หลังจากที่เราเรียนรู้อะไรก็ตาม เราจะต้องจำสิ่งนั้นไว้ให้ได้ เพราะในอนาคตเมื่อถึงเวลาที่จำเป็น เราจะได้นำความรู้นั้นกลับมาใช้ ถ้าเราลืม เราก็ไม่อาจเรียกใช้งานมันได้
บันทึกการอ่าน ข้อคิดดีๆ
- รู้จักหน่วยความจำทั้ง 3 ประเภท ความจำชั่วคราว ความจำระยะสั้น และ ความจำระยะยาว
- เรียนรู้ขั้นตอนการเปลี่ยนความจำระยะสั้นให้เป็นความจำระยะยาว
- การทบทวน โดยเว้นช่วงห่าง และการนอนหลับ จะช่วยให้จำข้อมูลในระยะยาวได้ดี
- สมองและการจัดระเบียบข้อมูล และเคล็ดลับที่จะช่วยให้เราเรียนรู้และจดจำข้อมูลได้ดีและนานขึ้น
- อารมณ์มีผลต่อการเรียนรู้ เวลาเราคิดบวกเราจะเรียนรู้ได้ดี
- เรียนรู้เคล็ดลับการสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวกในระหว่างการเรียนรู้
เราแบ่งบทความนี้ออกเป็น 3 ตอนย่อย บทความนี้เป็นตอนที่ 2 เป็นเรื่องของการจำ การจดจำข้อมูลคือการนำเอาข้อมูลจาก Hippocampus ไปเก็บไว้ในหน่วยความจำระยะยาว เพื่อให้เราสามารถเรียกกลับมาใช้งานได้ในภายหลัง สิ่งสำคัญที่มีผลต่อการจดจำคือ การเชื่อมโยง ความรู้สึก และการทบทวน
ในสมองของเราแต่ละคนจะมีข้อมูล มีความทรงจำ มีประสบการณ์ มีความรู้เดิมอยู่แล้ว สิ่งที่เราจะทำคือการเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิมที่เรารู้อยู่แล้ว หลังจากที่เราเชื่อมโยงข้อมูล มันจะทำให้เราจำข้อมูลนั้นได้นานขึ้น
- ตอนที่ 1 เป็นเรื่องของแนวคิดหรือรูปแบบการเรียนรู้
- ตอนที่ 2 เป็นขั้นตอนของการจำสิ่งที่เราเรียนรู้ มันคงไม่มีประโยชน์ถ้าเราจำไม่ได้
- ตอนที่ 3 เป็นขั้นตอนของการทำ ทำจนเกิดเป็นนิสัย ทำให้ความรู้นั้นมันติดตัวเราตลอดไป
ระดับที่ 2 คือการจำ การบันทึก ความทรงจำ และ หน่วยความจำ
เป้าหมายของการจำคือการที่เราสามารถนำเอาความรู้ที่เก็บไว้มาใช้งานได้ในเวลาที่จำเป็น ประเภทของหน่วยความจำมีดังนี้
- Sensory Memory ความจำชั่วคราว ที่ช่วยให้เราสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เช่น อุณหภูมิห้อง เสียงจากข้างนอก บางครั้งเราอาจจะไม่ได้ทันสังเกต แต่ระบบประสาทของเราประมวลผลข้อมูลโดยที่เราไม่รู้ตัว ยกเว้นบางอย่างที่มันไม่ปกติ เช่น เราวางแก้วกาแฟทิ้งไว้ จากนั้นเราหยิบแก้วขึ้นมาโดยที่คิดว่ากาแฟยังคงอุ่นอยู่ แต่เราพบว่ากาแฟเย็นแล้ว ความแปลกใจทำให้ดึงความสนใจของเราได้
- Working Memory ความจำระยะสั้น เวลาที่เราตั้งใจดูหรือตั้งใจฟังเสียงอะไรสักอย่าง Hippocampus จะเริ่มบันทึกข้อมูลนั้นไว้
- Long-term Memory ความจำที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ เราก็ยังจำเหตุการณ์นั้นๆ ได้ ในขณะที่ความจำระยะสั้นจะอยู่ได้นานหลายนาที ความจำระยะยาวจะอยู่ได้นานหลายปี
สาเหตุที่หน่วยความจำระยะยาวเก็บข้อมูลได้นานมาก เป็นเพราะว่าการเก็บข้อมูลในหน่วยความจำระยะยาวนั้นทำให้เกิดการสร้าง Neural Pathway หรือทางเชื่อมต่อนิวรอลเป็นพื้นที่กว้างกว่าการเก็บข้อมูลในหน่วยความจำระยะสั้น
สำหรับความจำระยะสั้น การสร้าง Neural Pathway จะจำกัดอยู่ที่สมองส่วนหน้า Frontal Lobe และ Parietal Lobe เท่านั้น
สำหรับความจำระยะยาว Neural Pathway จะต่างจากความจำแบบอื่น เราสามารถควบคุมให้สมองของเราเก็บข้อมูลไว้ในหน่วยควมจำระยะยาวได้ และสมองของเราจะสั่งให้บันทึกข้อมูลเหตุการณ์ในหน่วยความจำระยะยาวเมื่อชีวิตเราตกอยู่ในอันตราย แต่ก็เกิดขึ้นได้ในสภาวะอื่นๆ อีกด้วย
การบันทึก ความทรงจำ
การเปลี่ยนความจำระยะสั้นให้เป็นความจำระยะยาวนั้น เกิดขึ้นได้โดยการ เรียกข้อมูลกลับมาหรือการทบทวน (Retrieval), การเชื่อมโยงความรู้ (Connections) และอารมณ์ (Emotions) เพื่อความอยู่รอด สมองมีความสามารถในการเปลี่ยนความจำระยะสั้นไปเก็บไว้ในความจำระยาวได้โดยอัตโนมัติ แต่เราก็สามารถตั้งใจเก็บข้อมูลในหน่วยความจำระยะยาวได้เช่นกัน
ในบทความนี้ การทบทวน หมายถึงการเรียกข้อมูลกลับมา
การเรียกใช้ข้อมูล ก็เหมือนกับการเดินผ่านสนามหญ้า ยิ่งเราเดินผ่านบ่อยๆ มันก็จะเกิดรอยชัดขึ้น แต่ถ้าเราไม่ได้เรียกใช้งานข้อมูลนั้นบ่อยๆ ถึงแม้ว่าสมองเราจะเก็บความจำนั้นไว้ แต่มันจะติดอยู่ที่ปากและไม่สามารถเข้าถึงและนำมันมาใช้งานได้
ความตั้งใจจะช่วยให้เราทบทวนสิ่งที่เรารู้ได้ง่ายๆ สิ่งที่จะช่วยให้เราจำข้อมูลได้ง่าย ได้แก่
- เราตั้งใจ เราสนใจบางอย่าง หรือเรากำลังมองหามัน เช่น เรามองหากุญแจ
- ข้อมูลมันมีความหมายบางอย่าง เช่น เราสังเกตเห็นรถยี่ห้อเดียวกันกับรถของเรา หรือสีเดียวกัน หรือป้ายทะเบียนใกล้เคียงกัน
- เราต้องทำอะไรสักอย่าง เราจะไม่สังเกตเห็นอะไร ถ้าเราไม่ได้ตั้งใจที่จะทำอะไรบางอย่าง เช่นเดินเข้าไปในครัว เราอาจจะไม่สังเกตเห็นมีดที่วางไว้ แต่ถ้าเราตั้งใจจะใช้มีด เราก็จะสังเกตเห็นมัน
- สิ่งที่ไม่คาดคิด เช่น เราวางแก้วกาแฟไว้นานจนเย็นแล้ว แต่เราอาจจะยังคิดว่ากาแฟยังอุ่นอยู่ พอเราจับแก้วมันจะทำให้เราแปลกใจ และมันจะกระตุ้นทำให้ Hippocampus เริ่มทำงาน
- ในสถานการณ์ที่ต้องตอบสนองแบบสู้หรือหนี เช่นเราสังเกตเห็นควันหรือได้ยินเสียงบางอย่าง เซนเซอร์และระบบประสาทสัมผัสจะไปกระตุ้นให้ Amygdala ทำงาน เพื่อให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ และมันจะสั่งให้ Hippocampus เริ่มบันทึกข้อมูลที่สำคัญ
ทบทวน กับ การเรียนรู้ซ้้ำ
การเรียนรู้จะเกิดจากการทบทวนมากกว่าการเรียนรู้สิ่งเดิมซ้ำอีกรอบ การทบทวน คือการที่เรานึกถึงข้อมูลที่เราเรียนรู้ มันจะทำให้เราจำข้อมูลนั้นได้ดีกว่าในระยะยาว
เราอาจจะเคยคิดว่าการเรียนรู้ซ้ำอีกครั้งจะช่วยให้เราจำข้อมูลได้มากขึ้น แต่นักวิจัยกลับพบว่า การทบทวนต่างหากที่ช่วยให้จดจำข้อมูลได้ดีขึ้น การทบทวนข้อมูลเดิมจะทำให้เกิด Neural Pathway ที่ชัดมากขึ้น ทำให้มันแข็งแรงมากขึ้น
การเรียนซ้ำกับการทบทวน มันต่างกันอยู่เล็กน้อย แต่มันมีผลมาก
การเรียนซ้ำกับการทบทวนแตกต่างกัน การอ่านหนังสือเรื่องเดิมซ้ำหลายรอบไม่ถือว่าเป็นการทบทวน แต่เป็นการเรียนซ้ำ การที่ครูอธิบายซ้ำอีกครั้งก็ไม่ถือเป็นการทบทวน แต่มันคือการสอนหรือให้เด็กได้เรียนรู้ซ้ำอีกครั้ง
การทบทวน คือการให้เด็กได้นึกทบทวนสิ่งที่ได้เรียนไปแล้ว
หลังจากที่เราอ่านหนังสือจบ 1 บท การที่เรานึกทบทวนเนื้อหาในบทนั้นได้ครบทุกหัวข้อ ก็จะถือว่าเป็นการทบทวนที่สำเร็จ หรือถ้าเรานึกทบทวนหัวข้อย่อยได้อีก ก็ถือเป็นอีกความสำเร็จเช่นกัน
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Kent State University ได้แบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม โดยให้นักเรียนเรียนเรื่องเดียวกันและหลังจากนั้น 46 วัน ก็ให้ทำแบบทดสอบเดียวกัน
นักเรียนกลุ่มที่ 1 ได้เรียนครั้งเดียว ส่วนกลุ่มที่ 2 หลังจากจบบทเรียน ให้ทบทวนบทเรียนสำเร็จ 1 ครั้ง และกลุ่มที่ 3 ให้แบ่งการทบทวนบทเรียนออกเป็น 3 รอบ แต่ละรอบให้ทบทวนบทเรียนให้สำเร็จ 3 ครั้ง แต่ละรอบจะเว้นช่วงห่างก่อนที่จะเริ่มรอบต่อไป
ผลปรากฎว่า กลุ่มที่ทบทวนบทเรียนทำผลงานได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ทบทวนอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญคือ นักวิจัยขอให้เด็กนึกถึงบทเรียน ให้ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนไปแล้ว ไม่ได้ขอให้เด็กเรียนซ้ำอีกครั้ง
นอกจากนั้นนักวิจัยยังได้ทดลองเพิ่มเพื่อดูผลว่า การทบทวนหลายๆ ครั้งจะมีผลทำให้จำบทเรียนได้ดีขึ้นแค่ไหน ผลปรากฎว่า การทบทวนหลังจากรอบที่ 3 จะไม่ได้มีผลช่วยให้จดจำข้อมูลได้ดีมากขึ้นอีก
การทบทวนและการเว้นช่วง มีผลอย่างมากต่อการจดจำข้อมูลและทำให้จำได้แม่นยิ่งขึ้น
ดังนั้นนักวิจัยจึงได้แนะนำว่า ให้ทบทวนบทเรียนโดยเว้นช่วงห่าง โดยแบ่งเป็น 3 รอบ แต่ละรอบให้ทบทวนบทเรียนให้ถูกต้อง 3 ครั้ง
การแชร์หรืออธิบายบทเรียนให้เพื่อนฟังก็ช่วยให้จดจำข้อมูลได้ดีขึ้น หรือการทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เรียนไปมันเกี่ยวข้องกับเรา เชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่เราเจอในชีวิตประจำวันของเราก็ช่วยได้เช่นกัน
ทบทวน ช่วยให้จำข้อมูลในระยะยาวได้ดี
งานวิจัยที่น่าสนใจอีกอย่างคือ นักวิจัยจาก South Florida University ได้แบ่งกลุ่มนักศึกษาที่เรียนวิชาคณิตศาสตร์ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่ม A ให้เรียนและให้ทำแบบทดสอบ 10 ข้อในวันเดียวกัน กลุ่ม B ให้เรียนเรื่องเดียวกัน แต่ให้ทำแบบทดสอบแค่ 5 ข้อ เวลาผ่านไป 7 วัน กลุ่ม B จึงได้ทำแบบทดสอบที่เหลืออีก 5 ข้อ
นั่นคือนักศึกษาทั้งสองกลุ่ม ได้เรียนเรื่องเดียวกันและทำแบบทดสอบชุดเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่การเว้นช่วงห่างของการทำแบบทดสอบ
หลังจากนั้น นักศึกษาทั้งสองกลุ่มได้ทำการทดสอบ กลุ่ม A ที่ทำแบบฝึกหัด 10 ข้อในวันแรกเพียงครั้งเดียว ทำคะแนนได้ 75% ส่วนกุลุ่ม B ได้คะแนน 70 %
จากผลที่ได้ เราอาจจะคิดว่าการทำแบบฝึกหัด 10 ข้อ จะช่วยให้เราทำข้อสอบได้ดี
4 สัปดาห์หลังจากการทดสอบ นักวิจัยได้ทดสอบนักศึกษาอีกครั้ง ครั้งนี้กลุ่ม A ทำคะแนนได้เพียง 32% ในขณะที่กลุ่ม B ยังทำคะแนนได้ 64% ซึ่งมากกว่ากลุ่ม A เท่าตัว
จะเห็นได้ชัดว่าการทบทวนช่วยให้การจดจำบทเรียนในระยะยาวได้ สิ่งที่เราเรียนรู้ไปมันจะอยู่ในความทรงจำได้นานขึ้นเมื่อเราได้นึกทบทวนข้อมูลนั้นอยู่เรื่อยๆ
การเว้นช่วงห่างมีผลต่อ การจดจำข้อมูล
งานวิจัยที่น่าสนใจอีกอย่างคือ นักวิจัยจาก Santa Clara และ York University ได้พยายามหาว่าการเว้นช่วงห่างมันมีผลต่อการจดจำข้อมูลแค่ไหน เค้าได้ขอให้นักเรียนจับคู่คำในภาษา Swahili และภาษาอังกฤษ โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม ทุกกลุ่มให้ทดสอบความจำระยะยาวเหมือนกัน
กลุ่มที่ 1 ไม่ได้ทบทวนความจำ และหลังจากการทดสอบปรากฎว่าจำได้ 50%
กลุ่มที่ 2 ให้ทบทวน 1 รอบในวันที่เรียนคำศัพท์ โดยเว้นช่วงห่าง 12 ชั่วโมงหลังจากที่เรียน กลุ่มนี้จำได้ 55%
กลุ่มที่ 3 ได้ทบทวนเช่นกัน แต่เป็นการทบทวนข้ามคืน กลุ่มนี้จำได้ 65%
กลุ่มที่ 4 ได้ทบทวนบทเรียนหลังจากเว้นช่วงห่าง 24 ชั่วโมงหลังจากเรียน กลุ่มนี้จำได้ 75%
ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มที่ 4 และกลุ่มที่ 3 สามารถจำคำศัพท์ได้ดีกว่าเป็นเพราะ การนอนหลับ การทบทวนและการนอนหลับช่วยให้เราจดจำข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น ในระหว่างที่เราหลับ สมองเราจะย้ายข้อมูลจากหน่วยความจำระยะสั้นไปเก็บในความจำระยะยาว
ไวตามิน Z การนอนหลับ ช่วยให้จำได้ดี
ในระหว่างที่เรานอนหลับ สมองเราจะปัดหวาด จัดเก็บ จัดระเบียบสิ่งที่เราเรียนรู้มาทั้งวัน โยนข้อมูลหรือประสบการณ์ที่ไม่จำเป็นทิ้งไป และย้ายข้อมูลที่สำคัญไปเก็บไว้ในส่วนอื่นๆ สมองจะประมวลผลความรู้ใหม่เข้ากับประสบการณ์เดิมหรือสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว
จากงานวิจัย ทำให้เรารู้ว่า การทบทวนโดยเว้นช่วงห่างอย่างน้อย 1 คืนเป็นจำนวน 3 รอบ ช่วยให้เราจดจำข้อมูลได้มีประสิทธิภาพที่สุด ดังนั้นเราจึงควรแบ่งบทเรียนออกเป็นตอนสั้นๆ ให้เราได้เรียนรู้และเว้นช่วงห่างให้เราได้ทบทวน มันจะช่วยให้เราเรียนรู้และจดจำได้ดียิ่งขึ้น
สมอง กับการจัดระเบียบข้อมูล
สมองมีระบบจัดการข้อมูล โดยจัดประเภทของข้อมูลที่เราเรียนรู้ เช่นเดียวกันกับที่คอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลโดยแบ่งเป็น Folder นักวิทยาศาสตร์เรียกมันว่า Schema ซึ่งมันจะสร้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเรียนรู้ เช่น ความรู้เรื่องกล้วย เราก็จะนึกถึงรูปทรง สีหรือกลิ่นของของมัน
Schema จริงๆ แล้วก็คือ Neural Network หรือโครงข่ายประสาท และมันจะใหญ่และแข็งแรงขึ้นเมื่อเราเพิ่มข้อมูลเข้าไป หลังจากที่เรียนรู้ว่ากล้วยมีประโยชน์อะไรบ้าง หรือกล้วยแต่ละพันธุ์เอาไว้ทำอาหารอะไรได้บ้าง มีประวัติความเป็นมา หรือเกี่ยวข้องกับข้อมูลเรื่องอื่นๆ ยังไงบ้าง เมื่อเราเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ข้อมูลเรื่องกล้วยก็จะถูกเก็บไว้ในหลายๆ Schema
เมื่อเราเติบโตและเรียนรู้มากขึ้น Neural Network ก็จะใหญ่ขึ้น และเราสามารถใช้ความสามารถของสมองในการเชื่อมโยงความรู้ได้ โดยการเชื่อมโยงสิ่งที่เราเพิ่งเรียนรู้เข้ากับความรู้เดิมในสมอง เทคนิคนี้ทำให้เกิดปรากฎการณ์ 2 อย่าง ได้แก่
- Aha Moment หรือ Insight เมื่อเราเห็นความเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม หรือความรู้เดิมของเรา ทำให้เราคิดออก
- เมื่อเราเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม มันจะทำให้ยากที่เราจะลืมเรื่องนั้น Neural Network มันจะแข็งแรงมากขึ้นและรวมตัวกันมากขึ้น
ดังนั้นเราสามารถใช้ Schema ให้เกิดประโยชน์ได้ โดยการพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูล เทคนิคทั้ง 5 ต่อไปนี้จะช่วยให้เราเรียนรู้และจดจำข้อมูลได้ดีและนานขึ้น และทำให้เรานำกลับมาได้ง่ายขึ้น
- Metacognition
- Wordplay
- Insight
- Social Engagement
- Music
Metacognition การคิดเกี่ยวกับการคิด
การยกระดับความคิด การคิดเกี่ยวกับการคิด คือการที่เรารู้และเข้าใจการเรียนรู้ของตัวเราเอง เข้าใจเป้าหมายของการเรียนรู้ แล้วหาวิธีที่จะเรียนรู้และประเมินว่าเราบรรลุเป้าหมายนั้นหรือยัง
เราจะต้องมองว่าตัวเราคือคนที่ควบคุมการเรียนรู้ของเราเอง และเราจะต้องมุ่งมั่นและหาวิธีที่จะเรียนรู้ให้ดีขึ้น เช่น นักกีฬาที่เพิ่งเริ่มฝึก ก็จะต้องรู้ตัวว่าสถานะของตัวเองอยู่ขั้นไหน มีความสามารถแค่ไหน การที่จะวิ่งให้ได้ดีที่สุด ก็จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการวิ่ง เปลี่ยนความเร็ว เปลี่ยนระยะเวลาที่หยุดพัก ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองในขณะนั้น การที่คิดเกี่ยวกับการเรียนรู้หรือการฝึกซ้อม การที่เรารู้ตัวจะทำให้เกิดแรงกระตุ้นให้เราฝึกฝนอยู่เสมอ
เราสามารถฝึกการยกระดับความคิด หรือทำให้เราคิดเกี่ยวกับการคิดได้ โดยจะต้องพยายามหาโอกาสซักถาม พยายามหาเป้าหมายในสิ่งที่เรากำลังเรียนรู้ ในระหว่างเรียนก็ให้ประเมินตัวเองอยู่ตลอดเวลา ให้รู้ตัวเองว่าเราเข้าใจสิ่งที่เราเรียนหรือเปล่า ลองทำแบบฝึกหัดที่ยากขึ้น ลองฝึกอธิบายสิ่งที่เราเรียนรู้ ให้เพื่อนฟัง หรืออธิบายสิ่งที่เราคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราเรียนรู้
การจดบันทึกก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้เรายกระดับความคิดได้ เพราะการที่เรากลับไปอ่านสิ่งที่เราจดไว้ อาจทำให้เปลี่ยนความคิดเราได้
Wordplay ใช้บทกลอน จังหวะคล้องจองกัน
การใช้บทกลอนหรือคำที่มีจังหวะคล้องจองกัน การใช้ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ มีความไพเราะ ท่วงทำนองและจังหวะเสียงสูงต่ำ ทำให้การเรียนรู้สนุกขึ้น และทำให้เราจดจำข้อความได้ดีขึ้น
รถไฟ ไม่ใช่รถเจ๊ก มันทำด้วยเหล็กฉึกฉัก ฉึกฉัก รถเจ๊ก ไม่ใช่รถไฟ มันทำด้วยไม้ คลอกแคลก คลอกแคลก
อึ่งอ่างมันนั่งข้างโอ่ง มานั่งหลังโก่งจะคอยกินมด เด็กเอ๋ยเจ้าอย่าพูดปด เด็กเอ๋ยเจ้าอย่าพูดปด จะกลายเป็นมดอาหารอึ่งอ่าง
บทเพลงเหล่านี้จะช่วยให้เราจำได้นานเป็นเดือน การใช้คำและภาษาจะช่วยให้สมองเราเก็บข้อมูลไว้ในหน่วยความจำระยะยาวได้ เพราะมันไปกระตุ้นระบบศูนย์กลางของภาษาในสมองของเรา ทำให้เชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับคำอื่นๆ ที่เรารู้อยู่แล้ว
Insight คิดออก ทำให้จำได้ดี
การคิดออก การคิดได้ด้วยตัวเอง เกิดจากการที่เราใช้ประสบการณ์และสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วปะติดปะต่อกันจนทำให้เราเข้าใจ หรือทำให้เราหาวิธีที่จะแก้ปัญหาได้ การที่เราคิดออก จะทำให้เราจำสิ่งนั้นได้ตลอดไป
เราสามารถเพิ่มโอกาสที่เราจะคิดออกได้ด้วยการเรียนรู้แนวคิดเพิ่มเติม พยายามเรียนรู้ด้วยตัวเราเอง หลังจากเรียนจบบทเรียนให้หยุดพัก เพื่อให้มีเวลาในการทบทวนความเข้าใจ เช่น อาจจะออกไปเดินเล่น ว่ายน้ำ หรือทำกิจกรรมผ่อนคลายที่ตัวเองถนัด
เวลาที่ดีที่สุดที่จะคิดออก คือเวลาที่เราไม่คิดถึงมัน
Social Engagement การเรียนรู้เป็นกลุ่ม
การเรียนรู้เป็นกลุ่มจะช่วยให้เราได้ถามคำถาม ช่วยให้เราได้รับคำตอบจากเพื่อนในกลุ่ม ทำให้เราได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หลายคนชอบที่จะอธิบายให้เพื่อนคนอื่นๆ ฟัง ชอบช่วยเหลือเพื่อน เพราะนอกจากจะสนุกกับการเรียนรู้แล้ว ยังช่วยให้เกิดความมั่นใจ และบางคนก็ชอบที่จะรับฟังหรือให้เพื่อนระดับเดียวกันอธิบายเรื่องที่ไม่เข้าใจ แต่ก็มีบางคนที่ชอบเรียนรู้คนเดียว ซึ่งเหตุผลก็เพื่อต้องการสมาธิ
Music เสียงเพลง และ ความทรงจำ
เวลาที่เราได้ยินเสียงเพลง ทำให้เราจำบางอย่างได้ ทำให้เรานึกถึงบางอย่าง ความทรงจำ ที่มันเชื่อมโยงกับเพลงนั้น ๆ บางครั้งเสียงเพลงจะติดอยู่ในหัวเรา ยากที่จะสลัดมันออกจากหัวของเราไปได้
ดนตรีมีผลทำให้กระตุ้นสมองของเราได้ มีงานวิจัยที่ค้นพบว่าดนตรีช่วยทำให้คนป่วยโรคอัลไซเมอร์จำได้ ช่วยนำความทรงจำกลับมา หรือช่วยให้จำข้อมูลได้ดีขึ้น
เสียงเพลงช่วยให้เราตั้งใจ ทำให้เรามีสมาธิ ช่วยทำให้อารมณ์เปลี่ยน และช่วยทำให้เห็นภาพได้ เสียงเพลงช่วยให้เรามีสมาธิในการทำงานและช่วยให้เราอารมณ์ดีขึ้น เสียงเพลงช่วยให้เราจัดการกับอารมณ์ได้ดีขึ้น
เสียงเพลง ดนตรีแต่ละแบบจะเหมาะกับกิจกรรมที่แตกต่างกัน เช่น ใช้เสียงเพลง Upbeat เพื่อกระตุ้นในระหว่างการเรียน หรือในระหว่างการเขียนหรืออ่านหนังสือให้เปิดเพลงบรรเลงหรือเพลงคลาสสิกเพื่อให้มีสมาธิมากขึ้น เพลงเร็วๆ จะช่วยให้อารมณ์ของเราเปลี่ยน ทำให้ใจฮึกเหิม ในขณะที่เปิดเพลง Ambient ที่เน้นเสียงบรรยากาศโดยรอบ ฟุ้งๆ ซึ่งสื่อถึงความเป็นธรรมชาติ จะช่วยให้ใจเราสงบลงและมีสมาธิมากขึ้น
อารมณ์ และ ความทรงจำ
การใช้อารมณ์เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เราย้ายความจำระยะสั้นไปเก็บไว้ในหน่วยความจำระยะยาวได้ โครงสร้างสมองของมนุษย์มีอยู่ 3 ชั้น ได้แก่ Reptilian Limbic และ Neocortex
สมองชั้นพื้นฐานคือ Reptilian ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับความอยู่รอด ประสาทสัมผัสของเราจะตรวจสอบสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลาเพื่อค้นหาสัญญาณของอันตราย ถ้ามันตรวจจับสัญญาณอันตรายได้ Amygdala ก็จะเริ่มทำงาน โดยตอบสนองในโหมดสู้หรือหนี ร่างกายเราจะหลั่ง Adrenaline และ Cortisol ออกมา ทำให้หัวใจเต้นถี่ขึ้น ปั๊มเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ ปอดขยายเพื่อรับออกซิเจนมากขึ้น Fibrinogen และ Endorphin จะหลั่งออกมาเพื่อทำให้เลือดแข็งตัวและลดอาการเจ็บปวดกรณีที่ร่างกายบาดเจ็บ เป้าหมายก็เพื่อให้เรามีชีวิตรอดในสถานการณ์อันตราย
สมองชั้นกลางคือ Limbic ที่ตอบสนองทางอารมณ์ซับซ้อนนอกเหนือจากความกลัวหรือความโกรธ ความอยู่รอดของเราจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการสื่อสารกับคนอื่นๆ การรวมกลุ่ม การดูแลผู้ที่อ่อนแอกว่า
สมองชั้นนอกสุดคือ Neocortex ที่ทำให้เราคิดวิเคราะห์และตัดสนใจโดยใช้เหตุผลได้
ตอนที่สมองชั้น Reptilian ทำงาน มันจะปิดการทำงานของสมองส่วนอื่นๆ รวมถึงการรู้ตัวและการวิเคราะห์ ในสถานการณ์ที่เราต้องเอาตัวรอด เราอาจไม่มีเวลาหรือพลังงานพอที่จะเอาตัวรออด ถ้าเรามัวแต่จะคิดวิเคราะห์ หรือในกรณีที่เราบาดเจ็บ การที่เราไม่มีสติก็เพื่อให้ให้เราไม่รับรู้ถึงอาการบาดเจ็บซึ่งจะทำให้เราช๊อกได้
สมองส่วน Amygdala อยู่เชื่อมติดกันกับ Hippocampus รับข้อมูลจากเซนเซอร์และระบบประสาท ถ้าเราได้กลิ่นควัน เราก็จะถูกกระตุ้นให้ระวังตัว เมื่อ Amygdala ถูกกระตุ้น มันจะไปสั่งให้ Hippocampus บันทึกข้อมูล เพื่อให้เราจำสถานการณ์นี้ได้ นอกจากเหตุการณ์อันตรายแล้ว เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงบวกก็ทำให้กระตุ้น Amygdala ได้เช่นกัน ถ้าเราถูกหวย Amygdala ก็จะสั่งให้ Hippocampus บันทึกข้อมูลทันที
ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ กลัว ยินดี ต่างก็กระตุ้นให้ Amygdala ทำงานได้
นักจิตวิทยา Abraham Aslow ได้จำแนกลำดับความจำเป็นของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจ ซึ่งมีอยู่ 3 อย่าง
- เพื่อความอยู่รอด แรงจูงใจหลักของเราคือการเอาตัวรอด ไม่ว่าอะไรที่จะทำร้ายร่างกายเรา Amygdala จะไปกระตุ้น Hippocampus
- การเป็นส่วนหนึ่ง ในยามสงบสุข เราจะเปลี่ยนความจำเป็นของเราไปเป็น การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มนุษย์เราต่างก็ต้องการความสัมพันธ์ที่มีความหมาย การได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม การรู้สึกมีคุณค่าในกลุ่ม Amygdala จะทำงานเมื่อเราอยู่ในสังคม
- ระดับสูงสุดคือการรู้ตัวเอง รู้ศักยภาพของตัวเอง Amygdala และ Hippocampus จะทำงานเมื่อเราเกิดความรู้สึกยินดีและตื่นเต้น เมื่อเรารู้ศักยภาพและมีจุดมุ่งหมายที่มีคุณค่า มีความหมาย
อารมณ์เป็นได้ทั้งความสุข เศร้า ตื่นเต้น หรือน่าเบื่อ สมองเราตอบสนองต่ออารมณ์เชิงลบได้มากกว่าอารมณ์เชิงบวก ลองนึกถึงตอนที่เราเครียดที่ต้องอ่านหนังสือสอบ หรือเป็นจุดสนใจต้องออกไปรายงานหน้าชั้น แต่อารมณ์เชิงลบที่รุนแรงมากเกินไปก็อาจจะไปทำให้ปิดกั้นการเรียนรู้ได้ ดังนั้นเราจะต้องพยายามให้รักษาอารมณ์เชิงบวกเอาไว้ให้ได้
อารมณ์ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้คืออารมณ์เชิงบวก ส่วนการที่จะสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวกในระหว่างการเรียนรู้ ก็สามารถทำได้โดยใช้
- การแชร์ความรู้กับเพื่อนๆ
- เกมการแข่งขันเล็กๆ การได้รับรางวัล ช่วยกระตุ้นให้เราเรียนรู้ได้ดี
- การใช้อารมณ์ขัน การเล่าเรื่องราว
- การเรียนรู้เมื่อเราต้องการ ในตอนที่เราสงสัยอยากรู้ จะทำให้เกิดความพึงพอใจ
ระดับที่ 3 คือการทำ
ในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องของการลงมือทำ การทำจนเป็นนิสัย ให้เรามีทักษะติดตัว ให้ความรู้อยู่กับเรา เป็นส่วนหนึ่งของเรา
- ตอนที่ 1 เป็นเรื่องของแนวคิดหรือรูปแบบการเรียนรู้
- ตอนที่ 2 เป็นขั้นตอนของการจำสิ่งที่เราเรียนรู้ มันคงไม่มีประโยชน์ถ้าเราจำไม่ได้
- ตอนที่ 3 เป็นขั้นตอนของการทำ ทำจนเกิดเป็นนิสัย ทำให้ความรู้นั้นมันติดตัวเราตลอดไป