
หนังสือ Brain rules มีแปลเป็นภาษาไทยใช้ชื่อว่า 12 กฎทองของคนใช้สมองเป็น : Brain Rules หาซื้อได้ตามร้านซีเอ็ด หรือ ร้านนายอินทร์
สิ่งที่เราจะได้เรียนรู้ในบทความนี้
- เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองจะช่วยให้เราใช้คอมพิวเตอร์ในหัวเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เรียนรู้ได้ดีขึ้นและฉลาดขึ้น
- สมองเป็นอวัยวะที่ซับซ้อนและสุดยอด นักวิจัยใช้เครื่องสแกนสมองและมีวิธีที่จะช่วยให้เข้าใจการทำงานของสมอง
- เข้าใจโครงสร้างและการทำงานของสมอง เพื่อให้เราสามารถเปลี่ยนวิธีคิดและช่วยให้คิดได้ดียิ่งขึ้น
- สมองเราวิวัฒนาการมาจากการที่บรรพบุรุษเราออกกำลัง เดิน วิ่ง ค้นหาอาหาร
- สมองเรายังเข้าใจว่าเราต้องต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดจากสัตว์นักล่า ยังโหยหาการออกกำลังกาย
- การจะจำข้อมูลได้นานขึ้น เราต้องหมั่นทบทวน และทบทวนความจำและเว้นระยะห่าง ทำให้สมองเราเข้าใจว่าที่เราต้องทบทวนเพราะข้อมูลมีความสำคัญ มีความหมาย
- อย่ายึดติดกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว ยังมีสิ่งที่เรายังไม่รู้อีกเยอะ เรายังสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้อีกเยอะ
- หัดใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วน โดยเฉพาะการมองเห็น การใช้รูปภาพประกอบการเรียนรู้ จะทำให้เข้าใจง่ายและจำได้ดีขึ้น
- การออกกำลังกายจะช่วยให้สมองเราทำงานได้ดีทำให้มีความสุขมากขึ้น การนอนหลับก็สำคัญเช่นกัน เพราะจะช่วยให้เราจำข้อมูลได้ดีขึ้น
- เราจะทำยังไงให้สมองเราทำงานได้ดีขึ้น บางคนอาจจะเคยลองหลายวิธีแล้ว เช่น ฟังเพลง หรือเขียนบันทึกประจำวัน
- อารมณ์มีผลต่อการเรียนรู้และจดจำข้อมูล เราจะจำเหตุการณ์ที่มันกระทบกับอารมณ์ได้ดี
สมองกับวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอด
ร่างกายมนุษย์อ่อนแอ ไม่มีอาวุธติดตัว ไม่มีเครื่องป้องกัน จะไป 1-1 กับใครก็ไม่ได้ ไม่มีทางเอาชนะสัตว์นักล่าอื่นๆ ได้เลย แต่มนุษย์มีสมองที่ฉลาดและช่วยให้เอาตัวรอดได้ โดยการรุม อาศัยการทำงานร่วมกันเป็นทีม ออกล่าอาหาร อาศัยความอึดที่จะวิ่งไล่ล่าเหยื่อได้เป็นระยะเวลานานๆ
นอกจากจะเอาตัวรอดได้แล้ว มนุษย์ยังผงาดขึ้นเป็นผู้ครอบครองโลก ยิ่งใหญ่เหนือกว่าสัตว์สปีชีส์อื่นๆ สมองมนุษย์ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ Reptilian brain , Limbic brain และ Neocortex สำหรับการใช้เหตุผล สมองส่วนที่ต้องเอาตัวรอดก็ยังทำงานอยู่เสมอ
มนุษย์มีความสามารถในการปรับตัวสูง ทำให้เอาตัวรอดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ออกหาอาหารและสะสม มนุษย์พัฒนาความสามารถด้านการอ่านสีหน้าและเข้าใจเจตนาของคนอื่น พัฒนาการสื่อสาร การเจรจาต่อรอง
ความจำในสมองก็เปรียบเหมือนฐานข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ และเราก็ใช้ซอฟต์แวร์จิตใจเพื่อนำความรู้นั้นมาแก้ปัญหา เราจะทำงานได้ดีในตอนที่เราได้รับแรงกระตุ้น ในตอนที่เรากล้าที่จะทำ
สมองกับการออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจทำงานได้ดี เหมือนกับ Jack La Lanne ในวันเกิดปีที่ 70 ได้ว่ายน้ำข้าม Long Beach, California
การเดินแค่วันละครึ่งชั่วโมง อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ก็เพียงพอที่จะทำให้เราคิดและเรียนรู้ได้ดี และยังช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้อีกด้วย
เด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้นก็จะได้รับประโยชน์จากการออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะทำให้เลือดและออกซิเจนไหลเวียนได้ดีขึ้น ช่วยให้สมองมีสุขภาพดี ช่วยกำจัดของเสียที่อยู่ในร่างกาย สมองที่หนักเพียง 2% ของร่างกาย แต่ต้องการพลังงานมากถึง 20% สมองต้องการพลังงานจากอาหาร น้ำ และต้องการออกซิเจน ออกกำลังกายจะช่วยให้จิตใจทำงานได้ดี มีสุขภาพจิตที่ดี
การออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นร่างกายให้เสริมสร้าง ซ่อมแซมตัวเอง สร้างฮอร์โมนส์และช่วยให้สมองทำงานได้ดี
การออกกำลังกายจะช่วยทำให้ร่างกายได้ใช้พลังงานจากอาหารที่เรากินเข้าไป เมื่อเราออกกำลังกายร่างกายจะเพิ่มการหมุนเวียนเลือด การไหลเวียนเลือดที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้ร่างกายสร้างเส้นเลือดมากขึ้น ทำให้การส่งเลือดทำได้ง่ายขึ้น ให้นำส่งไวตามินแร่ธาตุและการกำจัดของเสีย
การออกกำลังกายยังช่วยทำให้เนื้อเยื่อในร่างกาย มีสุขภาพดีขึ้นด้วย โดยการกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนส์ เช่น Brain-derived neurotrophic factor (BDNF) ซึ่งเป็นหนึ่งใน Growth hormones (GH)
BDNF ช่วยทำให้เซลล์ประสาททำงานได้ดี ช่วยสร้างเซลล์ประสาทใหม่ๆ และเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างกัน ดังนั้น ยิ่งเราออกกำลังกาย เราก็จะยิ่งมีสุขภาพสมองที่แข็งแรง
สำหรับคนต้องนั่งทำงานในออฟฟิสเป็นเวลานานๆ ถ้าได้ลุกออกจากที่นั่งบ้าง ขยับตัว ออกกำลังกาย ก็จะฉลาดขึ้น มีสุขภาพที่ดี และทำงานได้ดีขึ้น
สมองกับระบบประสาท
มนุษย์มีสมอง 3 ส่วนที่ทำงานแตกต่างกัน มีทั้งส่วนที่อยู่กับเรามาแต่แรกเริ่ม ส่วนที่วิวัฒนาการเพิ่มมาทีหลัง และส่วนที่ทำให้เรากลายเป็นมนุษย์สมัยใหม่
Reptilian brain คือส่วนแรก ส่วนที่เก่าแก่ที่สุดและอยู่ข้างในสุด ทำงานโดยอาศัยสัญชาตญาณและการเอาตัวรอด สมองต้องใช้พลังงานเยอะมาก หากเปรียบเทียบกับน้ำหนักตัวแล้ว สมองมนุษย์หนักเพียง 2% แต่ใช้พลังงานมากถึง 20% ของร่างกาย นั่นทำให้สมองส่วน Reptilian ต้องรีบตอบสนอง รีบตัดสินใจเพื่อที่จะไม่ต้องให้สมองส่วนอื่นๆ ได้ใช้พลังงาน
Limbic brain คือส่วนที่อยู่ตรงกลาง ทำงานโดยอาศัยการตอบสนองทางอารมณ์ ตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลในอดีตและความทรงจำ
Neocortex คือส่วนนอกสุดที่วิวัฒนาการตามหลังมาทีหลัง เน้นไปที่การคิด ความสามารถ ภาษา เหตุและผล คือส่วนที่ทำให้เรามีอารยธรรม
Neuron คือเซลล์ที่เชื่อมต่อและสื่อสารระหว่างกันโดยใช้สัญญาณไฟฟ้าและสารสื่อประสาท การสื่อสารระหว่าง Neuron จะเกิดขึ้นตรงจุดเชื่อมต่อที่เรียกว่า Synapse และจะทำให้เกิด Neural Pathway ซึ่งเป็นเส้นทางที่แตกต่างกันของการสื่อสารผ่านกลุ่มของ Neuron ที่เกิดจากการทำกิจกรรม การคิด หรืออารมณ์ความรู้สึก
นักวิทยาศาสตร์สามารถเห็นและวัดความหนาแน่นของเซลล์ที่มากขึ้นเมื่อมีการใช้งาน ยิ่งเราใช้งาน Neural Pathway เดิมบ่อยขึ้น การเชื่อมต่อระหว่าง Neuron ก็จะแข็งแรงและเด่นชัดมากขึ้น เช่นเดียวกันกับกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ที่มันจะแข็งแรงขึ้นเมื่อมีการใช้งานบ่อยๆ
สมองมีความไวต่อสิ่งเร้า และปรับเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา ประสบการณ์ที่เราเจอในแต่ละวัน มันจะไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง
ตั้งแต่เล็กจนโต มนุษย์เราเรียนรู้ และพัฒนาสมอง ด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน ในตอนแรกเกิดสมองจะพัฒนาเพียงบางส่วนเท่านั้น การพัฒนาสมองที่สำคัญเกิดขึ้นหลังจากคลอด ไปจนถึงอายุประมาณ 20 และพัฒนาต่อเนื่องด้วยความเร็วที่ช้าลงไปจนถึงวัย 40
สมองแต่ละคนแตกต่างกัน
สมองของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน คิดต่างกัน มี IQ ต่างกัน บางคนเก่งคณิตศาสตร์ ในขณะที่บางคนวิ่งเร็วและใช้ความสามารถทางด้านร่างกายได้เต็มที่
แต่ละคนมีสมองที่แตกต่างกัน คิดและมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน แต่บางคนยังไม่เข้าใจและคิดไปเองว่าคนอื่นจะคิดหรือมีสมองที่เหมือนกันกับตัวเอง ทำให้เกิดการเข้าใจผิด เราควรจะยอมรับความแตกต่างในมุมมองชีวิตของแต่ละคน
การเข้าใจและยอมรับความคิดของคนอื่นๆ บางครั้งเป็นเรื่องที่ยาก มันต้องอาศัยความอดทนและความคิดสร้างสรรค์
หยุดเดาความคิดของคนอื่น
การที่เพื่อนบางคนแยกตัวออกจากกลุ่ม ออกไปใช้ชีวิตโดดเดี่ยว ก็ไม่ได้หมายความว่าเค้าจะไม่เป็นมิตรหรือไม่ชอบผู้คน เค้าอาจจะกำลังต้องการเวลาคิดเพื่อแก้ปัญหาส่วนตัวอยู่ก็ได้ ปัญหาที่เราไม่รู้
หยุดคาดหวังในสิ่งที่มันเป็นจริงไม่ได้จากคนอื่น
เราแต่ละคนต่างก็ทำผิดพลาด เราไม่สามารถที่จะคาดหวังว่าคนๆ หนึ่งจะทำตัวสมบูรณ์แบบได้ตลอดเวลา มันจะนำไปสู่ความผิดหวัง
หยุดเหมารวมลักษณะนิสัยของคน
ไม่ว่าจะเป็นการเหมารวมชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือเพศ ทางที่ดีคือเราควรยอมรับในสิ่งที่คนอื่นเป็น เรียนรู้ และทำความรู้จักในสิ่งที่เค้าเป็น
สมองกับความสนใจ
สมองสามารถประมวลผลข้อมูลที่เรารับเข้าไปเป็นจำนวนมากได้ แต่สมองก็ต้องคอยจัดการแยกและเลือกเฉพาะข้อมูลที่สำคัญ และทิ้งข้อมูลที่ไร้สาระไป ซึ่งขั้นตอนนี้ทำให้สมองเหนื่อยล้าได้
เซลล์ประสาทหรือ Neuron จำเป็นต้องใช้พลังงานและออกซิเจน และถ้าสมองทำงานหนัก เราก็จะรู้สึกเหนื่อยล้า
งานวิจัยพบว่าเราสามารถสนใจใช้สมองรับข้อมูลได้จำกัดที่ 120 บิต/นาที ดังนั้นเราจึงไม่สามารถฟังคน 2 คนพูดพร้อมๆ กันได้
ความสนใจเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำกิจกรรมในเวลาหนึ่ง แต่เราก็อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสิ่งรบกวน ที่มันจะดึงความสนใจของเราไป เซลล์ประสาทที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง จิตใต้สำนึกของเราจะคอยกรองสิ่งรบกวนออกไปและปล่อยสิ่งที่มันน่าสนใจไปให้จิตสำนึกให้รู้ตัว
ถ้าเราเจอสิ่งที่น่าเบื่อ เราก็จะไม่สนใจ และไม่จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อไหร่ที่เราต้องพูดหรือนำเสนอ เราต้องดึงความสนใจของผู้ฟังให้ได้ก่อน ให้ผู้ฟังมีสมาธิอยู่กับการนำเสนอ
เราจะจำเหตุการณ์ที่มันกระตุ้นความรู้สึก ที่มันกระทบต่ออารมณ์ ทำให้เราจำได้นานกว่าเหตุการณ์ทั่วไป ในขณะที่อารมณ์ถูกกระตุ้น สมองจะหลั่ง สารสื่อประสาท Dopamine ที่เกี่ยวข้องกับรางวัล ช่วยให้เราจำได้ดีขึ้น
แต่ในขณะที่เราเครียด สมองจะไม่สามารถเก็บรายละเอียด ดังนั้นถ้าเราจะสอนใคร ก็ให้นำเสนอไอเดียกว้างๆ ก่อน เริ่มจากหัวข้อหลัก นำเสนอเป็นลำดับขั้นตอน ทำให้เข้าใจง่ายและใส่ความสนุกเข้าไปด้วย
งานวิจัยพบว่าพนักงานสามารถมีสมาธิเพ่งความสนใจกับงานได้นาน 11 นาที ก่อนที่จะโดนสิ่งรบกวนทำลายสมาธิ และหลังจากนั้นก็ต้องใช้เวลานานถึง 25 นาที ก่อนจะกลับเข้ามาเพ่งความสนใจให้กับงานได้อีกครั้ง
ทุกๆ 3 นาที พนักงานมักจะทำหลายๆ อย่างสลับกัน เช่น คุยโทรศัพท์ คุยกับเพื่อนร่วมงาน ทำงานเอกสาร หรือส่งอีเมล
นอกจากสิ่งรบกวนจะทำให้เราไขว้เขวแล้ว มันยังทำให้เราเหนื่อยล้าอีกด้วย เพราะกว่าที่เราจะกลับมาเพ่งความสนใจให้กับงาน เราก็ใช้พลังงานไปจนเกือบหมด พลังงานที่เหลือน้อยก็ทำให้ความสามารถในการจำ การคิดและการตัดสินใจลดลง และมักจะทำให้เกิดความผิดพลาด หรืออาจจะทำให้เราลืมกินข้าวลืมไอเดียที่เพิ่งคิดได้ และเราก็มักจะหงุดหงิดเวลาที่คิดไม่ออก
ความตั้งใจจริงที่จะไม่หยิบมือถือขึ้นมาดูมันไม่มีประโยชน์ ไม่มีทางที่เราจะอดทนได้ เราห้ามใจไม่ได้ ทางเดียวที่จะลดสิ่งรบกวนได้ก็คือ ปิดมือถือหรือปิดการเตือน ไม่งั้นเราก็จะไม่มีสมาธิ ไม่สามารถเพ่งความสนใจให้กับงานได้
นอกจากสิ่งรบกวนภายนอกแล้ว ในหัวเราก็ยังมีสิ่งที่รบกวนได้เช่นกัน ใจเรามักจะคิดเรื่อยเปื่อยอยู่เสมอ ห้ามกันไม่ได้ ควบคุมความคิดยาก ความคิดแปลกๆ ที่ไหลเข้ามาในหัว จินตนาการในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น คิดในสิ่งที่อยากให้เป็น หรือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ความคิดเหล่านี้ล้วนดึงความสนใจของเราไป
ใจที่คิดเรื่อยเปื่อยอาจจะมีข้อดีช่วยทำให้เราคิดสร้างสรรค์ แต่มันก็ทำให้ลดประสิทธิภาพการทำงานด้วย ดังนั้นถ้าเราพบว่าตัวเองกำลังคิดเรื่อยเปื่อย ถ้ามันเป็นเรื่องกังวลที่ไร้สาระก็พยายามรู้ตัวแล้วหยุดคิด ถ้าเราจินตนาการถึงวันหยุดทั้งๆ ที่วันลาพักร้อนหมดไปแล้ว ก็ขอให้หยุดคิด
สมองกับความทรงจํา
เราสามารถจำเบอร์โทรศัพท์ได้ทันที แต่ก็จะลืมในเวลาไม่นาน การทบทวนบ่อยๆ ก็เป็นวิธีที่จะช่วยให้จำได้นานขึ้น ทำให้ความจำนั้นย้ายไปเก็บในหน่วยความจำระยะยาวได้ เมื่อเราทบทวนความจำในทันที ความจำนั้นก็จะถูกเก็บไว้ในความจำระยะสั้น และถ้าต้องการให้ความจำเก็บไว้ในระยะยาว ให้ย้ำอีกครั้งและทำให้มันเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราคุ้นเคย
เสียงและรูปภาพจะช่วยทำให้ความจำระยะสั้นดีขึ้น แต่การจะเก็บไว้ในความจำระยะยาว ข้อมูลนั้นจะต้องผ่านกระบวนการ Consolidation ผ่านการเรียนรู้ซ้ำและการทบทวน
สมองเราจดจำข้อมูลที่มีความหมาย ดังนั้นเมื่อไหร่ที่เราต้องการจำข้อมูล พยายามทำให้มันมีความหมาย เพื่อให้สมองจำข้อมูลนั้นได้ดี พยายามทบทวนข้อมูลนั้น และเว้นช่วงห่างเป็นระยะ เช่น ทบทวนทุกๆ 10 นาที ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมง
Hermann Ebbinghaus นักจิตวิทยาพบว่า นักเรียนจะลืมความรู้ 90% ของที่เรียนไปภายใน 30 วัน แต่เค้าก็พิสูจน์ให้เห็นว่านักเรียนจะจำได้ดีขึ้นหลังจากได้ทบทวนความรู้อยู่เสมอ
การเว้นระยะห่างระหว่างการทบทวน จะช่วยบอกเป็นนัย ช่วยทำให้สมองรู้ว่าข้อมูลนั้นมีความสำคัญ สมองเราก็จะคิดว่าข้อมูลนั้นมีความหมาย ไม่งั้นเราคงไม่พยายามทบทวนมันซ้ำแล้วซ้ำอีก ครั้งแล้วครั้งเล่า และเมื่อสมองคิดว่าข้อมูลนั้นมีความหมาย ก็จะทำให้จำได้ดีขึ้น
สมองกับการนอนหลับ
ไม่หลับก็ลืม ร่างกายเราจะทำงานได้ไม่ดีถ้าไม่ได้นอนหลับ นอนไม่พอ 2-3 วันก็จะทำให้เครียดและความจำไม่ดี
เราต่างก็มีพฤติกรรมการนอนที่ต่างจากคนอื่นๆ เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เราแต่ละคนมีเวลาที่ควรเข้านอนที่แตกต่างกัน
การนอนทำให้เราอ่อนแอ เวลานอนเราจะไม่มีสติ ไม่รับรู้ ทำให้ตกเป็นเหยื่อของนักล่าได้ง่ายๆ แต่มนุษย์เราก็วิวัฒนาการมาพร้อมกับการนอน ดังนั้นมันจึงต้องมีเหตุผลที่ดีมากๆ ที่เราควรนอนหลับ
เกิดอะไรขึ้นบ้างในขณะที่เรานอนหลับ การนอนเปิดโอกาสให้ร่างกายได้สร้างเสริม ซ่อมแซมร่างกายและจิตใจ
ตลอดทั้งวัน ร่างกายและจิตใจเราต้องเจอเหตุการณ์ ต้องทน ต้องรับภาระหนัก ถ้าเรานอนหลับไม่เพียงพอ และถ้าเราปล่อยไว้นานเป็นอาทิตย์ ก็จะยิ่งเกิดปัญหาสะสมต่อไปอีก
งานวิจัยพบว่า ทหารที่รับผิดชอบภารกิจยากๆ และต้องใช้เครื่องมือที่ซับซ้อน นักวิจัยปล่อยให้ทหารต้องตื่นตัวอยู่ตลอดทั้งคืนเป็นเวลา 1 คืน และหลังจากนั้นให้ทำแบบทดสอบด้านการจดจำในวันถัดไป การอดนอนเพียงแค่คืนเดียวก็ส่งผลทำให้ ผลการทดสอบตกลงไปถึง 30% และถ้าอดนอนติดต่อกัน 2 คืน ก็จะส่งผลให้คะแนนตกลงไปถึง 60%
และมีงานวิจัยที่พบว่า คนที่นอนน้อยกว่า 6 ชม ต่อคืนติดต่อกัน 5 คืน จะทำให้ความสามารถด้านการจดจำ การคิดและการเรียนรู้ ตกลงไปเท่ากับคนที่อดนอนเป็นเวลา 2 วันติดกัน
นาฬิกาชีวิต มีผลต่อการนอน เราทุกคนมีธรรมชาติของการนอน มีเวลาที่ควรนอนแตกต่างกัน ระยะเวลาที่ต้องนอนต่างกัน บางคนตื่นเช้า ตื่นก่อน 6 โมง ก็จะเป็นคนที่ตื่นตัวในเวลาก่อนเที่ยง ส่วนบางคนที่นอนดึกเกือบตี 3 ก็จะตื่นตัวมากที่สุดในช่วงเวลาประมาณ 6 โมงเย็น
สมองกับความเครียด
ความเครียดพอประมาณช่วยให้เรากระตืนรือร้นที่จะเรียนรู้ แต่ถ้าเครียดเป็นประจำ ความเครียดเรื้อรัง จะทำลายสมอง และทำให้เราสิ้นหวัง ทำให้ไม่อยากใช้สมอง ไม่อยากคิดแก้ปัญหา
ในขณะที่เราเครียด สมองเราจะทำงานตอบสนองแบบสู้หรือหนี การตอบสนองแบบสู้หรือหนี จะทำให้ความดันเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น ในระยะยาวจะทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหัวใจได้ ความเครียดเรื้อรังจะทำให้ความสามารถทางภาษาและคำนวณลดลง ถ้าเราเครียดมากๆ เราจะไม่สามารถเรียนรู้ และทำให้ยากที่จะมีสมาธิ ยากที่จะจำและแก้ไขปัญหา และความเครียดเรื้อรังจะทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย
เด็กที่โตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะกัน จะทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องการปรับอารมณ์ มีปัญหาเกี่ยวกับการเพ่งความสนใจ ทำให้เด็กหยุดเรียน ผลการเรียนตกลง งานวิจัยทำให้เรารู้ว่า เด็กที่โตมาในครอบครัวที่มีปัญหา การทำงานของสมองจะแย่ลง สุขภาพสมองแย่ลง
ความเครียดเรื้อรังทำให้เราเจ็บป่วย ทำให้ความจำแย่ลง ถ้าเราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องสู้หรือหนี เราจะเจอกับความกดดันและความเครียด และการตอบสนองต่อเหตุการณ์เหล่านี้ก็เพราะสมองต้องการให้หลีกเลี่ยงจากอันตราย
ดังนั้นความเครียด ความกดดันจึงมีส่วนช่วยให้เราป้องกันตัวเอง ช่วยให้มีชีวิตรอด แต่ถ้าเกิดความเครียดเรื้อรังก็จะเป็นผลร้ายได้
ถ้าความเครียดสะสมไว้นานๆ จะทำให้เราเสียการควบคุมตัวเอง เวลาเจอปัญหาก็จะเอาตัวรอดไม่ได้ แก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะเมื่อไหร่ที่สมองเครียด จะทำให้หยุดเรียนรู้ ไม่เรียนรู้ก็สู้ไม่ได้ ก็ต้องพ่ายแพ้ไป
Martin Seligman นักจิตวิทยาได้นำเสนอผลทดลอง จากการทดลองในสุนัข ที่จะโดนช้อตด้วยไฟฟ้า เมื่อสุนัขโดยช้อต มันจะร้องและพยายามดิ้นหนี แต่เมื่อช้อตต่อไปเรื่อยๆ สุนัขก็จะไม่สู้และไม่หนีอีกต่อไป หลังจากนั้นปล่อยให้สุนัขอยู่ในห้องที่มีทางออก และเค้าพบว่าสุนัขไม่ยอมหนี แต่กลับเข้าไปอยู่ที่มุมห้อง จะเห็นว่าการที่ต้องทนกับความเครียดนานๆ จะทำให้การเรียนรู้แย่ลง
สมองกับประสาทสัมผัส
เราจะจำเหตุการณ์ได้ดีถ้ามันเกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสกลิ่นหรือเสียง เพื่อให้ลูกค้าได้รับและสัมผัสถึงรสชาดของกาแฟที่แท้จริง Starbucks ได้ขอร้องพนักงานไม่ให้สูบบุหรี่และฉีดน้ำหอม ซึ่งจะเป็นการทำลายการรับรู้ถึงกลิ่นของกาแฟที่แท้จริง
กลิ่นและรสสัมผัสจะยังอยู่กับเราไปอีกนาน จะคอยเตือนเราให้นึกถึงเหตุการณ์ ความทรงจำเก่าๆ กลิ่นหรือเสียงมีพลังที่จะขุดเอาความทรงจำในอดีตออกมาได้
งานวิจัยพบว่า เสียงเพลงหรือกลิ่นสามารถทำให้ดึงเอาความทรงจำ รายละเอียด ภาพเก่าๆ กลับมาได้ นักวิจัยให้อาสาสมัครเข้าร่วมการทดลองดูภาพและดมกลิ่นต่างๆ เพื่อทำให้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาพและกลิ่น ผลการสแกนสมองของผู้เข้าร่วมการทดลองระหว่างที่ให้ดูภาพที่คุ้นเคยอีกครั้ง พบว่ามันจะไปกระตุ้นสมองส่วน Hippocampus และ Piriform cortex ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับกลิ่น ในขณะที่การดูภาพใหม่ๆ จะไม่ทำให้เกิดการกระตุ้น รูปภาพที่คุ้นเคยจะไปกระตุ้นสมองส่วนที่เชื่อมโยงกับกลิ่นที่สัมพันธ์กับรูปภาพนั้น
ภาพที่เราเคยดูมันจะค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำภายในไม่กี่วัน แต่ความทรงจำเกี่ยวกับกลิ่นจะอยู่กับเรานานเป็นปี
สมองกับการมองเห็น
สมองเป็นเครื่องมือสำหรับการประมวลผลรูปภาพ เซนเซอร์ส่วนใหญ่ใน Cortex มีไว้สำหรับการประมวลผลรูปภาพ และมีส่วนเล็กๆ ที่เอาไว้ประมวลผลข้อความ
สมองจะประมวลผลรูปภาพได้ง่ายกว่าคำหรือข้อความ และสมองจะจำรูปภาพได้ดีกว่า และทำให้เชื่อมโยงกับความทรงจำอื่นๆ ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องได้ง่ายๆ
งานวิจัยพบว่าการใช้สื่อการสอนประเภทรูปภาพจะช่วยลดเวลาในการเรียนรู้ ช่วยทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ทำให้จดจำข้อมูลได้มากขึ้นและนานมากขึ้น
ในการทดลอง ที่ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองได้ดู 2500 ภาพ เป็นเวลา 10 วินาที หลายวันต่อมา ผู้เข้าร่วมสามารถจำภาพนั้นได้ถึง 90% ผ่านไป 1 ปี ก็ยังจำได้ถึง 63%
การฟังข้อมูลบันทึกเสียง หลังจากเวลาผ่านไป 3 วัน เราจะจำข้อมูลนั้นได้เพียง 10% แต่ถ้านำภาพมาช่วยในการจำ ก็จะทำให้จำได้ดีขึ้นเป็น 65%
สมองของผู้ชายและผู้หญิง
Josef Parvizi ศาสตราจารย์ด้าน Neuroscience ได้ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับความเชื่อผิดๆ
- ผู้ชายมีสมองที่ใหญ่กว่า แต่ขนาดไม่ได้บอกว่ามันจะทำให้สมองจำหรือทำงานได้ดีขึ้นหรือฉลาดกว่า ไม่งั้นช้างหรือปลาวาฬก็คงฉลาดกว่าคน
- ความแตกต่างของสมองชายและหญิงไม่ได้เกิดจากฮอร์โมนส์ Estrogen และ Testosterone
- ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า ผู้ชายเกิดมาพร้อมกับความถนัดทางคณิตศาสตร์
พูดง่ายๆ ความเหมือนความคล้ายคลึงกันของสมองผู้ชายและผู้หญิง มันมีมากกว่าความแตกต่าง สมองมนุษย์ปรับเปลี่ยนได้ตลอด ความเป็นชายหรือหญิงของสมองเกิดจากประสบการณ์การเรียนรู้ การปลูกฝังและความคาดหวังที่ทำให้แต่ละเพศพัฒนาสมองจนเติบโตและเกิดความแตกต่าง
ทบทวน
สมองของมนุษย์ เป็นระบบที่ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ ตามประสบการณ์ การฝึกและการเรียนรู้ การทำความเข้าใจการทำงานของสมอง การออกกำลังกายและนอนให้พอ และหลีกเลี่ยงความกดดันหรือความเครียดเรื้อรัง หัดใช้ประสาทสัมผัสหลายๆ ส่วน จะช่วยทำให้จำข้อมูลได้ดีขึ้น
ความสงสัยทำให้เกิดการเรียนรู้ เด็กที่กำลังโต จะมีความคิดเหมือนนักวิทยาศาสตร์ จะสงสัยและลองอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ลองดูว่าทำแบบนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น สมองของเด็กจะยุ่งอยู่กับการเก็บข้อมูล และแนวคิดที่จะช่วยให้เด็กเข้าใจสถานการณ์ และสมองของผู้ใหญ่ก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ ทำให้เราทุกคนเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
หนังสือ Brain rules มีแปลเป็นภาษาไทยใช้ชื่อว่า 12 กฎทองของคนใช้สมองเป็น : Brain Rules ในบทความนี้เราอาจจะใช้คำและมีเนื้อหาที่แตกต่างจากหนังสือแปลอยู่บ้าง หวังว่าจะไม่ทำให้ผู้อ่านสับสน
เป็นเรื่องที่น่าสนใจซึ่งความรู้นี้เป็นประโยชน์ต่อครูผู้สอนอย่างยิ่ง
เนื้อหาดีน่าสนใจ
ขอบคุณครับ :1
มีประโยชน์มากค่ะ
สุดยอดแห่งนวัตกรรม
ได้รับความรู้มากค่ะ
นับว่าได้ทบทวน ความรู้ ที่คาดไม่ถึงว่าจะมีประโยชน์เช่นนี้
เป็นบทความที่ให้ความรู้ดีมาก