
หลังจากที่เราเรียนรู้ จดจำ สุดท้ายเราก็นำความรู้นั้นมาปฎิบัติ มาเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราเคยทำ เปลี่ยนนิสัยของเราใหม่
บันทึกการอ่าน ข้อคิดดีๆ
- เรียนรู้การสร้างนิสัย ที่จะช่วยทำให้เราตั้งใจเรียนรู้ ใช้ความกระตือรือร้น การลดสิ่งรบกวน และการพัก
- ระลึกอยู่เสมอว่าเราโชคดีแค่ไหน ขอบคุณในความโชคดีของตัวเอง จะช่วยให้เรามีความกระตือรือร้นมากขึ้น
- อยู่กับปัจจุบัน ไม่คิดถึงอดีตที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่คิดถึงอนาคตที่มันยังไม่เกิดขึ้น
- รู้จักประโยชน์ของการฝึก Mindfulness เป็นประจำ
- การนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำบ่อยๆ จนทำให้เกิดเป็นนิสัย จะทำให้ความรู้นั้นติดตัวเรา
เราแบ่งบทความนี้ออกเป็น 3 ตอนย่อย บทความนี้เป็นตอนที่ 3 เป็นเรื่องของการทำ ทำให้เกิดเป็นนิสัย ทำให้เราเชี่ยวชาญ ทำให้ความรู้มันติดตัวเรา
- ตอนที่ 1 เป็นเรื่องของแนวคิดหรือรูปแบบการเรียนรู้
- ตอนที่ 2 เป็นขั้นตอนของการจำสิ่งที่เราเรียนรู้ มันคงไม่มีประโยชน์ถ้าเราจำไม่ได้
- ตอนที่ 3 เป็นขั้นตอนของการทำ ทำจนเกิดเป็นนิสัย ทำให้ความรู้นั้นมันติดตัวเราตลอดไป
ตั้งใจ ให้ความสนใจ
การที่เราจะเรียนรู้ได้ เราจะตั้งใจเรียน ตั้งใจฟังคนสอน ต้องให้ความสนใจ ใจจดใจจ่ออยู่กับการเรียนเท่านั้น เราจะจำสิ่งที่เราเรียนได้มากขึ้น ถ้าเราตั้งใจเรียน การตั้งใจเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่จริงๆ แล้วต้องใช้พลังสมองเยอะมาก
การให้ความสนใจแบบโดนบังคับ หรือ Reflexive Attention เพื่อความอยู่รอด สมองวิวัฒนาการให้เราตื่นตัวในสถานการณ์อันตราย ให้เราเฝ้าระวัง การให้ความสนใจอีกแบบคือ Voluntary Attention เราเลือกที่จะให้ความสนใจกับสิ่งที่จำเป็นหรือตรงความต้องการของเรา ดังนั้นถ้าเราจะเรียนรู้ เราก็ต้องเลือกที่จะสนใจสิ่งที่เราเรียนรู้ ตั้งใจ ไม่หลงไปกับสิ่งยั่วยุ สิ่งรบกวน
การให้ความสนใจต้องใช้ความกระตือรือร้น ใช้ความพยายาม และใช้พลังงาน งานวิจัยทำให้เรารู้ ไม่ว่าเราจะพยายามมากแค่ไหน เราก็สามารถตั้งใจและให้ความสนใจกับบางสิ่งได้นานแค่ 20 นาที หลังจากนั้นเราจะหมดความสนใจ ไม่กระตือรือร้น หรืออาจจะโดนสิ่งรบกวนอื่นๆ เช่น อีเมลหรือเสียงเตือนจากมือถือ การให้ความสนใจจะต้องใช้พลังสมองเยอะ ทำให้สมองเหนื่อยล้า เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย แต่ถ้าเราได้พัก สมองเราก็จะกลับมาทำงาน กลับมาตั้งใจได้อีกครั้ง
ดังนั้นสิ่งสำคัญของการที่จะให้เราตั้งใจ ให้ความสนใจกับการเรียนได้ก็คือ
- ความกระตือรือร้น
- การลดสิ่งรบกวน
- การพัก
กระตือรือร้น ช่วยให้จำได้ดี
ความรู้สึกที่เราลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่เราสนใจ ความกระตือรือร้นเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทโดปามีน ซึ่งร่างกายหลั่งออกมาทำให้เรารู้สึกดี นอกจากนั้นยังกระตุ้น Hippocampus ให้ระบบการจำทำงานได้ดีขึ้น ความกระตือรือร้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายในเราเอง แต่เราก็สามารถฝึกให้เรามีความกระตือรือร้นได้เช่นกัน โดยการถามตัวเองเช่น
- ทำไมเราอยากเรียนเรื่องนี้
- เรามีพื้นฐานอะไรบ้างแล้ว
- หัวข้อใหม่ๆ ที่เราคาดหวังว่าจะได้เรียนรู้
- เราจะเรียนรู้หัวข้อใหม่ๆ ได้ยังไง
- เราจะนำความรู้นี้ไปใช้ทำอะไร
การตอบคำถามเหล่านี้ จะทำให้เราเกิดความกระตือรือร้นมากขึ้น ทำให้เรารู้เป้าหมายของการเรียนรู้ ทำให้เรารับผิดชอบการเรียนรู้ของเราเอง เราเลือกเองว่าเราจะเรียนรู้อะไร
มี สติ สมาธิ ลดสิ่งรบกวน
ชีวิตประจำเราต้องเจอสิ่งรบกวนต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา ทำให้ยากที่จะตั้งใจหรือให้ความสนใจกับสิ่งที่สำคัญ บางคนชอบและรู้สึกดีที่ถูกรบกวน โดยเฉพาะสิ่งรบกวนที่ทำให้ร่างกายหลั่งสารโดปามีน เช่น หยิบมือถือขึ้นมา เปิดโซเชียลแอพ เลื่อนดูไทม์ไลน์ เจอคนมากดไลค์ที่เราเพิ่งโพสต์ไป
ดังนั้นเราต้องใช้ความพยายาม มากกว่าความกระตือรือร้น เราต้องมีความปรารถนาที่จะลดสิ่งรบกวนให้ได้ ยิ่งเราตั้งใจเท่าไหร่ เราก็จะจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้มากเท่านั้น และสิ่งรบกวนเล็กน้อย ก็มีผลต่อการเรียนรู้ของเรา ดังนั้นการจะมีสมาธิ เราจะต้องรู้จัก
- ให้ความสำคัญกับการตั้งใจ และเตือนตัวเองอยู่เสมอ
- ลดสิ่งรบกวนที่มีผลต่อการเรียนรู้ พยายามอย่าทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน
- กำหนดเวลาเรียน การที่ได้รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้พัก จะทำให้ร่างกายหลั่งสารโดปามีน ทำให้ตั้งใจเรียนและจำได้ดียิ่งขึ้น
พักผ่อน ปล่อยให้สมองได้พัก
นอกจากการสร้างความกระตือรือร้นและลดสิ่งรบกวนแล้ว เราจะต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของสมอง สมองเราใช้พลังงานกว่า 20% ของร่างกาย หลังจากใช้สมองไปนานๆ มันจะเริ่มเหนื่อย ใจเราก็เริ่มคิดเรื่อยเปื่อย Hippocampus เริ่มหยุดทำงาน ทำให้เราไม่จำและไม่เรียนรู้อะไรอีกแล้ว ความสนใจต่อสิ่งหนึ่งมีเวลาจำกัดอยู่แค่ 20 นาทีเท่านั้น หลังจากนั้นมันจะเป็นเรื่องน่าเบื่อ ถึงแม้ว่าเราจะตือรือร้นแต่ถ้าสมองล้า มันก็ทำให้เราไม่ตั้งใจ และหมดความสนใจได้ นั่นคือเวลาที่เราต้องพัก
ต้องหยุดให้ใจได้คิดเรื่อยเปื่อยบ้าง ฟังเพลง ลุกจากที่นั่ง ละสายตาจากจอ ออกไปข้างนอก ไปทำอะไรอย่างอื่นบ้าง
ขอบคุณในความโชคดี
สิ่งดีๆ หลายอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา หรือบางครั้งเราสังเกตเห็นคนอื่นตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากกว่าเรา ทำให้เรานึกขึ้นได้และรู้สึกขอบคุณในความโชคดีของตัวเอง
งานวิจัยทำให้เรารู้ว่าคนที่แสดงออกถึงความขอบคุณ จะช่วยเพิ่มความตั้งใจแน่วแน่ เพิ่มความสนใจ เพิ่มความกระตือรือร้น และมีพลังมากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ช่วยลดความกังวลและลดอาการซึมเศร้าได้ด้วย
เวลาที่เรารู้สึกขอบคุณ จะทำให้ร่างกายหลั่งสารโดปามีน ที่นอกจากจะทำให้รู้สึกดีแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้เราทำสิ่งที่เราเคยทำอีกครั้ง
บางครั้งเราก็ไม่สังเกตเห็นเหตการณ์ดีๆ ที่มันเกิดขึ้นกับเรา เราปล่อยให้ช่วงเวลานั้นผ่านไปเพราะมันเป็นเรื่องที่ธรรมดาที่เราเคยชิน ตอนที่เราปวดหัวมันจะเป็นช่วงเวลาที่แย่มากๆ หรือเวลาที่ไฟดับ เน็ทหลุด ก็ทำให้เราหงุดหงิดได้เช่นกัน ดังนั้นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้น เราไม่ควรปล่อยผ่านไปง่ายๆ เราควรจะรู้สึกขอบคุณที่เราไม่ปวดหัว หรือตอนที่เราใช้คอมพิวเตอร์ได้ตามปกติ มันยากที่เราจะรู้สึกขอบคุณอยู่เสมอ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องรอลิฟท์นานๆ หรือเจอรถติดนานๆ เราก็จะกลับมาหงุดหงิดเหมือนเดิม
การฝึกขอบคุณในความโชคดีของเราเป็นผลดีต่อการเรียนรู้ เพราะมันช่วยเพิ่มความตั้งใจแน่วแน่ เพิ่มความสนใจ เพิ่มความกระตือรือร้น และมีพลังมากขึ้น และการที่จะทำให้มันได้ผล เราก็ควรที่จะแสดงความรู้สึกขอบคุณนั้นออกมาด้วย
Mindfulness ใจที่สงบ มีสติ อยู่กับปัจจุบัน
Mindfulness คืออะไร ถ้าแยกคำออกมาแล้วหาความหมาย เราจะได้คำว่า Mind และ Fullness หรือใจและความเต็มเปี่ยม ตรงกันข้ามกับใจที่วุ่นวาย ไม่อยู่กับตัว หรือใจที่ไม่รู้ว่ากำลังคิดอะไรอยู่
มันคือการที่เรามีสติอยู่กับปัจจุบัน เราใส่ใจเต็มที่ ทำดีที่สุด ลองนึกถึงช่วงเวลาที่เรามองไปที่ทะเล เดินรอบเกาะ หรือฟังเพลงที่เราชอบ มันจะเป็นช่วงเวลาที่เราใส่ใจเต็มที่และตั้งใจฟัง
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้ทำกิจกรรมที่เราชอบ มันจะทำให้เราลืมเวลา มันจะทำให้เราใส่ใจกับกิจกรรมที่เราทำในขณะนั้น ดังนั้น Mindfulness คือการที่เรารู้ตัว และให้ความสนใจกับสิ่งที่เราทำอยู่ในขณะนั้น
การเป็นคนที่อยู่กับปัจจุบัน ไม่คิดถึงอดีตที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่คิดถึงอนาคตที่มันยังไม่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นการปฏิเสธอดีตหรือหลีกเลี่ยงอนาคต ใจเราที่คิดเรื่อยเปื่อยมันเป็นเรื่องปกติ บางครั้งเราไม่สบายใจ ไม่พอใจ ไม่เชื่อใจ มันคือสิ่งที่สมองเราคิด เราไม่สามารถแก้ไขมันได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการรู้ตัว รู้ว่าตอนนี้เรากำลังคิดอะไร รู้ว่าเรารู้สึกยังไง และมีอะไรที่ทำให้เราเป็นคนใจไม่เต็ม
วิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาอะไร จะมีหรือไม่มีความเชื่อ เราก็สามารถนำ Mindfulness มาใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงบวกได้ ถึงจะมีที่มาจากการฝึกปฏิบัติในพุทธศาสนา แต่ในปัจจุบัน Mindfulness เป็นผลของการเชื่อมโยงแนวคิดระหว่างศาสตร์ตะวันตกและศาสตร์ตะวันออกเข้าด้วยกัน วัฒนธรรมและประเพณีที่หลากหลาย ทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ ตะวันตกและตะวันออก จิตวิญญาณและวิทยาศาสตร์
การฝึก Mindfulness เป็นประจำช่วยให้ลดความเครียด ลดความดันเลือด ลดความวิตกกังวล ลดอาการบาดเจ็บ ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ ช่วยให้เลิกเสพติด ช่วยให้เราทำงานได้ในภาวะกดดัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ความจำ ทำให้เราตื่นตัว มีสมาธิตั้งใจเรียนรู้
ทำจนเกิดเป็น นิสัย
สมองของเราหาทางรักษาพลังงานอยู่ตลอด หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนกิจกรรมที่เราทำให้กลายเป็นนิสัย ทำให้เรื่องยากๆ เรื่องที่ซับซ้อนในตอนแรก เช่น การขับรถ กลายเป็นรื่องง่ายและแทบไม่ต้องใช้ความพยายาม งานวิจัยทำให้เรารู้ว่า 40% ของกิจกรรมที่เราทำในแต่ละวัน เป็นนิสัย เราทำได้โดยที่ไม่ต้องคิด หรือต้องตัดสินใจทำสิ่งเหล่านั้นเลย
การสร้างนิสัยแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอน
- เริ่มจาก Trigger หรือ Cue ที่เป็นจุดเริ่ม เช่น การเข้าไปนั่งในรถ
- พฤติกรรมที่เราทำเป็นประจำในขณะขับรถ เช่น มองกระจกข้าง หมุนพวงมาลัย เหยียบคันเร่ง
- เราได้รับรางวัลจากความสำเร็จ คือการไปถึงปลายทาง
นิสัยเป็นสิ่งที่ทิ้งได้ยาก คนที่ประสบอุบัติเหตุทางสมอง ถึงขั้นไม่สามารถจำบ้านตัวเองได้ แต่ก็ยังไม่ลืมนิสัยเดิมๆ และยังสามารถสร้างนิสัยใหม่ได้ด้วย นั่นเป็นเพราะการเรียนรู้และการทำให้เป็นนิสัยเกิดขึ้นในสมองส่วน Basal Ganglia สมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนที่และการให้รางวัล เป็นส่วนที่ทำงานได้ถึงแม้ว่าสมองส่วนอื่นๆ จะได้รับความเสียหาย
รางวัลเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดลูปและทำให้กลายเป็นนิสัย และถ้าเราต้องการเปลี่ยนนิสัยใหม่ เราก็ต้องพยายามสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ ที่เป็นขั้นตอนให้เราทำได้ง่ายๆ และให้รางวัลที่ดีกว่าทันที ถ้าเราไม่มีรางวัลที่ดีมาล่อ ความตั้งใจที่เราจะเปลี่ยนก็จะล้มเหลว
สรุป
การเรียนรู้ทั้ง 3 ระดับ เริ่มต้นจากการเรียน การจำ และการทำให้เกิดเป็นนิสัย เราสามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ในชีวิตจริงได้
การเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในสมองเราก็เป็นหนึ่งในเทคนิคการเรียนรู้ Metacognition คือการรู้ว่าเรากำลังเรียนรู้อะไร หรือเรียนรู้ได้ยังไง แล้วเราจะพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของเรายังไงได้บ้าง
การเรียนรู้เราต้องตั้งใจและมีสมาธิ การเพิ่มความกระตือรือร้น การลดสิ่งรบกวน และการได้พัก จะช่วยให้เราจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดีขึ้น
การทบทวนจะช่วยให้เราจำได้ดีขึ้น การทำซ้ำจะทำให้เกิดเป็นนิสัย และทำให้ความรู้นั้นติดตัวเรา ช่วยให้เราทำสิ่งนั้นได้โดยที่เราไม่ต้องใช้ความพยายาม
Reference
Wired to Grow: Harness the Power of Brain Science to Master Any Skill
7 Comments