Nice To Fit

การตั้งคำถามที่ดี คำถามที่ดีสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตเราได้

 ในแต่ละวัน บางคนพบเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดความสงสัยและถาม ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น? บางคนจินตนาการถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เกิดความสงสัยและถาม สมมติว่าเราทำให้มันเกิดขึ้นได้? แต่ก็มีอีกหลายคนที่ต้องรีบไปทำงานและไม่มีเวลาที่จะเสียให้กับการตั้งคำถามเหล่านี้

I have no special talent. I am only passionately curious. –Albert Einstein

เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ หัดลืมของเก่า แล้วเรียนรู้มันอีกครั้ง มันจะทำให้เราค้นพบคำตอบที่เราค้นหาได้ การฝึกฝนตนเองให้รู้จักสงสัย พัฒนาและไม่หยุดที่จะสงสัย ความสงสัยจะนำไปสู่การค้นพบ หรือสร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่ได้

เราเพิ่งอ่านหนังสือเรื่อง A More Beautiful Question: The Power of Inquiry to Spark Breakthrough Ideas เป็นหนังสือที่มีแต่คำถามมากมาย หน้าดัชนี (Index) ก็ยังทำเป็นคำถาม ไม่เหมาะสำหรับคนที่แสวงหาคำตอบ อ่านจบถึงพบว่า เราไม่ต้องอ่านหนังสือ แต่ไปดูวิดีโอใน Youtube เอาก็ได้: Warren Berger – A More Beautiful Question เค้าพูดให้เราเห็นความสำคัญของการตั้งคำถามที่ดี

อย่างที่ Ramsey Musallam ครูสอนเคมีพูดไว้ใน TED Talk: 3 rules to spark learning Curiosity Comes First ความสงสัยต้องมาก่อน

ความสงสัยที่อยู่ในตัวเรา

ตอนเป็นเด็ก เราไม่เคยหยุดถาม เราสงสัยและถามว่า ทำไมเราบินเหมือนนกไม่ได้? ในโลกนี้มีคนอยู่เท่าไหร่? ถ้าโลกหมุนรอบตัวเองแล้วทำไมเราไม่รู้สึกอะไรเลย? ทำไมเราไม่ลอยหลุดออกนอกโลก?

การศึกษาในประเทษอังกฤษพบว่า ในแต่ละวันแม่จะต้องตอบคำถามลูกเกือบ 300 คำถาม และเด็กผู้หญิงอายุ 4 ขวบ ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ขี้สงสัยมากที่สุด โดยในแต่ละวันจะถามมากถึง 390 คำถาม จนดูเหมือนอาชีพแม่ จะเป็นอีกอาชีพที่ต้องทำงานหนักมาก

คำถามส่วนใหญ่ที่เด็กๆ ถาม เช่น

งานวิจัยพบว่าความสงสัยช่วยส่งเสริมให้เกิดพัฒนาการการเรียนรู้และความทรงจำ เราเรียนรู้ได้ดีเมื่อเราเกิดความสงสัย และความจำของเราจะดีขึ้นในตอนที่เราเกิดความสงสัย

สัญชาตญาณของการค้นหาจะทำให้เราสงสัย ทำให้เราตั้งคำถาม และคำถามที่ดีสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตเราได้

ความอัศจรรย์ ความสงสัย และคำถาม

ความอัศจรรย์ ทำให้กิดความสงสัย และความสงสัยก็จะทำให้เราตั้งคำถาม

Questioning is the ability to organize our thinking around what we don’t know.–Right Question Institute

การตั้งคำถามคือการจัดระเบียบความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราไม่รู้

If I had an hour to solve a problem I’d spend 55 minutes thinking about the problem and 5 minutes thinking about solutions.–Albert Einstein

ไอน์สไตน์พูดไว้ว่า ถ้ามีเวลาให้ 1 ชั่วโมงเพื่อแก้ปัญหา และถ้ามันเกี่ยวพันกับความเป็นความตายของเค้า เค้าก็จะใช้เวลา 55 นาทีแรก สำหรับถามเพื่อให้มั่นใจว่าเค้ากำลังแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เสียเวลา เสียทรัพยากรไปกับการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด

Steve Jobs พูดไว้ในบทสัมภาษณ์เมื่อปี 1995 ว่าเค้าให้ความสำคัญของการตั้งคำถาม ตลอดเวลาหลายปีที่ทำธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่เค้าพบก็คือ เค้าจะถาม ทำไม? ตลอดเวลา ทำไมเราถึงทำแบบนี้? แล้วเค้าก็จะได้รับคำตอบกลับมาว่า นี่เป็นวิธีที่เราทำกันมา สิ่งที่ Steve Jobs พบก็คือ ไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าทำไมต้องทำแบบนี้ ไม่มีใครที่จะคิดในเชิงลึกเกี่ยวกับงานที่ตัวเองทำ

ความเฉื่อยทำให้คนไม่อยากเปลี่ยนและมักจะทำสิ่งที่เคยทำกันมา ไม่ใช่เพราะว่ามันเป็นวิธีที่ดีที่สุด วันนี้ทำแบบนี้เพราะเมื่อวานก็ทำแบบนี้ หรือวันก่อนหน้านี้ก็ทำแบบเดียวกัน แต่ถ้าเราตั้งคำถามและคิดเกี่ยวกับงานที่เราทำ ก็จะพบเหตุผลของการทำแบบเดิมๆ และถ้าเราคิดหาวิธีที่ดีกว่าและพยายามแก้ไขจุดนั้นได้ ก็จะทำให้ธุรกิจไปได้ดี การทำธุรกิจมันไม่ได้ยากมากขนาดนั้น

The purpose of art is to lay bare the questions that have been hidden by the answers.―James Baldwin

หลายคนมุ่งมั่นที่จะหาคำตอบ ให้ความสำคัญกับคำตอบจนทำให้มองไม่เห็นหรือลืมสิ่งที่สำคัญที่มันซ่อนอยู่หลังคำตอบ ซึ่งก็คือคำถามที่เราควรถาม

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ในขณะที่บุคคลที่ประสบความสำเร็จอย่างเช่น  Steve Jobs หรือ Einstein ต่างก็ให้ความสำคัญกับการตั้งคำถาม และเชื่อว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรม แต่ทำไมเราถึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับมัน ทำไมเราไม่ให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามในโรงเรียนหรือในที่ทำงาน

ความสงสัยที่หายไป

ตอนเด็กๆ ความอยากรู้ของเรามีมากจนทำให้เราต้องถามแล้วถามอีก แต่เมื่อเราเข้าโรงเรียน เราก็เริ่มหยุดถาม

งานวิจัยพบว่า การเรียนในโรงเรียน ยิ่งเวลาผ่านไปมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้ความตั้งใจลดน้อยลง ทำให้เด็กนักเรียนสนใจเรียนน้อยลง เด็กๆ ในชั้นประถมจะตั้งใจและสนใจเรียนมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในชั้นมัธยมเด็กกว่าครึ่งหนึ่งก็หมดความสนใจในการเรียน

การให้ความสำคัญกับการทดสอบมาตรฐานมากจนเกินไป ทำให้เด็กขาดประสบการณ์การเรียนรู้ ถึงแม้ว่าจะเป็นงานวิจัยในต่างประเทศ แต่เราก็พอจะเห็นความเชื่อมโยงและความคล้ายกันในบ้านเรา

ความสนใจในการเรียน อาจจะเกี่ยวข้องกับการตั้งคำถาม ยิ่งเวลาผ่านไป เด็กในชั้นมัธยมจะถามน้อยลง แต่จะสนใจและให้ความสำคัญกับการทดสอบ การท่องจำบทเรียน และการจำคำตอบที่ถูกต้อง ทำให้เด็กๆ ใช้เวลาทั้งหมดไปกับการจำข้อมูล จำบทเรียนที่ครูสอน ท่องหนังสือเพื่อเอาไปสอบ

การจำได้ดีมีผลต่อเกรด แต่เสียดายที่มันก็ทำให้เราทิ้งความสงสัยและหยุดตั้งคำถาม

เราจำเป็นต้องตั้งคำถามและถามให้มากขึ้น คำถามที่ดีทำให้เราค้นพบโอกาสในชีวิต และความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง สิ่งที่เราสามารถทำและสิ่งที่เราต้องการในอนาคต

ถ้าให้ความสำคัญกับมาตรฐาน การทดสอบ หรือประสิทธิภาพ มากจนเกินไป มันก็จะเหลือที่ว่างให้กับการเรียนรู้ในเชิงลึก ความรู้ที่มันมากกว่าบทเรียนที่ท่องจำไปสอบ แนวคิดที่มันสูงขึ้นไปอีกระดับ

ทำไมเราถึงไม่ชอบถาม?

มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความสงสัยและเป็นนักตั้งคำถามตั้งแต่เกิด เด็กๆ ส่วนใหญ่จะสงสัยและถาม ว่าทำไมท้องฟ้าถึงมีสีฟ้า?

งานวิจัยจาก Harvard University โดยนักจิตวิทยา Paul Harris เค้าพบว่าช่วงเวลาตั้งแต่เด็กอายุ 2 ถึง 5 ปี เด็กจะถามคำถามมากถึง 40000 คำถาม

บางคำถามอาจฟังดูไร้เดียงสา แต่เด็กๆ แสดงออกถึงความต้องการเรียนรู้จากการรอฟังคำตอบ

Brandy Frazier นักวิจัยจาก University of Michigan พบว่า เด็กๆ ไม่ใช่แค่ถาม แต่ยังใส่ใจกับคำตอบที่ได้รับด้วย และถ้ายังไม่พอใจกับคำตอบที่ได้รับ เด็กๆ ก็จะถามต่อว่า ทำไม??

แต่ในบางบริษัทหรือในบางประเทศ กลับไม่เปิดโอกาสให้คนถาม เป็นวัฒนธรรมที่ไม่ส่งเสริมให้ตั้งคำถาม

และถ้าโทษใครไม่ได้ ก็ต้องโทษโรงเรียน ที่ให้ความสำคัญกับความรู้และรางวัลที่เด็กจะได้จากการตอบคำถามที่ถูกต้อง โรงเรียนไม่ได้สอนให้เด็กๆ คิดอย่างสร้างสรรค์ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตั้งคำถาม จุดประสงค์หลักของโรงเรียนก็เพียงแค่ผลิตคนงานป้อนอุตสาหกรรม ผลที่เกิดขึ้นก็คือ โรงเรียนจะต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อฟังและการจดจำความรู้ที่จำเป็น ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นคุณสมบัติที่ดีของคนใช้แรงงาน

โรงเรียนให้รางวัลสำหรับคนที่จำได้ดี แต่ไม่เคยมีรางวัลสำหรับการตั้งคำถามที่ดี

ในหลายๆ บริษัทที่มักจะใช้ระบบสายบังคับบัญชา โดยจะให้ความสำคัญกับตำแหน่งและหน้าที่ความรับผิดชอบ  และไม่เปิดช่องให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับระเบียบวิธีหรือขั้นตอนการทำงาน  ระบบแบบนี้มักจะชื่นชอบคนที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่าความสงสัย ให้รางวัลกับคนที่รู้และเชี่ยวชาญ และดูเหมือนจะให้คำตอบได้ทุกอย่าง

ในปัจจุบันที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราต้องเจอกับความไม่แน่นอนและสิ่งที่เราไม่รู้  ดังนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญและอาศัยความคิดสร้างสรรค์มากกว่าความรู้ เพื่อให้เราปรับตัวได้ทัน และความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้จากการรู้จักตั้งคำถาม

คำถามที่ดี จะต้องมีความทะเยอทะยาน และมีความเป็นไปได้ เป็นคำถามที่จะยกระดับความคิดของเรา หรือเปลี่ยนมุมมองของเรา และมันจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

การตั้งคำถาม

การถามปัญหา คือส่วนสำคัญของการแก้ไขปัญหา การถามคำถาม ทำไม? ส่งผลดีต่อการทำธุรกิจ การถามคำถามเป็นสิ่งที่พบยากในการทำธุรกิจ เพราะหลังจากที่ผ่านจุดเริ่มต้นไป บริษัทก็มักจะมองว่า คำถามเป็นสิ่งที่เป็นภัยต่อระเบียบ องค์กรสามารถกระตุ้นให้พนักงานถามมากขึ้น ด้วยการตั้งคำถาม ถามสิ่งที่ควรถาม

เมื่อเราเจอปัญหา เราจะหาทางแก้ไข แต่วิธีที่เราเลือกใช้มันอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเสมอไป เรามักจะหาทางแก้ไขปัญหาจากข้อมูลหรือประสบการณ์ที่เรารู้อยู่แล้ว แต่ถ้ามันเป็นปัญหาใหม่ เป็นสิ่งที่มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนล่ะ?

มันยากที่จะค้นพบหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ถ้าเราเลือกใช้สิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว บุคคลที่ประสบความสำเร็จอย่างเช่น  Steve Jobs หรือ Einstein ไม่มองหาคำตอบ แต่จะตั้งคำถามแทน ถามว่า ทำไมเราต้องทำแบบนี้?

คำถามที่ดีมันจะทำให้เกิดคำถามชุดอื่นๆ ตามมา และมันจะเปลี่ยนแนวคิดของเรา ส่วนคำตอบ มันจะทำให้ขั้นตอนทุกอย่างจบลง

คำถามทั้ง 3 แบบ

ในหนังสือ A More Beautiful Question: The Power of Inquiry to Spark Breakthrough Ideas ผู้เขียนได้สัมภาษณ์คนที่ทำงานด้าน Creative มากกว่า 100 คน เค้าพบว่าคำถามเหล่านี้ มีส่วนช่วยให้เกิดประสิทธิภาพของการทำงาน

Why? การถาม ทำไม? จะทำให้เราไม่หยุดอยู่กับที่ ทำให้เราปฏิเสธสิ่งที่มันเป็นอยู่ ทำให้เราไม่ทนอยู่กับสภาพเดิม แต่เปิดกว้างให้กับวิธีหรือแนวทางใหม่ๆ ทำให้เราเข้าใจปัญหามากขึ้น

What if? การถาม สมมติว่า? ช่วยให้เราคิดหาไอเดียใหม่ๆ ถึงมันจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้ แต่มันจะทำให้หลุดจากกรอบเดิมๆ ทำให้เราผสมผสานไอเดียหลายอย่างเข้าด้วยกัน

How? การถาม ทำยังไง? เกิดขึ้นในขั้นตอนการเริ่มต้นแก้ไขปัญหา คำถามนี้จะช่วยให้หาวิธีแก้ไขปัญหา ทำให้เราลงมือทำ

ทำไม? คำถามที่ไร้เดียงสา

“Vuja De”—seeing the familiar as if it’s new.

ตรงข้ามกับ Deja vu ความหมายของ Vuja De คือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นมาก่อน แต่เราทำให้รู้สึกว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น เป็นการมองสิ่งเดิมๆ ในมุมใหม่

สิ่งแรกเลยที่เราต้องทำคือ ลืมสิ่งที่เรารู้ไปก่อน หรือให้คิดว่าตัวเองให้เป็นเหมือนผู้เริ่มต้น

Beginner’s mind มันจะทำให้เราเห็นความเป็นไปได้หลายๆ อย่าง ถ้าเราคิดว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นคนที่รู้เยอะ มันจะจำกัดกรอบความคิดของเราไม่ให้เราถามคำถาม มันจะทำให้เราถามน้อยลง ทำให้เราไม่อยากรู้ ไม่อยากถามว่า ทำไม?? เหมือนตอนเด็กๆ

ยิ่งรู้มาก ความเชี่ยวชาญจะทำให้เราถามคำถามน้อยลง

การถามคำถาม ทำไม?? มันจะทำให้เรามองในมุมใหม่ๆ ทำให้เราไม่ทึกทักหรือเข้าใจไปเอง ทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ด้วยการคิดว่าเราเป็นผู้เริ่มต้น

สมมุติว่า? คำถามที่ใช้จินตนาการ

การถามว่า ทำไม?? จะทำให้เปิดพื้นที่ความคิดใหม่ๆ และมันจะนำไปสู่คำถามในขั้นตอนที่ 2 นั่นคือ สมมติว่า? คำถามนี้จะช่วยให้เรานึกหาทางออก หาทางแก้ไข ทำให้เราได้คำตอบที่หลากหลาย ปลดปล่อยให้เราเป็นอิสระหลุดจากกรอบความเป็นไปได้

นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีช่วงเวลาให้คิดนอกกรอบ คิดหาไอเดียที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เช่น Tim Westergren ที่ถามว่า สมมติว่าเราสามารถวิเคราะห์และทำแผนที่ DNA ของเพลงได้? ไอเดียนี้ทำให้เกิดเป็น Pandora Internet Radio ที่แนะนำเพลงจากการวิเคราะห์องค์ประกอบพื้นฐานของเพลง

คำถามที่ดี การตั้งคำถามที่ถูกต้อง สามารถสร้างโมเมนตัม เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

ลองคิดแบบมั่วๆ ลองฝึกคิดหาไอเดียที่มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ เอาความคิดหลายๆ แบบมายำรวมกัน ความคิดที่เราไม่เคยคิดว่ามันจะไปด้วยกันได้ การคิดแบบมั่วๆ มันจะนำเราไปสู่คำถาม สมมติว่าเราขายถุงเท้า 2 ข้างที่แตกต่างกันได้? คำถามนี้ทำให้เกิดเป็นธุรกิจถุงเท้าที่กำลังเป็นที่นิยม LittleMissMatched

ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นจากการที่เราไม่ตั้งใจคิด ลองหยุดคิดเรื่องที่เรากำลังสนใจหรือปัญหาที่เรากำลังแก้ ลองเดินเล่นในสวน หรือเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ ลองเหม่อลอยฝันกลางวัน หรือหลับตาลง เมื่อสมองเราผ่อนคลาย มันจะไม่สนใจสิ่งรบกวนที่อยู่รอบๆ สมองเราจะสนใจแต่สิ่งที่อยู่ภายใน ทำให้เราคิดได้อย่างสร้างสรรค์

ทำยังไง? คำถามที่ยากที่สุด

การถาม ทำไม? ในขั้นตอนที่ 1 เป็นวิธีที่ทำให้เราชี้แจงปัญหา แต่เราจะหยุดอยู่แค่นั้นไม่ได้ เพราะเราต้องการคำตอบ เราต้องการวิธีแก้ปัญหา

ขั้นตอนที่ 2 เราเริ่มที่จะถาม สมมติว่า? แต่มันก็ยังไม่พอ การถาม สมมติว่า? จะทำให้จุดประกายความคิด เราจะเห็นไอเดียเกิดขึ้นมากมาย แต่เราก็ต้องการไอเดียที่มันเกิดขึ้นได้จริง

ขั้นตอนที่ 3 การถาม ทำยังไง? เป็นการนำความคิดมาลงมือทำ เป็นคำถามที่ยากที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับความอดทนพยายามและความมุ่งมั่น

คำถามในขั้นตอนสุดท้ายนี้ เป็นคำถามเชิงปฏิบัติ ใช้ถามเมื่อเราต้องเจาะลึกลงไป เราจะต้องหาทางทำให้มันเกิดขึ้นจริง โดยการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการ หรือการแก้ไขปัญหาที่ทำได้จริงๆ

เราอาจจะทำได้ยังไง?

How-Might-We เป็นคำถามที่ช่วยในตอนที่สุมหัวความคิด เป็นวิธีที่จะช่วยให้เราคิดไอเดียได้มากขึ้น เป้าหมายคือการจุดประกายไอเดียที่เกี่ยวข้อง ในคำถามประกอบไปด้วย

  • How ช่วยให้เราเชื่อว่ามันจะต้องมีคำตอบอยู่ที่ไหนสักแห่ง รอให้เราค้นหา
  • Might ช่วยให้เรารู้ว่า เราอาจจะทำได้ตามที่คิดหรืออาจจะไม่ได้
  • We ช่วยให้เราทำงานเป็นทีม นำเสนอไอเดีย ต่อยอดความคิดของคนอื่นๆ

การสร้างวัฒนธรรมของการถาม

ในสังคมที่เราให้ความสำคัญกับผลงาน มากกว่าการตั้งคำถาม ทำให้เราให้ความสำคัญกับความเชี่ยวชาญมากกว่าความไม่แน่นอน

แต่ในปัจจุบัน ความรู้หลายๆ อย่าง มันค่อยๆ ลดทอนคุณค่าในตัวลงไป เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความรู้หลายๆ อย่างเก่า ล้าสมัยและใช้งานไม่ได้อีกต่อไป สิ่งที่เรารู้ในวันนี้ พรุ่งนี้อาจใช้ไม่ได้

ในยุคที่เรามี Google และ Wikipedia เราไม่จำเป็นต้องจดจำข้อมูลหรือเก็บสะสมความรู้ เพราะเราสามารถเข้าถึงความรู้เหล่านั้นได้เพียงแค่ไม่กี่คลิก

เริ่มต้นที่ผู้นำ ต้องยอมรับความท้าทายและความไม่แน่นอน ผู้นำแบบเก่าคือคนที่นิยมความรู้ แต่ผู้นำแบบใหม่จะพยายามเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของพนักงาน พนักงานควรจะสามารถถามได้โดยไม่ต้องกลัว ตรงกันข้ามพนักงานควรจะได้รับรางวัลจากการถาม โดยเฉพาะคำถามที่ต้องการคนรับผิดชอบและหาทางลงมือแก้ไข

คำถามแย่ๆ ที่ไม่ควรถาม

หลีกเลี่ยงคำถามที่สงสัยคนอื่น คำถามที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง คำถามที่ทำให้คนอื่นหมดกำลังใจ หรือทำให้เสียความมั่นใจ คำถามที่ใช้เบียดเบียนรังแกคนอื่นๆ หรือคำถามที่แค่ต้องการวิจารณ์ความเห็นของคนอื่นๆ เช่น

  • ทำไมต้องเปลี่ยนในเมื่อมันยังใช้งานได้ดีอยู่?
  • วิธีนี้เราลองแล้วไม่ใช่หรอ?
  • ไม่ลองใช้วิธีนี้แทน?

การตั้งคำถาม นำเราไปสู่ชีวิตที่มีจุดมุ่งหมาย

คำถามที่ดีไม่ได้ทำให้เกิดผลดีต่อการทำธุรกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราค้นพบจุดมุ่งหมายและเติมเต็มชีวิตด้วยเหตุผลของการตื่นมาในทุกๆ เช้า ทำให้เราค้นพบ ikigai

ลองเปรียบเทียบอาชีพการงานของเราเหมือนการปีนเขา ระหว่างที่เราปีนขึ้นเขาและหวังว่าจะขึ้นไปสู่จุดสูงสุดก่อนคนอื่นๆ มันจะทำให้เราลืมเหตุผลของการปีนเขาตั้งแต่แรก

ไม่มีอะไรแย่ไปกว่าการทนลำบากเหน็ดเหนื่อยปีนขึ้นเขา เพียงแค่จะพบว่า จริงๆ แล้วเราไม่ได้ต้องการที่จะไต่เต้าขึ้นไปสู่จุดสูงสุด

เมื่อเรารู้ตัวว่าเราต้องเปลี่ยนแปลง เราจะถามตัวเองว่า สมมติว่าเราเปลี่ยนทางเดิน? และตามด้วยคำถาม แล้วเราจะเริ่มยังไง?

สรุป

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่พิเศษ เราสามารถตั้งคำถามได้ การตั้งคำถามทำให้จุดประกายความคิดสร้างสรรค์และกระตุ้นให้เกิดไอเดียใหม่ๆ เมื่อเราถาม มันจะทำให้เรารู้ว่า นี่คือสิ่งที่เราไม่รู้  และหลังจากนั้นก็หาความรู้เพื่อปิดช่องว่างของความรู้นั้น

วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราค้นพบสิ่งที่เราต้องการที่สุดในชีวิตนี้ คือการตั้งคำถาม คำถามที่ดีจะช่วยให้เราแจกแจงปัญหา ค้นหาคำตอบ หาทางออกหรือเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นนวัตกรรม

References

3 rules to spark learning

Mothers asked nearly 300 questions a day, study finds

The Lost Interview: Steve Jobs Tells Us What Really Matters

States of Curiosity Modulate Hippocampus-Dependent Learning via the Dopaminergic Circuit

Does the “school cliff” matter more than the fiscal cliff?

Warren Berger – A More Beautiful Question

The “How Might We” Note Taking Method

การตั้งคำถามที่ดี คำถามที่ดีสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตเราได้ September 9th, 2019jack
Exit mobile version