
เรียนรู้และเข้าใจสมองให้มากขึ้น รู้ว่าหน้าที่ของสมองคืออะไร รู้ว่าสมองที่เราได้รับมามันเปลี่ยนแปลงและทำให้เราฉลาดมากขึ้นได้ ลบล้างความเชื่อเดิมๆ แล้วเราจะใช้ความสามารถของสมองได้เต็มศักยภาพ
เราแต่ละคนเรียนรู้ คิดและทำ แตกต่างกัน แต่ละคนถึงประมวลผลข้อมูลและตัดสินใจแตกต่างกัน แล้วเราทุกคนก็มีความฉลาดในแบบของตัวเอง
ต่อเนื่องจากบทความ ศักยภาพ หาโอกาส พัฒนาตนเอง สร้างความสัมพันธ์ และรู้จักยอมรับความเสี่ยง เราเขียนบทความนี้สำหรับคนที่ต้องการค้นหาความสามารถของตัวเอง ค้นหาความถนัดของตัวเอง หรือคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานหรือนักเรียน เราหวังว่ามันจะช่วยให้คนอ่านมีใจรักในงานของตัวเอง ช่วยให้มีความมุ่งมั่นและตั้งใจทำงาน สำหรับคนที่หาไม่เจอก็อย่าท้อแท้ เหตุผลของการมีชีวิตของเราอาจจะเป็นการค้นหาความสามารถก็ได้
หน้าที่ของสมอง
Daniel Wolpert นักประสาทวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนไหว พูดไว้ใน TED Talks: The real reason for brains ว่าในชีวิตนี้ มีคำถามสำคัญอย่างหนึ่งที่เราควรถามตัวเอง ก่อนที่เราจะเรียนรู้และเข้าใจการทำงานของสมอง ถามว่าทำไมสัตว์บางชนิดถึงมีสมอง ทำไมมนุษย์เราถึงวิวัฒนาการสมองขึ้นมา
เค้าเชื่อว่าหน้าที่สำคัญของสมอง คือควบคุมการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อน เช่น การสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็น การพูด การเขียน การใช้ภาษามือ ล้วนต้องใช้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทั้งสิ้น ระบบประสาทสัมผัส การจดจำ การคิด ต่างมีความสำคัญ ก็ต่อเมื่อมันใช้เป็นแรงขับดันให้เกิดการเคลื่อนที่ หรือหยุดการเคลื่อนที่
เพรียงหัวหอมเป็นสัตว์ทะเล มีช่วงชีวิตที่สามารถว่ายน้ำได้เพื่อหาที่อยู่ หลังจากมันเจอที่เหมาะสม มันจะฝังตัวเองลงบนหินและอยู่ตรงนั้นตลอดไป สิ่งแรกที่มันทำหลังจากฝังตัวคือ กินสมองของตัวเอง สมองที่หมดความสำคัญ เพราะมันไม่ต้องเคลื่อนที่ไปไหนอีกแล้ว
ถ้าเราหยุดนิ่ง เราก็ไม่จำเป็นต้องมีสมอง
สอดคล้องกับความคิดที่ว่า มนุษย์เราถูกสร้างมาเพื่อวิ่ง บรรพบุรุษเรามีสมองที่ใหญ่เอาไว้วิ่งหนีผู้ล่า วิ่งไล่ฆ่าเหยื่อ น่าเสียดายที่ชีวิตในปัจจุบันเราไม่ได้ใช้สมองหรือร่างกายทำในสิ่งที่ถนัดที่สุด
สมองที่เราได้รับมา
สมองของเราแต่ละคนได้รับมาและเติบโตไม่เหมือนกัน ก็คงเหมือนกับลายนิ้วมือของเราที่แตกต่างกัน ความแตกต่างของสมองทำให้เราแต่ละคนคิดและประมวลผลข้อมูลแตกต่างกันออกไป ทำให้เราแสดงออกแตกต่างกัน บางคนถนัดใช้อารมณ์ บางคนถนัดใช้เหตุผล มันทำให้สมองเราพัฒนาและเปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน มีผลต่อการคิด การเรียนรู้ และความสามารถด้านภาษา
นอกจากนั้น เราแต่ละคนยังมี หูและตา ที่แตกต่างกัน ทำให้มีผลต่อการประมวลผลข้อมูลในขณะที่เราเรียนรู้ การมองเห็น การได้ยิน และการลงมือทำ มีผลต่อการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
ความแตกต่างของสมองที่เราได้รับมา ทำให้เราเรียนรู้ คิดและทำแตกต่างกัน ทุกคนมีความฉลาดในแบบของตัวเอง Einstein ฉลาดด้านวิทยาศาสตร์ Mozart ฉลาดด้านดนตรี Mandela ฉลาดด้านการสื่อสาร คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าเราฉลาดหรือไม่ แต่ต้องถามว่า เราฉลาดด้านไหน
ถ้าเราเข้าใจปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสมองของเรา เราก็จะค้นหาความสามารถของเราได้ง่ายขึ้น ค้นพบความฉลาดในแบบของเรา ศักยภาพของเรา เราจะใช้สมองได้เต็มศักยภาพเมื่อเราเรียนรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับศักยภาพของเรา
ถ้าเราเรียนรู้ความสามารถ ทักษะที่เราสามารถทำได้โดยธรรมชาติ เราก็จะทำได้ดี และทำให้เรารักสิ่งนั้น ทำให้เราใส่ใจ แต่ถ้าเราไม่เคยได้ใช้ความสามารถที่เหมาะกับศักยภาพของเรา เราก็จะไม่มีใจรักในงานที่ทำ ทำให้เราไม่ตั้งใจ ไม่ใส่ใจในงานที่ทำ
- ศักยภาพ แต่ไม่มีทักษะอะไรเลย ก็เท่ากับว่างเปล่า ความเป็นไปได้ที่ไปไม่ถึง ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
- ศักยภาพ และความสามารถทั่วไป ทำให้เราเป็นคนมีความสามารถ ทำงานได้ตามปกติ
- ศักยภาพ และความสามารถพิเศษ ถ้าเราเรียนรู้ทักษะที่เกี่ยวข้อง ที่มันตรงกับศักยภาพของเรา มันจะทำให้เราทำงานได้ดีเยี่ยม
ดังนั้นเส้นทางสู่ความเชี่ยวชาญจึงเริ่มต้นจากการเข้าใจศักยภาพของเรา สมองที่เราได้รับมา จากนั้นจึงพัฒนาความสามารถ เรียนรู้ทักษะที่จำเป็น ที่มันเกี่ยวข้องและเหมาะกับศักยภาพของเรา
อารมณ์และความคิด
เราสามารถแยกอารมณ์ออกจากความคิดได้ โดยมองว่าอารมณ์คือผลลัพธ์ คือการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนความคิดเป็นเหมือนข้อมูลที่มันเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม เปลี่ยนไปตามมุมมองความเชื่อ ความลำเอียงหรือคุณค่าของเรา เปลี่ยนไปตามความคิดหรือความรู้สึกของเราในขณะนั้น
ความรู้สึกหรืออารมณ์คือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกถึงการมีชีวิต บางคนอาจจะไม่ได้ควบคุมหรือจัดการอารมณ์ให้ดี ปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล หรือไม่ปล่อยให้มีช่องว่างระหว่าง การกระตุ้นและการตอบสนอง ไม่ได้คิดก่อนทำ
ความเป็นผู้ใหญ่คือการที่เรารู้จักคิดก่อนทำ สิ่งสำคัญคือ มันเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงระหว่าง การกระตุ้นและการตอบสนอง
สมองส่วนที่ประมวลผลด้านอารมณ์จะทำงานได้เร็วกว่าการประมาลผลด้านเหตุผล มันทำให้เรารู้ในทันทีว่า คนนี้เราเชื่อใจได้หรือเปล่า คนนี้เป็นมิตรหรือศัตรู ทำให้เราตัดสินใจได้เร็ว ทำให้เราเอาตัวรอด หรือประสบความสำเร็จได้
ในปัจจุบันเรามองว่า การใช้เหตุผล คือสิ่งที่ดี ส่วนการใช้อารมณ์ กลายเป็นคำที่ออกไปทางแง่ลบ อารมณ์ทำให้เราตัดสินใจได้เร็วกว่าการใช้เหตุผล แต่เราก็ควรใช้อารมณ์ในเวลาที่เหมาะสม ถ้าเป้าหมายของเราคือการลดน้ำหนัก แต่เราดันใช้อารมณ์ในการตัดสินใจว่าจะกินหรือไม่กินเค้ก อารมณ์มันจะทำให้เรานึกถึงความหวานหอมของเค้ก มันจะทำให้บดบังการใช้เหตุผล ทำให้ลืมเป้าหมายของเรา
ตอนที่เรามีเวลาคิด เราก็ควรคิด ไม่ควรใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ แต่เมื่อไหร่ที่ปัญหามันยาก ซับซ้อน ไม่สามารถใช้เหตุผลในการตัดสินใจได้ เราจึงควรใช้อารมณ์หรือสัญชาตญาณเข้าช่วย
แรงขับดันในการพัฒนาสมอง
เราทุกคนต่างก็มีศักยภาพ มีสมองที่เราได้รับมาและปรับเปลี่ยนแตกต่างกันไป การรู้จักศักยภาพของเราและแรงขับดันที่จะทำให้เราใช้สมองได้เต็มที่ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราทำงานได้ดี ทำให้เราประสบความสำเร็จ ทำให้เราได้ในสิ่งที่เราต้องการ
แต่มันแย่ตรงที่เราเกิดมาในสังคมที่ชอบแบ่งประเภท ขาวหรือดำ 0 หรือ 1 ซ้ายหรือขวา ทำให้เราคิดว่าเราเป็นได้แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เราคิดว่าเราเป็นคนถนัดใช้สมองซีกซ้าย หรือซีกขวา เราถนัดการแสดงออก หรือถนัดในการตอบสนอง ถนัดในเรื่องของการใช้เหตุผลหรืออารมณ์ สิ่งนี้มันจำกัดมุมมองของเรา มันทำให้เราไม่ได้ใช้สมองเต็มที่ทั้งหมด
เราควรมองว่าเราใช้สมองเต็มทั้งสองซีก และใช้งานสมองได้เต็มที่ เราทำอะไรก็ได้ที่เราอยากทำ มุมมองที่เราควรเปลี่ยน คือการมองว่าเราเป็นได้ทั้งสองแบบ เราใช้สมองทั้งสองซีก เป็นได้ทั้งรับและรุก ทำได้ทั้งใช้เหตุผลและอารมณ์ ถึงแม้เราอาจจะถนัดใช้อารมณ์หรือเหตุผลมากกว่า แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ใช้อีกด้านเลย เพราะอีกด้านหนึ่งเราก็ใช้งานได้ดีเช่นกัน เมื่อเราคิดถึงสมองที่ทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำงานพร้อมๆ กัน นั่นแหล่ะที่มันจะทำให้เราใช้สมองได้เต็มที่ เต็มศักยภาพ
แรงขับดันที่มันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของสมองได้แก่ การบริหารสมอง การนอน ความเครียดก็มีผล ทัศนคติ การเคลื่อนไหว ทักษะการคิด และสภาพแวดล้อม แรงขับดันจะทำให้เราใช้งานสมองได้เต็มที่ มันเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องเข้าใจแรงขับ ที่มันมีผลต่อสมอง และเรียนรู้ทักษะที่เหมาะสม และทำให้เราใช้สมองได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
ทัศนคติแบบเติบโต หรือ Growth Mindset การคิดว่าเราสามารถพัฒนาตนเองได้เรื่อยๆ ควรจะเป็นจุดเริ่มต้นของเรา
การเดินนอกจากจะส่งผลดีต่อร่างกายแล้ว ยังดีต่อความคิดอีกด้วย การเดินส่งผลทำให้เราคิดสร้างสรรค์ ทำให้คิดได้ดีขึ้น
ครอบครัว โดยเฉพาะคุณแม่ น่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้หลายๆ คนพัฒนาตนเองได้ดี
การบริหารสมองที่ดีคือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สมองเราจะเอาความรู้ใหม่มารวมเข้ากับความรู้เดิม เกิดเป็นองค์ความรู้ยากที่จะลืม เพราะมันมีช่องทางให้เราเข้าถึงความรู้ได้หลากหลาย
ความเครียดในระดับที่พอดี ความท้าทายที่เรารู้ว่าเรามีทางทำได้ มันเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เราได้อย่างดี แต่ความเครียดที่มีมากเกินไป ความท้าทายที่เกินกำลังและเราไม่รู้จักเข้าหาคนอื่นเพื่อขอความช่วยเหลือ ความเครียดในระดับนั้นมันจะทำให้เราใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล
การนอนหลับอย่างเพียงพอก็มีส่วนช่วยให้เราคิดได้ดี ทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยการนอนหลับ ถ้าคนที่ไม่ได้นอน หรือนอนไม่พอ ก็จะทำให้เค้าใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมากกว่าเหตุผล
ลบล้างความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับสมอง
หลายคนคงเคยเห็นคำแนะนำ “วิธีฝึกสมองซีกซ้าย สมองซีกขวา” หรือ “วัดการทำงานของสมอง คุณถนัดใช้สมองซีกไหนมากกว่ากัน” หรือบางคนคงเคยเล่นเกม “ฝึกสมองซีกซ้าย สมองซีกขวา” แนวคิดของคำแนะนำหรือเกมเหล่านี้ มันอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจที่ว่า
- สมองซีกขวา คือ ส่วนของการสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ ดนตรี เพลง การใช้จินตนาการ การเป็นคนเจ้าอารมณ์ อารมณ์ศิลปิน
- สมองซีกซ้าย คือ ส่วนของการตัดสิน การเคลื่อนไหว การใช้เหตุผล ตัวเลขและการคำนวณ วิทยาศาสตร์ การใช้ภาษา การเขียน การอ่าน การเป็นคนเย็นชา ไม่ค่อยแสดงความรู้สึกออกมา
น่าเสียดายที่ความคิดแบบนั้นมันไม่ถูกต้อง
จากการศึกษาของนักประสาทวิทยา ที่ University of Utah เค้าสแกนสมองของคนทั้งหมด 1011 คน อายุตั้งแต่ 7 ถึง 29 ปี ในขณะที่นอนนิ่งๆ หรืออ่านหนังสือ เค้าสแกนสมองในแต่ละพิ้นที่ทั้งหมด 7000 ส่วน แต่ก็ไม่พบหลักฐานว่าสมองซีกซ้ายหรือซีกขวาจะมีกิจกรรมเกิดขึ้นมากกว่ากัน และอีกงานวิจัยที่พบว่า สมองซีกซ้ายก็มีการทำงานในขณะที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์เช่นกัน
สำหรับกิจกรรมที่ต้องใช้ทักษะการคำนวณ งานวิจัยนี้ก็ทำให้เรารู้ว่า สมองไม่ได้แยกทำงานทีละซีก แต่ทำงานเป็นหนึ่งเดียวร่วมกัน ทักษะทางด้านคณิตศาสตร์จะเพิ่มมากขึ้น เมื่อสมองทั้งสองซีกทำงานร่วมกัน เด็กที่เก่งคณิตศาสตร์ไม่ใช่เพราะเกิดมาพร้อมกับฟังก์ชันคำนวณในสมอง แต่เกิดจากการที่สมองซีกขวามีส่วนช่วยเหลือในด้านจินตนาการและการกะระยะห่าง
ความเชื่อแบบเดิมๆ มันอาจจะไม่ได้เลวร้ายมากนัก ถ้าเรามองว่าตัวเราสามารถพัฒนาขึ้นได้อีก เช่น คนถนัดใช้สมองซีกซ้ายพยายามพัฒนาทักษะของสมองซีกขวา แต่มันจะเกิดผลเสียถ้าหากว่าเราทำแบบทดสอบแล้วค้นพบว่าเราเป็นคนใช้สมองซีกขวา แล้วมันทำให้เราทิ้งคณิตศาสตร์ หรือไม่สนใจเรียนวิทยาศาตร์เพียงเพราะว่า ตัวเองเป็นคนคิดสร้างสรรค์และเปลี่ยนไปเรียนศิลปะแทน
IQ, Knowledge และ Perspective
IQ คือความฉลาด ระดับสติปัญญา Knowledge คือความรู้ สิ่งที่เราหรือคนอื่นๆ รู้ ส่วน Perspective หรือ Point of view คือมุมมอง มองในภาพรวม มองลึกลงไป
หลายคนอาจจะสนใจที่ IQ มากกว่า ขอฉลาดไว้ก่อน ถ้ามี IQ แต่ไม่มีความรู้ ถ้ามีศักยภาพแต่ขาดทักษะ เราก็พลาดโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้
อย่างที่ Alan Kay พูดเอาไว้ว่า ความรู้ ชนะ ความฉลาด Henry Ford ประสบความสำเร็จมากกว่า Leonardo da Vinci ไม่ใช่เพราะฉลาดกว่า แต่เป็นเพราะความรู้ที่สะสม ความรู้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ที่ Leonardo ได้แต่ฝันถึง
ถ้าเรามี IQ เป็น 2 เท่าของ Leonardo แต่เราอาศัยอยู่ในช่วงเวลา 10000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช เราคิดว่าจะประสบความสำเร็จ เราจะไปได้ไกลแค่ไหน
A change in perspective is worth 80 IQ points. Perspective is worth 80 IQ points. Point of view is worth 80 IQ points.—Alan Kay
และสิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือ Perspective มุมมองที่ช่วยให้เราคิด เช่นเดียวกับที่ Isaac Newton ทำไว้ เค้าเปลี่ยนความคิดของคนในยุคนั้น เปลี่ยนมุมมอง ยกระดับความคิดที่มีในตอนนั้น ทำให้คนมองโลกในแบบใหม่ ทำให้วิทยาการก้าวกระโดดไปไกล
If I have seen further it is by standing on the shoulders of Giants.—Isaac Newton
News คือข่าว เรื่องราวที่เกิดขึ้น สิ่งที่เราคุ้นเคยในตอนนั้น ส่วน New คือสิ่งใหม่ สิ่งที่เราไม่รู้ สิ่งที่เรามองไม่เห็น คือการเรียนรู้ และการเปลี่ยนแปลง
สิ่งที่เรามองไม่เห็น
คนเราต่างก็มี จุดบอดในตา และสมองของเราก็ทำหน้าที่เติมสิ่งที่ขาดหายไป เราจะไม่เห็นมัน จนกว่าเราจะยอมรับว่า เรามองไม่เห็น และสิ่งที่เรามองเห็น ลึกๆ ภายในมันก็ยังมีหลายสิ่งแอบซ่อนอยู่
ไอน์สไตน์ในตอนเด็กๆ เคยได้รับเข็มทิศจากพ่อ มันเป็นอุปกรณ์ที่จุดประกายความคิด จินตนาการและความอัจฉริยะ พยายามเปลี่ยนให้เข็มชี้ไปทางอื่น สุดท้ายมันก็จะชี้ไปทางทิศเหนือ มันทำให้ไอน์สไตน์เข้าใจว่า มันมีแรงบางอย่างซ่อนอยู่ที่ผลักดันทำให้เข็มชี้ไปทางทิศเหนือ มันมีอะไรมากกว่าสิ่งที่ตาเราเห็น
ความสำเร็จของไอน์สไตน์ไม่ได้เกิดจากพรสววรรค์ ของขวัญที่ติดตัวมาแต่เกิด แต่เพราะเป็นคนช่างคิดช่างสงสัย ไม่ใช่เพราะความฉลาด แต่เป็นเพราะ อดทนและพยายามมากกว่าใครๆ
พรสวรรค์
งานวิจับพบว่าสมองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ Neural Pathway สามารถสร้างใหม่ได้ และ IQ ก็ไม่ได้ถูกจำกัดตายตัว ในชั้นประถมเราอาจจะเรียนเก่ง เรียนรู้เร็วกว่าเพื่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าจบมัธยมเราจะยังเป็นที่หนึ่งเสมอไป
ศาตราจารย์ Deborah Eyre ผู้เขียนหนังสือ Great Minds and How to Grow Them นำเสนองานวิจัยทางประสาทวิทยาและจิตวิทยา เค้าแนะนำว่า คนทั่วไปสามารถพัฒนาตนเองได้ถึงระดับเดียวกับคนที่มีพรสวรรค์ แต่ต้องเรียนรู้ทัศนคติที่ถูกต้อง และเรียนรู้ด้วยแนวทางที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความสามารถให้ดีที่สุด จะต้องมีความอยากรู้อยากเห็น มีความพยายาม ไม่ท้อแท้ และจะต้องได้รับการสนับสนุนทั้งจากที่บ้านและโรงเรียน
ศาตราจารย์ Anders Ericsson ผู้เขียนหนังสือ Peak: Secrets from the New Science of Expertise ได้วิจัยย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1980 คนที่ประสบความสำเร็จหลากหลายอาชีพ ทั้งทางด้านดนตรี กีฬา ความสามารถในการจำ เค้าไม่คิดว่าพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษอันใดที่จะเป็นองค์ประกอบหลักที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ เห็นจะมีแต่การตั้งใจฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง นับหมื่นชั่วโมงเท่านั้นแหล่ะ ที่จะทำให้เรากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ แม้กระทั่งคนธรรมดาที่ฝึกฝนเรื่องความจำ สุดท้ายแล้วก็สามารถเอาชนะคนที่มีพรสวรรค์เรื่องความจำได้
It’s not that I’m so smart, it’s just that I stay with problems longer. Most people say that it is the intellect which makes a great scientist. They are wrong: it is character.—Albert Einstein
เราฉลาดขึ้น ในตอนที่เราทำผิดพลาด
Whether you think you can or think you can’t — you’re right.—Henry Ford
ทัศนคติมีผลทำให้สมองของคนแต่ละกลุ่มตอบสนองต่อความผิดพลาดแตกต่างกัน กลุ่มคนที่คิดว่าตัวเองสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ กับกลุ่มคนที่คิดว่าความฉลาดเป็นสิ่งที่ตายตัว
เมื่อเราทำผิดพลาด มันจะมี Synapse ถูกส่งออกไป Synapse คือสัญญาณไฟฟ้าเคลื่อนที่ในส่วนของสมองที่เกิดการเรียนรู้ นักวิจัยพบว่ามีสัญญาณตอบสนองเกิดขึ้น 2 แบบคือ
- การตอบสนอง ERN หรือ Ne คือสัญญาณไฟฟ้าที่เกิดขึ้นเมื่อสมองเราเกิดความขัดแย้งระหว่างความถูกต้องและความผิดพลาด และสัญญาณมันจะเกิดขึ้นไม่ว่าคนๆ นั้นจะรู้ตัวว่าทำผิดพลาดหรือไม่ก็ตาม
- การตอบสนอง Pe คือสัญญาณไฟฟ้าที่เกิดขึ้นเมื่อเราสนใจในความผิดพลาด มันจะเกิดขึ้นเมื่อเรารู้ตัวว่าเราทำผิดพลาดและพยายามแก้ไขมัน
คนที่คิดว่าความฉลาดเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ มักจะคิดว่า ถ้าเจอปัญหา ก็จะพยายามให้มากขึ้น หรือ ถ้าทำผิดพลาด ก็จะเรียนรู้และแก้ไข ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่คิดว่าตัวเองจะฉลาดมากขึ้นได้ ที่มักจะไม่ใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้ ทำให้เกิดปัญหาในโรงเรียนได้ ถ้านักเรียนคิดว่าความฉลาดเป็นสิ่งที่ตายตัว เค้าก็จะคิดว่ามันเป็นการเสียเวลาเปล่า หลังจากที่สอบไม่ผ่าน ก็จะไม่พยายามอีกต่อไป
เมื่อเราทำผิดพลาด เมื่อเราเจอปัญหา สมองเราจะเติบโตขึ้น ทำให้เราฉลาดมากขึ้น ดังนั้นเราควรจะรู้สึกดี คนที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่เพราะเกิดมามีสมองที่ดีกว่า แต่เป็นเพราะคนนั้นเค้าพยายามต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะเจอปัญหา
I’ve missed more than 9000 shots in my career. I’ve lost almost 300 games. 26 times, I’ve been trusted to take the game winning shot and missed. I’ve failed over and over and over again in my life. And that is why I succeed. —Michael Jordan
และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ความเร็วไม่ใช่สิ่งสำคัญ มันอยู่ที่การใช้เวลาทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง คณิตศาสตร์ไม่ใช่แค่การคำนวณ ไม่ใช่แค่การจำ แต่ยังมีรูปแบบ การมองในหลายๆ แบบ มองหาความสัมพันธ์
I was, and still am, rather slow. I need time to seize things because I always need to understand them fully. —Laurent Schwartz
จำไว้ว่าคะแนนสอบหรือเกรดมันไม่มีผลอะไรกับเรา เราอยากทำอะไรก็ได้ตามที่เราต้องการ เราสามารถฉลาดมากขึ้นได้เรื่อยๆ เมื่อเจอปัญหา เมื่อทำผิดพลาด นั่นแหล่ะคือตอนที่เราฉลาดขึ้น ไม่ต้องรีบ ไปช้าๆ ทำความเข้าใจ มองในหลายรูปแบบ ไม่ต้องตามหรือเปรียบเทียบกับคนอื่น
สรุป
สมองของเรามีศักยภาพที่จะช่วยให้เราทำอะไรก็ได้ในชีวิต ศักยภาพที่ไร้ขีดจำกัดที่เราจะเรียนรู้ คิด และสร้างสรรค์ ทำให้บางคนแทบจะไม่มีขีดจำกัดที่จะทำงาน หรือทำผลงานสร้างสรรค์ออกมา
แต่บางคนก็ดูเหมือนว่าจะมีขีดจำกัด เพราะเค้าขาดแรงขับดันที่จะพัฒนาความสามารถ แรงขับดันที่จะพัฒนาตนเองและใช้สมองให้เต็มที่ เราควรจะมองสมองทั้งสองซีกเป็นหนึ่งเดียวกันและใช้มันให้เต็มที่ มองว่าสมองเป็นระบบที่เราสามารถคิดและรู้สึกไปพร้อมๆ กันได้
References
Exploring the neural correlates of visual creativity
Why Do People Have Blind Spots?
Mind your errors: Evidence for a neural mechanism linking growth mindset to adaptive post-error adjustments. Psychological Science, 2011
17 Comments