แรงบันดาลใจ

เอาชนะการผัดวันประกันพรุ่ง อย่าปล่อยทิ้งไว้เป็นดินพอกหางหมู ลุกลามเกินแก้

การผัดวันประกันพรุ่งจะทำให้เราทำงานที่สำคัญไม่เสร็จ เราปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยที่ไม่ยอมทำงานนั้นต่อสักที จนเกิดความกังวลหรือรู้สึกผิดได้ นิสัยผัดวันประกันพรุ่งจึงเป็นสิ่งที่เราควรเลิก

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่เราคิดว่าเรากำลังผัดวันประกันพรุ่งอยู่นั้น จริงๆ แล้วมันใช่หรือเปล่า หลายๆ ครั้งที่เราเข้าใจไปเองว่า งานที่เราไม่ยอมทำต่อให้เสร็จสักทีเป็นเพราะเราผัดวันประกันพรุ่ง หรือคนอื่นอาจจะเข้าใจผิด คิดว่าเราติดนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง ทั้งๆ ที่สาเหตุเกิดจากการที่เรามีงานอื่นๆ ที่สำคัญกว่า หรือมีงานอื่นที่เร่งด่วนมากกว่า หรือเรายังอยู่ในช่วงที่ต้องตัดสินใจ จัดลำดับความสำคัญของงาน สำหรับเรื่องที่มีความสำคัญมากๆ มันก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่เราต้องการเวลามากขึ้นเพื่อตัดสินใจ

แต่ถ้าสิ่งนั้นมันเป็นเรื่องสำคัญกับเรามาก เรารู้ว่าเราจำเป็นต้องรีบทำให้เสร็จ เราอยากทำมันให้เสร็จ แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง ทำให้เราไม่ยอมทำต่อให้เสร็จสักที นั่นแหล่ะคือการผัดวันประกันพรุ่ง

ให้เราลองนึกดูว่า มีอะไรบ้างที่เราผัดวันประกันพรุ่ง มีงานอะไรบ้างที่เราพักไว้แล้วไม่ยอมทำต่อให้เสร็จ บางทีเราอาจจะเจอสิ่งที่เราอยากทำเมื่อปีที่แล้ว ไม่แน่ว่าตอนนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะกลับไปทำต่อให้เสร็จก็ได้

ผัดวันประกันพรุ่ง เป็นยังไง เราผัดวันประกันพรุ่งกันยังไงบ้าง

เวลามีงานที่ไม่รีบเร่งเข้ามา รู้ว่ามีเวลามากพอที่จะทำงานนั้นให้เสร็จเมื่อไหร่ก็ได้ เราก็มักจะพักงานนั้นไว้ก่อน บางทีเราก็เริ่มทำตอนใกล้จะถึงวันกำหนดส่งงาน รอจนมันกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน แล้วเราค่อยปั่นงานจนเสร็จทันเวลา บางครั้งเราก็คิดว่าการผัดวันประกันพรุ่งมันมีความเกี่ยวข้องกับ Parkinson’s law อยู่นะ

เวลามีงานเข้ามา บางคนชอบพูดว่า เอาไว้ก่อน งานมันยังไม่รีบ หรือบางคนชอบพูดว่า ยิ่งงานเร่งเรายิ่งทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือบอกว่าทำงานได้ดีเมื่ออยู่ในช่วงกดดันก็มี

หรือบางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่าไม่อยากทำงานนั้นต่อเพราะยังไม่มีอารมณ์ที่จะทำ อากาศร้อนเกินไปขอไปห้างตากแอร์ สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ห้องข้างๆ เสียงดังรบกวนจนทำงานไม่ได้ หิวข้าว ง่วงนอน เบื่อ อยากเจอเพื่อน พูดง่ายๆ ขาดแรงจูงใจที่จะทำงาน

ผัดวันประกันพรุ่ง มีหลายสาเหตุ

มีหลายสาเหตุที่ทำให้เราผัดวันประกันพรุ่ง เช่น

  • เราไม่รู้บางเรื่อง เราต้องศึกษาเพิ่มเติม หรือเราขาดความมั่นใจที่จะทำงานนั้นต่อ
  • มีสิ่งรบกวนมากไป ไม่ว่าจะเป็น หนัง เกม หรือ Facebook
  • งานชิ้นใหญ่ ทำไม่ไหว ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะเสร็จ
  • ไม่มีอารมณ์ที่จะทำงาน บรรยากาศไม่เอื้ออำนวย
  • หมดความสนใจในงาน งานมันน่าเบื่อ

ไม่มั่นใจในตัวเอง และ วิธีสร้างความมั่นใจ

งานบางอย่างต้องใช้ความสามารถเฉพาะด้าน บางครั้งก่อนที่เราจะเริ่มทำงาน เราจะมีช่วงเวลาที่คิดว่า เราเริ่มงานนี้ไม่ได้ เรายังไม่พร้อม เราขอเรียนรู้ ขอศึกษาเพิ่มอีกหน่อย

หรือระหว่างที่เราทำงาน เราทำไม่เสร็จสักทีเพราะคิดว่าตัวงานยังไม่ดีพอ มันยังขาดบางอย่าง

หลายคนทำงานไม่เสร็จเพราะกลัวว่าถ้างานที่เราทำออกสู่สายตาคนอื่นๆ ถ้างานมันไม่ดีพอ ก็จะกลัวคนอื่นตำหนิ กลัวคนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ กลัวคนอื่นตัดสินผลงานของเรา

รู้ไว้ซะ ถ้าไม่เริ่มตอนนี้ แล้วเมื่อไหร่เราจะพร้อม และถ้าไม่ใช่เรา แล้วจะเป็นใครที่จะมาทำ

ทำงานให้เสร็จ ดีกว่ารอให้มันสมบูรณ์แบบ

Production before perfection.

ครั้งแรกที่เราทำอะไรก็ตาม มันมักจะออกมาห่วยเสมอ ใครๆ ก็เป็นกันหมด แล้วมันก็เป็นเรื่องปกติมาก ดังนั้น ไม่ต้องรอให้เราพร้อม ไม่ต้องรอจนกว่าเราจะทำให้มันสมบูรณ์แบบ เข็นมันออกมาสู่โลกภายนอก ให้คนได้ชมผลงานของเรา

Your first draft will suck.

สิ่งที่เราทำกับตัวเรามันคนละอย่างกัน ผลงานที่เราทำ มันอาจจะมีดีหรือไม่ดีปนกัน มีคนชม มีคนด่า แต่มันก็ไม่ใช่ตัวเรา เรารับเอาคำชม คำด่ามาปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้นได้

You are not your work.

การที่เราคาดหวังมากเกินไป ตั้งมาตรฐานไว้สูงเกินไป คิดว่าต้องทำให้คนอื่นชอบผลงานของเรา ถ้ามันมากไปมันก็จะส่งผลเสียได้ ทำให้เราทำงานไม่เสร็จสักที

Done is better than perfect.

มีคนบอกว่า งานศิลปะไม่มีวันเสร็จ ผลงานที่เราเห็นนั้นเกิดจากการที่ศิลปินหยุดทำ เพราะจะได้ไปเริ่มทำงานอื่นต่อ

มีคนเขียนบัญญัติ 13 ประการ ของการทำงานให้เสร็จ (Done Manifesto)

  • There are three states of being. Not knowing, action and completion.
  • Accept that everything is a draft. It helps to get it done.
  • There is no editing stage.
  • Pretending you know what you’re doing is almost the same as knowing what you are doing, so just accept that you know what you’re doing even if you don’t and do it.
  • Banish procrastination. If you wait more than a week to get an idea done, abandon it.
  • The point of being done is not to finish but to get other things done
  • Once you’re done you can throw it away.
  • Laugh at perfection. It’s boring and keeps you from being done.
  • People without dirty hands are wrong. Doing something makes you right.
  • Failure counts as done. So do mistakes.
  • Destruction is a variant of done.
  • If you have an idea and publish it on the internet, that counts as a ghost of done.
  • Done is the engine of more.

เราชอบข้อสุดท้าย ทำให้เสร็จ จะได้ไปทำอย่างอื่นต่อ

สิ่งรบกวน และ ความพึงพอใจระยะสั้น

ไม่ว่าจะเป็น หนัง ละคร Netflix ทั้งหมดนี้คือสิ่งรบกวน เรามีความสุขกับสิ่งรบกวนแบบนี้ได้ในระยะเวลาสั้นๆ

บางครั้งเราจะมองเห็นแต่ความสุขความพึงพอใจในระยะสั้น เช่น การได้ดูหนัง การได้อ่านหนังสือเพื่อผ่อนคลายความเครียดก็เป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราใช้เวลาไปกับสิ่งเหล่านี้แทบจะทั้งวัน นั่นแหล่ะที่เราต้องระวัง

และถ้าเราทำแบบนี้บ่อยๆ ถ้าเราพบว่าเราเหนื่อยตลอดเวลา เราต้องการพักอยู่ตลอดเวลา เราคงมีปัญหากับการจัดการพลังงานในแต่ละวันแล้วล่ะ

ความพึงพอใจในระยะสั้นมักเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของเรา หลายครั้งที่มันมากจนบดบังความคิดใตร่ตรอง ทำให้เราตัดสินใจทำเพื่อตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ เพื่อความสุขในระยะสั้นๆ

ส่วนความสุขในระยะยาวหรือการบรรลุเป้าหมายในระยะยาว มักจะเกี่ยวข้องกับเหตุและผล การคิดใตร่ตรอง การยึดมั่นในแผนที่เราวางไว้ อดทนมีวินัย ทำจนกว่างานจะเสร็จ

บางทีเราก็ต้องเลือกระหว่างความพึงพอใจระยะสั้นกับการบรรลุเป้าหมายในระยะยาว หรือต้องให้มันเกิดความสมดุลขึ้นมา หลายครั้งที่เราเลือกตัดสินใจที่จะหลีกเลี่ยงงาน รอจนกว่าจะถึงกำหนดส่ง เราเลือกที่จะอยู่แบบสบายๆ ทั้งๆ ที่ในระยะยาว เรารู้ดีว่ามันคือหนทางสู่ความเสียใจในภายหลัง แต่ที่เราไม่ยอมทำอะไรกับมันก็เพราะว่า ตอนนี้อะไรๆ มันก็ยังดีอยู่ มันเลยยากที่เราจะเปลี่ยนแปลง

เรามั่นใจแค่ไหนว่า เราควบคุมตัวเราเองได้ เราต่างก็คิดไปเองว่าเราตัดสินใจจากเหตุและผล เราคิดอย่างละเอียดรอบคอบในการแก้ปัญหา เราอาจจะถูกบ้างในบางครั้ง แต่เชื่อเถอะ หลายครั้งที่เราทำโดยไม่คิด ทำก่อนคิดทีหลัง หลังจากนั้นเราค่อยคิดหาเหตุผลมาประกอบ มาใช้อธิบายถึงสิ่งที่เราได้ทำลงไป

มนุษย์เรามีสมอง 3 ส่วนที่ทำงานแตกต่างกัน มีทั้งส่วนที่อยู่กับเรามาแต่แรกเริ่ม และส่วนที่วิวัฒนาการเพิ่มมาทีหลัง และส่วนที่ทำให้เรากลายเป็นมนุษย์สมัยใหม่

Reptilian brain คือส่วนแรก ส่วนที่เก่าและอยู่ในสุด เน้นไปที่สัญชาตญาณและการเอาตัวรอด หลีกเลี่ยงความเจ็บปวด เทียบกับน้ำหนักตัวแล้ว สมองของเราใช้พลังงานเยอะมาก น้ำหนักสมอง 2% แต่ใช้พลังงานถึง 20% นั่นทำให้สมองส่วน Reptilian ต้องรีบตอบสนอง รีบตัดสินใจเพื่อที่จะไม่ต้องให้สมองส่วนอื่นๆ ได้ใช้พลังงาน ที่ทำไปก็เพื่อความอยู่รอด

Limbic brain คือส่วนที่อยู่ตรงกลางที่พัฒนาตามมา เน้นไปที่การตอบสนองทางอารมณ์ ตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลในอดีตและความทรงจำ หลายครั้งที่ช่วยป้องกันภัยให้เรา แต่ก็มีบ้างที่ตัดสินเอาแต่ใจหรือลำเอียง

Neocortex คือส่วนนอกสุดที่พัฒนาตามหลังมา เน้นไปที่การคิด ความสามารถ ภาษา เหตุและผล คือส่วนที่ทำให้เรามีอารยธรรม

สมองของเราทั้ง 3 ส่วนต่างก็ทำงานร่วมกัน แต่บางทีสมองส่วนที่เก่า ก็มักจะทำงานตามสัญชาตญาณหรือตามอารมณ์เกินไป ทำให้เราเสียโอกาสที่จะได้รับสิ่งดีๆ ในระยะยาว

สมมติว่าเราตั้งใจอยากลดน้ำหนัก แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเพื่อนชวนเราไปกินน้ำแข็งไส สมองส่วน Reptilian ของเราจะเข้าใจทันทีว่า น้ำแข็งไสคืออาหาร เราต้องกินเพื่อความอยู่รอด ในขณะที่สมองส่วน Limbic จะจินตนาการถึงรสชาติ ความนุ่มละมุนลิ้นที่ยากจะลืมเลือน แต่ Neocortex จะคิดคำนวณปริมาณแคลลอรี่ที่เราจะได้รับจากน้ำแข็งไส และคิดถึงความตั้งใจที่เราแทบจะลืมไปแล้ว ว่าเราอยากลดน้ำหนัก แล้วสุดท้ายใครจะเป็นผู้ชนะ

เรารู้ว่าสมองส่วนเก่าๆ ของเราไม่สามารถนึกถึงผลที่ตามมาจากการตัดสินใจของเราได้ มันง่ายที่จะหลงไปกับรูป รส กลิ่น และเสียง ถ้าเราปล่อยให้ตัวเราถูกควบคุมด้วยสัญชาตญาณหรืออารมณ์ หลังจากที่สิ่งยั่วยวนมันหายไป หลังจากที่เราสงบลง เราก็จะคิดได้และรู้สึกผิดในภายหลัง

งานชิ้นใหญ่ ไม่รู้เมื่อไหร่จะทำเสร็จ

เวลาที่เรามีงานชิ้นใหญ่ มีโปรเจกต์ใหญ่ มันจะช่วยเราได้มากถ้าเราแบ่งงานนั้นออกเป็นชิ้นเล็กๆ เล็กพอที่เราจะจัดการได้ง่ายๆ ช่วยให้เราลดความเครียดลงได้ด้วย คนที่ผัดวันประกันพรุ่งมักจะหลีกเลี่ยงงานจนนาทีสุดท้าย งานที่ใหญ่มากไปทำให้เรารู้สึกหนักอก กลัวว่าจะทำไม่ทัน กลัวว่ามันจะยากไป การที่เราแบ่งงานออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วจัดลำดับความสำคัญ จะช่วยให้เราจัดการงานเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น ทำให้งานไม่น่ากลัวอย่างที่เคยเป็น

การตั้งเป้าหมายก็เช่นกัน ถ้าความคาดหวังของเรามันสูงมาก เราก็จะตั้งเป้าหมายไว้เกินจริง แล้วหวังว่ามันจะทำให้เราเกิดความกระตือรือร้นที่จะทำให้สำเร็จ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ในช่วงแรกๆ ทุกอย่างมันก็ดีไปหมด เรามักจะตื่นเต้นกับไอเดียใหม่ๆ ทำให้เราทุ่มเทกับงานได้เต็มที่ แต่เวลาผ่านไป เราเจอปัญหาระหว่างทาง สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ มันจะทำให้ความกระตือรือร้นที่เราเคยมีในตอนแรกๆ เริ่มหายไป กลายเป็นว่าเป้าหมายหรืองานมีเท่าเดิม แต่พลังงานที่เราใส่เข้าไปมันลดน้อยลง เราก็จะเริ่มคิดแล้วว่า งานมันใหญ่ไป กลัวว่าจะทำไม่เสร็จ

แต่ถ้าเราแบ่งเป้าหมายหรือตั้งเป้าหมายให้เล็กลง เล็กพอที่เราจะรู้ได้ว่าเราจะทำสำเร็จเมื่อไหร่ เราประเมินเวลาที่เราต้องใช้ แล้วเราก็เริ่มลงมือทำให้เร็วที่สุด มุ่งมั่นทำทีละอย่างให้เสร็จไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นมันจะทำให้เรารู้สึกเติมเต็มที่ได้ทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ ทำให้เราเห็นความก้าวหน้าของงาน เกิดความกระตือรือร้นที่จะทำงานอื่นๆ ต่อไป และทุกครั้งหลังจากที่เราทำงานสำเร็จ เราควรจะให้รางวัลกับตัวเองด้วย ใช้เวลาพักผ่อน สะสมพลังงาน สิ่งที่สำคัญคือเราต้องรักษาโมเมนตัมนี้เอาไว้

ไม่สำคัญว่างานที่เราแบ่งมันจะมีเยอะแค่ไหน ถ้าเรามุ่งมั่นไปที่งานแต่ละอย่าง เราก็จะไปถึงจุดหมายได้ งานบางอย่างอาจจะยากกว่างานอื่นๆ เราก็อาจจะต้องขอความช่วยเหลือบ้าง ให้เรามุ่งไปที่งานเท่านั้น ไม่ต้องกังวลเรื่องขีดความสามารถของตัวเอง

คิดถึงแค่ความก้าวหน้าของงานที่เราทำ ถ้าเราทำงานแต่ละอย่างเสร็จไปเรื่อยๆ เราจะพบว่าความยากของงานมันจะไม่สำคัญอีกเลย ทุกครั้งที่เราทำงานสำเร็จ เราจะมีความมั่นใจมากขึ้น จนในที่สุดมันจะทำให้เราเชื่อได้ว่า เราจะทำงานทั้งหมดให้สำเร็จได้ตามที่ตั้งใจไว้

Creative blocks

เราไม่รู้ว่าจะแปลเป็นไทยยังไง แต่เข้าใจว่ามันคือช่วงเวลาที่เราทำงานต่อไม่ได้ น่าจะตรงข้ามกับ Keep creating, the Zone, Flow

ดังนั้นการที่เราจะทำลาย Creative block ได้ ก็คงต้องพยายามเข้าไปอยู่ใน Zone หรือทำให้เกิด Flow ให้ได้

  1. ตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมเราถึงต้องทำงานนี้ เราทำไปเพื่ออะไร ถ้าเรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังอยู่มันชัดเจน เรารู้ว่าเราทำไปเพราะอะไร เราจะรู้ว่าเราไปถูกทาง สิ่งที่เราต้องทำก็เพียงแค่มุ่งตรงไปข้างหน้า
  2. ให้รู้ตัวอยู่เสมอว่าเรากำลังทำอะไร รู้ว่างานที่เราทำมันมีความก้าวหน้า มันอาจจะมีบางอย่างที่เราต้องปรับปรุง
  3. ความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองทำให้เราเกิดความกล้า ถ้าเรามั่นใจว่าเราจะไปถึงอีกฝั่งได้ เราก็กล้าที่จะกระโดด

Success, failure and the drive to keep creating TED Talk ที่ Elizabeth Gilbert พูดเกี่ยวกับความสำเร็จ ความล้มเหลว และแรงผลักดันที่ทำให้เค้าสร้างผลงานออกมาได้อยู่เสมอ เค้าบอกว่าความสำเร็จและความล้มเหลวสามารถหยุดไม่ให้เราสร้างผลงานต่อได้ เช่น ถ้าเราทำผลงานออกมาดีได้รับความนิยม ประสบผลสำเร็จ เราก็จะคาดหวังมากขึ้น แล้วเราก็จะกังวลว่าผลงานใหม่มันจะออกมาไม่ดีเท่าของเก่า แต่ถ้าเราล้มเหลว เราก็จะหมดกำลังใจ หรือกลัวว่าผลงานใหม่ก็จะล้มเหลวอีก

สิ่งที่ Elizabeth Gilbert ใช้ยึดเหนี่ยว คือการที่เค้ารู้ว่าเค้าชอบทำอะไร เค้าชอบเขียน เค้าก็เขียนโดยที่พยายามไม่สนใจ ไม่หลงไปกับความสำเร็จและไม่ท้อแท้ในวันที่ล้มเหลว ถ้าเรามีความชัดเจน ถ้าเรารู้ว่าเราทำไปทำไม มันก็มีโอกาสน้อยมากที่จะหยุดไม่ให้เราสร้างผลงานออกมา

Zanshin (Japanese: 残心) is a state of awareness, of relaxed alertness, in Japanese martial arts.

คำว่า Zanshin นั้น เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า 残心 หมายถึงสภาพจิตใจที่ตื่นรู้ หรือบางทีก็เรียกว่ามีความพร้อมอยู่เสมอ ถ้าแปลตรงตามตัวอักษร จะแปลว่า ใจที่หลงเหลืออยู่ (ขออนุญาตลอกคำแปลจากบทความของคุณ ณัชร ส. มาเลยนะครับ เขียนไว้ดีมากเลย)

แนวทางปฏิบัติของ Zanshin นั้นมีความหมายลึกซึ้งมาก เป็นการใช้ชีวิตอย่างตั้งใจ ทุกการกระทำมีจุดมุ่งหมาย ไม่ใช่แค่มีชีวิตอยู่ไปวันๆ ตกเป็นเหยื่อของอะไรก็ตามที่ไล่ล่าเรา

After victory, tighten your helmet strap.

เป็นคำกล่าวของคนญี่ปุ่นที่ให้เราเตรียมพร้อมอยู่เสมอ จนถึงวาระสุดท้าย เราไม่ได้หยุดพัฒนาหลังจากประสบผลสำเร็จ แต่เราหยุดเพราะว่าเราขี้เกียจ หมดความตั้งใจ ขาดการเอาใจใส่

ก็เหมือนกับ Elizabeth Gilbert ที่ยังคงเขียนต่อไป  ไม่ว่าจะล้มเหลวกี่ครั้ง หรือประสบผลสำเร็จแล้วก็ตาม การเขียนหนังสือไม่ได้จบหลังการจัดพิมพ์ แต่จะจบเมื่อหมดความจำเป็นที่ต้องพัฒนาผลงาน

อุปสรรคของการสร้างผลงานอาจไม่ใช่ความล้มเหลวหรือความสำเร็จเสมอไป แต่เป็นความเบื่อหน่าย ความเหนื่อยล้า ขาดความมุ่งมั่น

สิ่งที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่เป้าหมาย แต่เป็นความชอบในสิ่งที่เราทำอยู่ ถึงแม้มันจะเป็นงานที่น่าเบื่อ แล้วเราก็ต้องทำมันด้วยความตื่นรู้ ทำด้วยความพร้อมและมุ่งมั่นอยู่เสมอ สิ่งที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่เส้นชัย แต่อยู่ที่วิธีการที่เราจะไปถึงเส้นชัยต่างหาก

เบื่องาน งานน่าเบื่อ

การที่เราต้องทนทำงานที่เราไม่ชอบ งานบางอย่าง ถึงแม้ว่ามันจะใช้เวลาทำแค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่เราก็ไม่ค่อยอยากทำ เพราะมันเป็นงานที่น่าเบื่อ งานที่ซ้ำซ้อน งานที่ต้องทำแบบเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา

ช่วงแรกๆ ไอเดียเรามันจะสดใหม่น่าสนใจ แต่หลังจากที่เราเริ่มลงมือทำ เราเริ่มเจอปัญหาเข้ามา อุปสรรคทั้งหลายทำให้เราหมดความอดทน หรือบางครั้งเรามีไอเดียใหม่ๆ เข้ามา แล้วมันทำให้เราสนใจของใหม่มากกว่า ทำให้เราทำงานเก่าไม่เสร็จสักที

ลองบอกกับคนอื่นๆ ว่าตอนนี้เรากำลังทำงานอะไรยู่ การบอกให้คนอื่นรู้ มันจะช่วยบังคับให้เราทำงานให้เสร็จเพราะถ้าเราทำไม่เสร็จ เราจะรู้สึกแย่ คนอื่นๆ จะมองว่าเราไม่ใส่ใจงาน หรือมองว่าเราดีแต่พูด

อีกวิธีที่จะช่วยได้คือ ลองให้รางวัลกับตัวเอง เช่น ถ้าทำงานนี้เสร็จ เราก็จะได้ไปกิน เที่ยว ไปเจอเพื่อน หรือให้ลองฝากเงินจำนวนหนึ่งไว้กับเพื่อน บอกเพื่อนว่าถ้าทำงานเสร็จก็จะไปเอาเงินคืน แต่ถ้าทำงานไม่เสร็จ ก็ให้เพื่อนเอาเงินนั้นไปบริจาคให้องค์กรการกุศล รับรองว่าเราจะรีบทำงานให้เสร็จแน่นอน

ข้ออ้าง ข้อแก้ตัว

เราต่างก็มีพรสวรรค์ อย่าปล่อยให้มีข้อแก้ตัวมาปิดกั้นการที่เราจะได้ทำงานให้เสร็จ ให้เราได้ก้าวไปข้างหน้า หลายครั้งที่เราต้องทำงาน ทำๆ ไปก่อน ไม่ต้องรอ ก็แค่ตื่นมาแล้วก็ไปทำงาน เหมือนหมอผ่าตัด ถ้าหมอต้องรอจนกว่าจะมีแรงบันดาลใจ คนไข้คงได้ตายก่อน เรามีงานต้องทำ เราก็ต้องทำให้เสร็จ ไม่ต้องรออะไร

  • อย่ารอจนกว่าห้องจะไม่มีเสียงดัง
  • อย่ารอจนกว่าเราจะมีอารมณ์ทำงาน
  • อย่ารอจนกว่าเราจะมีจิตใจสงบ
  • อย่ารอจนกว่าเราจะมีสมาธิ
  • อย่ารอจนกว่าเราจะมีกำลังใจ
  • อย่ารอจนกว่าเราจะมีความคิดสร้างสรรค์
  • อย่ารอจนกว่าจะมีพร้อมทุกอย่าง

ช่วงเวลาที่เราจะมีความคิดสร้างสรรค์มันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ Flow ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ อย่าไปคาดหวัง

เราอาจจะเคยคิดว่า ความกระตือรือร้นจะทำให้เราทำงานให้เสร็จ แต่กลับกัน เราควรจะทำงานให้เสร็จ เพื่อให้เรามีความกระตือรือร้นที่จะทำงานอื่นต่อไป

Creative work is required for motivation.

ความรู้ความสามารถที่เรามี มันจะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าเราไม่นำมันมาใช้ทำงานให้เสร็จ

Talent won’t mean anything when you don’t finish anything.

ไม่มีอะไรที่ต้องเสร็จสมบูรณ์แบบ

Nothing has to be perfect.

ในช่วงเวลาหนึ่ง เรามีทางเลือกอยู่แค่ 2 ทาง คือก้าวไปข้างหน้าเพื่อเติบโต หรือเดินถอยกลับไปยังที่ๆ สะดวกสบาย ที่ๆ ปลอดภัย

Step forward into growth, step back into safety.

Like what you read? Please share it with your friends so we can get their thoughts!

Previous ArticleNext Article

8 Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *