
ความหมายของการฟังที่เราชอบมากที่สุดมีที่มาจากตัวอักษรจีน ซึ่งประกอบไปด้วยตัวอักษรย่อยทั้ง 6 ตัว ความลึกซึ้งของความหมายของตัวอักษรจีน TING กับความหมายของการฟังที่เราต้องใช้ทั้ง หู ตา และหัวใจ ให้ความสำคัญกับคนพูดและตั้งใจฟัง มีมารยาทในการฟัง
การฟัง
เริ่มจากด้านซ้าย ตัวอักษรที่คล้ายตัว P กลับด้าน ใช้แทน หู ซึ่งเราใช้สำหรับฟังเสียง ส่วนตัวอักษรที่เป็นเส้นแนวนอน 3 เส้นและแนวตั้ง 1 เส้นใช้แทน กษัตริย์ หมายถึงคนสำคัญที่เราต้องเคารพ เราต้องฟังคนพูด
ทางด้านขวา มีตัวอักษรที่คล้ายเครื่องหมายบวก กล่อง และเส้นแนวนอน 1 เส้น ล่างสุดมีตัวอักษรที่คล้ายตัว L และมีขีด 3 ขีด ใช้แทน สิบ ตา หนึ่ง หัวใจ ความหมายคือเวลาที่เราฟัง เราจะต้องตั้งใจฟัง ใจจดจ่ออยู่กับการฟังเท่านั้น สบตาคนพูดและสังเกตภาษากาย เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่คนไม่ได้พูดออกมา และเราจะต้องฟังด้วยใจ ทำให้เราเข้าใจความต้องการของคนพูด
แต่ตัวอักษรจีนเวอร์ชันย่อ 听 มีเพียงตัวอักษร ปาก ทางด้านซ้าย และ ฆ้อน ทางด้านขวา แล้วเราจะฟังคนพูดด้วยปากกับฆ้อนได้ยังไง เราจะฟังพร้อมกับพูดเสียงดังๆ ไปด้วย มันคงคุยกันไม่รู้เรื่อง บางคนพูดไม่น่าฟังแต่ก็ยังพูดอยู่ได้ มันให้ทำให้โลกนี้ไม่น่าฟัง บางคนแทบจะไม่เคยหยุดพูด ไม่เปิดโอกาสให้คนฟังได้โต้ตอบ หรือได้ตักเตือนเค้าบ้าง
เวลาเราคุยกับใครก็ตาม เรามักจะคิดเสมอว่าเราจะคุยตอบโต้ยังไง มีน้อยคนที่จะตั้งใจฟังอย่างเดียว
เราจะเป็นคนน่าสนใจ ถ้าเราให้ความสนใจ
การฟังคือการตั้งใจฟังจริงๆ ไม่ใช่ดูนาฬิกา ดูมือถือ แต่เราต้องให้ความสนใจและตั้งใจฟัง ฟังอย่างเงียบๆ อย่าขัดจังหวะ ไม่ต้องคิดว่าจะตอบสนองหรือพูดโต้ตอบทันที
ผู้นำที่ดีคือคนที่เข้าใจความสำคัญของการฟัง ในหนังสือ the 7 Habits of Highly Effective People คนเขียนทำให้เรารู้ถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจคนอื่น ก่อนที่จะให้คนอื่นเข้าใจเรา เราจะเข้าใจคนอื่นเมื่อเราเปิดใจยอมรับและตั้งใจฟัง
ทักษะการฟัง
การเป็นผู้ฟังที่ดีมีประโยชน์คือ เราแสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจคนพูด ทำให้เข้าใจสิ่งที่พูดได้มากขึ้น ทำให้รู้ความจริงมากขึ้น ทำให้หายสงสัย ทักษะที่สำคัญของการฟังมีดังนี้
- การฟังเพื่อเก็บรายละเอียด เช่น ชื่อ วันที่ ขั้นตอนการทำงาน หรือสิ่งที่เราต้องทำหลังจบการสนทนา
- การฟังเพื่อให้เข้าใจภาพรวม จับใจความสำคัญ อย่าเพิ่งสนใจรายละเอียด แต่ตอบให้ได้ว่าเรื่องที่เราฟัง มันจะเกิดผลกระทบอะไรในระยะยาว
- ภาษากาย สิ่งที่คนแสดงออกแต่ไม่ได้พูด การสบสายตา การสังเกตคนพูด
- ความเข้าใจและเห็นใจ รู้ว่าคนพูดมีอารมณ์แบบไหน และแสดงออกว่าเราเข้าใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา แสดงออกว่าเราก็เห็นด้วย
เราควรจะฝึกพัฒนาทักษะแต่ละอย่าง และเลือกใช้ในแต่ละสถานการณ์อย่างเหมาะสม เช่น ถ้าเราฟังเรื่องงานที่ต้องทำ เราก็ต้องฟังเพื่อเก็บรายละเอียด ถ้าเราฟังเพื่อเรียนรู้ เราก็มักจะต้องฟังเพื่อจับใจความสำคัญ เพื่อให้เข้าใจภาพรวม
การเปลี่ยนบรรยากาศ การออกไปจากพื้นที่ที่เราคุ้นเคย มันจะช่วยให้เรามีมุมมองต่อโลกนี้ที่ต่างจากเดิม ทำให้เราเข้าใจคนแปลกหน้า
สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการฟัง
เหตุผลหลักๆ ที่เราฟังไม่รู้เรื่องเกิดจากการที่เราไม่ตั้งใจฟัง สภาพแวดล้อมไม่ดี มีสิ่งรบกวน มีเสียงดัง มีคนพูดแทรก หรือตอนนั้นเรากำลังกังวล หรือเราไม่เห็นด้วยกับคนพูด
สังเกตได้ง่ายๆ เวลาที่เราไม่ตั้งใจฟัง เรามักจะขัดจังหวะคนพูดอยู่บ่อยๆ หรือเราพยายามเปลี่ยนเรื่องคุย เถียงตลอด หยิบมือถือมาดู หรือขอให้คนพูด พูดใหม่อีกรอบ
การทำหลายอย่างพร้อมๆ กัน ยิ่งเราทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กัน งานมันก็ยิ่งเสร็จช้าลง ทำให้เกิดความผิดพลาดมากขึ้น เราไม่ได้ทำงานพร้อมกันจริงๆ แต่เป็นการสลับไปมาระหว่างงาน
ความคิดของเราที่มันคิดไม่หยุด เราพยายามประเมิน พยายามเปรียบเทียบ พยายามเข้าใจ พยายามจัดเรียงความสำคัญ ว่าสิ่งนี้เราควรตั้งใจฟังหรือเปล่า เราต้องให้ความสำคัญไหม มันจะทำให้เราเสียเวลาหรือเปล่า ถ้าใจเรามัวแต่คิด เราก็จะไม่ตั้งใจฟัง
เราฟังในสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะได้ยิน เราไม่อยากฟังสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย
ภาษากายอาจจะทำให้เราเข้าใจผิด เพราะคนเราไม่สามารถปิดกั้นจิตใต้สำนึกเอาไว้ได้ บางครั้งคนพูดอาจจะพูดและแสดงออกทางสีหน้าที่สวนทางกัน ทำให้เราไม่เข้าใจสิ่งที่เค้ากำลังสื่อสาร เราต้องตั้งใจฟัง สังเกตท่าทาง อารมณ์ น้ำเสียง พลังเสียงของคนพูด
ตั้งใจฟังสารที่คนพูดสื่อออกมา ถ้าไม่เข้าใจก็ให้ถาม อย่าแสร้งทำเป็นเข้าใจทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจ อย่าเสแสร้งว่ากำลังฟัง ถ้าไม่ได้ฟังจริงๆ
ข้อมูลมีมากเกินไป เราต้องรู้จักใช้ทักษะการฟังให้เหมาะสม เช่น ถ้ามันเป็นการเรียน เราก็มักจะต้องฟังเพื่อจับใจความสำคัญและเข้าใจภาพรวม แต่ถ้าเป็นเรื่องงาน ส่วนใหญ่มันจะเป็นรายละเอียดที่เราต้องจำ เราต้องตั้งใจฟังรายละเอียดหรือจดรายละเอียด
ไม่ว่าเราจะพยายามมากแค่ไหน เราก็สามารถตั้งใจและให้ความสนใจกับบางสิ่งได้นานแค่ 20 นาที หลังจากนั้นเราจะหมดความสนใจ ไม่กระตือรือร้น หรืออาจจะโดนสิ่งรบกวนอื่นๆ เช่น อีเมลหรือเสียงเตือนจากมือถือ การให้ความสนใจจะต้องใช้พลังสมองเยอะ ทำให้สมองเหนื่อยล้า เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย แต่ถ้าเราได้พัก สมองเราก็จะกลับมาทำงาน กลับมาตั้งใจได้อีกครั้ง
บางคนอดใจไม่ได้ที่จะพูดโต้ตอบทันที ชอบพูดย้อนหรือล้อเลียน ชอบทำให้มันเป็นเรื่องของตัวเอง หรือรีบให้คำแนะนำโดยที่คนพูดไม่ได้ขอ
มารยาทในการฟัง
- รู้หน้าที่ของตัวเอง เช่น เวลาที่เราคุยกับเพื่อน ถ้าเพื่อนอยากปรับทุกข์ ถ้าเค้าอยากให้เราฟัง เราก็ไม่ควรรีบให้คำแนะนำ เราแค่รับฟังอย่างเดียวก็พอ หรือถ้าหัวหน้าเข้ามาคุยด้วย เราอาจจะต้องถามว่าเป็นเรื่องสำคัญหรือเปล่าและมีรายละเอียดที่ต้องจดไหม
- ให้การตอบรับ เช่น พยักหน้า แสดงออกทางสีหน้า สบสายตา เลียนแบบท่าทางคนพูด ทำให้คนพูดรู้ว่าเราตั้งใจฟัง
- ปล่อยให้มีช่วงเวลาเงียบบ้าง ขยับเปลี่ยนท่าทาง เปลี่ยนที่ยืน
- พูดทวนสิ่งที่เราได้ฟัง พยายามเข้าใจสถานการณ์ พยายามเข้าใจความต้องการของคนพูดให้มากขึ้น
- เลียนแบบคนพูด เช่น น้ำเสียง จังหวะการพูด อารมณ์ หรือท่าทางการพูด จะช่วยให้เข้าใจกันมากขึ้นการจดบันทึกนอกจากจะทำให้เราไม่ลืมรายละเอียดแล้ว มันยังทำให้เราตั้งใจและป้องกันไม่ให้เราทำอย่างอื่นนอกจากฟังและจดบันทึก
การพูดขอโทษ การยอมรับว่าเราเป็นฝ่ายผิดจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้น เช่น ลูกค้าโกรธ เราต้องแสดงให้เค้ารู้ว่าเราเข้าใจ แสดงความเห็นใจลูกค้า ทำให้เค้ารู้ว่าเราเป็นฝ่ายผิด ขอโทษและเสนอทางออก
ในสถานการณ์ที่สำคัญ บางครั้งเราอาจจะต้องมีเพื่อนไปช่วยฟัง เพื่อกันพลาด หรืออาจจะต้องใช้อุปกรณ์บันทึกเสียง
เป็นผู้ฟังที่ดี
เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้เราต้องสื่อสารผ่านทางหน้าจอและคีย์บอร์ด เราสื่อสารด้วยการอ่านและการเขียน แต่ในอนาคตอันใกล้ ในวันที่เราสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ด้วยเสียง สิ่งที่ท้าทายคือ แล้วเราจะพูดยังไงให้คอมพิวเตอร์เข้าใจ แยกแยะและจำได้ว่านี่คือเรา แล้วเราจะฟังคอมพิวเตอร์ให้รู้เรื่องได้ยังไง ในวันที่ทุกคนต่างก็ต้องพูดกับคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ต่อไปเราอาจจะต้องมีโค้ชเพื่อฝึกการพูด ฝึกการใช้เสียง
การฟังมีความสำคัญและเราต้องฝึกเพื่อเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะโลกในปัจจุบันเป็นโลกที่มีความซับซ้อน คนเราเข้าถึงกันได้ง่าย เราทำความรู้จักและเรียนรู้จากคนแปลกหน้า เราค้นหาความหมายของชีวิตจากการคุยกับเพื่อนใหม่ ทำให้คนที่เราใส่ใจไม่ใช่แค่คนในครอบครัว เพื่อน หรือคนใกล้ชิดเท่านั้น แต่เราจะขยายขอบเขตของมันออกไป ทำให้เราเข้าใจคนอื่นๆ ทำให้เรายอมรับคนที่แตกต่างจากเรา ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ทำให้โลกนี้น่าสนใจและน่าอยู่มากขึ้น
2 Comments