ดูแลตัวเอง

ธรรมชาติบำบัด ธรรมชาติช่วยให้เรามีสุขภาพดี ช่วยให้มีความคิดสร้างสรรค์

ในยุครุ่งเรืองของอินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้เราใช้เวลากับอุปกรณ์สื่อสารและถูกรบกวนจากข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ทำให้เราต้องคอยตอบสนอง ทำให้เราต้องคาดหวัง ทำให้เกิดความอยาก ทำให้เกิดความเครียด ทำให้เกิดโรคตามมา การออกไปข้างนอก การออกไปสัมผัสธรรมชาติ สามารถช่วยได้ นักวิจัยพิสูจน์แล้วว่าธรรมชาติช่วยลดความดันเลือด ช่วยให้เราต่อสู้กับโรคเครียดและโรคซึมเศร้าได้

ในปี 2008 ข้อมูลจากทั่วโลกพบว่าคนเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่าชนบท และเราก็ใช้เวลาอยู่ในบ้านมากกว่านอกบ้าน ใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่กับอุปกรณ์สื่อสารหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ เราใช้เวลาในวันหยุดพักผ่อน ผ่อนคลายด้วยการดูโทรทัศน์ ผลกระทบของการที่อยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกมาสัมผัสกับธรรมชาติทำให้เกิดพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว โมโห หงุดหงิดง่าย และมีปัญหาเรื่องความจำ นอกจากนั้นยังทำให้ร่างกายอ้วน

ถึงแม้ว่าจะไปออกกำลังกาย แต่เราก็ยังติดอยู่กับการใช้ชีวิตสะดวกสบายอยู่ในเมือง ชีวิตที่ติดต่อกันตลอดเวลา บางคนออกไปวิ่งแต่ก็ยังพกโทรศัพท์ติดตัวไปด้วย การจะได้รับประโยชน์จากการสัมผัสธรรมชาติจริงๆ เราจะต้องอยู่กับธรรมชาติ โดยที่ไม่ถูกรบกวนจากเรื่องราวชีวิตประจำวันของคนอื่นๆ

วิวัฒนาการของมนุษย์เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ที่ๆ เรารู้สึกสบายใจ ที่ๆ เราคุ้นเคย ถึงแม้เราจะไม่รู้ตัวก็ตาม ตลอดระยะเวลาของการวิวัฒนาการ เราใช้เวลาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติมากถึง 99.9% กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ในแต่ละวันเราจะรู้สึกคุ้นเคย รู้สึกสบายใจก็ต่อเมื่อจังหวะการทำงานของร่างกายสัมพันธ์กับจังหวะของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา

ในบทความนี้คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ The Nature Fix: Why Nature Makes Us Happier, Healthier, and More Creative ผู้เขียนได้ให้ข้อมูลจากงานวิจัยและแนะนำให้เราออกจากบ้าน ออกมาข้างนอก ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติให้มากขึ้น เนื้อหาบางส่วนในหนังสือเราสามารถอ่านได้จากบทความของผู้เขียน ลองเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของเค้าได้เลย

งานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของธรรมชาติ

การศึกษาพบว่า การเข้าไปอยู่ในพื้นที่สีเขียว ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ หรือแม้กระทั่งการให้ดูภาพธรรมชาติอยู่ในห้อง ก็ช่วยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเพิ่มความสามารถในการคิดและรู้สึกมีความสุขมากขึ้น ทำให้ลดพฤติกรรมเห็นแก่ตัวในตอนที่เล่นเกม ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และยิ่งใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติมากเท่าไหร่ ผลลัพธ์ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

การใช้เวลาในธรรมชาติดีสำหรับเราทั้งทางตรงและทางอ้อม มันจะช่วยให้ลดระดับความเครียดลง ช่วยให้มีสุขภาพดี ช่วยให้มีความคิดสร้างสรรค์ ความอัศจรรย์อันน่าทึ่งของธรรมชาติทำให้ประสาทสัมผัสตื่นตัว ทำให้เรารู้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ทำให้เราเห็นแก่ตัวน้อยลง

การศึกษาพบว่า ธรรมชาติส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราโดยรวม ทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยการสังเกตผลการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตอนที่ทำกิจกรรมข้างนอก นักวิทยาศาสตร์เริ่มมั่นใจมากขึ้นจากการค้นพบผลกระทบของธรรมชาติ เช่น ถ้าเราพักฟื้นอยู่ในห้องที่ติดหน้าต่าง จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูได้เร็วขึ้น

Biophilia คือคนที่รักสิ่งมีชีวิต คนที่อยากเห็นการเจริญเติบโต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคน ต้นไม้ ความคิด หรือสังคม Biophilia hypothesis คือสมมติฐานที่บอกว่าวิวัฒนาการของคนเราเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ความผูกพันกับธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิตรูปแบบอื่นๆ มีมาแต่กำเนิด

ความผูกพันกับธรรมชาติเป็นหนึ่งในพฤติกรรมของมนุษย์ มนุษย์ในยุคแรกๆ ให้ความสำคัญกับสิ่งเร้าสิ่งกระตุ้นในธรรมชาติ เช่น งูทำให้เรากลัว น้ำและต้นไม้ทำให้เรารู้สึกสบายใจที่จะพัก ในปัจจุบันความผูกพันกับธรรมชาติอาจมีความสำคัญมากขึ้น เพราะเราใช้เวลามากไปกับการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์สำหรับการทำงานหรือเพื่อความบันเทิง ทำให้นักวิทยาศาสตร์ยกระดับความกังวลของผลกระทบที่มีต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ จากการที่ผู้คนตัดขาดจากธรรมชาติ

หน่วยงานป่าไม้ในญี่ปุ่นได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการบำบัดด้วยป่าไม้ โดยให้คนนับร้อยเข้าป่าและเปรียบเทียบผลกับคนอีกกลุ่มที่ใช้เวลาอยู่ในเมือง พบว่า สิ่งแวดล้อมมีผลต่อสุขภาพ ธรรมชาติสามารถทำให้ระดับความดันเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ ชีพจร ฮอร์โมนส์และเคมีในสมอง เปลี่ยนแปลงได้

นักวิจัยได้แนะนำว่า การใช้ชีวิตในป่า การใช้ประสาทสัมผัสเพื่อรับรู้สิ่งกระตุ้นในป่า จะช่วยบำบัดป้องกันและรักษา เป็นภูมิคุ้มกันโรคให้เราได้

หน่วยงานป่าไม้ในเกาหลีใต้ก็ทำการวิจัยเช่นเดียวกัน โดยศึกษาประโยชน์ของการใช้เวลาในป่า เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งสองประเทศต่างพยายามที่จะช่วยให้ผู้คนลดความเครียดลง

กลิ่นจากธรรมชาติช่วยทำให้มีสุขภาพดี

เช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่นๆ มนุษย์ผูกพันกับธรรมชาติและพยายามปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ เรามีประสาทสัมผัสเพื่อช่วยในการตรวจจับสิ่งผิดปกติหรืออันตรายที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ช่วยให้เรามีชีวิตรอด ในปัจจุบันความเครียดเกิดจากการทำงานในออฟฟิส ข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเตือน กลิ่น แสงสว่างจากอุปกรณ์ไฟฟ้า เสียงดังรบกวน

มลภาวะเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยเฉพาะกลิ่น ที่เป็นสัญญาณอันดับต้นๆ ที่บ่งบอกถึงความผิดปกติในสภาพแวดล้อมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้าย เซลล์รับกลิ่นที่เชื่อมต่อกับสมองโดยตรง ทำให้ยาที่สูดดมออกฤทธิ์ได้เร็ว เช่นเดียวกับอากาศเป็นพิษ มันก็จะสร้างความเสียหายได้เร็วเช่นกัน กลิ่นหอมส่งผลกระทบกับพฤติกรรมและอารมณ์ของเรา นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแล้วว่า สามารถนำกลิ่นไปใช้สำหรับการรักษาอาการผู้ป่วยได้

กลิ่นของต้นไม้ที่เรียกว่า Phytoncides ช่วยทำให้มีสุขภาพดี กลิ่นหอมธรรมชาติจากน้ำมันในเนื้อไม้ น้ำมันจากต้น Hinoki ไม้สนไซเพรสพันธุ์ญี่ปุ่น มีประโยชน์เป็นสารต้านแบคทีเรีย ช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียดและลดความดันเลือดลงได้ กลิ่นหอมที่เกิดจากแบคทีเรียในดินที่อยู่ในบริเวณนั้น เมื่อสัมผัสด้วยการหายใจเข้าไปก็ยังช่วยรักษาโรคและต้านเชื้อไวรัสได้อีกด้วย

การใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมในเมืองทำลายความสามารถในการรับกลิ่นของเรา จากการวิจัยพบว่ามากกว่า 50% ของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการรับกลิ่นเริ่มหมดหน้าที่ไป หลังจากที่เราไม่ได้พึ่งพาจมูกสำหรับการเอาตัวรอด

ธรรมชาติเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย

NK (natural killer) เซลล์ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่จะส่งสัญญาณเพื่อทำลายเซลล์เนื้องอกหรือเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส ปัจจัยหลายๆ อย่างมีส่วนทำให้เพิ่มหรือลดจำนวนเซลล์ NK จากงานวิจัยพบว่าการใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติช่วยเพิ่มระดับของเซลล์ NK ในร่างกายได้ และยิ่งใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติมากเท่าไหร่ จำนวนเซลล์ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

นักวิจัยสามารถวัดจำนวนเซลล์ NK ได้อย่างแม่นยำในห้องทดลอง เซลล์ NK เป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ เป็นเพื่อนที่ดีที่เราควรมีไว้เยอะๆ แต่ความเครียด อายุที่มากขึ้น และสารเคมี ต่างก็ทำให้ลดจำนวนเซลล์ NK ลง ดังนั้นถ้าธรรมชาติช่วยทำให้ลดความเครียดลงได้ มันก็อาจช่วยให้เรามีเซลล์ NK เยอะขึ้นได้ ช่วยป้องกันเราจากการติดเชื้อไวรัสหรือแม้กระทั่งป้องกันโรคมะเร็งได้

การศึกษาที่เปรียบเทียบผลระหว่างนักธุรกิจที่ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติในป่า และกลุ่มที่ใช้เวลาอยู่ในเมือง 3 วันหลังจากที่ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ จากการนับจำนวนเซลล์ NK พบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 40% และ 1 เดือนหลังจากนั้น จำนวนเซลล์ NK ก็ยังมากกว่าตอนเริ่มต้นการทดลองถึง 15% ส่วนกลุ่มนักธุรกิจที่ใช้เวลาอยู่ในเมือง ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของจำนวนเซลล์ NK

แต่การใช้เวลา 3 วันกับธรรมชาติในป่า เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากสำหรับคนทั่วไป ทำให้นักวิจัยอยากรู้ผลของการใช้เวลาอยู่ในสวนสาธารณะในเขตเมือง เค้าพบว่าก็ช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์ NK ได้เช่นกัน และคงอยู่ได้นานถึง 7 วัน

ผลกระทบของเสียง เสียงนกช่วยทำให้ผ่อนคลาย

มลภาวะทางเสียงส่งผลทำให้ความสามารถในการได้ยินลดลง เสียงดังรบกวนจากเครื่องบิน การจราจร สามารถทำลายความสามารถในการได้ยินและมีผลต่อหัวใจ คนที่อาศัยอยู่ใกล้สนามบินก็ยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นจากความดันเลือดสูง ซึ่งทำให้เกิดโรคหัวใจล้มเหลวหรือโรคหลอดเลือดสมองได้ เสียงดังรบกวนจะทำให้คนเกิดอารมณ์โมโห และทำลายสมาธิ

เราสามารถใช้หูฟังเพื่อป้องกันเสียงดังรบกวนจากภายนอกได้ แต่ในระยะยาวการใช้หูฟัง การฟังเสียงเพลงที่ดังเกิน 90 เดซิเบล ก็ทำให้สูญเสียความสามารถในการได้ยินเช่นกัน และเสียงดังในระดับนี้สามารถทำให้สูญเสียความสามารถในการได้ยินอย่างถาวรได้ โดยเฉพาะคนที่ใช้หูฟังเป็นประจำและใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ

เสียงดังรบกวนทำให้เราเสียสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นเสียงจากโทรทัศน์ เสียงการจราจร หรือเสียงคนพูด แต่ก็ยังมีเสียงบางอย่างที่ดีกับเรา เสียงที่น่าฟัง เช่น เสียงนก ความพิเศษของเสียงนกคือมันทำให้ร่างกายเราผ่อนคลาย ลดความเหนื่อยล้า แต่จิตใจเรายังตื่นตัว ทำให้เรามีสมาธิ

สิ่งสำคัญอยู่ที่การที่มันไม่มีรูปแบบ ไม่มีจังหวะที่ซ้ำกัน เสียงนกเกิดขึ้นแบบสุ่ม ทำให้มันไม่ดึงความสนใจของเรา ไม่ทำให้เราตั้งใจฟังเพื่อหารูปแบบ เสียงนกไม่ติดอยู่ในหัวเรา มันไม่กล่อมให้เราหลับ แต่ก็ไม่ทำให้เราเบื่อเช่นกัน

ผลกระทบของแสง ทัศนียภาพช่วยทำให้ผ่อนคลาย

ทัศนียภาพตามธรรมชาติดีต่อสายตาของเรา แต่การจ้องมองจอคอมพิวเตอร์นานๆ ทำลายสายตา ลดความสามารถในการมองเห็น นักวิจัยพบว่าคนที่อาศัยอยู่ในเมืองจะต้องสวมแว่นสายตามากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในชนบท ความชัดเจนของการมองเห็น สัมพันธ์กับเวลาที่เราใช้นอกบ้าน แสงที่อยู่ในบ้านแตกต่างจากแสงที่อยู่นอกบ้าน และมันส่งผลกระทบต่อตาของเราแตกต่างกัน การค้นพบนี้ทำให้โรงเรียนต้องปรับปรุงเพิ่มความสว่างของห้องเรียนเพื่อช่วยปกป้องสายตาของเด็กๆ

ระยะห่างจากหน้าต่างในห้องพักผู้ป่วย มีผลต่อความเร็วในการฟื้นฟูร่างกาย นอกจากนั้นยังช่วยทำให้เพิ่มความอดทนและลดความต้องการยาแก้ปวดอีกด้วย มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่ารูปภาพหรือวิดีโอธรรมชาติก็ช่วยได้ แต่ไม่เท่ากับการได้อยู่กับธรรมชาติ และสัมผัสกับธรรมชาติจริงๆ

ผลกระทบของธรรมชาติที่มีต่อสมอง

งานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของธรรมชาติที่มีต่อสมองพบว่า ธรรมชาติสามารถกระตุ้นสมองได้ 3 ส่วน คือ

  • Executive area เป็นสมองส่วนที่คิดวิเคราะห์สถานการณ์
  • Spatial network เป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่ตอบสนองต่อสัญญาณจากประสาทสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน กลิ่นและสัญญาณจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
  • Default network เป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับพฤติกรรม

การปล่อยให้สมองได้พัก ปล่อยใจให้ล่องลอย ฝันกลางวัน คิดเรื่อยเปื่อย จะทำให้สมองส่วน Executive area ได้พัก ธรรมชาติมีส่วนช่วยฟื้นฟูนิวรอนที่ต้องทำงานตอบสนองต่อความต้องการในชีวิตประจำวันของเรา

Attention Restoration Theory (ART) และ Stress Reduction Theory (SRT) ต่างก็เป็นวิธีการที่อาศัยธรรมชาติ ART เป็นการเพิ่มสมาธิทำให้เรามุ่งมั่นหลังจากใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ SRT ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อช่วยทำให้สมองผ่อนคลาย

Attention deficit hyperactivity disorder (ADHD) หรือโรคสมาธิสั้น ส่งผลกระทบต่อเด็กๆ ทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่หุนหันพลันแล่น ไม่มีสมาธิ และซน นักวิจัยพบว่าเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นที่มีโอกาสได้สัมผัสกับธรรมชาติ จะแสดงอาการลดน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ใช้เวลาอยู่แต่ในบ้าน

เด็กทุกคนได้รับประโยชน์จากการใช้เวลาเล่นหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง การฝึกฝนให้เด็กเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตเพื่อเอาตัวรอดในธรรมชาติ ช่วยให้เด็กรู้จักการทำงานร่วมกัน รู้จักรับความเสี่ยง กิจกรรมนี้ช่วยพัฒนาความสามารถทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

Post-traumatic stress disorder (PTSD) หรือโรคที่เกิดในคนที่มีอาการเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ กิจกรรมกลางแจ้งมีส่วนช่วยให้ฟื้นฟูจากอาการเครียด ทำให้เปิดใจ ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นและรับฟังคำแนะนำ การใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติทำให้ลบล้างความทรงจำที่เลวร้ายออกไป ทำให้รู้สึกดีมากขึ้น

ร่างกายเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้ทันเทคโนโลยี สมองเราไม่สามารถที่จะได้รับการกระตุ้นให้ทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันได้ ความสามารถในการให้ความสนใจเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด และการใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติทำให้ลดจำนวนตัวเลือกลง ทำให้เราไม่ต้องเลือกหรือทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน จึงช่วยทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

ต้องออกไปข้างนอกบ่อยแค่ไหน

ยิ่งเราใช้เวลาอยู่ข้างนอกบ้าน ทำกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น มันก็จะส่งผลในแง่ดีมากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องโยนมือถือทิ้ง แต่แค่ให้รู้จักความพอดี ปล่อยวางมือถือบ้าง ให้มีเวลาได้อยู่กับธรรมชาติบ้าง ให้ความสำคัญกับการใช้เวลาในธรรมชาติเหมือนกับที่เราออกกำลังกาย เท่าไหร่ก็ได้ ยิ่งมากก็ยิ่งดี

  • ในแต่ละวัน ใช้เวลาอย่างน้อยสักชั่วโมงฟังเสียงนก ฟังเสียงน้ำไหล
  • ในแต่ละสัปดาห์ ใช้เวลาสักชั่วโมงอยู่ในสวนสาธารณะที่มีต้นไม้อยู่รอบๆ
  • ในแต่ละเดือน ใช้เวลากับธรรมชาติ เดินเข้าป่า สัมผัสแม่น้ำ ทะเลสาป หรือเดินตามชายหาด
  • ในแต่ละปี ควรใช้วันหยุดพักผ่อน ทำกิจกรรมใกล้ชิดธรรมชาติ ในที่ห่างไกล สัมผัสความน่าทึ่งของธรรมชาติที่ได้มาฟรีๆ

เราไม่จำเป็นต้องให้นักวิทยาศาสตร์มาบอกข้อดีของการใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ เพราะเราต่างก็รู้ตัวดีและรู้สึกได้อยู่แล้วว่าการใช้เวลากับธรรมชาติ มันช่วยให้เรารู้สึกดีมากขึ้น แต่หลายคนก็ยังไม่ทำ ไม่ยอมออกมานอกบ้าน เรามีข้อมูลที่เชื่อได้ว่าธรรมชาติมันดีต่อร่างกายเรา เรามีข้อมูลที่เชื่อได้ว่าการกินผักใบเขียวมันดีต่อสุขภาพของเรา แต่เราหลายคนก็ยังไม่ทำตาม

References

Kids These Days

The Biophilia Hypothesis

The Biophilia Hypothesis and Life in the 21st Century: Increasing Mental Health or Increasing Pathology?

Effect of forest bathing trips on human immune function

Effect of Phytoncide from Trees on Human Natural Killer Cell Function

View Through a Window May Influence Recovery from Surgery

Coping with add The Surprising Connection to Green Play Settings

Like what you read? Please share it with your friends so we can get their thoughts!

Previous ArticleNext Article

2 Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *