
คาเฟอีนช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น ช่วยให้มีสมาธิทำงานได้ดีขึ้น ช่วยให้ร่างกายมีพลังทำงานได้ทั้งวัน ช่วยให้สมองทำงานได้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้ใจสงบลงแต่ยังคงเฉียบคม คาเฟอีนให้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หลายคนดื่มกาแฟเพราะเชื่อว่ามันให้พลังงาน แต่จริงๆ แล้วกาแฟหรือคาเฟอีน ไม่ได้มีพลังงาน แต่เป็นเพราะว่ามันไปขัดขวางสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ดังนั้นจึงทำให้เราตื่นตัว ช่วยให้เราไม่ง่วงนอน
จุดเริ่มต้นของความนิยมกาแฟ
นับตั้งแต่ยุคกลาง กาแฟเริ่มเป็นที่นิยมในโลกอาหรับ และในศตวรรษที่ 17 กาแฟก็กลายเป็นที่ต้องการของคนในยุโรปด้วย แต่ก่อนที่กาแฟจะกลายเป็นที่นิยมในวงกว้าง ในตอนนั้นผู้คนยังคงดื่มเบียร์หรือไวน์ตลอดทั้งวัน เพราะมันสะอาดและปลอดภัยมากกว่าดื่มน้ำเปล่าที่ปนเปื้อน
กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ปลอดภัยเช่นเดียวกับแอลกอฮอร์เพราะมันทำจากน้ำต้ม นอกจากนั้นกาแฟยังทำให้เพิ่มพลังงานและช่วยให้เริ่มต้นวันใหม่ ทำให้คึกได้เป็นอย่างดี ไม่นานกาแฟก็กลายเป็นทางเลือกของคนทั่วไป เหมาะสำหรับคนที่ไม่อยากเมาตลอดทั้งวัน เช่น คนทำงาน คนที่มีการศึกษา นักวิทยาศาสตร์
หลังจากนั้น ช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ก็เริ่มมีร้านกาแฟเกิดขึ้น ร้านกาแฟกลายเป็นสถานที่พบปะของผู้คน เป็นศูนย์กลางให้กลุ่มคนมีการศึกษา นักการเมืองได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน บรรยากาศร้านกาแฟเหมาะสมสำหรับการพูดคุยกันมากกว่าร้านเหล้าเบียร์ จึงทำให้ดึงดูดลูกค้าได้ดีกว่า
ผลกระทบของคาเฟอีนที่มีต่อสมอง
ร่างกายแต่ละคนตอบสนองต่อคาเฟอีนแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะเป็นการกระตุ้นสมอง คาเฟอีนมีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายกับโมเลกุลอะดีโนซีน (Adenosine) สารที่ส่งสัญญาณให้สมองรู้ว่าถึงเวลาหลับแล้ว ในขณะที่ร่างกายตื่นตัว อะดีโนซีนจะค่อยๆ สะสมมากขึ้นโดยการจับกับตัวรับ (Adenosine receptor) ดังนั้นยิ่งตื่นตัวนานเท่าไหร่ ก็จะทำให้รู้สึกง่วงมากขึ้น เพราะมีอะดีโนซีนจับกับตัวรับมากขึ้น ส่วนในขณะหลับ อะดีโนซีนก็จะค่อยๆ ถูกปลดปล่อยออกมา แต่ถ้ามีคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกาย ก็จะไปขัดขวางอะดีโนซีน คาเฟอีนจะไปแย่งจับกับตัวรับแทน ผลที่เกิดขึ้นคือทำให้ร่างกายยังคงตื่นตัวอยู่ได้
และหากร่างกายไม่ได้รับสัญญาณให้หลับ ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) จับความผิดปกติได้และคิดว่าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น ก็จะทำให้หลั่งอะดรีนาลีน (Adrenaline) ออกมา ทำให้เกิดการตอบสนองแบบสู้หรือหนี
การจับตัวกันของอะดีโนซีนกับตัวรับ ทำให้ยากที่สมองจะได้รับโดปามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ทำให้เกิดความรู้สึกดี แต่หากคาเฟอีนเข้าไปขัดขวางและจับกับตัวรับแทน จะทำให้ในสมองมีระดับโดปามีนเพิ่มมากขึ้น
โดปามีนคือสารสื่อประสาทที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจ เฮโรอีนและโคเคนสามารถปรับระดับของโดปามีนโดยการลดระดับของการดึงโดปามีนกลับเข้าสู่กระแสเลือด คาเฟอีนก็สามารถปรับระดับของโดปามีนได้เช่นเดียวกัน ถึงแม้ผลของมันจะน้อยกว่าเฮโรอีน แต่กลไกการทำงานก็เหมือนกัน ความสัมพันธ์กับโดปามีนนี่เองที่ทำให้เชื่อว่าเป็นตัวการที่ทำให้คนติดคาเฟอีน
ร่างกายเราจะชอบผลกระทบในระยะสั้นๆ ของคาเฟอีน ที่ทำให้ร่างกายตื่นตัวถึงแม้จะไม่ได้นอนหลับ การไปขัดขวางการจับตัวของอะดีโนซีน ทำให้ร่างกายตื่นตัว การหลั่งสารอะดรีนาลีนยิ่งเพิ่มความตื่นขึ้นไปอีกระดับ นอกจากนั้นยังไปปรับระดับโดปามีนซึ่งทำให้รู้สึกดีขึ้นอีกด้วย
คาเฟอีนที่ร่างกายได้รับ จะลดลงเหลือครึ่งเดียวหลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 6 ชั่วโมง ทำให้ฤทธิ์ของคาเฟอีนเริ่มลดลง หลังจากฤทธิ์ของคาเฟอีนหมดไป อะดีโนซีนก็จะเริ่มก่อตัวขึ้นในสมอง ทำให้รู้สึกง่วงได้
การดื่มกาแฟและรับคาเฟอีนในระยะยาว ร่างกายจะเริ่มชิน สมองจะเริ่มปรับตัวและสร้างตัวรับมากขึ้น นั่นทำให้ร่างกายต้องการคาเฟอีนมากขึ้นเพื่อทำให้ร่างกายยังคงตื่นตัวได้ ทำให้ต้องดื่มกาแฟมากขึ้น
แต่ผลของการปรับระดับโดปามีนจะไม่ทำให้ร่างกายเกิดความชิน นั่นทำให้เรารู้สึกดีทุกครั้งที่ดื่มกาแฟ หรือเพียงแค่เดินเข้าร้านกาแฟ สูดกลิ่มของกาแฟก็ทำให้หลายๆ คนรู้สึกดีขึ้นได้
ระดับการทนต่อฤทธิ์คาเฟอีน
ไม่ใช่ทุกคนจะตอบสนองหรือไวต่อคาเฟอีนเท่ากัน บางคนดื่มกาแฟแก้วเดียวอาจทำให้กลางคืนนอนไม่หลับ กระวนกระวายใจ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติได้ คนส่วนใหญ่มักจะไวต่อคาเฟอีนในระดับกลาง นั่นคือช่วยให้ตื่นตัวแต่ก็ไม่ทำให้มีผลต่อการนอนหลับ หากรับกาแฟเข้าไปช่วงเช้า และก็ยังมีคนอีกกลุ่มที่รับคาเฟอีนเข้าไปได้มากกว่าคนทั่วไป คนที่ดื่มกาแฟก่อนนอนแต่ก็ยังหลับได้สบายๆ
- สำหรับคนที่ไวต่อคาเฟอีกควรจะลองเปลี่ยนไปดื่มชาแทน เพราะคนกลุ่มนี้ต้องใช้เวลานานมากกว่าปกติ ในการขจัดคาเฟอีนออกจากไปจากร่างกาย
- สำหรับคนทั่วไปที่สามารถดื่มกาแฟได้วันละ 2-3 แก้ว โดยไม่มีปัญหาเรื่องการนอนหากดื่มแต่เช้า ก็จะดีหากรักษาปริมาณนี้ไว้ได้
- สำหรับคนที่ทนต่อคาเฟอีน ดื่มกาแฟมากเท่าไหร่ก็ไม่มีผล ก็ไม่ควรดื่มเข้าไปมากเพราะถึงยังไงคาเฟอีนก็ยังคงเป็นสารเสพติด มันอาจไปทำอันตรายต่อร่างกายโดยที่เราไม่รู้ก็ได้
บางคนอาจจะพบว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในกลุ่มคนเหล่านี้ อาจอยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่มเหล่านี้ ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ปรับตัวต่อการตอบสนองต่อคาเฟอีนได้แตกต่างกัน
ผลกระทบของคาเฟอีนในระยะสั้น
เมื่อร่างกายรับคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะเผาผลาญคาเฟอีนให้กลายเป็นโมเลกุลลูก แต่ละชนิดมีผลต่อร่างกายแตกต่างกัน
- Paraxanthine 84% – ช่วยให้ร่างกายดึงไขมันมาใช้ได้ดี ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย
- Theobromine 12% – เพิ่มการลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปยังเซลล์
- Theophylline 4% – ผ่อนคลายกล้ามเนื้อและทำให้จิตใจสงบมีสมาธิ
หากเทียบกับสารเสพติดหรืออาหารขยะอื่นๆ ที่ร่างกายรับเข้าไป คาเฟอีนเป็นสารที่ร่างกายสามารถทนได้ดี คาเฟอีนมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ทำให้ฉี่บ่อยและต้องดื่มน้ำมากขึ้น แต่สำหรับคนที่เริ่มทนต่อฤทธิ์ของคาเฟอีนได้แล้ว ก็จะไม่เกิดอาการนี้
ผลกระทบของคาเฟอีนในระยะยาว
มีหลักฐานจากงานวิจัยที่พบว่าการดื่มกาแฟ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์และโรคความจำเสื่อมอื่นๆ แต่ก็ไม่อาจบอกได้ชัดเจนว่ามันป้องกันโรคเหล่านี้ได้อย่างไร บ้างก็บอกว่าอาจเป็นเพราะสารแอนตี้ออกซิแดนท์ที่อยู่ในกาแฟ แต่ถึงยังไงก็ตาม ก็ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การดื่มกาแฟทำให้คนที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์มีอาการแย่ลงกว่าเดิม
นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยที่บอกว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำจะมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น ยิ่งดื่มมาก ก็จะยิ่งลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรลงได้ คาเฟอีนในกาแฟเข้าไปขัดขวางไม่ให้อะดีโนซีนจับกับตัวรับ สำหรับสมอง อะดีโนซีนจะทำให้ง่วงนอน แต่สำหรับหัวใจ มันกลับทำให้จังหวะการเต้นหัวใจผิดปกติ ดังนั้นการขัดขวางไม่ให้ อะดีโนซีนจับกับตัวรับ จึงทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพหัวใจ
ถึงแม้กาแฟจะดีต่อหัวใจ แต่ก็อย่าลืมว่ากาแฟทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว
งานวิจัยเหล่านี้ไม่ได้บอกเราว่า ดื่มกาแฟแล้วจะทำให้มีอายุยืนได้จริงๆ แต่มันบอกเราได้แค่ว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องการดื่มกาแฟ มันไม่มีอันตรายหากจำกัดไว้ที่วันละ 2-3 แก้ว นอกจากนั้นมันอาจส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย
ส่วนคนที่ไม่ดื่มกาแฟก็ไม่ต้องคิดเสียดาย เพราะตราบใดที่ดูแลสุขภาพร่างกายอย่างดี ก็ไม่ต้องพึ่งกาแฟแต่อย่างใด บางทีคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำอาจเป็นคนที่ดูแลสุขภาพได้ดีอยู่แล้ว และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่แท้จริง ที่ทำให้คนเหล่านั้นอายุยืนก็เป็นได้
อ่านต่อ
How does caffeine keep us awake? – Hanan Qasim
Coffee Drinking and Mortality in 10 European Countries: A Multinational Cohort Study
Association of Coffee Consumption With Total and Cause-Specific Mortality Among Nonwhite Populations
Caffeine and Coffee as Therapeutics Against Alzheimer’s Disease
Caffeine as a Protective Factor in Dementia and Alzheimer’s Disease
2 Comments