
การเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่การเรียนในชั้นเรียนหรือการฝึกอบรม แต่เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับอะไรก็ได้ การรู้ตัว การเข้าใจ การพัฒนาทักษะและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น การได้รู้มากขึ้น เชี่ยวชาญมากขึ้น
บันทึกการอ่าน ข้อคิดดีๆ
- รู้จัก ส่วนประกอบของสมอง บทบาทของสมองที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้
- สมองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยการฝึกบ่อยๆ และใช้สมองบ่อยๆ
- คนที่เป็นประเภท Growth Mindset คือคนที่เชื่อว่าตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ พัฒนาให้ดีขึ้นได้ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้จากการฝึกฝน
- คำว่า ยัง เป็นหัวใจหลักของคนประเภท Growth Mindset
- เข้าใจแนวคิดการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้ของโนลส์ (Knowles) และ ทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูม
- การเรียนรู้เริ่มขึ้นเมื่อ Hippocampus รับข้อมูลหรือบันทึกข้อมูล และย้ายข้อมูลนั้นไปไว้ในหน่วยความจำ
- Hippocampus จะทำงานได้ดีถ้าเราตั้งใจ มีสมาธิ แต่ Hippocampus ก็มีขีดจำกัด เราจะมีสมาธิและตั้งใจรับข้อมูลได้สูงสุดประมาณ 20 นาที จากนั้นเราจะต้องพัก
- เคล็ดลับในการจำข้อมูล โดยการเขียนและการวาด ช่วยให้ Hippocampus ย้ายข้อมูลไปเก็บในหน่วยความจำระยะสั้นได้ดีขึ้น
บรรพบุรุษเราเรียนรู้การใช้ชีวิต รู้จักแยกแยะว่าผลไม้ พืชชนิดไหนที่กินได้ ไม่มีอันตราย การหลบหลีกภัยอันตรายจากสัตว์ร้าย หรือการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า โดยการอ่านสีหน้าของคนอื่นๆ ในปัจจุบันเราก็ยังต้องเรียนรู้ แต่ไม่ใช่เพื่อการหาอาหารหรือที่อยู่อาศัย แต่เป็นการเรียนรู้การขับรถ ใช้คอมพิวเตอร์
Wired to Grow เป็นหนังสือที่จะช่วยให้เราดึงความสามารถที่แท้จริงของเราออกมา โดยการเข้าใจวิทยาศาสตร์การเรียนรู้ Neuroscience of Learning จะช่วยให้เราพัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้ได้ดีที่สุด
เราแบ่งบทความนี้ออกเป็น 3 ตอนย่อย
- ตอนที่ 1 เป็นเรื่องของแนวคิดหรือรูปแบบการเรียนรู้
- ตอนที่ 2 เป็นขั้นตอนของการจำสิ่งที่เราเรียนรู้ มันคงไม่มีประโยชน์ถ้าเราจำไม่ได้
- ตอนที่ 3 เป็นขั้นตอนของการทำ ทำจนเกิดเป็นนิสัย ทำให้ความรู้นั้นมันติดตัวเราตลอดไป
Neuroscience
มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสมองขณะที่เราเรียนรู้ สมองของเรามีการปรับเปลี่ยนยังไงบ้าง ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ทำให้เราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในสมองและร่างกายในระดับเล็กมากๆ ได้ ทำให้เรารู้ว่าแต่ละส่วนในสมองต่างก็มีหน้าที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ในแต่ละระดับ
การเรียนรู้เริ่มต้นจากการรับข้อมูลใหม่ และเก็บข้อมูลนั้นไว้ในความทรงจำ จากนั้นจึงนำไปใช้เปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้เกิดเป็นนิสัย
ส่วนประกอบของสมอง บทบาทของสมองที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้
ในสมองของเรา ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ประกอบไปด้วย Hippocampus, Amygdala และ Basal Ganglia
Hippocampus กำหนดว่าเราจะเรียนรู้อะไรและจะเรียนรู้ได้ยังไง อยู่ตรงกลางของกระโหลก กินพื้นที่ทั้งซ้ายและขวา ยึดติดอยู่กับ Amygdala ซึ่งเป็นส่วนที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการอยู่รอด การตอบสนองแบบสู้หรือหนี
เซนเซอร์ ระบบประสาทการมองเห็น การได้ยิน และกลิ่น จะถูกเชื่อมอยู่กับ Amygdala โดยตรง เมื่อไหร่ที่ Amygdala ถูกกระตุ้น ก็จะไปทำให้ Hippocampus เริ่มทำงานด้วยเช่นกัน
ส่วน Basal Ganglia มีบทบาททำหน้าที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนพฤติกรรมให้กลายเป็นนิสัย อะไรก็ตามที่เราทำบ่อยๆ เป็นประจำ จากเดิมที่เราต้องใช้ความพยายาม หรือที่เราต้องฝึกฝน มันจะกลายเป็นธรรมชาติ เช่น การขับรถ การใช้มือถือ
Neuron หรือ Nerve Cell หรือ เซลล์ประสาท
เซลล์ที่เชื่อมต่อและสื่อสารระหว่างกันโดยใช้สัญญาณไฟฟ้าและสารสื่อประสาท การสื่อสารระหว่าง Neuron จะเกิดขึ้นตรงจุดเชื่อมต่อที่เรียกว่า Synapse และจะทำให้เกิด Neural Pathway ซึ่งเป็นเส้นทางที่แตกต่างกันของการสื่อสารผ่านกลุ่มของ Neuron ที่เกิดจากการทำกิจกรรม การคิด หรืออารมณ์ความรู้สึก
นักวิทยาศาสตร์สามารถเห็นและวัดความหนาแน่นของเซลล์ที่มากขึ้นเมื่อมีการใช้งาน ยิ่งเราใช้งาน Neural Pathway เดิมบ่อยขึ้น การเชื่อมต่อระหว่าง Neuron ก็จะแข็งแรงและเด่นชัดมากขึ้น เช่นเดียวกันกับกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ที่มันจะแข็งแรงขึ้นเมื่อมีการใช้งานบ่อยๆ
วิทยาศาสตร์ทำให้เราพบว่า เราสามารถเพิ่มความแข็งแรงของ Neural Pathway ที่ทำให้เรามีความสุขได้
Neuroplasticity สมองสามารถเปลี่ยนแปลงได้
สมองของเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ มันสามารถขยายขนาดโตขึ้นและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิตของเรา แนวคิดนี้มันท้าทายความเชื่อเดิมๆ ที่เราเคยมี ท้าทายแนวคิดเดิมที่เราเคยเชื่อว่าสมองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้เรารู้ว่ามันไม่สายที่เราจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การเปลี่ยนความคิด การเปลี่ยนมุมมอง ทักษะและพฤติกรรมของเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้
สิ่งที่เราเรียนรู้ในตอนเด็กๆ สิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้ไม่ดี ตอนเด็กๆ เราอาจจะไม่เก่งไม่ถนัดวิชาเลข หรือเข้ากับคนอื่นๆ ไม่ได้ เราอาจจะคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันจะติดตัวเราไปตลอด วิทยาศาสตร์ทำให้เรารู้ว่ามันไม่จริง ตอนเด็กๆ เราอาจจะไม่ได้พัฒนา Neural Pathway สำหรับเรื่องนั้นๆ แต่เรารู้ว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ในภายหลัง โดยการฝึกบ่อยๆ และใช้มันบ่อยๆ ในที่สุดเราก็จะเปลี่ยนแปลงได้
Fixed Mindset และ Growth Mindset
ในมุมมองเกี่ยวกับการเรียนรู้ หรือความเชื่อเรื่องการเรียนรู้และการเติบโต เราสามารถแบ่งคนออกเป็นสองประเภท คือ Fixed Mindset และ Growth Mindset
คนที่เป็นประเภท Fixed Mindset เชื่อว่าลักษณะและบุคคิกภาพ เช่น IQ หรือทักษะการเข้าสังคมจะถูกกำหนดตายตัว เปลี่ยนแปลงไม่ได้เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ คนประเภทนี้มักจะคิดว่า เราก็เป็นของเราแบบนี้แหล่ะ ช่วยไม่ได้ แล้วเราก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ด้วย
ต่างกับคนที่เป็นประเภท Growth Mindset ที่เชื่อว่าตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ สามารถที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นได้ สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ การฝึกฝนมากขึ้น การเรียนรู้และความพยายาม เป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่ความเชี่ยวชาญ คนประเภทนี้จะคิดว่า ถึงแม้ว่าตอนนี้อาจจะยังทำได้ไม่ดีพอ หรือยังไม่สามารถทำได้ในตอนนี้ แต่เราสามารถฝึกฝนเรียนรู้และทำให้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ คำว่า ยัง เป็นหัวใจหลักของคนประเภท Growth Mindset
เราไม่จมอยู่กับสิ่งที่เราเคยเป็น สิ่งที่เราเคยเรียนมาตอนเด็กๆ เราสามารถเรียนรู้ที่จะเก่งในหลายๆ ด้านได้ ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์หรือภาษา
จากงานวิจัยพบว่ากลุ่มคนประเภท Growth Mindset ทำแบบทดสอบได้ดีกว่าคนที่เป็น Fixed Mindset นักวิจัยได้แบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม โดยบอกจุดประสงค์ของการทดสอบที่ต่างกัน นักวิจัยได้บอกคนกลุ่มแรกว่าจะนำผลทดสอบไปเปรียบเทียบกับคนในกลุ่ม จุดประสงค์คืออยากรู้ว่าทำได้ดีแค่ไหน ส่วนอีกกลุ่มที่บอกว่าให้เปรียบเทียบกับตัวเอง จุดประสงค์คือการวัดความก้าวหน้าของแต่ละคน นั่นคือ คำถามข้อ 1-5 จะนำไปเปรียบเทียบกับคำถามข้อ 6-10
สำหรับคำถามข้อ 1-5 นั้นทั้งสองกลุ่มสามารถทำคะแนนได้พอๆ กัน และพบว่ากลุ่มหลังสามารถทำคะแนนในข้อ 6-10 ได้ดีกว่ากลุ่มแรกอย่างเห็นได้ชัด
การเรียนรู้ทั้ง 3 ระดับ
การเรียนรู้คือหนทางแห่งการพัฒนา คนเขียนได้สร้างรูปแบบของการเรียนรู้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ Learn, Remember, Do หรือเรียนรู้ จดจำ และนำไปใช้
ทั้ง 3 ระดับมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ในขั้นตอนแรกคือการรับเอาข้อมูลใหม่ๆ เข้ามา หลังจากนั้นจดจำสิ่งที่เรียนรู้ เพราะถ้าเรียนวันนี้แต่พรุ่งนี้ลืม ก็ไม่เกิดประโยชน์ และสุดท้ายถึงจะเรียนรู้ ถึงจะจำได้ แต่ไม่นำไปใช้ประโยชน์ ก็ไม่มีอะไรดีเกิดขึ้น
ระดับที่ 1 คือการเรียนรู้
Knowles นักการศึกษาชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง ในปี 1980 เค้าได้สร้างข้อสันนิษฐาน 4 ข้อเกี่ยวกับการเรียนรู้ในผู้ใหญ่ และเพิ่มอีก 1 ข้อในปี 1984
ทฤษฎีการเรียนรู้ของโนลส์ (Knowles)
ข้อสันนิษฐานเรื่องการเรียนรู้ในผู้ใหญ่ของ Knowles
- เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เราจะมีมุมมองของเราเอง และเรียนรู้ในแบบของเราเอง เราเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
- เมื่อเราผ่านชีวิตมากขึ้น เราจะมีความรู้และประสบการณ์มากขึ้น และมันจะเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในอนาคต
- ในฐานะผู้ใหญ่ เราต่างก็มีความรับผิดชอบ เราต้องแก้ปัญหาในชีวิต นั่นทำให้การเรียนรู้เป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น
- การเรียนรู้จะเป็นแบบเฉพาะทางมากขึ้น จะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะอย่าง จะต่างจากการเรียนรู้ในวัยเด็กที่เป็นแบบพื้นฐานทั่วๆ ไป
- แรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดการเรียนรู้มาจากภายใน เกิดจากความสนใจส่วนตัว ต่างจากตอนเด็กที่เกิดจากการบังคับ เด็กมีหน้าที่ต้องเรียนหนังสือ
จากข้อสันนิษฐานทั้ง 5 นี้ ทำให้เกิดหลักการพื้นฐานทั้ง 3 อย่าง
- การเรียนรู้ต้องคำนึงถึงพื้นฐานที่แตกต่างกัน ประสบการณ์ที่ต่างกัน ทักษะที่ต่างกัน แต่ละคนมีสไตล์การเรียนรู้ที่ต่างกัน
- การเรียนรู้ควรจะให้นักเรียนได้ค้นหา ได้ทดลองเอง การทำผิดพลาดจะเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้
- การเรียนรู้ควรจะคำนึงถึงสภาวะแวดล้อม สถานที่อยู่อาศัย คนเรียนจะต้องรู้เป้าหมาย รู้ว่าทำไมถึงต้องเรียน
ทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูม ความรู้มีหลายระดับ
Benjamin Bloom นักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกัน เป็นคนที่คิดค้นทฤษฎี Mastery Learning หรือทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อให้เชี่ยวชาญ และ Bloom’s Taxonomy of Knowledge ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ความรู้มีหลายระดับและความรู้แต่ละอย่างมีความแตกต่างกัน
ระดับที่ 1 คือ การจำ เช่น เด็กจำได้ว่า 2 + 2 เท่ากับ 4
ระดับที่ 2 คือ การเข้าใจ เด็กจะเข้าใจว่านี่คือการบวก ดังนั้นเราสามารถเอา 3 ไปบวกกับ 5 แล้วจะได้ 8
ระดับที่ 3 คือ การนำไปใช้ การที่เราเอาความรู้เรื่องนี้ไปใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่นๆ เช่น เอาความรู้เรื่องการบวกและการลบ ไปใช้ทำบันทึกรายรับรายจ่าย
ระดับที่ 4 คือ การวิเคราะห์ การจัดเรียงข้อมูล การค้นหาความสัมพันธ์ของข้อมูลและโครงสร้าง
ระดับที่ 5 คือ การประเมิน การตัดสินโดยใช้เงื่อนไขบางอย่าง การรีวิว การแนะนำและการจัดลำดับข้อมูล
ระดับที่ 6 คือ การสร้างสรรค์ การวางแผน การออกแบบ การประดิษฐ์ เป็นการนำเอาความรู้และแนวคิดเพื่อนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่
วงจรการเรียนรู้
David Kolb นักทฤษฎีการศึกษาชาวอเมริกัน ในปี 1984 ได้นำเสนอรูปแบบการเรียนรู้ Kolb Model of Experiential Learning
รูปแบบการเรียนรู้ที่แบ่งออกเป็น 2 แกน ได้แก่แกน Perception หรือระดับการรับรู้ข้อมูล บ่งบอกถึงความ Abstraction ของข้อมูลที่เรียนรู้ ข้อมูลเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เป็นเชิงทฤษฎีหรือปฏิบัติ
ส่วนอีกแกนคือ Processing หรือการประมวลผล บ่งบอกถึงระดับการ Practice เริ่มตั้งแต่การดูตัวอย่างจากคนอื่นๆ ไปจนถึงการทดลองลงมือทำด้วยตัวเอง
จากทั้ง 2 แกน Perception และ Processing ทำให้เราแบ่งโซนของการเรียนรู้ได้เป็น 4 โซน ซึ่ง Kolb บอกว่าการเรียนรู้ที่ดีนั้น จะต้องเกิดขึ้นทั้ง 4 โซน และสามารถกระโดดข้ามไปมาระหว่างกันได้
ปกติเรามักจะเริ่มต้นเรียนรู้ทฤษฎีก่อน จากนั้นจึงเรียนรู้เรื่องการประยุกต์ใช้งาน หลังจากนั้นค่อยดูตัวอย่างการใช้งาน แล้วสุดท้ายก็ลงมือทำ ลองปฏิบัติจริง ทดลองจริง
Hippocampus เรียกร้องความสนใจ
การเรียนรู้เริ่มขึ้นเมื่อ Hippocampus รับข้อมูลหรือบันทึกข้อมูล และย้ายข้อมูลนั้นไปไว้ในหน่วยความจำ
Hippocampus ทำหน้าที่คล้ายกับเครื่องบันทึก และเช่นเดียวกันกับอุปกรณ์บันทึกข้อมูลทั่วไปที่มักจะมีปุ่มกดเริ่มบันทึก ซึ่งก็คือตอนที่ตาและหูของเราเริ่มรับข้อมูล ตาของเรามองเห็นและหูของเราได้ยินเสียง ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราตั้งใจดูหรือตั้งใจฟัง มันจะทำให้ Hippocampus เริ่มบันทึกข้อมูล เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้
แต่ถ้าเราไม่ตั้งใจ เราจะไม่สามารถบันทึกข้อมูลสำคัญได้ดี ทำให้การย้ายข้อมูลไปไว้ในหน่วยความจำไม่ต่อเนื่อง การทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน ทำให้เราไม่มีสมาธิ
ถึงเราจะคิดว่าสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้พร้อมๆ กัน แต่นักวิจัยก็ได้พิสูจน์แล้วว่ามันไม่จริง
การทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน จริงๆ แล้วเป็นการแบ่งความสนใจของเรา ความตั้งใจของเราจะสลับไปมาระหว่างกิจกรรม
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสลับความตั้งใจของเรา Hippocampus จะสูญเสียข้อมูลสำคัญไป ทำให้เกิดช่องว่างของข้อมูล ข้อมูลไม่ปะติดปะต่อ ทำให้บันทึกข้อมูลได้ไม่ต่อเนื่อง และทำให้การเรียนรู้ไม่ต่อเนื่อง
Hippocampus ไม่สามารถบันทึกข้อมูลสมบูรณ์แบบได้จากหลายๆ ทาง ดังนั้นเราจึงต้องตั้งใจ เช่น ตอนที่เราฟังคนพูดอยู่ในห้องประชุม ถ้าเราเปิดอ่านอีเมลไปด้วย เราก็จะไม่สามารถจำหรือเข้าใจสิ่งที่เราอ่านได้ทั้งหมด และเราก็ไม่สามารถฟังและเข้าใจคนที่พูดในที่ประชุมได้ครบเช่นกัน
Hippocampus บันทึกข้อมูลได้จำกัด
สมองต้องการพัก จากการศึกษาพบว่า Hippocampus สามารถรับข้อมูลได้สูงสุดประมาณ 20 นาที มันสามารถบันทึกข้อมูลได้จำกัด ทำให้เราสนใจ มีสมาธิและตั้งใจได้ในเวลาจำกัด หลังจากนั้นเราจะต้องพัก เป็นเวลา 2-3 นาที เพื่อให้มันประมวลผลข้อมูล และส่งข้อมูลไปเก็บในหน่วยความจำระยะสั้น หลังจากนั้น Hippocampus ก็พร้อมที่จะรับและบันทึกข้อมูลได้อีกครั้ง
ดังนั้นในชั้นเรียนควรจะแบ่งบทเรียนเป็นบทเล็กๆ แต่ละบทไม่ควรใช้เวลาเกิน 20 นาที เพื่อให้เด็กได้พัก หลังจากนั้นจึงให้เด็กได้เรียนบทอื่นต่อไป และเราไม่ควรไปโทษเด็กที่ไม่ตั้งใจฟังหรือไม่สนใจครูผู้สอน เพราะเด็กไม่ได้เบื่อ แต่เป็นเพราะพวกเค้าอิ่มแล้ว เค้าต้องการพัก มันต่างกัน
บันทึกการอ่าน ด้วยการจดบันทึก
การจดบันทึกจะช่วยให้ Hippocampus ส่งข้อมูลไปเก็บในหน่วยความจำได้ดีขึ้น เพราะการจดบันทึกเป็นการใช้เซนเซอร์และประสาทนอกเหนือจากการมองเห็นและการได้ยิน การจดบันทึกมันทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยเฉพาะการจดบันทึกด้วยการเขียน จะได้ผลดีกว่าการพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ เพราะว่าการพิมพ์มันทำได้เร็วกว่ามาก ส่วนการจดนั้นบางครั้งเราไม่สามารถจดได้ทุกคำ เราจะต้องสรุปใจความสำคัญที่เราได้ฟัง จากนั้นค่อยจดลงไป ทำให้เราได้ใช้สมองคิดและจัดระบบมากกว่า
บันทึกการอ่าน ด้วยการวาดรูป
การวาดรูปเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการจดบันทึก และก็เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราจำได้ดีขึ้น การคิดแบบรูปธรรม การจดบันทึกด้วยการวาดภาพ จะช่วยให้จดจำข้อมูลได้ดีขึ้นถึง 29% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้วาดภาพ
การวาดรูปมันเป็นการช่วยให้เราได้คิดมากขึ้น ช่วยให้เราตั้งใจมากขึ้น ช่วยให้ Hippocampus ย้ายข้อมูลไปเก็บในหน่วยความจำระยะสั้นได้ดีขึ้น
ระดับที่ 2 คือการจำ
ในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องของการจดจำข้อมูล มีเทคนิคหลายๆ แบบที่เราสามารถฝึกเพื่อให้จำข้อมูลได้ดีขึ้น การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ การรวบรวมความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม การใช้คำและภาษาช่วยให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก การทำความเข้าใจได้ด้วยตัวเอง หรือแม้กระทั่งการใช้ดนตรี เสียงเพลงช่วยให้เรามีสมาธิ มุ่งมั่นกับการเรียนรู้ได้
11 Comments