คิดต่าง

การเรียนรู้ ที่เน้นให้เด็กได้เรียนจนเกิดความเชี่ยวชาญ ไม่ใช่แค่สอบให้ผ่าน

Sal Khan ผู้ก่อตั้ง Khan Academy ได้พูดถึงจุดอ่อนของรูปแบบการเรียนในปัจจุบันที่ทำให้เด็กเรียนรู้เพื่อสอบให้ผ่าน และเค้าได้แนะนำรูปแบบการเรียนใหม่ที่จะเน้นให้เด็กได้เรียนจนเกิดความเชี่ยวชาญ

การเรียนรู้แบบเดิม

ระบบการสอนในปัจจุบันที่ให้ความรู้กับเด็ก โดยที่ไม่สนใจว่าเด็กจะรู้และเข้าใจแนวคิดได้ดีพอ และคาดหวังว่าเด็กทุกคนจะเรียนรู้ได้เหมือนกัน เรียนรู้ในอัตราเร็วที่เท่ากัน จากนั้นก็วัดผลด้วยแบบทดสอบเดียวกัน เด็กบางคนทำคะแนนได้ 75% บางคนอาจจะได้ 90% หรือ 95%

สิ่งที่เกิดขึ้นคือมันจะมีช่องว่างของความรู้ เมื่อเด็กที่สอบได้ 75% เลื่อนชั้นขึ้นไปเรียนวิชาที่ยากขึ้นกว่าเดิม เค้าก็จะขาดพื้นฐานที่จำเป็นไป 25% ทำให้เด็กเรียนไม่เข้าใจ และจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ยิ่งเลื่อนชั้นขึ้นไปเท่าไหร่ ช่องว่างของความรู้มันก็จะยิ่งเยอะขึ้น

ตลอดช่วงเวลาที่เด็กเลื่อนชั้น มันจะเกิดช่องว่างของความรู้ ทำให้เด็กหลายคนเรียนไม่ทัน และในที่สุดก็จะคิดว่าตัวเองไม่ถนัดและทำให้เด็กเลิกสนใจวิชานั้นๆ ไป

การเรียนรู้แบบใหม่

การเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ เป็นทางเลือกที่เด็กๆ จะได้เรียนวิชานั้นๆ จนกว่าจะเชี่ยวชาญ จนกว่าจะพร้อม แล้วค่อยขยับขึ้นไปเรียนวิชาหรือเนื้อหาที่มันยากขึ้น

แนวคิดใหม่นี้จะช่วยให้เด็กเกิดความคิดที่ว่า เค้าสามารถเรียนรู้และเก่งได้ทุกวิชา ทำให้เด็กมีความมั่นใจในความสามารถของตัวเอง ความสามารถที่จะเรียนรู้และเชี่ยวชาญได้ในทุกเรื่อง เปลี่ยนทัศนคติเป็นแบบเติบโต

แนวคิดนี้มันไม่ใช่แค่ดูดี แต่มันจำเป็นสำหรับสังคมในปัจจุบัน เพราะในอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้ งานหลายๆ อย่างมันจะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรที่ทำงานอัตโนมัติ โดยเฉพาะงานที่ไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานที่ไม่ต้องให้คนใช้เหตุผลและอารมณ์เพื่อตัดสินใจ แต่ถ้าเราพัฒนาเด็กให้มีความเชี่ยวชาญ เครื่องจักรก็จะไม่สามารถมาทดแทนได้ เด็กทุกคนก็จะมีส่วนร่วมในการทำงานในอนาคต

รูปแบบการศึกษาในปัจจุบันจะแยกกลุ่มนักเรียนตามอายุ และสอนความรู้ให้เด็กด้วยความเร็วเท่ากันทุกคน หลังจากเรียนเนื้อหาบางส่วน ก็จะมีการบ้านให้ทำ อาจจะมีการบ้านทุกวัน แลังจากนั้นก็จะมีการสอบ ซึ่งการสอบมันทำให้เราเห็นช่องว่างความรู้ของเด็กแต่ละคน แต่แทนที่เราจะปิดช่องว่างนั้น เรากลับปล่อยให้เด็กเลื่อนชั้นขึ้นไปเรียนเนื้อหาที่มันยากขึ้น แล้วมันก็จะเกิดช่องว่างสะสมมากขึ้น เด็กก็จะเรียนไม่ทัน ทำให้เด็กเลิกสนใจ และคิดว่าตัวเองไม่ถนัดวิชานั้น

ต่างจากนักกีฬา ที่จะต้องฝึกฝนร่างกาย เรียนรู้เทคนิคพื้นฐาน ซ้อมแล้วซ้อมอีก จนร่างกายพร้อม ถึงจะไปเรียนเทคนิคที่ซับซ้อนมากขึ้น การเรียนรู้ในชั้นเรียนก็ควรจะเป็นเดียวกัน เด็กควรจะเรียนจนรู้ให้เชี่ยวชาญ ให้พร้อมก่อนแล้วค่อยขยับไปเรียนเนื้อหาอื่นที่ยากขึ้น

เราควรจะปล่อยให้เด็กได้ใช้เวลาเต็มที่เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจเนื้อหา เมื่อก่อนการทำแบบนี้มันเป็นเรื่องยุ่งยากเกินไป มันไม่สะดวกที่จะให้ครูเตรียมการสอนที่ต่างกันสำหรับเด็กแต่ละคน

แต่อย่าลืมว่าเราอยู่ในยุค Information ยุคที่ข้อมูลข่าวสาร สื่อการเรียนรู้มีมากมาย เด็กจะเรียนตอนไหนก็ได้ ถ้าเค้าต้องการเวลาเพื่อฝึกฝนทำแบบฝึกหัด เค้าก็สามารถทำได้ การเรียนรู้เพื่อให้เชี่ยวชาญ ตอนนี้มันทำได้แล้ว

ถ้าเด็กทำข้อสอบผิดไป 20% มันไม่ได้หมายความว่าเกรด C จะติดตัวเค้าไปตลอดชีวิต แต่มันหมายถึงเด็กต้องเรียนรู้เพิ่มเติม ไม่ควรหยุดอยู่แค่นั้น เรียนจนกว่าจะเชี่ยวชาญ และเด็กควรจะรับผิดชอบและกำหนดการเรียนของเค้าได้เอง

ตอนนี้ในสังคมเราอาจจะมีคนที่อ่านออกเขียนได้เยอะแล้ว คงยากที่จะหาคนอ่านเขียนหนังสือไม่ได้ แต่ถ้าถามว่ามีกี่คนที่เชี่ยวชาญแคลคูลัส มีกี่คนที่เชี่ยวชาญด้านเคมี หรือมีกี่คนที่มีความสามารถในระดับทำวิจัยโรคมะเร็งได้ คงจะตอบว่ามีน้อยคน

สรุป

การเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญเป็นสิ่งที่จำเป็นในสังคมของเรา การสิ้นสุดยุุคอุตสาหกรรมและการเข้าสู่ยุค Information ต่อไปเครื่องจักรอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่งานหลายอย่าง โดยเฉพาะงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดคนในการตัดสินใจ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนจะช่วยให้เราเตรียมความพร้อมของเด็ก ให้เด็กมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยเครื่องจักร เด็กทุกคนก็จะมีอนาคตและมีส่วนร่วมในงาน ทำให้สังคมก้าวหน้าได้เร็วขึ้น

References

Let’s Teach for Mastery, Not Test Scores

ปฏิวัติระบบการศึกษา ยกเลิกระบบการศึกษาแบบมาตรฐานอุตสาหกรรม

Like what you read? Please share it with your friends so we can get their thoughts!

Previous ArticleNext Article

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *