การเรียนรู้

ทักษะการเรียนรู้ ตอนที่ 2 จำสิ่งที่เราเรียนรู้ มันคงไม่มีประโยชน์ถ้าเราจำไม่ได้

หลังจากที่เราเรียนรู้อะไรก็ตาม เราจะต้องจำสิ่งนั้นไว้ให้ได้ เพราะในอนาคตเมื่อถึงเวลาที่จำเป็น เราจะได้นำความรู้นั้นกลับมาใช้ ถ้าเราลืม เราก็ไม่อาจเรียกใช้งานมันได้

บันทึกการอ่าน ข้อคิดดีๆ

  • รู้จักหน่วยความจำทั้ง 3 ประเภท ความจำชั่วคราว ความจำระยะสั้น และ ความจำระยะยาว
  • เรียนรู้ขั้นตอนการเปลี่ยนความจำระยะสั้นให้เป็นความจำระยะยาว
  • การทบทวน โดยเว้นช่วงห่าง และการนอนหลับ จะช่วยให้จำข้อมูลในระยะยาวได้ดี
  • สมองและการจัดระเบียบข้อมูล และเคล็ดลับที่จะช่วยให้เราเรียนรู้และจดจำข้อมูลได้ดีและนานขึ้น
  • อารมณ์มีผลต่อการเรียนรู้ เวลาเราคิดบวกเราจะเรียนรู้ได้ดี
  • เรียนรู้เคล็ดลับการสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวกในระหว่างการเรียนรู้

เราแบ่งบทความนี้ออกเป็น 3 ตอนย่อย บทความนี้เป็นตอนที่ 2 เป็นเรื่องของการจำ การจดจำข้อมูลคือการนำเอาข้อมูลจาก Hippocampus ไปเก็บไว้ในหน่วยความจำระยะยาว เพื่อให้เราสามารถเรียกกลับมาใช้งานได้ในภายหลัง สิ่งสำคัญที่มีผลต่อการจดจำคือ การเชื่อมโยง ความรู้สึก และการทบทวน

ในสมองของเราแต่ละคนจะมีข้อมูล มีความทรงจำ มีประสบการณ์ มีความรู้เดิมอยู่แล้ว สิ่งที่เราจะทำคือการเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิมที่เรารู้อยู่แล้ว หลังจากที่เราเชื่อมโยงข้อมูล มันจะทำให้เราจำข้อมูลนั้นได้นานขึ้น

ระดับที่ 2 คือการจำ การบันทึก ความทรงจำ และ หน่วยความจำ

เป้าหมายของการจำคือการที่เราสามารถนำเอาความรู้ที่เก็บไว้มาใช้งานได้ในเวลาที่จำเป็น ประเภทของหน่วยความจำมีดังนี้

  • Sensory Memory ความจำชั่วคราว ที่ช่วยให้เราสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เช่น อุณหภูมิห้อง เสียงจากข้างนอก บางครั้งเราอาจจะไม่ได้ทันสังเกต แต่ระบบประสาทของเราประมวลผลข้อมูลโดยที่เราไม่รู้ตัว ยกเว้นบางอย่างที่มันไม่ปกติ เช่น เราวางแก้วกาแฟทิ้งไว้ จากนั้นเราหยิบแก้วขึ้นมาโดยที่คิดว่ากาแฟยังคงอุ่นอยู่ แต่เราพบว่ากาแฟเย็นแล้ว ความแปลกใจทำให้ดึงความสนใจของเราได้
  • Working Memory ความจำระยะสั้น เวลาที่เราตั้งใจดูหรือตั้งใจฟังเสียงอะไรสักอย่าง Hippocampus จะเริ่มบันทึกข้อมูลนั้นไว้
  • Long-term Memory ความจำที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ เราก็ยังจำเหตุการณ์นั้นๆ ได้ ในขณะที่ความจำระยะสั้นจะอยู่ได้นานหลายนาที ความจำระยะยาวจะอยู่ได้นานหลายปี

สาเหตุที่หน่วยความจำระยะยาวเก็บข้อมูลได้นานมาก เป็นเพราะว่าการเก็บข้อมูลในหน่วยความจำระยะยาวนั้นทำให้เกิดการสร้าง Neural Pathway หรือทางเชื่อมต่อนิวรอลเป็นพื้นที่กว้างกว่าการเก็บข้อมูลในหน่วยความจำระยะสั้น

สำหรับความจำระยะสั้น การสร้าง Neural Pathway จะจำกัดอยู่ที่สมองส่วนหน้า Frontal Lobe และ Parietal Lobe เท่านั้น

สำหรับความจำระยะยาว Neural Pathway จะต่างจากความจำแบบอื่น เราสามารถควบคุมให้สมองของเราเก็บข้อมูลไว้ในหน่วยควมจำระยะยาวได้ และสมองของเราจะสั่งให้บันทึกข้อมูลเหตุการณ์ในหน่วยความจำระยะยาวเมื่อชีวิตเราตกอยู่ในอันตราย แต่ก็เกิดขึ้นได้ในสภาวะอื่นๆ อีกด้วย

การบันทึก ความทรงจำ

การเปลี่ยนความจำระยะสั้นให้เป็นความจำระยะยาวนั้น เกิดขึ้นได้โดยการ เรียกข้อมูลกลับมาหรือการทบทวน (Retrieval), การเชื่อมโยงความรู้ (Connections) และอารมณ์ (Emotions) เพื่อความอยู่รอด สมองมีความสามารถในการเปลี่ยนความจำระยะสั้นไปเก็บไว้ในความจำระยาวได้โดยอัตโนมัติ แต่เราก็สามารถตั้งใจเก็บข้อมูลในหน่วยความจำระยะยาวได้เช่นกัน

ในบทความนี้ การทบทวน หมายถึงการเรียกข้อมูลกลับมา

การเรียกใช้ข้อมูล ก็เหมือนกับการเดินผ่านสนามหญ้า ยิ่งเราเดินผ่านบ่อยๆ มันก็จะเกิดรอยชัดขึ้น แต่ถ้าเราไม่ได้เรียกใช้งานข้อมูลนั้นบ่อยๆ ถึงแม้ว่าสมองเราจะเก็บความจำนั้นไว้ แต่มันจะติดอยู่ที่ปากและไม่สามารถเข้าถึงและนำมันมาใช้งานได้

ความตั้งใจจะช่วยให้เราทบทวนสิ่งที่เรารู้ได้ง่ายๆ สิ่งที่จะช่วยให้เราจำข้อมูลได้ง่าย ได้แก่

  • เราตั้งใจ เราสนใจบางอย่าง หรือเรากำลังมองหามัน เช่น เรามองหากุญแจ
  • ข้อมูลมันมีความหมายบางอย่าง เช่น เราสังเกตเห็นรถยี่ห้อเดียวกันกับรถของเรา หรือสีเดียวกัน หรือป้ายทะเบียนใกล้เคียงกัน
  • เราต้องทำอะไรสักอย่าง เราจะไม่สังเกตเห็นอะไร ถ้าเราไม่ได้ตั้งใจที่จะทำอะไรบางอย่าง เช่นเดินเข้าไปในครัว เราอาจจะไม่สังเกตเห็นมีดที่วางไว้ แต่ถ้าเราตั้งใจจะใช้มีด เราก็จะสังเกตเห็นมัน
  • สิ่งที่ไม่คาดคิด เช่น เราวางแก้วกาแฟไว้นานจนเย็นแล้ว แต่เราอาจจะยังคิดว่ากาแฟยังอุ่นอยู่ พอเราจับแก้วมันจะทำให้เราแปลกใจ และมันจะกระตุ้นทำให้ Hippocampus เริ่มทำงาน
  • ในสถานการณ์ที่ต้องตอบสนองแบบสู้หรือหนี เช่นเราสังเกตเห็นควันหรือได้ยินเสียงบางอย่าง เซนเซอร์และระบบประสาทสัมผัสจะไปกระตุ้นให้ Amygdala ทำงาน เพื่อให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ และมันจะสั่งให้ Hippocampus เริ่มบันทึกข้อมูลที่สำคัญ

ทบทวน กับ การเรียนรู้ซ้้ำ

การเรียนรู้จะเกิดจากการทบทวนมากกว่าการเรียนรู้สิ่งเดิมซ้ำอีกรอบ การทบทวน คือการที่เรานึกถึงข้อมูลที่เราเรียนรู้ มันจะทำให้เราจำข้อมูลนั้นได้ดีกว่าในระยะยาว

เราอาจจะเคยคิดว่าการเรียนรู้ซ้ำอีกครั้งจะช่วยให้เราจำข้อมูลได้มากขึ้น แต่นักวิจัยกลับพบว่า การทบทวนต่างหากที่ช่วยให้จดจำข้อมูลได้ดีขึ้น การทบทวนข้อมูลเดิมจะทำให้เกิด Neural Pathway ที่ชัดมากขึ้น ทำให้มันแข็งแรงมากขึ้น

การเรียนซ้ำกับการทบทวน มันต่างกันอยู่เล็กน้อย แต่มันมีผลมาก

การเรียนซ้ำกับการทบทวนแตกต่างกัน การอ่านหนังสือเรื่องเดิมซ้ำหลายรอบไม่ถือว่าเป็นการทบทวน แต่เป็นการเรียนซ้ำ การที่ครูอธิบายซ้ำอีกครั้งก็ไม่ถือเป็นการทบทวน แต่มันคือการสอนหรือให้เด็กได้เรียนรู้ซ้ำอีกครั้ง

การทบทวน คือการให้เด็กได้นึกทบทวนสิ่งที่ได้เรียนไปแล้ว

หลังจากที่เราอ่านหนังสือจบ 1 บท การที่เรานึกทบทวนเนื้อหาในบทนั้นได้ครบทุกหัวข้อ ก็จะถือว่าเป็นการทบทวนที่สำเร็จ หรือถ้าเรานึกทบทวนหัวข้อย่อยได้อีก ก็ถือเป็นอีกความสำเร็จเช่นกัน

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Kent State University ได้แบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม โดยให้นักเรียนเรียนเรื่องเดียวกันและหลังจากนั้น 46 วัน ก็ให้ทำแบบทดสอบเดียวกัน

นักเรียนกลุ่มที่ 1 ได้เรียนครั้งเดียว ส่วนกลุ่มที่ 2 หลังจากจบบทเรียน ให้ทบทวนบทเรียนสำเร็จ 1 ครั้ง และกลุ่มที่ 3 ให้แบ่งการทบทวนบทเรียนออกเป็น 3 รอบ แต่ละรอบให้ทบทวนบทเรียนให้สำเร็จ 3 ครั้ง แต่ละรอบจะเว้นช่วงห่างก่อนที่จะเริ่มรอบต่อไป

ผลปรากฎว่า กลุ่มที่ทบทวนบทเรียนทำผลงานได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ทบทวนอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญคือ นักวิจัยขอให้เด็กนึกถึงบทเรียน ให้ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนไปแล้ว ไม่ได้ขอให้เด็กเรียนซ้ำอีกครั้ง

นอกจากนั้นนักวิจัยยังได้ทดลองเพิ่มเพื่อดูผลว่า การทบทวนหลายๆ ครั้งจะมีผลทำให้จำบทเรียนได้ดีขึ้นแค่ไหน ผลปรากฎว่า การทบทวนหลังจากรอบที่ 3 จะไม่ได้มีผลช่วยให้จดจำข้อมูลได้ดีมากขึ้นอีก

การทบทวนและการเว้นช่วง มีผลอย่างมากต่อการจดจำข้อมูลและทำให้จำได้แม่นยิ่งขึ้น

ดังนั้นนักวิจัยจึงได้แนะนำว่า ให้ทบทวนบทเรียนโดยเว้นช่วงห่าง โดยแบ่งเป็น 3 รอบ แต่ละรอบให้ทบทวนบทเรียนให้ถูกต้อง 3 ครั้ง

การแชร์หรืออธิบายบทเรียนให้เพื่อนฟังก็ช่วยให้จดจำข้อมูลได้ดีขึ้น หรือการทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เรียนไปมันเกี่ยวข้องกับเรา เชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่เราเจอในชีวิตประจำวันของเราก็ช่วยได้เช่นกัน

ทบทวน ช่วยให้จำข้อมูลในระยะยาวได้ดี

งานวิจัยที่น่าสนใจอีกอย่างคือ นักวิจัยจาก South Florida University ได้แบ่งกลุ่มนักศึกษาที่เรียนวิชาคณิตศาสตร์ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่ม A ให้เรียนและให้ทำแบบทดสอบ 10 ข้อในวันเดียวกัน กลุ่ม B ให้เรียนเรื่องเดียวกัน แต่ให้ทำแบบทดสอบแค่ 5 ข้อ เวลาผ่านไป 7 วัน กลุ่ม B จึงได้ทำแบบทดสอบที่เหลืออีก 5 ข้อ

นั่นคือนักศึกษาทั้งสองกลุ่ม ได้เรียนเรื่องเดียวกันและทำแบบทดสอบชุดเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่การเว้นช่วงห่างของการทำแบบทดสอบ

หลังจากนั้น นักศึกษาทั้งสองกลุ่มได้ทำการทดสอบ กลุ่ม A ที่ทำแบบฝึกหัด 10 ข้อในวันแรกเพียงครั้งเดียว ทำคะแนนได้ 75% ส่วนกุลุ่ม B ได้คะแนน 70 %

จากผลที่ได้ เราอาจจะคิดว่าการทำแบบฝึกหัด 10 ข้อ จะช่วยให้เราทำข้อสอบได้ดี

4 สัปดาห์หลังจากการทดสอบ นักวิจัยได้ทดสอบนักศึกษาอีกครั้ง ครั้งนี้กลุ่ม A ทำคะแนนได้เพียง 32% ในขณะที่กลุ่ม B ยังทำคะแนนได้ 64% ซึ่งมากกว่ากลุ่ม A เท่าตัว

จะเห็นได้ชัดว่าการทบทวนช่วยให้การจดจำบทเรียนในระยะยาวได้ สิ่งที่เราเรียนรู้ไปมันจะอยู่ในความทรงจำได้นานขึ้นเมื่อเราได้นึกทบทวนข้อมูลนั้นอยู่เรื่อยๆ

การเว้นช่วงห่างมีผลต่อ การจดจำข้อมูล

งานวิจัยที่น่าสนใจอีกอย่างคือ นักวิจัยจาก Santa Clara และ York University ได้พยายามหาว่าการเว้นช่วงห่างมันมีผลต่อการจดจำข้อมูลแค่ไหน เค้าได้ขอให้นักเรียนจับคู่คำในภาษา Swahili และภาษาอังกฤษ โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม ทุกกลุ่มให้ทดสอบความจำระยะยาวเหมือนกัน

กลุ่มที่ 1 ไม่ได้ทบทวนความจำ และหลังจากการทดสอบปรากฎว่าจำได้ 50%

กลุ่มที่ 2 ให้ทบทวน 1 รอบในวันที่เรียนคำศัพท์ โดยเว้นช่วงห่าง 12 ชั่วโมงหลังจากที่เรียน กลุ่มนี้จำได้ 55%

กลุ่มที่ 3 ได้ทบทวนเช่นกัน แต่เป็นการทบทวนข้ามคืน กลุ่มนี้จำได้ 65%

กลุ่มที่ 4 ได้ทบทวนบทเรียนหลังจากเว้นช่วงห่าง 24 ชั่วโมงหลังจากเรียน กลุ่มนี้จำได้ 75%

ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มที่ 4 และกลุ่มที่ 3 สามารถจำคำศัพท์ได้ดีกว่าเป็นเพราะ การนอนหลับ การทบทวนและการนอนหลับช่วยให้เราจดจำข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น ในระหว่างที่เราหลับ สมองเราจะย้ายข้อมูลจากหน่วยความจำระยะสั้นไปเก็บในความจำระยะยาว

ไวตามิน Z การนอนหลับ ช่วยให้จำได้ดี

ในระหว่างที่เรานอนหลับ สมองเราจะปัดหวาด จัดเก็บ จัดระเบียบสิ่งที่เราเรียนรู้มาทั้งวัน โยนข้อมูลหรือประสบการณ์ที่ไม่จำเป็นทิ้งไป และย้ายข้อมูลที่สำคัญไปเก็บไว้ในส่วนอื่นๆ สมองจะประมวลผลความรู้ใหม่เข้ากับประสบการณ์เดิมหรือสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว

จากงานวิจัย ทำให้เรารู้ว่า การทบทวนโดยเว้นช่วงห่างอย่างน้อย 1 คืนเป็นจำนวน 3 รอบ ช่วยให้เราจดจำข้อมูลได้มีประสิทธิภาพที่สุด ดังนั้นเราจึงควรแบ่งบทเรียนออกเป็นตอนสั้นๆ ให้เราได้เรียนรู้และเว้นช่วงห่างให้เราได้ทบทวน มันจะช่วยให้เราเรียนรู้และจดจำได้ดียิ่งขึ้น

สมอง กับการจัดระเบียบข้อมูล

สมองมีระบบจัดการข้อมูล โดยจัดประเภทของข้อมูลที่เราเรียนรู้ เช่นเดียวกันกับที่คอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลโดยแบ่งเป็น Folder นักวิทยาศาสตร์เรียกมันว่า Schema ซึ่งมันจะสร้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเรียนรู้ เช่น ความรู้เรื่องกล้วย เราก็จะนึกถึงรูปทรง สีหรือกลิ่นของของมัน

Schema จริงๆ แล้วก็คือ Neural Network หรือโครงข่ายประสาท และมันจะใหญ่และแข็งแรงขึ้นเมื่อเราเพิ่มข้อมูลเข้าไป หลังจากที่เรียนรู้ว่ากล้วยมีประโยชน์อะไรบ้าง หรือกล้วยแต่ละพันธุ์เอาไว้ทำอาหารอะไรได้บ้าง มีประวัติความเป็นมา หรือเกี่ยวข้องกับข้อมูลเรื่องอื่นๆ ยังไงบ้าง เมื่อเราเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ข้อมูลเรื่องกล้วยก็จะถูกเก็บไว้ในหลายๆ  Schema

เมื่อเราเติบโตและเรียนรู้มากขึ้น Neural Network ก็จะใหญ่ขึ้น และเราสามารถใช้ความสามารถของสมองในการเชื่อมโยงความรู้ได้ โดยการเชื่อมโยงสิ่งที่เราเพิ่งเรียนรู้เข้ากับความรู้เดิมในสมอง เทคนิคนี้ทำให้เกิดปรากฎการณ์ 2 อย่าง ได้แก่

  • Aha Moment หรือ Insight เมื่อเราเห็นความเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม หรือความรู้เดิมของเรา ทำให้เราคิดออก
  • เมื่อเราเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม มันจะทำให้ยากที่เราจะลืมเรื่องนั้น Neural Network มันจะแข็งแรงมากขึ้นและรวมตัวกันมากขึ้น

ดังนั้นเราสามารถใช้ Schema ให้เกิดประโยชน์ได้ โดยการพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูล เทคนิคทั้ง 5 ต่อไปนี้จะช่วยให้เราเรียนรู้และจดจำข้อมูลได้ดีและนานขึ้น และทำให้เรานำกลับมาได้ง่ายขึ้น

  • Metacognition
  • Wordplay
  • Insight
  • Social Engagement
  • Music

Metacognition การคิดเกี่ยวกับการคิด

การยกระดับความคิด การคิดเกี่ยวกับการคิด คือการที่เรารู้และเข้าใจการเรียนรู้ของตัวเราเอง เข้าใจเป้าหมายของการเรียนรู้ แล้วหาวิธีที่จะเรียนรู้และประเมินว่าเราบรรลุเป้าหมายนั้นหรือยัง

เราจะต้องมองว่าตัวเราคือคนที่ควบคุมการเรียนรู้ของเราเอง และเราจะต้องมุ่งมั่นและหาวิธีที่จะเรียนรู้ให้ดีขึ้น เช่น นักกีฬาที่เพิ่งเริ่มฝึก ก็จะต้องรู้ตัวว่าสถานะของตัวเองอยู่ขั้นไหน มีความสามารถแค่ไหน การที่จะวิ่งให้ได้ดีที่สุด ก็จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการวิ่ง เปลี่ยนความเร็ว เปลี่ยนระยะเวลาที่หยุดพัก ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองในขณะนั้น การที่คิดเกี่ยวกับการเรียนรู้หรือการฝึกซ้อม การที่เรารู้ตัวจะทำให้เกิดแรงกระตุ้นให้เราฝึกฝนอยู่เสมอ

เราสามารถฝึกการยกระดับความคิด หรือทำให้เราคิดเกี่ยวกับการคิดได้ โดยจะต้องพยายามหาโอกาสซักถาม พยายามหาเป้าหมายในสิ่งที่เรากำลังเรียนรู้ ในระหว่างเรียนก็ให้ประเมินตัวเองอยู่ตลอดเวลา ให้รู้ตัวเองว่าเราเข้าใจสิ่งที่เราเรียนหรือเปล่า ลองทำแบบฝึกหัดที่ยากขึ้น ลองฝึกอธิบายสิ่งที่เราเรียนรู้ ให้เพื่อนฟัง หรืออธิบายสิ่งที่เราคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราเรียนรู้

การจดบันทึกก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้เรายกระดับความคิดได้ เพราะการที่เรากลับไปอ่านสิ่งที่เราจดไว้ อาจทำให้เปลี่ยนความคิดเราได้

Wordplay ใช้บทกลอน จังหวะคล้องจองกัน

การใช้บทกลอนหรือคำที่มีจังหวะคล้องจองกัน การใช้ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ มีความไพเราะ ท่วงทำนองและจังหวะเสียงสูงต่ำ ทำให้การเรียนรู้สนุกขึ้น และทำให้เราจดจำข้อความได้ดีขึ้น

รถไฟ ไม่ใช่รถเจ๊ก มันทำด้วยเหล็กฉึกฉัก ฉึกฉัก รถเจ๊ก ไม่ใช่รถไฟ มันทำด้วยไม้ คลอกแคลก คลอกแคลก

อึ่งอ่างมันนั่งข้างโอ่ง มานั่งหลังโก่งจะคอยกินมด เด็กเอ๋ยเจ้าอย่าพูดปด เด็กเอ๋ยเจ้าอย่าพูดปด จะกลายเป็นมดอาหารอึ่งอ่าง

บทเพลงเหล่านี้จะช่วยให้เราจำได้นานเป็นเดือน การใช้คำและภาษาจะช่วยให้สมองเราเก็บข้อมูลไว้ในหน่วยความจำระยะยาวได้ เพราะมันไปกระตุ้นระบบศูนย์กลางของภาษาในสมองของเรา ทำให้เชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับคำอื่นๆ ที่เรารู้อยู่แล้ว

Insight คิดออก ทำให้จำได้ดี

การคิดออก การคิดได้ด้วยตัวเอง เกิดจากการที่เราใช้ประสบการณ์และสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วปะติดปะต่อกันจนทำให้เราเข้าใจ หรือทำให้เราหาวิธีที่จะแก้ปัญหาได้ การที่เราคิดออก จะทำให้เราจำสิ่งนั้นได้ตลอดไป

เราสามารถเพิ่มโอกาสที่เราจะคิดออกได้ด้วยการเรียนรู้แนวคิดเพิ่มเติม พยายามเรียนรู้ด้วยตัวเราเอง หลังจากเรียนจบบทเรียนให้หยุดพัก เพื่อให้มีเวลาในการทบทวนความเข้าใจ เช่น อาจจะออกไปเดินเล่น ว่ายน้ำ หรือทำกิจกรรมผ่อนคลายที่ตัวเองถนัด

เวลาที่ดีที่สุดที่จะคิดออก คือเวลาที่เราไม่คิดถึงมัน

Social Engagement การเรียนรู้เป็นกลุ่ม

การเรียนรู้เป็นกลุ่มจะช่วยให้เราได้ถามคำถาม ช่วยให้เราได้รับคำตอบจากเพื่อนในกลุ่ม ทำให้เราได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หลายคนชอบที่จะอธิบายให้เพื่อนคนอื่นๆ ฟัง ชอบช่วยเหลือเพื่อน เพราะนอกจากจะสนุกกับการเรียนรู้แล้ว ยังช่วยให้เกิดความมั่นใจ และบางคนก็ชอบที่จะรับฟังหรือให้เพื่อนระดับเดียวกันอธิบายเรื่องที่ไม่เข้าใจ แต่ก็มีบางคนที่ชอบเรียนรู้คนเดียว ซึ่งเหตุผลก็เพื่อต้องการสมาธิ

Music เสียงเพลง และ ความทรงจำ

เวลาที่เราได้ยินเสียงเพลง ทำให้เราจำบางอย่างได้ ทำให้เรานึกถึงบางอย่าง ความทรงจำ ที่มันเชื่อมโยงกับเพลงนั้น ๆ บางครั้งเสียงเพลงจะติดอยู่ในหัวเรา ยากที่จะสลัดมันออกจากหัวของเราไปได้

ดนตรีมีผลทำให้กระตุ้นสมองของเราได้ มีงานวิจัยที่ค้นพบว่าดนตรีช่วยทำให้คนป่วยโรคอัลไซเมอร์จำได้ ช่วยนำความทรงจำกลับมา หรือช่วยให้จำข้อมูลได้ดีขึ้น

เสียงเพลงช่วยให้เราตั้งใจ ทำให้เรามีสมาธิ ช่วยทำให้อารมณ์เปลี่ยน และช่วยทำให้เห็นภาพได้ เสียงเพลงช่วยให้เรามีสมาธิในการทำงานและช่วยให้เราอารมณ์ดีขึ้น เสียงเพลงช่วยให้เราจัดการกับอารมณ์ได้ดีขึ้น

เสียงเพลง ดนตรีแต่ละแบบจะเหมาะกับกิจกรรมที่แตกต่างกัน เช่น ใช้เสียงเพลง Upbeat เพื่อกระตุ้นในระหว่างการเรียน หรือในระหว่างการเขียนหรืออ่านหนังสือให้เปิดเพลงบรรเลงหรือเพลงคลาสสิกเพื่อให้มีสมาธิมากขึ้น เพลงเร็วๆ จะช่วยให้อารมณ์ของเราเปลี่ยน ทำให้ใจฮึกเหิม ในขณะที่เปิดเพลง Ambient ที่เน้นเสียงบรรยากาศโดยรอบ ฟุ้งๆ ซึ่งสื่อถึงความเป็นธรรมชาติ จะช่วยให้ใจเราสงบลงและมีสมาธิมากขึ้น

อารมณ์ และ ความทรงจำ

การใช้อารมณ์เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เราย้ายความจำระยะสั้นไปเก็บไว้ในหน่วยความจำระยะยาวได้ โครงสร้างสมองของมนุษย์มีอยู่ 3 ชั้น ได้แก่ Reptilian  Limbic และ Neocortex

สมองชั้นพื้นฐานคือ Reptilian ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับความอยู่รอด ประสาทสัมผัสของเราจะตรวจสอบสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลาเพื่อค้นหาสัญญาณของอันตราย ถ้ามันตรวจจับสัญญาณอันตรายได้ Amygdala ก็จะเริ่มทำงาน โดยตอบสนองในโหมดสู้หรือหนี ร่างกายเราจะหลั่ง Adrenaline และ Cortisol ออกมา ทำให้หัวใจเต้นถี่ขึ้น ปั๊มเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ ปอดขยายเพื่อรับออกซิเจนมากขึ้น Fibrinogen และ Endorphin จะหลั่งออกมาเพื่อทำให้เลือดแข็งตัวและลดอาการเจ็บปวดกรณีที่ร่างกายบาดเจ็บ เป้าหมายก็เพื่อให้เรามีชีวิตรอดในสถานการณ์อันตราย

สมองชั้นกลางคือ Limbic ที่ตอบสนองทางอารมณ์ซับซ้อนนอกเหนือจากความกลัวหรือความโกรธ ความอยู่รอดของเราจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการสื่อสารกับคนอื่นๆ การรวมกลุ่ม การดูแลผู้ที่อ่อนแอกว่า

สมองชั้นนอกสุดคือ Neocortex ที่ทำให้เราคิดวิเคราะห์และตัดสนใจโดยใช้เหตุผลได้

ตอนที่สมองชั้น Reptilian ทำงาน มันจะปิดการทำงานของสมองส่วนอื่นๆ รวมถึงการรู้ตัวและการวิเคราะห์ ในสถานการณ์ที่เราต้องเอาตัวรอด เราอาจไม่มีเวลาหรือพลังงานพอที่จะเอาตัวรออด ถ้าเรามัวแต่จะคิดวิเคราะห์ หรือในกรณีที่เราบาดเจ็บ การที่เราไม่มีสติก็เพื่อให้ให้เราไม่รับรู้ถึงอาการบาดเจ็บซึ่งจะทำให้เราช๊อกได้

สมองส่วน Amygdala อยู่เชื่อมติดกันกับ Hippocampus รับข้อมูลจากเซนเซอร์และระบบประสาท ถ้าเราได้กลิ่นควัน เราก็จะถูกกระตุ้นให้ระวังตัว เมื่อ Amygdala ถูกกระตุ้น มันจะไปสั่งให้ Hippocampus บันทึกข้อมูล เพื่อให้เราจำสถานการณ์นี้ได้ นอกจากเหตุการณ์อันตรายแล้ว เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงบวกก็ทำให้กระตุ้น Amygdala ได้เช่นกัน ถ้าเราถูกหวย Amygdala ก็จะสั่งให้ Hippocampus บันทึกข้อมูลทันที

ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ กลัว ยินดี ต่างก็กระตุ้นให้ Amygdala ทำงานได้

นักจิตวิทยา Abraham Aslow ได้จำแนกลำดับความจำเป็นของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจ ซึ่งมีอยู่ 3 อย่าง

  1. เพื่อความอยู่รอด แรงจูงใจหลักของเราคือการเอาตัวรอด ไม่ว่าอะไรที่จะทำร้ายร่างกายเรา Amygdala จะไปกระตุ้น Hippocampus
  2. การเป็นส่วนหนึ่ง ในยามสงบสุข เราจะเปลี่ยนความจำเป็นของเราไปเป็น การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มนุษย์เราต่างก็ต้องการความสัมพันธ์ที่มีความหมาย การได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม การรู้สึกมีคุณค่าในกลุ่ม Amygdala จะทำงานเมื่อเราอยู่ในสังคม
  3. ระดับสูงสุดคือการรู้ตัวเอง รู้ศักยภาพของตัวเอง Amygdala และ Hippocampus จะทำงานเมื่อเราเกิดความรู้สึกยินดีและตื่นเต้น เมื่อเรารู้ศักยภาพและมีจุดมุ่งหมายที่มีคุณค่า มีความหมาย

อารมณ์เป็นได้ทั้งความสุข เศร้า ตื่นเต้น หรือน่าเบื่อ สมองเราตอบสนองต่ออารมณ์เชิงลบได้มากกว่าอารมณ์เชิงบวก ลองนึกถึงตอนที่เราเครียดที่ต้องอ่านหนังสือสอบ หรือเป็นจุดสนใจต้องออกไปรายงานหน้าชั้น แต่อารมณ์เชิงลบที่รุนแรงมากเกินไปก็อาจจะไปทำให้ปิดกั้นการเรียนรู้ได้ ดังนั้นเราจะต้องพยายามให้รักษาอารมณ์เชิงบวกเอาไว้ให้ได้

อารมณ์ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้คืออารมณ์เชิงบวก  ส่วนการที่จะสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวกในระหว่างการเรียนรู้ ก็สามารถทำได้โดยใช้

  • การแชร์ความรู้กับเพื่อนๆ
  • เกมการแข่งขันเล็กๆ การได้รับรางวัล ช่วยกระตุ้นให้เราเรียนรู้ได้ดี
  • การใช้อารมณ์ขัน การเล่าเรื่องราว
  • การเรียนรู้เมื่อเราต้องการ ในตอนที่เราสงสัยอยากรู้ จะทำให้เกิดความพึงพอใจ

ระดับที่ 3 คือการทำ

ในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องของการลงมือทำ การทำจนเป็นนิสัย ให้เรามีทักษะติดตัว ให้ความรู้อยู่กับเรา เป็นส่วนหนึ่งของเรา

Like what you read? Please share it with your friends so we can get their thoughts!

Previous ArticleNext Article