
ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สอนกันได้ เราสามารถทำให้คนคิดสร้างสรรค์มากขึ้นได้อย่างเป็นระบบ นวัตกรรมไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นจากคนฉลาดที่สุดคิดขึ้นมาได้ แต่มันเกิดจากการคิดอย่างเป็นระบบที่จะสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน
ความมั่นใจในความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง สามารถทำให้เรามีความสุขและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและเรื่องส่วนตัวได้ เราต้องคิดว่าไม่ใช่เฉพาะศิลปินเท่านั้นที่จะคิดสร้างสรรค์ได้ แต่คนทั่วๆ ไป ก็สามารถคิดสร้างสรรค์ได้เช่นกัน
ความคิดสร้างสรรค์คืออะไร ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้อยู่ในรูปของงานศิลปะเท่านั้น แต่เป็นการใช้จินตนาการเพื่อทำสิ่งใหม่ๆ การทำให้คำจำกัดความของความคิดสร้างสรรค์กว้างมากขึ้น ช่วยทำให้เราเข้าใจว่า เราทุกคนเกิดมาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าใครก็คิดสร้างสรรค์ได้
ความมั่นใจในความคิดสร้างสรรค์
เราแต่ละคนมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ละคนมีความสามารถที่จะคิดและสร้างสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้ ถ้าใครไม่เชื่อก็แสดงว่า ประเมินตัวเองต่ำไป
เราแต่ละคนมีความสามารถที่จะมองภาพ จดจำแจกแจงรูปแบบ แล้วนำไปคิดเป็นไอเดียใหม่ที่มีคุณค่าและความหมาย ไอเดียที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใส่ใจ การคำนึงถึงคนที่เป็นศูนย์กลาง เป็นองค์ประกอบหลัก ไอเดียที่สื่อถึงความเข้าใจในความต้องการของคน
ความมั่นใจก็คล้ายกับกล้ามเนื้อในร่างกาย ที่เราพัฒนาและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้โดยการออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังความมั่นใจโดยการคิดไอเดียใหม่ๆ คิดวิธีแก้ไขปัญหาอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้เราเพิ่มความมั่นใจได้เช่นกัน เวลาที่เราคิดไอเดียใหม่ๆ ได้ เราก็จะเห็นคุณค่าของพลังความคิดสร้างสรรค์ของเราเอง เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับยอมรับความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น เพราะไอเดียใหม่ๆ มันอาจเป็นไอเดียที่ใช้ไม่ได้ การคิดก่อนลองก่อน การทำผิดพลาดแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้ที่ในที่สุด
ไม่ต้องสงสัยในตัวเอง แต่ให้สงสัยไอเดียที่เราคิด จากนั้นทดสอบไอเดียดูว่ามันใช้ได้หรือเปล่า ทิ้งไอเดียที่มันไม่ดีพอและใช้ไม่ได้ แล้วเดินหน้าคิดใหม่ลองใหม่ต่อไป ความกลัวที่จะทำผิดพลาดมันจะหยุดไม่ให้เราเรียนรู้จากการลงมือทำ ความมั่นใจในความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้เอาชนะความกลัวนั้นได้ ยอมรับว่ายังไงเราก็ต้องทำผิดพลาด ไม่ต้องอายและไม่จำเป็นที่จะต้องปกปิดความผิดพลาด
การเอาชนะความกลัวที่จะทำผิดพลาด จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนชีวิตไปในทางที่ดี สิ่งสำคัญคือความมั่นใจในความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง แต่อย่ามั่นใจในความคิดของตัวเอง
การมองกับการดู ภาษาพูดกับภาษาภาพ
การดูและทำความเข้าใจใช้พลังงานมากกว่าการมองผ่าน สมมติว่าเราเดินผ่านต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง หลังจากที่เห็นแล้วว่าเป็นต้นไม้ บางคนก็จะเดินผ่านไป แต่ก็จะมีบางคนที่หยุดเดิน แล้วสังเกตเห็นลำแสงที่ส่องลงมา ผ่านลำต้น ผ่านใบไม้ มองไปที่พื้นแล้วเห็นเป็นเงาในรูปแบบต่างๆ ดูและทำความเข้าใจ มีอะไรพิเศษที่มันสะกิดให้คิดหรือทำให้รู้สึก
เราต่างก็คิดจัดระเบียบแจกแจงแยกประเภทสิ่งที่เรามองเห็น จากการใช้ภาษาพูด ใช้เหตุผลร่วมกับประสบการณ์ การแยกประเภททำให้สมองประมวลผลข้อมูลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มันทำให้เรารู้ว่านั่นคือต้นไม้ หลังจากที่เราแยกประเภทเสร็จ มันจะทำให้เราเป็นอิสระ และทำให้เราสนใจสิ่งอื่นๆ ต่อไปได้
แต่ถ้าเราหยุดคิดแบบแยกประเภท เปลี่ยนมาใช้ภาษาภาพ แล้วเริ่มมองดูจริงๆ เราจะมองเห็นมากขึ้น เราจะค้นพบสิ่งที่เกิดขึ้นข้างหน้า ทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ได้ดีมากขึ้น การเปิดใจใช้เซนส์ที่มากขึ้นจะทำให้เราเชื่อมโยงข้อมูล จากข้อมูลเก่าๆ เราเปลี่ยนให้เป็นไอเดียใหม่ ทำให้มันไม่ใช่แค่รู้ว่านั่นคือต้นไม้ แต่มันทำให้เรารู้สึกดีกับต้นไม้ใหญ่ที่มีแสงสาดส่องผ่านลำต้นและใบทำให้เกิดเงาเป็นรูปแบบต่างๆ
การคิดแต่ละแบบมีประโยชน์แตกต่างกัน การคิดแจกแจงแยกประเภทมีประโยชน์ตอนที่เราอยากรู้ว่าข้างหน้ามีต้นไม้กี่ต้น มันจำเป็นสำหรับงานที่เราต้องทำตามแบบ งานที่ต้องหาข้อสรุปหรือตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่แล้วหาคำตอบ ในขณะที่การคิดแบบไม่จำกัดแต่ปล่อยให้ไอเดียต่างๆ ไหลเข้ามาในหัว การไม่คิดควบคุมหรือจำกัด มันจะทำให้เราได้เดียใหม่ๆ มากขึ้น
จากสิ่งที่เรามองเห็น ใช้ภาษาพูดคิดกลั่นกรองเป็นข้อสรูปเพื่อให้เข้าใจตรงกัน (Convergent thinking) จากสิ่งที่เรามองเห็น ใช้ภาษาภาพคิดให้แต่ละคนต่อยอดให้กลายเป็นไอเดียใหม่ๆ (Divergent thinking) สิ่งสำคัญคือการคิดให้ได้ทั้ง 2 แบบ คิดสลับกันหรือคิดทั้ง 2 แบบไปพร้อมๆ กัน รู้ว่าเวลาไหนควรคิดแบบแรก เวลาไหนที่ควรคิดแบบหลัง มันจะช่วยให้เราคิดได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น
หากใช้ Guilford’s model ก็จะมีขั้นตอนโดยเริ่มต้นจาก
- กำหนดปัญหาที่ต้องการแก้ไข
- เปิดใจแล้วใช้เวลาคิดแบบ Divergent thinking เปิดโอกาสให้คิดไอเดียใหม่ๆ ให้มีตัวเลือกเยอะๆ
- ลดการคิดแบบ Divergent thinking ลง แล้วเริ่มต้นคิดแบบ Convergent thinking
- ใช้เวลาคิดแบบ Convergent thinking เพื่อทดสอบไอเดีย และตัดตัวเลือกที่ใช้ไม่ได้ออกไป
- ได้ข้อสรุปสุดท้ายเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา
แน่นอนในชีวิตจริงมันคงไม่ง่ายและตรงไปตรงมาตามรูปแบบ เราอาจต้องคิดแล้วคิดอีก ก่อนที่จะได้ข้อสรูป ก็อาจต้องสลับการคิดไปมาหลายครั้ง
ความคิดสร้างสรรค์ต้องการพื้นที่
Your mind is for having ideas, not holding them.—David Allen
สมองเรามีไว้คิด ไม่ได้มีไว้สำหรับเก็บความคิด ความคิดมันจะไหลเข้าหัวเราได้ทั้งวันตลอดเวลา และเราก็รู้ว่า เราคิดได้ดีเมื่อสมองเราปลอดโปร่ง เราคิดได้ดีเมื่อเราไม่พยายามคิด ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นในตอนที่เราไม่มีอะไรให้คิด ดังนั้นเราทุกคนต่างก็ต้องการมีวินัย ต้องรู้จักจัดการความคิดหรืองานที่อยู่ในหัว ปลดปล่อยมันออกไป อย่าพยายามจำ แต่ให้จดมันไว้ในที่ๆ เราเข้าถึงได้ง่ายๆ ที่ๆ เรามั่นใจว่าข้อมูลความคิดของเราจะไม่สูญหาย
นอกจากพื้นที่ว่างในสมองแล้ว เรายังต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เราต้องการโรงเรียนดีๆ คาเฟ่ที่น่านั่ง ร้านอาหารอร่อยๆ สวนสาธารณะ พื้นที่สำหรับความคิดหรือกิจกรรมสร้างสรรค์ เพราะไอเดียมันมาจากหลายๆ ที่ กิจกรรมที่เราทำนอกเวลางานก็มีส่วนสำคัญ สภาพแวดล้อมภายนอกก็สำคัญ เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่คนอยากอาศัยใช้ชีวิตได้ครบ เพื่อเติมพลังใจ เติมเชื้อเพลิงให้ความคิด
Our mental space stands in direct proportion to our perception of physical space.
การมองออกไปข้างนอก การมองสิ่งที่อยู่ไกลจากตัวเราจะทำให้เราคิดแบบนามธรรมหรือคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่การมองสิ่งของใกล้ตัว จะกระตุ้นให้เราคิดเป็นรูปธรรม ใส่ใจรายละเอียดและคิดวิเคราะห์
ดังนั้นการขยายขอบเขตพื้นที่ให้กว้างขึ้น การมีออฟฟิสอยู่บนตึกสูง การมีหน้าต่างเปิดช่องให้มองออกไปข้างนอก การทำเพดานให้สูงขึ้น หรือแม้กระทั่งการทาสีห้องให้เป็นสีน้ำเงินหรือสีเขียว เพื่อทำให้ห้องดูกว้างมากขึ้น ก็จะดีสำหรับการคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์ต้องการหยุดพัก
เราจะคิดอะไรใหม่ๆ ได้ดีเวลาที่นั่งอยู่ในรถ อาบน้ำ หรือเดินอยู่ในสวน กิจกรรมเหล่านี้ต่างก็เป็นการหยุดพัก เป็นการถอยห่างออกมาจากความคิด
ใจที่จดจ่ออยู่กับความคิดเดิมๆ เป็นเวลานาน จะส่งผลทำให้ความสามารถในการคิดลดลง สมองที่ได้ยินเสียงแบบเดิมๆ มองเห็นภาพแบบเดิมๆ ได้รับการกระตุ้นจากการสัมผัสสิ่งเดิมๆ สมองเราจะลดความสำคัญของมันลงไป จนกระทั่งมันหายไปจากจิตสำนึกของเรา ทำให้เราไม่คิดถึงมัน เวลาผ่านไปจะทำให้เสียสมาธิและทำให้เลิกสนใจ
สมองเราถูกสร้างมาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราใจจดใจจ่ออยู่กับงานเดิมๆ อยู่กับความคิดเดิมๆ เป็นเวลานาน มันจะทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานลดลง
ดังนั้นหากเราต้องทำงานเดิมๆ เป็นเวลานาน เช่น ตั้งใจอ่านหนังสือเตรียมสอบ เราก็ควรจะต้องรู้ตัวเองและหยุดพักบ้าง หยุดอ่านหยุดคิด เปิดโอกาสให้สมองได้พัก จะทำให้เรากลับมามีสมาธิได้อีกครั้ง
งานวิจัยพบว่าหากเราหยุดพักงานที่กำลังทำอยู่ โดยสลับไปทำงานที่ไม่เกี่ยวข้อง การเปลี่ยนไปใช้สมาธิจดจ่อกับงานอื่น จะทำให้เรามีเวลาลบรอยความคิดเก่าๆ และเมื่อกลับมาทำงานเดิม ใจเราจะเปิดกว้างยอมรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากขึ้น
ดังนั้นในแต่ละเช้า เราจึงควรเริ่มต้นทำงานโปรเจคต์ ทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ก่อน เก็บงานรูทีนไว้เป็นเชื้อสำหรับบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ เมื่อสลับกลับมาทำงานโปรเจคต์อีกครั้ง เราก็จะคิดออกได้ง่ายขึ้น
เปลี่ยนความน่ารำคาญเป็นความคิดสร้างสรรค์
เสียงดังรบกวนที่พอเหมาะอาจช่วยให้เราคิดและทำงานได้อย่างสร้างสรรค์ งานวิจัยในปี 2012 เพื่อทดสอบผลของเสียงรบกวนที่มีต่อประสิทธิภาพในการทำงานสร้างสรรค์ โดยแบ่งกลุ่มคนออกเป็น 4 กลุ่มและให้ทำแบบทดสอบเพื่อวัดความสามารถในการเปิดใจและคิดไอเดีย
3 กลุ่มแรกให้ทำแบบทดสอบในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงเบาๆ 50 เดซิเบล เสียงดังปานกลาง 70 เดซิเบล และเสียงดังมาก 85 เดซิเบล ส่วนกลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่ทำแบบทดสอบโดยที่ไม่มีเสียงรบกวน
จากผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงพบว่ากลุ่มที่ทำคะแนนได้สูงสุดไม่ใช่กลุ่มที่ 4 แต่เป็นกลุ่มที่ทำแบบทดสอบในขณะที่มีเสียงดังรบกวนในระดับ 70 เดซิเบล ซึ่งเป็นเสียงในระดับเดียวกับที่พบได้ในร้านอาหารหรือร้านกาแฟ เป็นเสียงดังระดับเดียวกับเสียงน้ำไหลจากฝักบัว และนั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เราคิดไอเดียออกในตอนอาบน้ำ
บางครั้งการใช้เวลาเพื่อคิดแบบ Divergent thinking น้อยเกินไป แล้วเริ่มการคิดแบบ Convergent thinking และด่วนสรุปเร็วไป ทำให้ไอเดียที่เราคิดได้ในตอนแรกๆ อาจไม่ใช่ไอเดียที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหา การที่เราจะได้ไอเดียที่เหมาะสมที่สุด เราอาจต้องคิดหาทางเลือกที่ครอบคลุมมากขึ้น
การรีบหาคำตอบเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราหลายคน เป็นผลจากการเรียนในห้องเรียนที่เราจะต้องรีบหาคำตอบที่ถูกต้องให้ได้เร็วที่สุดในเวลาที่กำหนด
เสียงดังรบกวนในระดับ 70 เดซิเบล ทำให้เราไม่จดจ่ออยู่กับการคิดแก้ปัญหามากเกินไป เสียงรบกวนมันสะกิดทำให้เราหยุดคิดแบบ Convergent thinking แต่เสียงดังรบกวนระดับนี้ก็ไม่มากพอที่จะก่อให้เกิดผลกระทบและทำให้เราเสียสมาธิได้ ในทางกลับกันมันกลับทำให้เราไม่ด่วนสรุปเร็วเกินไป และทำให้เราใช้เวลาคิดหาทางเลือกอื่นๆ มากขึ้น ช่วยทำให้เราได้ไอเดียที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหา
แต่ก็ไม่ใช่ว่าเสียงรบกวนทุกอย่างจะเป็นประโยชน์กับเรา เฉพาะเสียงรบกวนที่เหมาะสมเท่านั้นที่สามารถช่วยเราได้ เช่น เสียงเครื่องทำกาแฟ เสียงล้างจาน เสียงแก้วกระทบกัน ปนกับเสียงของคนหลายๆ คนพูดคุยกันในร้านอาหาร เสียงดังวุ่นวายที่เราฟังไม่เข้าใจ
ความคิดสร้างสรรค์จากการทำงานร่วมกัน
บางคนก็ยังคงเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์เกิดจากความอัจฉริยะของใครสักคน แต่ในความเป็นจริงความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดจากความพยายามของคนเพียงคนเดียว แต่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของคู่หู ถึงแม้ว่าเจ้าของผลงานจะมีแค่คนเดียว แต่ผลงานเหล่านั้นล้วนได้รับอิทธิพลจากบุคคลอื่นๆ เสมอ
Pairs often produce the greatest creative work.
ในปัจจุบันเรารู้กันแล้วว่า ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดจากการคิดโดดเดี่ยวของคนๆ เดียว เป็นเวลานานๆ แต่มันเกิดจากการย้อนกลับไปคิด การสะท้อนความเป็นตัวของตัวเอง การมีส่วนร่วมกับคนในสังคม
ในการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เราจะต้องเข้าสู่สังคม เพื่อพบปะผู้คน และแลกเปลี่ยนความคิดกับคนอื่นๆ ดังนั้นผลงานความคิดสร้างสรรค์จึงเกิดจากผลรวมของการใช้เวลาคิดคนเดียวกับการเปิดเผยตัวตน การออกสู่ภายนอกพบปะผู้คน มันจะทำให้คิดสร้างสรรค์มากขึ้น
สิ่งที่ทำให้คู่หูทำงานร่วมกันได้ดีไม่ได้เป็นเพียงเพราะมีบางอย่างที่เหมือนกันเท่านั้น แต่ยังจะต้องมีความแตกต่างที่เกิดขึ้นในระหว่างความร่วมมือ ความเหมือนเป็นจุดเริ่มที่ทำให้สร้างความสัมพันธ์ ในขณะที่ความแตกต่างนำความแปลกใหม่เข้าสู่กระบวนการที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
ความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่จำเป็นต้องมีเคมีที่ตรงกัน แต่จะต้องท้าทายซึ่งกันและกัน ให้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ให้ทำมากกว่าขีดจำกัด สะกิดให้คิดหาไอเดียนอกกรอบ ให้เปลี่ยนและมองจากหลายๆ มุม
ตัวอย่างของความแตกต่าง เช่น คนหนึ่งชอบคิด อีกคนชอบลงมือทำ ลำพังคนที่ชอบคิดชอบเริ่มแต่ไม่เคยทำอะไรเสร็จ ส่วนคนที่ชอบลงมือก็มักจะขาดความมั่นใจในไอเดียของตนเอง แต่เมื่อคู่หูทำงานร่วมกัน ก็จะทำให้งานสำเร็จได้ด้วยดี
ตัวอย่างคู่หูที่ร่วมมือกันทำงาน เช่น
- John Lennon กับ Paul McCartney
- Suzanne Farrell กับ George Balanchine
- Patti Smith กับ Robert Mapplethorpe
ความคิดสร้างสรรค์กับการเดิน
การทำกิจกรรมขยับร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ ในแต่ละวันเราอาจนั่งอยู่กับที่นานถึง 7-15 ชั่วโมงเลยทีเดียว การนั่งนานๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพและอารมณ์ แน่นอนว่ามันต้องไม่ดีต่อความคิดสร้างสรรค์เช่นกัน
มีหลายคนที่บอกว่าตนเองทำงานได้ดี คิดสร้างสรรค์เมื่อได้เดินไปคิดไป สอดคล้องกับงานวิจัยที่พบว่าการเดินช่วยทำให้คิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้นถึง 60% คนที่ประชุมแบบเดินไปคุยไป ก็มักจะมีความคิดสร้างสรรค์และได้งานมากกว่า
แรงบันดาลใจเกิดจากกิจกรรมการเดิน ไม่ใช่บรรยากาศ เพราะไม่ว่าจะเดินบนลู่วิ่งหรือเดินในสวน ก็ให้ผลดีเช่นกัน การเดินช่วยให้เพิ่มระดับความคิดสร้างสรรค์เมื่อเทียบกับการนั่ง
แต่เนื่องจากการคิดมีหลายรูปแบบ การเดินเหมาะสำหรับการคิดแบบ Divergent thinking ช่วยให้ได้มุมมองใหม่ๆ ช่วยให้คิดไอเดียได้มากขึ้น แต่มันจะไม่เหมาะสำหรับการคิดแบบ Convergent thinking ที่ต้องอาศัยสมาธิใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่เหมาะสำหรับการคิดหาคำตอบที่ถูกต้อง
ต่อจากนี้ไป
เชื่อมั่นในสิ่งที่เราได้เรียนรู้ ท้าทายตัวเองให้นำสิ่งที่ได้รับจากบทความนี้ไปลงมือทำงานของตัวเอง สร้างมาตรฐานใหม่ ทำให้เป็นแบบอย่างสำหรับคนอื่นๆ อย่าสงสัย อย่าสบประมาทความสามารถของตัวเอง คิดนอกกรอบ ลุกออกมาทำงานที่เราเริ่มไว้ การมองและเอนตัวไปข้างหน้าจะช่วยทำให้ผ่อนแรงและเอาชนะความเฉื่อยได้ สร้างผลงานออกมาให้คนอื่นดู ออกแบบชีวิตของตัวเอง เพราะนี่จะเป็นสิ่งแรกที่จะท้าทายความมั่นใจในความคิดสร้างสรรค์ของเรา
References
Brief diversions vastly improve focus, researchers find
Is Noise Always Bad? Exploring the Effects of Ambient Noise on Creative Cognition
3 Comments