การพัฒนาตนเอง

ทักษะชีวิตทั้ง 5 อย่าง พื้นฐานของการมีสุขภาพที่ดี ความมั่งคั่งและความสำเร็จ

นักวิจัยจาก University College London (UCL) ค้นพบทักษะชีวิตทั้ง 5 ที่จะช่วยให้มีสุขภาพดี มีความมั่งคั่ง และประสบความสำเร็จ ทักษะชีวิตที่พัฒนาตั้งแต่วัยเด็ก มีส่วนช่วยในการตัดสินใจและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดี และช่วยให้มีชีวิตที่ดีได้

ทักษะชีวิต ช่วยส่งเสริมให้มีชีวิตที่ดี

งานวิจัยได้ค้นพบทักษะชีวิตสำคัญทั้ง 5 อย่าง ได้แก่ Conscientiousness (ความตั้งมั่นในเป้าหมาย) Emotional stability (เสถียรภาพทางอารมณ์) Determination (ความตั้งใจอันแน่วแน่) Control (การควบคุมตัวเอง) และ Optimism (การมองโลกในแง่ดี) ช่วยส่งเสริมประโยชน์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ สถานะทางสังคมและการเงิน ตลอดจนการใช้ชีวิตที่ดีในวัยชรา

การค้นพบของ Andrew Steptoe และ Jane Wardle นักวิจัยจาก Department of Epidemiology and Public Health ของมหาวิทยาลัย University College London (UCL) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษา English Longitudinal Study of Aging แสดงให้เห็นว่าทักษะชีวิตมีส่วนสำคัญทั้งในช่วงเริ่มต้นของชีวิตและช่วงท้ายของชีวิต

การวิจัยในครั้งนี้ได้พบความสำคัญของทักษะชีวิต นักวิจัยได้ทดสอบหาความสัมพันธ์ของทักษะชีวิตทั้ง 5 อย่างจากข้อมูลการสำรวจชายและหญิงอายุตั้งแต่ 52 ปี จำนวน 8119 คน โดยมีค่าเฉลี่ยของอายุอยู่ที่ 66.7 ปี ทั้งนี้นักวิจัยได้ระมัดระวังและคำนึงถึงความสามารถในการคิด การศึกษาและพื้นฐานครอบครัวด้วย

นักวิจัยกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของทักษะในด้าน Conscientiousness (ความสามารถในการตั้งมั่นในเป้าหมาย) และ Optimism (การมองโลกในแง่ดี) แต่เป็นการวิจัยผลทักษะแยกกัน ยังไม่เคยมีการวิจัยผลรวมของทักษะอย่างจริงจังมาก่อน

นักวิจัยตั้งใจเลือกที่จะใช้ Life skills (ทักษะชีวิต) แทน Character traits (บุคลิกภาพ) เพราะบางคนอาจมองว่าบุคลิกภาพอาจเป็นสิ่งติดตัวตลอดไปหรือเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่ทักษะเป็นสิ่งที่เรียนรู้และพัฒนาได้ตลอดเวลา

ตรงข้ามกับทัศนคติแบบตายตัว ทัศนคติแบบเติบโตทำให้เราเข้าใจว่าทักษะเป็นสิ่งที่เรียนรู้และพัฒนาได้ต่อเนื่อง

นักวิจัยเลือกที่จะใช้ทักษะชีวิต ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ ทักษะการคิด หรือ ความสามารถทางสติปัญญา โดยหวังว่าทักษะชีวิตทั้ง 5 นี้จะช่วยให้คนเข้าใจได้ง่าย สามารถจำและนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต

  • Conscientiousness ความตั้งมั่นในเป้าหมาย
  • Emotional stability เสถียรภาพทางอารมณ์
  • Persistence ความตั้งใจอันแน่วแน่
  • Control การควบคุมตัวเอง
  • Optimism การมองโลกในแง่ดี

ส่วนประโยชน์ในด้านสุขภาพและสังคมที่เชื่อมโยงกับจำนวนทักษะชีวิตที่มีได้แก่

  • มีสุขภาพที่ดี
  • ลดภาวะซึมเศร้า
  • ลดความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว
  • เป็นโรคเรื้อรังน้อย
  • มีสถานะทางสังคมและการเงินที่ดี

นักวิจัยทึ่งกับผลลัพธ์ความสัมพันธ์ระหว่างทักษะชีวิตกับประโยชน์ที่คนได้รับ เช่น

คนที่ขาดทักษะชีวิต (คนที่มีทักษะชีวิต 1 หรือ 2 อย่าง) พบว่ามีภาวะซึมเศร้าถึง 22.8% ส่วนในคนที่มีทักษะชีวิตสูง (คนที่มีจุดแข็งในทักษะชีวิต คนที่มีทักษะชีวิต 4 หรือ 5 อย่าง) มีเพียง 3.1% เท่านั้นที่ประสบปัญหาภาวะซึมเศร้า

ครึ่งหนึ่งของคนที่ขาดทักษะชีวิต พบว่าเป็นคนรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว ส่วนในคนที่มีทักษะชีวิตสูง มีเพียงแค่ 10.5% เท่านั้น

คนที่ขาดทักษะชีวิต พบว่ามีสุขภาพแย่ถึง 36.7% ส่วนในคนที่มีทักษะชีวิตสูง มีเพียงแค่ 6% เท่านั้น

คนที่มีทักษะชีวิตสูงมักจะมีระดับคอเลสเตอรอลและ C-reactive protein ต่ำ (สารที่ตับสร้างออกมาตอบสนองต่อการอักเสบในร่างกาย ที่สัมพันธ์กับโรคต่างๆ เช่น เบาหวานประเภทที่ 2 และโรคหัวใจ)

คนที่มีทักษะชีวิตสูง มักจะอาสาช่วยคนอื่น พบว่ามีมากถึง 40% ส่วนในคนที่ขาดทักษะชีวิต พบว่ามีเพียง 28.7% เท่านั้น

นอกจากนั้นคนที่มีทักษะชีวิตสูงจะเดินเร็วมากกว่า ซึ่งการเดินเร็วอาจเป็นตัวทำนายอายุขัยหรือการใช้ชีวิตที่ดีในวัยชราได้

นักวิจัยบอกว่า ไม่มีทักษะชีวิตด้านใดที่จะสำคัญกว่าทักษะด้านอื่นๆ ประโยชน์จะเกิดจากผลรวมของทักษะชีวิตในหลายด้านรวมกัน

ถึงแม้ในทางปฏิบัติจะไม่สามารถระบุได้ว่า ทักษะชีวิตใดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดประโยชน์ ทักษะชีวิตใดที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่นักวิจัยก็ได้แนะนำว่าให้พยายามพัฒนาและรักษาทักษะชีวิตเหล่านี้ไว้ เพราะมันสัมพันธ์กับสุขภาพโดยรวมและชีวิตที่ดีในวัยชรา

การพัฒนาและรักษาทักษะชีวิตทั้ง 5 อย่าง เป็นกุญแจสำคัญของการมีสุขภาพและชีวิตที่ดีในวัยชรา

สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ ที่พบความลับของการมีชีวิตที่มีความสุข นั่นคือการมีความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในสังคมหรือกับคนในครอบครัว ถึงแม้ความสัมพันธ์จะมีขึ้นมีลงสลับกันไป แต่มันจะเป็นภูมิต้านทานโรคทั้งกายใจและป้องกันโรคความจำเสื่อม

ทักษะชีวิต 1 ความตั้งมั่นในเป้าหมาย

Conscientiousness คือทักษะของคนที่มีประสิทธิภาพ คนที่มีระเบียบวินัยและพึ่งพาได้ คนที่ขาดทักษะนี้มักจะเป็นคนที่ชอบทำอะไรง่ายๆ ไม่จริงจัง ทำตัวตามสบาย ชิลล์

Conscientiousness คือความสามารถในการตั้งมั่นในเป้าหมาย และทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการทำงาน เป็นสิ่งที่ผู้จัดการ นักการขาย นักกฎหมายมีเหมือนกัน คนเหล่านี้อุทิศตนเพื่อบรรลุเป้าหมาย

ลองนึกดูว่าเรากำลังจะอ่านหนังสือสอบ แต่เพื่อนชวนออกไปเที่ยวข้างนอก การมีวินัยในตนเองที่จะปฏิเสธเพื่อน ตั้งมั่นในการอ่านหนังสือเตรียมสอบ ความสำเร็จที่ทำได้ตามเป้าหมาย สำคัญมากกว่าความพึงพอใจในระยะเวลาสั้นๆ

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ Conscientiousness มักจะ

  • มีระเบียบวินัยในตัวเอง
  • เตรียมพร้อมเสมอ
  • ชอบวางแผนมากกว่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ความตั้งมั่นในเป้าหมายจะช่วยให้รู้จัก จัดการเวลา จัดการงาน ทำตามแผนการ ทำให้งานประสบความสำเร็จ

สำหรับคนที่ขาดทักษะนี้ มักจะไม่ยึดติดตามแผน มักจะคิดหาทางออกโดยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รู้ว่าหากเกิดปัญหาควรจะขอความช่วยเหลือจากใคร

สิ่งสำคัญในการตั้งมั่นในเป้าหมาย คือจะต้องมี “สติ มีสมาธิ ใจจดจ่ออยู่กับงาน ไม่สนใจสิ่งรบกวน” และยังต้องมี “ความละเอียดรอบคอบ ใส่ใจในรายละเอียดของงาน” สิ่งสำคัญ 2 อย่างนี้ จะทำให้เกิดเป็นพลังขับดันเพื่อทำตามฝัน ช่วยให้สามารถทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ

ทักษะชีวิต 2 เสถียรภาพทางอารมณ์

ข้อดีของความกังวลคือมันช่วยให้เอาตัวรอดได้ การคาดหวังสิ่งเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้น จะช่วยให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์นั้น

คนที่มีเสถียรภาพทางอารมณ์จะไม่ใช่คนที่กังวลโดยที่ไม่จำเป็น ไม่ตื่นตูมหลังจากที่ได้อ่านข่าวเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น ไม่ใช่คนที่จะย้ายบ้านหนีหลังจากที่รู้ข่าวว่าขโมยขึ้นบ้านเพื่อนบ้าน

อารมณ์ช่วยให้เราตัดสินใจได้เร็วขึ้นโดยที่ไม่ต้องคิด สมองจะไม่คิดใช้เหตุผลแต่จะนำเอาความทรงจำในอดีต มากระตุ้นให้เราตัดสินสถานการณ์จากข้อมูลเก่า ตอบสนองได้ทันทีโดยดูจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

การใช้อารมณ์ไม่ใช่เรื่องแย่อะไรเลยถ้ามันใช้ได้ผลดีสำหรับตัวเรา เราควรตัดสินใจเลือกทำกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกดี กิจกรรมที่ตอบสนองอารมณ์ด้านบวกของเรา

แต่ถ้าผลลัพธ์จากการใช้อารมณ์มันทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะการตัดสินใจที่กระทบกับคนอื่นๆ  การประเมินหรือตัดสินคน การใช้อารมณ์ตัดสิน อคติอาจทำให้เกิดความลำเอียง

สิ่งสำคัญคือการรู้ตัวและเข้าใจสถานการณ์ ไม่ปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ ถามตัวเองว่าหลังจากใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมันทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีหรือไม่ ถ้าผลลัพธ์ออกมาไม่ดี ก็ต้องมองมุมใหม่ ลองเปลี่ยนไปใช้เหตุผลในการตัดสินใจแทน

ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ คือการมองไปยังอนาคตที่ไกลมากกว่าความพึงพอใจในระยะสั้นๆ

ทักษะชีวิต 3 ความตั้งใจอันแน่วแน่

มันง่ายมากที่จะแสดงออกถึงความตั้งใจจริงโดยการพูดว่า ฉันทำได้ หรือ ฉันจะทำมันตอนนี้ รอจนกว่าจะถึงเวลาที่ติดปัญหาหรือสถานการณ์ยากลำบาก นั่นแหล่ะที่จะเป็นบทพิสูจน์ความตั้งใจจริงของเรา

ความตั้งใจอันแน่วแน่คือการที่เราผลักดันตัวเองให้เดินหน้าต่อไปทั้งๆ ที่ต้องเจอกับความยากลำบาก ผิดพลาดหรือล้มเหลว เราจะยอมรับมันได้หรือเปล่า เราจะรับเอาทักษะชีวิตนี้ไปใช้ในยามตกต่ำหรือไม่

กุญแจสำคัญคือการยอมรับ สามารถยอมรับได้ว่าชีวิตมันมีขึ้นและมีลง มันมีจุดสูงสุดและจุดต่ำสุด ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับทั้งในวันที่ขึ้นสูงและในวันที่ตกต่ำ วันที่ชนะและวันที่พ่ายแพ้

ทำผิดอย่าอาย เรียนรู้จากมันแล้วเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

ทักษะชีวิต 4 การควบคุมตัวเอง

การควบคุมตนเอง จะทำให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว

การที่เราไม่เห็นแก่รางวัลเล็กๆ หรือความพึงพอใจในระยะสั้น แต่รอรางวัลที่มีค่ามากกว่าในระยะยาว ความสามารถในการควบคุมตนเองเป็นสิ่งที่ตัดสินว่าเราจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น การประสบความสำเร็จในการเรียนหรือหน้าที่การงาน การมีสุขภาพที่ดี การมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งในครอบครัวและในที่ทำงาน

เราคงเคยได้ฟังนิทาน เรื่องของตั๊กแตนที่เอาแต่สนุกสนานไปวันๆ กับมดที่ขนเสบียงรีบสะสมอาหารไว้สำหรับฤดูหนาว เมื่อฤดูหนาวมาถึงตั๊กแตนก็หิวโซเพราะไม่มีอาหารหลงเหลืออยู่เลย

คนเราก็เช่นกัน ที่มักจะเห็นแก่ประโยชน์สุขตรงหน้า ไม่มองการณ์ไกล ไม่เห็นแก่ประโยชน์ที่ดีกว่าในระยะยาว ทำให้เราไม่สามารถอดทนรอ ไม่สามารถเสียสละผลประโยชน์ในตอนนั้นเพื่อประโยชน์และเป้าหมายที่ดีกว่าในระยะยาว

ทักษะชีวิต 5 การมองโลกในแง่ดี

เป็นเรื่องธรรมดาที่ในชีวิตนี้เราจะต้องพบกับความล้มเหลว ไม่มีใครที่ประสบความสำเร็จและใช้ชีวิตโดยที่ไม่เคยทำผิดพลาด

คนที่ไม่เคยทำผิดคงเป็นคนที่ระมัดระวังมากเสียจนไม่เคยได้ใช้ชีวิต

คนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คนที่มัวผิดหวังกับการถูกปฏิเสธ คนเหล่านั้นเรียนรู้จากคำปฏิเสธ เปลี่ยนมันให้กลายเป็นโอกาสหรือวิธีการใหม่ๆ และไม่กลัวที่จะลองอีกครั้ง

การมองโลกในแง่ดีคือการยอมรับความจริง ยอมรับว่าชีวิตจะต้องพบกับความลำบาก ความผิดพลาดและล้มเหลว จะต้องมีช่วงเวลาที่ตกต่ำ

ในช่วงชีวิตคงไม่มีใครต้องการพบกับความยากลำบากโดยสมัครใจ ดังนั้นเราจะไม่ได้มีโอกาสบ่อยนักที่จะได้สัมผัสกับความรู้สึกยากลำบากที่แท้จริง ใช้ช่วงเวลาที่ตกต่ำนั้นให้เป็นประโยชน์ ใช้เวลานั้นทำความเข้าใจและรับรู้ เพราะมันจะเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้รู้จักตัวเองมากขึ้น

เราเลือกได้ว่าจะโกรธแค้นคนอื่นและโทษปัจจัยภายนอก หรือเลือกที่จะสงบจิตใจแล้วซึมซับประสบการณ์แห่งความยากลำบากนั้น

สิ่งสำคัญ 2 อย่างในการมองโลกในแง่ดี คือการที่มองว่า “ช่วงชีวิตนี้มันจะมีโอกาสใหม่ๆ ให้เราเสมอ” และ “เราจะมีอนาคตที่ดีขึ้นได้”

ถึงแม้จะพลาดพลั้ง ก็ยังจะมีโอกาสใหม่ๆ ถึงแม้ชีวิตตอนนี้จะย่ำแย่ แต่ต่อไปมันจะดีขึ้น

ความสัมพันธ์ของข้อมูลอาจไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง

บันทึกจากนักวิจัย งานวิจัยในครั้งนี้ไม่ได้ออกแบบสำหรับการศึกษาหรือพิสูจน์ว่า ปัจจัยใดที่เป็นสาเหตุของผลลัพธ์

เราไม่อาจสรุปสาเหตุของเหตุการณ์จากความสัมพันธ์ของข้อมูลได้ เช่น ถ้าเราพบว่า 100% ของคนที่เสียชีวิต เป็นคนที่ดื่มน้ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การดื่มน้ำเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิต หรือออกซิเจนที่มีส่วนช่วยในการลุกไหม้ของไฟ แต่ออกซิเจนก็ไม่ได้เป็นสาเหตุที่แท้จริงของไฟไหม้

งานวิจัยที่ศึกษาข้อมูลจากการสำรวจ มักจะค้นพบความสัมพันธ์ของข้อมูล และนำข้อมูลการค้นพบมาถ่ายทอด เล่าเป็นเรื่องราว

เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือ ที่ถึงแม้จะอ่านเยอะเท่าไหร่ ก็ไม่อาจทำให้รวยขึ้นได้ในทันที แต่การอ่านจะเป็นพื้นฐาน การสร้างนิสัยรักการอ่านจะทำให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองและสร้างนิสัยที่ดีอีกหลายอย่าง การอ่านทำให้รู้ การอ่านทำให้รู้ว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่รู้ ทำให้สงสัยและจุดประกายไอเดียใหม่ๆ การใช้ความรู้และนำเอาไอเดียใหม่ๆ มาลงมือทำเท่านั้นจึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ และอาจทำให้รวยได้

การพัฒนาและรักษาทักษะชีวิตทั้ง 5 อย่างนี้ จะเป็นพื้นฐาน และอาจนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี ความมั่งคั่งและความสำเร็จ

Reference

Life skills, wealth, health, and wellbeing in later life

Like what you read? Please share it with your friends so we can get their thoughts!

Previous ArticleNext Article

2 Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *