
Alan Kay เป็นหนึ่งในต้นแบบของเราในด้าน Personal Computing เป็นคนที่ทำให้เรามีงานทำอยู่ทุกวันนี้ เป็นคนที่นำทีมสร้างภาษา SmallTalk เป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดการเขียนโปรแกรมแบบ Object Oriented มีส่วนในการริเริ่มสร้าง Graphic User Interface, 3D Computer Graphics และ ARPANET ต้นแบบของอินเตอร์เน็ตที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้
Alan Kay เป็นคนที่ รักการอ่าน เค้าอ่านหนังสือได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ และอ่านหนังสือไป 150 เล่ม ก่อนที่จะเข้าโรงเรียน
Alan Kay เรียนจบด้าน Mathematics and Molecular Biology และ Ph.D. สาขา Computer Science หลังจากนั้นในปี 1971 ทำงานวิจัยให้กับ Xerox Palo Alto Research Center (PARC) มีส่วนร่วมในการพัฒนาเครื่องมือและคอมพิวเตอร์เพื่อใช้สำหรับการสื่อสาร มีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Dynabook ที่เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบ เป็นไอเดียที่นำไปต่อยอดให้นักธุรกิจนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ไอเดียของ Alan Kay ในตอนนั้น กลายเป็น Laptop และ Tablet ที่เราใช้งานกันทุกวันนี้
The best way to predict the future is to invent it.— Alan Kay
สิ่งประดิษฐ์หรือแนวคิดที่ Alan Kay มีส่วนร่วมทำให้เกิดขึ้น ตอนที่ทำงานให้กับ Xerox PARC ได้แก่
- เครื่องพิมพ์เลเซอร์
- แนวคิดการเขียนโปรแกรมแบบ Object Oriented
- ภาษา Smalltalk
- คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
- ระบบเครือข่าย Ethernet / Client Server
- การสื่อสารระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์ GUI / Mouse / WYSIWYG
Alan Kay ออกจาก Xerox PARC และย้ายไปทำงานให้กับ Atari ในปี 1983 ก่อนที่จะร่วมงานกับ Apple Computer เป็นคนที่พูดว่า People who are really serious about software should make their own hardware. ซึ่งเป็นหลักการหนึ่งของ Apple
หลังจากนั้นย้ายไปทำงานให้กับ Disney และได้ก่อตั้งศูนย์วิจัย Viewpoints Research Institute เพื่อผลิตสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ
เป้าหมายของชีวิต
สำหรับ Alan Kay ความสามารถที่เค้ามีและเครื่องมือคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย เป็นผลพลอยได้จากเป้าหมายที่แท้จริง ที่จะสร้างสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ มันเป็นแรงกระตุ้นทำให้เกิดทีมวิจัย ที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางด้าน Computer Science ที่ทำไปก็เพราะช่วยเหลือเด็กๆ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ และพัฒนาความคิด
เค้าต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ จากเดิมที่เป็นการป้อนความรู้ให้เด็กๆ เปลี่ยนไปกระตุ้นให้เด็กได้สังเกตและเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และทำให้ครูเข้าใจว่า เด็กคือสิ่งมีชีวิตที่มีสิทธิ์คิดได้ในแบบของตัวเอง
คอมพิวเตอร์ควรจะช่วยให้คนคิดและทำงานได้ดีมากขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เราเสียเวลา เสียสมาธิ เพลิดเพลินไปกับความบันเทิง สุดท้ายมันจะทำให้เราเสียโอกาส ทำให้เราไม่ได้ใช้ศักยภาพที่แท้จริง
There is something behind things, something deeply hidden
คนเราต่างก็มีจุดบอดในตา และสมองของเราก็ทำหน้าที่เติมสิ่งที่ขาดหายไป เราจะไม่เห็นมัน จนกว่าเราจะยอมรับว่า เรามองไม่เห็น และสิ่งที่เรามองเห็น ลึกๆ ภายในมันก็ยังมีหลายสิ่งแอบซ่อนอยู่
ไอน์สไตน์ในตอนเด็กๆ เคยได้รับเข็มทิศจากพ่อ มันเป็นอุปกรณ์ที่จุดประกายความคิด จินตนาการและความอัจฉริยะ พยายามเปลี่ยนให้เข็มชี้ไปทางอื่น สุดท้ายมันก็จะชี้ไปทางทิศเหนือ มันทำให้ไอน์สไตน์เข้าใจว่า มันมีแรงบางอย่างซ่อนอยู่ที่ผลักดันทำให้เข็มชี้ไปทางทิศเหนือ มันมีอะไรมากกว่าสิ่งที่ตาเราเห็น
ความสำเร็จของไอน์สไตน์ไม่ได้เกิดจากพรสววรรค์ ของขวัญที่ติดตัวมาแต่เกิด แต่เพราะเป็นคนช่างคิดช่างสงสัย ไม่ใช่เพราะความฉลาด แต่เป็นเพราะ อดทนและพยายามมากกว่าใครๆ
Visions rather than goals
ความคิดสร้างสรรค์คือการแสดงออกทางความคิด บางครั้งเราลงมือทำเพียงเพราะอยากทำให้มันเกิดขึ้น เพียงเพราะต้องการเรียนรู้ และแค่อยากแสดงความคิดของตัวเองออกมาทางงานวิจัย
คิดและฝันถึงความเป็นไปได้ในอนาคต แทนที่จะตั้งเป้าเพื่อให้ประสบความสำเร็จแค่ระยะสั้นๆ การมองระยะยาวเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าได้มากกว่า
People not projects
ปล่อยให้คนที่มีความสามารถและมีแรงกระตุ้นตัวเอง ได้ทำงานอย่างอิสระ ไม่ว่างานนั้นมันจะทำเงินได้หรือไม่ก็ตาม ขอเพียงแค่มันเป็นงานที่สำคัญหรือเป็นงานที่น่าสนใจ
การไม่เข้าไปควบคุม การปล่อยให้คนที่มีความสามารถได้ทำงาน ทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ทำในแนวทางของตัวเอง ปล่อยให้เค้าทำผิดพลาดบ้าง เราอาจจะไม่รู้และมองไม่เห็นว่ามันจะไปทางไหน แต่มันจะเหมือนกับแรงแม่เหล็ก ที่เรารู้แน่ๆ ว่ามันจะชี้ไปทางทิศเหนือ ถ้าเราปล่อยให้คนที่มีความตั้งใจดีทำงานไป ผลสุดท้าย มันก็จะเกิดผลงานที่ดี และทำให้เราภาคภูมิใจได้
เทคโนโลยีเปลี่ยนง่าย แต่คนเปลี่ยนยาก แล้วเราจะใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้คนพัฒนาตัวเองได้ยังไง?