวหน้าไม่สนใจ เราต้องอัพเดทหัวหน้าเสมอ แจ้งความคืบหน้าของงาน ส่งเมลหรือส่งข้อความบอกทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง
ตอนที่คิดอะไรออก ไม่ควรเข้าไปคุยกับหัวหน้าแบบ Innie ทันที แต่ให้รวบรวมคำถามไว้ แล้วค่อยถามทีเดียว
หัวหน้าแบบ Innie ชอบที่จะใช้อีเมล ชอบส่งข้อความ แชท เพราะมันทำให้เค้ามีเวลาในการคิดก่อนจะตอบ
เมื่อไหร่ที่คุยกับหัวหน้าแบบ Innie เราจะต้องไม่พูดมาก ต้องเข้าเรื่อง ต้องพูดให้กระชับ ยิ่งพูดมากก็ยิ่งไปลดพลังงานของเค้าลง
ก่อนจะพูดอะไรออกไป จะต้องระวัง และระลึกเสมอว่า ทำไมเราต้องพูดสิ่งนี้ออกไป คนที่เป็น Outie มักจะพูดเพื่อทำให้ความเงียบมันหายไป แต่คนแบบ Innie มักจะชอบนิ่งเงียบ ต้องการความสงบ และเค้าชอบที่จะคิดก่อนตอบ พยายามนับ 1 ถึง 8 ก่อนที่จะพูดอะไรออกไป
การที่หัวหน้าแบบ Innie ไม่ค่อยแชร์ข้อมูลไม่ได้หมายความว่าเค้าไม่อยาก แต่อาจเป็นเพราะเค้ามองว่าเรารู้อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเราไม่รู้ ก็ต้องถามหัวหน้า ให้เค้าอธิบายให้เข้าใจ
หัวหน้าแบบ Innie มักจะค่อยๆ สร้างสัมพันธ์กับคนอื่น อาจต้องใช้เวลานาน สิ่งที่เราต้องทำคือหาโอกาสที่จะได้คุยกับหัวหน้าตามลำพัง ลองชวนไปกินกาแฟ ชวนไปกินมื้อเที่ยงด้วยกัน หรือลองชวนคุยต่อหลังจากจบประชุม เพื่อเรียนรู้ ทำความรู้จักหัวหน้ามากขึ้น ถามเค้าเรื่องประสบการณ์ทำงาน
สิ่งสำคัญคืออย่าลืมว่าหัวหน้าแบบ Innie ได้รับพลังงานจากภายใน ดังนั้นเราต้องให้เวลาเค้าได้พัก และชาร์จแบต อย่าเข้าไปรบกวนบ่อยๆ อย่าทำให้หัวหน้าลำบากใจ ต้องให้เวลาเค้าได้พัก
จัดการหัวหน้าแบบ Outie
หัวหน้าที่เพิ่มพลังงานจากภายนอก จากการสื่อสารกับคนอื่นๆ มักจะชอบเข้าหาลูกน้อง เข้ามาพูดคุยกันเป็นประจำ การสร้างความสัมพันธ์กับลูกน้องเป็นสิ่งสำคัญสำหรับหัวหน้าแบบ Outie มักจะเป็นคนที่ตอบสนองเร็ว เป็นมิตร และเข้าถึงง่าย
หัวหน้าแบบ Outie พร้อมที่จะแชร์ข้อมูล ทั้งความคิดเห็น ไอเดีย ความคิดในหัว หัวหน้ามีเครือข่ายกว้างขวาง รู้จักคนเยอะ ทั้งภายนอกและภายในองค์กร ซึ่งเป็นข้อดี เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้
การที่หัวหน้าแบบ Outie ชอบพูดคุย อาจทำให้คนอื่นๆ รู้สึกรำคาญได้ ยิ่งถ้านัดประชุม Brainstorm กันบ่อยๆ อาจทำให้คนอื่นไม่ชอบ โดยเฉพาะถ้าหัวหน้าต้องการให้อธิบายอะไรบ่อยๆ
หัวหน้าแบบ Outie ชอบแชร์ข้อมูลให้กับลูกน้อง บางครั้งมากเกินไปหรือเร็วเกินไปก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้
หัวหน้าแบบ Outie มักจะลงมือทำงานอย่างรวดเร็ว บางครั้งทำโดยที่ไม่ได้คิดทบทวนให้ดีก่อน
พยายามสนใจสิ่งที่หัวหน้ากำลังอธิบาย ช่วยกันทำให้หัวหน้านำเสนอไอเดีย ตั้งใจฟังและสนใจ จดจำ ทำให้คุ้มค่าเวลาของเค้า
ทักทายหัวหน้าเสมอ ชวนกันไปซื้อกาแฟ ชวนไปกินมื้อเที่ยงด้วยกัน แสดงความสนใจในตัวหัวหน้า ขอให้เล่าเรื่องของเค้าให้เราฟัง เล่าเรื่องของเราบ้าง แต่อย่าบอกทุกอย่าง
ทุกอย่างที่หัวหน้าแบบ Outie บอกให้เราทำ อาจทำจริงไม่ได้ เค้าอาจพูดขึ้นมาเพียงเพราะมันอยู่ในหัว มันอาจทำให้คนฟังอย่างเราสับสน พยายามคิดตามหัวหน้า ตั้งใจฟัง เดี่๋ยวมันก็ผ่านไป
หลังจากที่หัวหน้าพูดจบ เราต้องทบทวนสิ่งที่เค้าบอกเรา ไล่เรียงสิ่งที่จะทำต่อไปเป็นข้อๆ อันไหนทำก่อนหลัง และอย่าลืมให้หัวหน้ายืนยันสิ่งที่เราเข้าใจเสมอ
หัวหน้าแบบ Outie ไม่คาดหวังให้เราคิดได้สมบูรณ์แบบ เค้าแค่อยากฟังไอเดียจากเรา เค้าต้องการสนทนา พูดคุย แต่ถ้าเราต้องใช้เวลานานในการคิดทบทวนก่อนพูดออกไป ก็อาจทำให้เสียโอกาสได้
หัวหน้าแบบ Outie ชอบพูดคุยกันแบบเห็นหน้า ดังนั้นเราก็ต้องเลี่ยงการใช้อีเมลหรือส่งข้อความให้น้อยลง หาเวลาเข้าไปคุยกับหัวหน้าบ่อยๆ เพราะการได้ปฎิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ จะเป็นการเพิ่มพลังงานให้กับหัวหน้า และถ้าเราเป็นคนที่สามารถทำให้หัวหน้าตื่นเต้น และมีพลังงานมากขึ้น เราก็จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับหัวหน้าได้ง่าย
ความเงียบเป็นสิ่งที่หัวหน้าแบบ Outie ไม่ชอบ ถ้าเราต้องการเวลาในการคิดทบทวนก่อนตอบ ก็อย่าลืมบอกเค้าว่า เราต้องการเวลาคิด
การทำงานกับหัวหน้าแบบ Outie อาจทำให้บางคนที่เป็น Innie หมดพลัง ทำให้เหนื่อย ดังนั้นเราต้องรู้จักหาเวลาเพื่อชารจ์พลังงานบ้าง
อย่าลืมว่าต้องเข้าหาหัวหน้าบ่อยๆ อย่าทำตัวห่างเหินจาก อัพเดทกันบ่อยๆ ให้รู้ว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไร มีความคืบหน้ายังไงบ้าง
หัวหน้าแบบ Outie ชอบ Brainstorm ดังนั้นเราต้องรู้จักเข้าร่วมประชุม เสนอความคิด ถึงแม้ว่าเราจะไม่ค่อยชอบ แต่ก็ต้องพยายามทำ
ประเมินสไตล์การทำงานของหัวหน้า
เราต้องทำกับคนอื่นอย่างที่เราอยากให้คนอื่นทำกับเรา แต่ละคนต่างมีความต้องการที่แตกต่างกัน และมีวิธีการแสดงออกที่แตกต่างกัน บางคนชอบคิดเร็ว พูดเร็ว ทำเร็ว บางคนระมัดระวัง ไม่เร่งรีบเกินไป บางคนชอบเข้าสังคมและเป็นมิตรกับทุกคน รู้จักคนเยอะ ชอบทำความรู้จักเพื่อนร่วมงาน
บางคนอาจจะชอบทำอะไรตรงไปตรงมา ชอบออกความคิดเห็น แสดงสิ่งที่ต้องการ แต่บางคนก็ไม่ชอบบอกอะไร ไม่พูดตรงๆ ว่าต้องการอะไร
บางคนก็ต้องการข้อมูลเยอะก่อนตัดสินใจ แต่บางคนก็ไม่สนใจข้อมูลมากนัก บางคนชอบแสดงออกทางอารมณ์ ในขณะที่บางคนปกปิดอารมณ์ ไม่แสดงออกให้คนอื่นเห็น
สิ่งสำคัญสำหรับเราคือการเข้าใจความเหมือนและความแตกต่างระหว่างสไตล์การทำงานของหัวหน้ากับของเรา จึงจะช่วยให้เราปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของหัวหน้าได้ ต้องทำกับหัวหน้าอย่างที่เราอยากให้หัวหน้าทำ และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ นี่คือเรื่องของหัวหน้า ไม่ใช่ตัวเรา
ในหนังสือจะแบ่งสไตล์การทำงานออกเป็น 4 แบบ โดยใช้แบบจำลองง่ายๆ เพื่อเข้าใจหัวหน้าให้มากขึ้น ให้มองว่ามันคือพื้นฐานของการสื่อสารและวิธีปฏิสัมพันธ์กับโลกข้างนอก
ไม่มีใครที่จะเป็นแบบใดแบบหนึ่ง 100% เราต่างก็มีคุณสมบัติที่มักจะแสดงออกบ่อยๆ มีพฤติกรรมที่ทำจนกลายเป็นนิสัย
คุณสมบัติ พฤติกรรม ความชื่นชอบส่วนตัว เป็นปัจจัยที่ให้เราใช้ในการประเมินรูปแบบไสตล์การทำงาน
หลายคนมักจะมีพฤติกรรมที่มากกว่า 1 แบบ สิ่งสำคัญคือการค้นหาว่าตัวเองและหัวหน้าเป็นคนแบบไหนมากที่สุด และใช้สไตล์ไหนบ่อยที่สุด จากนั้นหาทางเรียนรู้และเข้าใจ และเติมเต็มซึ่งกันและกัน
เมื่อเราเข้าใจความเหมือนและความแตกต่างของตัวเราและหัวหน้าแล้ว ก็จะทำให้เรามีพื้นฐานที่ดีที่ช่วยให้เราเริ่มจัดการกับคนข้างบนได้
จัดการหัวหน้าแบบ Advancer
หัวหน้าที่สนใจแต่งานและผลลัพธ์ ไม่ค่อยสนใจสร้างความสัมพันธ์กับลูกน้องในที่ทำงาน มักเป็นคนที่มั่นใจ ทำงานอย่างเดียวเลย ทีมต้องมีประสิทธิภาพ คาดหวังสูง มักจะถูกมองว่าเป็นคนที่ชอบสั่งการ ชอบบงการ
หัวหน้าแบบ Advancer เป็นคนที่สื่อสารตรงๆ มีเป้าหมายชัดเจน บางครั้งมีความอดทนต่ำ ชอบตัดสินใจเร็ว เน้นการทำงานจริง ชอบควบคุม ชอบบงการ ชอบเอาชนะ
สำหรับหัวหน้าแบบ Advancer แล้ว ทุกอย่างคือความก้าวหน้า และทำผลงานให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้ผลลัพธ์เร็วมากขึ้นที่สุด
หัวหน้าแบบ Advancer ตัดสินใจเร็วและเน้นปฏิบัติจริง เป็นคนที่พยายามควบคุมสิ่งแวดล้อม ควบคุมสถานการณ์ มีแรงกระตุ้น แรงผลักดันที่จะเอาชนะ ชอบแก้ไขปัญหา และทำตามเป้าหมาย ทุกอย่างคือการก้าวไปข้างหน้า เพื่อได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เร็วขึ้นเรื่อยๆ มักจะเป็นคนที่
- ไปเร็ว รอไม่ได้
- ใช้หัว สนใจงานมากกว่าคน
- เข้าควบคุม ชอบออกคำสั่ง ชอบสั่งการ
- มั่นใจในความคิดและการตัดสินใจของตัวเอง
- ตั้งใจจริง ควบคุมอารมณ์ได้ดี
- ชัดเจนและลงมือทำ ตัดสินใจเร็วตามข้อมูลที่มีอยู่
- ลงมือทำเร็วและเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นเร็ว ไม่เสียเวลาวิเคราะห์มาก
- ตรงไปตรงมา สื่อสารตรงไปตรงมา
- ท้าทายและชอบความเสี่ยง
- ไม่ชอบหยุดนิ่ง หรือติดขัด ไร้ประสิทธิภาพ
- ชอบอิสระในการตัดสินใจและลงมือทำ
- ทำงานเร็วและไม่ขึ้นกับใคร
- ชอบแข่งขันและเอาชนะ
- บางครั้งความอดทนต่ำ
ข้อดีของหัวหน้าแบบ Advancer คือ ชัดเจน ตั้งใจแน่วแน่ เน้นการลงมือทำจริง ทำอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนข้อเสียของหัวหน้าแบบ Advancer คืออาจจะก้าวร้าว ใช้อำนาจ หยิ่ง ไม่มีน้ำใจ ไม่ยอมใคร ไม่มีความอดทน
มักจะเน้นผลลัพธ์ มุ่งมั่น และมั่นใจในตัวเอง สนใจงานเป็นหลัก ไม่ค่อยใส่ใจคนมาก ไม่ค่อยสนใจเรื่องคนในทีม มักจะทำตัวโดดเด่น มักจะสื่อสารตรงไปตรงมา และทนไม่ไหวหากงานช้า ชอบแข่งขันชอบเอาชนะ ชอบเสี่ยง บางคนอาจจะชอบทำงานด้วย แต่บางคนก็ไม่ชอบสไตล์นี้
หัวหน้าแบบ Advancer ไปเร็ว และสนใจแต่ผลลัพธ์ สนใจแค่ว่าเราทำงานแล้วได้ผลดีหรือไม่ แต่ไม่ใส่ใจตัวคนหรือไม่สนใจอารมณ์ของคน หัวหน้าแบบ Advancer อยากได้ผลลัพธ์เร็วๆ ทำยังไงก็ได้ที่จะทำให้งานเสร็จเร็ว ลูกน้องที่ทำงานช้า หรือถามบ่อยๆ ก็อาจทำให้หัวหน้าหงุดหงิดได้
หัวหน้าแบบ Advancer มักจะใช้วิธีแบบเดิมๆ ในการทำงานให้สำเร็จ ให้ได้มาซึ่งอำนาจสำหรับตัวเองหรือทีม หรือองค์กร ต้องการรู้ว่ายอดขายดีขึ้นไหม เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา มักจะสนใจแต่งานที่ทำเงิน หรือลูกค้าใหม่ๆ สนใจแต่การทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ มองว่าเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรก
หัวหน้าแบบ Advancer มักจะสั่งให้ทำมากกว่าขอร้องให้ทำ มักจะเอาไอเดียของตัวเองมาก่อนเสมอ ไม่ชอบที่ถูกมองว่าอ่อนแอหรือผิดพลาด ถึงแม้จะผิด แต่ก็ไม่อยากรู้สึกว่าเสียอำนาจการควบคุม
หัวหน้าไม่ชอบให้เสียเวลา ทำงานกับคนแบบนี้ต้องทำงานหนัก ทำงานเกินเวลา ทำมากกว่าคนทั่วไป รีบคุย คุยสั้นๆ รับงานไป ทำเร็วๆ ไม่ต้องทำให้สมบูรณ์แบบ เอาแค่ใช้งานได้ดีก็พอ
สรุปสิ่งที่ควรทำเมื่อต้องทำงานกับหัวหน้าแบบ Advancer
- ทำงานเร็วๆ
- แสดงความสามารถให้เห็น ให้หัวหน้าเชื่อใจ
- ข้อมูล งาน ไอเดียต้องมาก่อน เรื่องคนเอาไว้ทีหลัง
- คิดเร็ว ทำเร็ว จับจุดสำคัญ ตรงประเด็น
- เตรียมตัวให้พร้อมเสมอ
- พร้อมที่จะเริ่ม ถามให้มั่นใจ อะไรที่จำเป็นต้องทำ ทำยังไง
- อย่าเอาแต่เสนอปัญหา แต่ต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วย
- ทำสิ่งที่รับปากไว้ว่าจะทำ
- ทำให้ได้ผลลัพธ์ ทำสิ่งที่พูดไว้ให้เกิดขึ้น
จัดการหัวหน้าแบบ Energizer
เป็นหัวหน้าที่มีพลังเยอะ มองโลกในแง่ดี เป็นที่รักของคนทั่วไป เป็นคนที่ชอบเข้าสังคม เก่งในเรื่องโน้มน้าวใจคนอื่น เป็นคนที่กระตือรือร้น มีอารมณ์ขัน และชอบเสี่ยง
ขายไอเดียเก่ง มีความคิดสร้างสรรค์ คิดและทำอย่างรวดเร็ว หัวหน้าแบบ Energizer มักจะไม่ชอบงานเดิมๆ ซ้ำซาก มีความสุขเวลาที่ได้ทำงานใหม่ๆ เช่น วางแผนการในอนาคต คิดและตัดสินใจเร็ว แสดงออกทางอารมณ์เร็ว
หัวหน้าแบบ Energizer มักจะตัดสินใจตามสัญชาตญาณและความคิดเห็นส่วนตัว มักจะเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ แต่ไม่ชอบรายละเอียดหรือไม่สนใจจบงาน มักจะเป็นคนที่
- ไปเร็วและมีพลังเยอะ
- ใช้ใจนำ สนใจคนและความสัมพันธ์มากกว่างาน
- ชอบออกข้างนอก กระตือรือร้น ทำงานเป็นทีม
- ตัดสินใจเร็ว และเปลี่ยนไปทำเรื่องอื่นเร็ว
- โน้มน้าวใจคนเก่ง และกระตุ้นคนอื่น
- ไม่ชอบเวลาที่คนอื่นไม่สนใจหรือคนอื่นปฏิเสธ
- ชอบเป็นที่สนใจของคนทั่วไป
- ชอบมีเป้าหมาย ชอบความตื่นเต้นท้าทาย
- ชอบทำงานเป็นทีมมากกว่าทำงานคนเดียว
- มักจะใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจ
- คิดสร้างสรรค์ และสนใจงานใหม่ๆ พยายามคิดหาทางใหม่ๆ เสมอ
- ลงมือทำงานเร็ว พร้อมที่จะทำงานใหม่ๆ
- สนใจที่จะเริ่มงานใหม่มากกว่าทำงานเก่าให้เสร็จ
- ต้องการให้คนอื่นตื่นเต้นกับไอเดียของตัวเอง
ข้อดีของหัวหน้าแบบ Energizer คือมีพลัง มีแรงกระตุ้น มีความคิดสร้างสรรค์ โน้มน้าวใจคนอื่นๆ เก่ง มีความกระตือรือร้น
หัวหน้าแบบ Energizer มีพลังเยอะมากและต้องการใช้พลังงานเพื่อช่วยทีม ถ้าทีมไม่ก้าวหน้า ไม่เปลี่ยน หรือไม่ลองทำอะไรใหม่ๆ หัวหน้าแบบ Energizer ก็จะเบื่อ
หัวหน้าแบบ Energizer คือคนที่มุ่งมั่นและไปเร็ว ชอบที่จะทำงานให้เสร็จเร็วๆ โดยการกระตุ้นทีมและทำงานไปด้วยกัน ชอบที่จะพูดคุย ไม่สนใจกฏเกณ์แบบเดิมๆ หรือหน้าที่รับผิดชอบเดิมๆ ไม่สนใจระดับหน้าที่ในองค์กร เป็นคนเข้าถึงง่าย
หัวหน้าแบบ Energizer เบื่องานที่ต้องทำเป็นประจำมาก มักจะพยายามทำอะไรใหม่ๆ เสมอ สิ่งเดียวที่จะรู้ว่าไอเดียมันใช้ได้คือต้องลองทำ
หัวหน้าแบบ Energizer เชื่อว่าสองหัวดีกว่าหัวเดียว และถ้ามีห้าหัวยิ่งดีกว่ามาก เพราะไอเดียที่ดีเกิดจากความคิดของหลายๆ คน ชอบให้ทีมเสนอไอเดียใหม่ๆ
หัวหน้าแบบ Energizer มักจะเป็นมิตรกับคนอื่นและใส่ใจคนอื่น มักจะเปิดให้เข้าถึงง่าย ไม่ต้องกังวลว่าจะไปรบกวนเค้า ถ้าทำผิดพลาดก็ไม่เป็นไร ขอแค่ยอมรับผิดและช่วยแก้ไขปัญหาได้ก็พอ
หัวหน้าแบบ Energizer ใส่ใจในเรื่องคนจริงๆ และต้องการให้แต่ละคนเป็นตัวของตัวเองในที่ทำงาน ช่วยทีมให้ทำงานให้สำเร็จ สนใจอนาคตและกระตุ้นทีมให้เสนอไอเดียใหม่ๆ และช่วยกันแก้ไขปัญหา
สรุปสิ่งที่ควรทำเมื่อต้องทำงานกับหัวหน้าแบบ Energizer
- มองโลกในแง่ดีและช่วยหัวหน้าเสนอไอเดียใหม่ๆ เสมอ
- ช่วยทีมทำงานและอาสาช่วยงาน
- อัพเดทโปรเจคต์ใหม่ๆ ติดตามรายละเอียดก่อนวางแผน
- พูดคุยกับหัวหน้าเป็นประจำและทำความรู้จักเป็นการส่วนตัว
- ขอคำแนะนำเรื่องงาน ให้หัวหน้าช่วยจัดลำดับความสำคัญของงาน
จัดการหัวหน้าแบบ Evaluator
หัวหน้าแบบ Evaluator ให้ความสำคัญกับความถูกต้อง คุณภาพมาก่อนเสมอ มักจะเป็นคนที่มีระเบียบวินัย และต้องการข้อมูลครบถ้วนก่อนตัดสินใจหรือลงมือทำ
หัวหน้าแบบ Evaluator ชอบลดความเสี่ยงลงโดยการค้นหาทางเลือกต่างๆ ก่อนการตัดสินใจ ให้ความสำคัญกับความถูกต้อง ความแม่นยำ ระมัดระวัง สนใจข้อมูล เชื่อข้อมูล
เป็นคนที่ชอบทำตามขั้นตอน ทำตามข้อกำหนดขององค์กร ชอบทำตามสิ่งที่เคยทำมา ไม่รีบร้อนตัดสินใจ จริงจัง ทำงานหนัก มีความอดทน มักจะเป็นคนที่
- สนใจงาน ไม่รีบร้อนเกินไป ไม่ช้าเกินไป
- ใช้หัวนำ สนใจงานมากกว่าคน
- เจ้าความคิด คิดเยอะ ระมัดระวัง ใส่ใจข้อมูลและความถูกต้อง
- ชอบทำให้สมบูรณ์แบบ มีคุณภาพ และถูกต้องทุกอย่าง
- ระวัดระวังในการตัดสินใจ ลดความเสี่ยงลงโดยการพยายามหาข้อมูลเยอะๆ
- ชอบทำตามขั้นตอน
- ชอบคิดยอะ อยากทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้น
- มั่งคงและไม่ใช้อารมณ์
- ทำงานช้าแต่ถูกต้อง
- ให้ความสำคัญกับความถูกต้องแม่นยำ ความมั่นคงและทำนายได้
- เก่งในเรื่องแก้ไขปัญหา ไม่ชอบทำงานเป็นทีม ชอบทำงานคนเดียว
ข้อดีของหัวหน้าแบบ Evaluator คือคิดถี่ถ้วน ไม่ว่าใครก็ชอบที่จะทำให้ทุกอย่างถูกต้อง แต่ไม่มีใครต้องการมันมากเท่ากับ Evaluator
หัวหน้าแบบนี้ต้องการให้งานมีคุณภาพ ถึงแม้ต้องแลกมาด้วยความช้าหรือต้องมีหลายขั้นตอน
หัวหน้าแบบ Evaluator ต้องทำให้ทุกอย่างถูกต้อง ต้องพิสูจน์ได้ว่ามันถูกต้อง มักจะถามทุกเรื่อง สงสัยทุกอย่าง ถามอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้มั่นใจว่างานจะออกมาดี ถูกต้อง บางครั้งการมีหัวหน้าที่ไปช้าๆ ใช้เวลาตัดสินใจและค้นหาทางออก ทำให้ได้วิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมที่สุด แต่หลายครั้งหัวหน้าแบบนี้ก็อาจทำให้สับสน โดยเฉพาะสำหรับคนที่คิดเร็วทำเร็ว
หัวหน้าแบบ Evaluator สนใจงาน ไม่ได้สนใจคนมากนัก และใช้เวลาอยู่ที่ทำงานเพื่อทำงานให้เสร็จ และมักจะทำงานคนเดียว
หัวหน้าแบบ Evaluator ชอบที่จะทำงานให้เสร็จ มักจะทำงานช้าและระมัดระวังเพื่อให้งานเสร็จสมบูรณ์ ไม่ชอบเวลาทำผิด หากมีข้อผิดพลาดก็จะทนไม่ได้
หัวหน้าแบบ Evaluator ใช้ชีวิตอยู่กับข้อเท็จจริง ต้องใช้เวลาเพื่อคิด ค้นคว้า และวิเคราะห์ ก่อนที่จะลงมือทำสิ่งใหม่ๆ หรือเปลี่ยนทิศทางใหม่
หัวหน้าแบบ Evaluator มักจะสงสัยไอเดียที่ไม่ได้มีรายละเอียดครบ ไม่มีข้อมูลสนับสนุน หรือไม่มีข้อมูลอ้างอิง
เมื่อเกิดความขัดแย้งกัน หัวหน้าแบบ Evaluator มักจะสงบและใจเย็น ใช้ข้อมูล ไม่ใช้ความรู้สึกหรือสัญชาตญาณในการตัดสินใจ ดังนั้นมันจะดีหากเราสามารถนำเสนอข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
สรุปสิ่งที่ควรทำเมื่อต้องทำงานกับหัวหน้าแบบ Evaluator
- ทำการบ้านมาก่อน เพื่อให้ข้อมูลสำหรับหัวหน้ามากที่สุด
- ลดจำนวนงานให้น้อยลงเพื่อสนใจสิ่งที่สำคัญจริงๆ
- ให้เวลาหัวหน้าสำหรับตอบสนอง ให้เวลาคิดและตัดสินใจ
- หลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นให้น้อยลง
- หาข้อมูลเพื่อสนับสนุนไอเดียของเรา ต้องมีหลักฐาน
- แยกเรื่องงานออกจากคน ไม่เอามาปนกัน
จัดการหัวหน้าแบบ Harmonizer
หัวหน้าแบบ Harmonier คือคนที่สนใจคนอื่นๆ ใส่ใจเรื่องคน ความสัมพันธ์ ความมั่นคงและความสอดคล้องกัน เป็นคนที่สร้างบรรยากาศที่ดีในที่ทำงาน
บรรยากาศในที่ทำงานต้องมาก่อน และมันเป็นเรื่องสำคัญมาก หัวหน้าแบบ Harmonizer ต้องการให้ทุกคนทำงานได้ดีและประสบความสำเร็จ
หัวหน้าแบบ Harmonizer ให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนตัวของลูกน้อง ชอบช่วยเหลือคนอื่นๆ และเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่นๆ ใจดี ทำงานร่วมมือกับคนอื่นๆ ได้ดี ชอบช่วยหลือคนอื่นๆ ทีมมาก่อนตัวเอง ระวัดระวังในการตัดสินใจ สนใจคุณภาพ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบความสงบมั่นคง
คุณสมบัติอื่นๆ ของหัวหน้าแบบ Harmonizer เช่น
- ชอบสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ
- ใช้ใจนำ สนใจความเป็นอยู่ของคนอื่นๆ ในทีม
- เป็นมิตร เข้ากับคนอื่นๆ ได้ดี
- เปิดใจ ยอมรับไอเดียของคนอื่นๆ รับฟังไอเดีย ใส่ใจความต้องการของคนอื่นๆ
- ชอบทำงานเป็นทีม ไม่ชอบความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทีม
- ชอบฟังอย่างตั้งใจ ชอบแนะนำคนอื่นๆ
- ให้ความร่วมมือ เป็นมิตร พร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่นๆ
- ทำงานหนัก
- คิดและลงมือทำช้า ไม่ชอบความเสี่ยง
- สนใจเรื่องระดับพนักงาน ต้องการให้คนอื่นเคารพ ชอบให้คนอื่นยอมรับ
- ไม่ชอบบอกให้คนอื่นทำอะไร
ข้อดีของหัวหน้าแบบ Harmonizer คือเป็นมิตร ให้ความร่วมมือ เข้าใจและช่วยเหลือคนอื่นๆ เป็นคนที่ใจดี มีหัวหน้าใจดีก็เหมือนกับฝันที่เป็นจริง หัวหน้าที่ใส่ใจทีม สามารถทำให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้น ทำให้เกิดความร่วมมือกัน เมื่อทุกคนมีความสุขในที่ทำงาน งานก็จะออกมาดี
แต่ถ้ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นในที่ทำงาน ถ้าต้องการคิดใหม่ทำใหม่ หรือถ้าเราเป็นคนกระตือรือร้น ต้องการความสำเร็จ หัวหน้าแบบนี้ก็จะไม่เหมาะกับเรา
สิ่งที่ทำให้หัวหน้าแบบ Harmonizer เครียดได้คือ เมื่อมีความเสี่ยงสูง เมื่อมีการใช้อารมณ์หรือมีการแข่งขันที่รุนแรง หัวหน้าแบบ Harmonizer มักจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ที่ทำให้สถานการณ์แย่ลง
หัวหน้าแบบ Harmonizer จะมีความสุขถ้าทีมงานทำงานด้วยกันได้ดี ทุกคนร่วมมือกัน ทำส่วนของตัวเองให้สำเร็จ ก็จะทำให้ทีมสอดประสานกัน
ถ้าเรามีปัญหาในการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ หัวหน้าก็จะไม่ชอบ หากเกิดขึ้นบ่อย หัวหน้าอาจผิดหวังในตัวเรา และจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของหัวหน้าอีกต่อไป
หัวหน้าแบบนี้ทำงานได้ดีเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่สงบสุข แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่โกรธ เศร้า อาจทำให้เค้าเครียดได้
สรุปสิ่งที่ควรทำเมื่อต้องทำงานกับหัวหน้าแบบ Harmonizer
- ทำงานเป็นทีม ใส่ใจหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน
- ใจเย็นๆ อย่าเปลี่ยนเร็ว หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
- ช่วยสนับสนุนคนอื่นในการตัดสินใจ
- ไม่ให้หัวหน้าเห็นว่าเราเป็นคนใช้อารมณ์
- เสนอไอเดียที่ทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย ทำให้ทีมมีประสิทธิภาพ
หัวหน้าที่จัดการยาก
ถ้าองค์กรยังคงโปรโมทพนักงานที่มีความสามารถด้านเทคนิคขึ้นมาเป็นผู้บริหาร เราก็ยังมีโอกาสเจอหัวหน้าที่บริหารคนไม่เป็น ทำให้เรามองว่าแต่ละวันต้องเจอหัวหน้าที่รับมือยาก ทำงานด้วยยากต่อไป
การเรียนรู้ที่จะจัดการกับหัวหน้ายากๆ แบบนี้คือทักษะสำคัญ รู้จักจัดการหัวหน้า โดยการปรับกลยุทธ์ ปรับมุมมองใหม่
หัวหน้าที่ดีมักจะต้องมีคุณสมบัติต่างๆ เช่น ไว้ใจได้ สร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นพนักงาน เห็นใจคนอื่น มีส่วนร่วมกันทีม สนับสนุนลูกน้อง มีความรู้ สื่อสารเก่ง ยุติธรรม น่าเคารพ และกระตุ้นทีม คนแบบนี้มักจะทำให้บรรยากาศในที่ทำงานดีขึ้นและทำให้ทุกคนมีความสุข
ส่วนหัวหน้าที่แย่ๆ ก็อาจมีบุคลิกมีคุณสมบัติที่ดีและแย่ปนกัน เช่น หัวหน้าที่ใจดีแต่ชอบจูจี้ควบคุม หัวหน้าที่เชื่อใจได้แต่ไม่ทันคนอื่น หัวหน้าที่ชอบช่วยเหลือเราแต่ก็ชอบทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่เสมอ หัวหน้าที่ชอบกระตุ้นเราแต่ในขณะเดียวกันก็ชอบบงการ หัวหน้าที่มีส่วนร่วมกับงานแต่ก็ทำผิดบ่อยๆ หัวหน้าที่ความรู้เยอะแต่สื่อสารไม่เป็น
การรับมือ จัดการกับหัวหน้ายากๆ แบบนี้จึงต้องอาศัยความเข้าใจ ต้องรู้จักบุคลิก คาดเดาพฤติกรรม แล้วค่อยปรับตัวเราให้เข้ากับสไตล์ของหัวหน้า
ไม่มีใครที่เป็นแบบเดียวเสมอไป หัวหน้าก็เป็นคนคนนึงเหมือนกับเรา เพียงแค่ว่าหัวหน้ามักจะแสดงบุคลิกและมีพฤติกรรมที่ใช้บ่อยๆ หรือมีบางอย่างที่ไม่เคยใช้เลย พฤติกรรมบางอย่างถ้าหากแสดงออกหรือใช้พอสมควร ก็จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี
ถ้าหัวหน้าที่ให้อิสระลูกน้องมากเกินไป ปล่อยปละละเลยน้องๆ ก็จะมองว่าไม่มีส่วนร่วมกับทีม แต่ถ้าเข้าควบคุมมากเกินไป ก็จะกลายเป็นคนจู้จี้จุกจิก เป็นประเภทไมโครแมเนจไป
ในหนังสือ Managing Up: How to Move up, Win at Work, and Succeed with Any Type of Boss ได้รวบรวมหัวหน้าที่รับมือยากที่เราอาจต้องเจอในแต่ละวัน เจ้านายสุดโหดทั้ง 10 แบบ ถ้าใครสนใจก็ต้องไปอ่านต่อเอง เช่น
- หัวหน้าไมโครแมเนจ
- หัวหน้าหายหัว
- หัวหน้ามุทะลุ
- หัวหน้านาซี
- หัวหน้าบ้างาน
- หัวหน้าไม่เป็นงาน
- หัวหน้าเผด็จการ