การเรียนรู้

การคิดแบบมีเหตุผลและไม่สมเหตุผล การคิดที่ไม่ได้วัดด้วย IQ

คนฉลาดบางคน บางครั้งก็ตัดสินใจผิดพลาดได้ พฤติกรรมนี้ทำให้เรารู้ว่า IQ ไม่สามารถใช้บ่งบอกความสามารถในการคิดได้ครบทั้งหมด เช่น ความสามารถในการคิดหรือทำอย่างมีเหตุผล หรือความสามารถในการหาข้อสรุปที่ถูกต้อง

แปลงจากบทความที่น่าสนใจ แมกกาซีน Scientifica Merican เรื่อง Rational and Irrational Thought: The Thinking That IQ Tests Miss

Dysrationalia

เราอาจจะคิดว่าความฉลาดกับความมีเหตุมีผลมันต้องไปด้วยกัน คนฉลาดจะต้องเป็นคนมีเหตุผล มี Logic ที่ดี แต่ความจริงก็คือคนฉลาดก็อาจทำเรื่องโง่ๆ ได้เช่นกัน

Dysrationalia คือการขาดความสามารถในการคิดหรือทำอย่างมีเหตุผล ขาดความสามารถในการหาข้อสรุปที่ถูกต้อง แม้ว่าจะเป็นคนฉลาด

ในปัจจุบันเราได้รับข่าวสารมากมาย แต่ถ้าใจเราแคบ คิดหรือมองแค่มุมเดียว หรือไม่ยอมใช้ความคิดแต่เอาง่ายไว้ก่อน การใช้โหมด Default มันจะทำให้เราเข้าใจข้อมูลผิด ไม่รับฟังคำเตือน ทำให้เราไม่รู้จักประเมินความเสี่ยงและตัดสินใจผิดพลาดได้ง่ายๆ

การตัดสินใจผิดพลาดอาจทำให้เกิดผลเสียหายได้มากมาย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้นราจึงต้องรู้จักคิด และรู้ตัวว่า ถึงแม้ว่าเราจะฉลาด แต่บางครั้งเราก็ยังทำเรื่องโง่ๆ ได้เช่นกัน

Cognitive miser

กระบวนการคิดของคนมีหลายแบบ แต่ละแบบมีความแตกต่างกัน เช่น

  • การแก้ไขปัญหาที่ต้องใช้พลังคำนวณมาก ต้องการความแม่นยำสูง ต้องตั้งใจมาก ใช้เวลานาน ทำให้มีโอกาสมากที่จะไปรบกวนหรือถูกรบกวนจากการคิดอย่างอื่น
  • การแก้ไขปัญหาที่ไม่ต้องใช้พลังคำนวณมาก ทำได้เร็ว ไม่ใช้เวลานาน ไม่ต้องตั้งใจมาก ทำให้ไม่ไปรบกวนงานคิดอย่างอื่น

เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวแล้ว สมองของเราใช้พลังงานเยอะมาก สมองมีน้ำหนักแค่ 2% แต่ใช้พลังงานมากถึง 20% นั่นทำให้สมองต้องใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน

Cognitive miser คือการที่เรามักจะใช้วิธีที่ง่ายในการแก้ปัญหา ถึงแม้ว่าเราจะฉลาดมากแค่ไหนก็ตาม เราก็มักจะเลือกทางที่ง่าย ที่ไม่ต้องคิดหรือพยายามมากไว้ก่อน ถึงแม้ว่าทางที่เราเลือกนั้นมันจะมีความแม่นยำน้อยกว่าก็ตาม

ถ้าอยากรู้ว่าเราเป็นคน คิดเหนียว หรือเปล่า (Cognitive miser ขี้เหนียวในความคิด) ลองทำแบบทดสอบเหล่านี้ ลองพยายามหาคำตอบก่อนที่จะอ่านคำอธิบาย

แบบทดสอบของ Hector Levesque, Computer scientist, University of Toronto

แจ๊คกำลังมองไปที่แอน แต่แอนกำลังมองไปที่จอร์จ แจ๊คแต่งงานแล้ว แต่จอร์จยังไม่แต่งงาน ถามว่า ในนี้มีคนแต่งงานแล้วกำลังมองไปที่คนยังไม่แต่งใช่หรือไม่?

A) ใช่ B) ไม่ใช่ C) ไม่สามารถบอกได้

มีคนมากกว่า 80% ที่เลือก C แต่คำตอบที่ถูกต้องคือ A แอนคือคนเดียวที่เราไม่รู้สถานะ การที่เราจะสรุปได้ถูกต้อง เราต้องพิจารณาความเป็นไปได้ทั้งหมดของสถานะของแอน แอนยังไม่แต่งงาน และแอนแต่งงานแล้ว

ถ้าแอนแต่งงานแล้ว คำตอบก็คือ A เพราะ แอนคือคนที่แต่งงานแล้ว กำลังมองไปที่คนยังไม่แต่ง ส่วนถ้าแอนยังไม่แต่งงาน คำตอบก็คือ A เพราะแจ๊คเป็นคนที่แต่งงานแล้ว กำลังมองไปที่คนยังไม่แต่ง

กระบวนการคิดแบบนี้เรียกว่า Fully Disjunctive Reasoning คือการใช้เหตุผลแบบพิจารณาความเป็นไปได้ทั้งหมด ข้อมูลที่ให้มามันดูเหมือนยังไม่เพียงพอให้เราตัดสินใจ การคิดเหนียวทำให้เราตัดสินใจผิด คิดว่า C คือคำตอบ โดยที่ไม่ได้คิดถึงความเป็นไปได้ทั้งหมดก่อน

คนส่วนใหญ่มีความสามารถในการคิดพิจารณาความเป็นไปได้ทั้งหมด เราจะใช้มันถ้ามีการบอกไว้อย่างชัดเจนว่าต้องใช้ หรือถ้าไม่มี C ให้เลือก

ตอบผิดไม่ได้แปลว่าเราไม่ฉลาด หรือมี IQ ต่ำ และยังมีแบบทดสอบอันต่อไปให้ทำ

แบบทดสอบของ Daniel Kahneman และ Shane Frederick

ไม้ตีเบสบอลและลูกเบสบอลราคารวมกันเท่ากับ $1.10 ไม้ตีเบสบอลราคามากกว่าลูกเบสบอล $1 ถามว่า ลูกเบสบอลราคาเท่าไหร่?

คนส่วนใหญ่ตอบได้ทันทีว่าลูกเบสบอลราคา $0.10 แต่ถ้าคิดมากกว่านั้น เราจะรู้ว่าคำตอบนั้นมันไม่ถูกต้อง เพราะไม้ตีเบสบอลมันจะต้องมีราคา $1.10 และทำให้ราคารวมเท่ากับ $1.20

สิ่งที่เค้าพบคือ แม้กระทั่งนักศึกษาจาก Massachusetts Institute of Technology, Princeton และ Harvard ก็ยังคิดเหนียวเหมือนกับคนทั่วไป

คำตอบที่ถูกคือลูกเบสบอลราคา $0.05 ตอบผิดไม่ได้แปลว่าเราไม่ฉลาด หรือมี IQ ต่ำ

แบบทดสอบของ Keith Stanovich และ Richard West

การคิดเหนียวอีกแบบคือ My-side bias คือการที่เรามักจะใช้เหตุผลเข้าข้างตัวเอง การทดลองของ Keith Stanovich และ Richard West ที่ใช้คำถามต่อไปนี้ ถามผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มที่ 1

สมมติว่ากระทรวงคมนาคมของสหรัฐพบว่า รถยนต์เยอรมันยี่ห้อหนึ่งมีโอกาสมากกว่ารถบ้านทั่วไปถึง 8 เท่า ที่จะทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตในรถอีกคันที่ชนกัน รัฐบาลจึงออกกฏห้ามขายและใช้รถเยอรมันยี่ห้อนั้น ถามว่า รัฐบาลควรห้ามขายรถเยอรมันยี่ห้อนั้นหรือไม่? และ รถยนต์เยอรมันยี่ห้อนั้นควรถูกแบนห้ามวิ่งบนถนนในสหรัฐหรือไม่?

หลังจากนั้นเค้าใช้คำถามคล้ายกันถามผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มที่ 2 แต่ต่างกันตรงที่เปลี่ยนยี่ห้อรถยนต์ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย เปลี่ยนจากรถเยอรมันเป็นรถอเมริกัน

สมมติว่ากระทรวงคมนาคมของเยอรมันพบว่า รถ Ford Explorer มีโอกาสมากกว่ารถบ้านทั่วไปถึง 8 เท่า ที่จะทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตในรถอีกคันที่ชนกัน รัฐบาลจึงออกกฏห้ามขายและใช้รถ Ford Explorer ถามว่า รัฐบาลควรห้ามขายรถ Ford Explorer หรือไม่? และ รถ Ford Explorer ควรถูกแบนห้ามวิ่งบนถนนในเยอรมันหรือไม่?

ในบรรดาคนอเมริกันที่เข้าร่วมการทดลอง พบว่าเห็นด้วยที่จะแบนรถยนต์เยอรมันที่ก่อความเสียหายในสหรัฐ โดยเห็นด้วยกับการห้ามขายรถ 78.4% และเห็นด้วยกับการห้ามใช้รถ 73.7% แต่สำหรับกลุ่มคนที่ถูกถามด้วยคำถามที่ 2 พบว่าเห็นด้วยที่จะห้ามขายรถยนต์อเมริกัน 51.4% และเห็นด้วยกับการห้ามใช้รถ 39.2%

มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าความปลอดภัยของรถยนต์จะน้อยพอกัน

การทดลองนี้ทำให้พบว่า เรามักจะประเมินสถานการณ์จากมุมมองของตนเอง เราให้น้ำหนักกับหลักฐานและตัดสินใจด้วยความลำเอียง การเข้าข้างตัวเองมักจะทำให้เกิดความผิดพลาดในการคิดและตัดสินใจ ซึ่งไม่เกี่ยวว่าเราจะฉลาดหรือไม่ก็ตาม

แบบทดสอบ The Mindware Gap

Mindware ใช้อ้างถึง กฏ ข้อมูล ขั้นตอน วิธีการ และเครื่องมือในการคิดอื่นๆ (ความน่าจะเป็น การใช้เหตุผลและการสรุปทางวิทยาศาสตร์) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคิดและใช้เหตุผลได้อย่างถูกต้อง ความไม่รู้ทำให้เกิดช่องว่าง Mindware gap และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบอกได้จากการทดสอบ IQ

แบบทดสอบต่อไปนี้เป็นการทดสอบความรู้เรื่องความน่าจะเป็น ลองพยายามหาคำตอบก่อนที่จะอ่านคำอธิบาย

สมมติว่า XYZ เป็นไวัสอันตรายที่กระทบกับคน 1 ใน 1000 คน สมมติอีกว่าการตรวจเชื้อไวรัสบอกได้อย่างถูกต้องว่าคนที่ติดเชื้อ มีเชื้อไวรัสจริงๆ สุดท้ายสมมติว่าการตรวจนั้นมีความผิดพลาดอยู่บ้าง โดยบอกว่าคนปกติติดเชื้อไวรัส (False positive) การตรวจมีความผิดพลาด 5% นั่นคือผลการตรวจจะบอกว่าติดเชื้อไวรัส 5% โดยที่คนเหล่านั้นไม่มีเชื้อไวรัสอยู่จริง

จากนั้นสุ่มเลือกมา 1 คน เพื่อตรวจเชื้อไวรัส และผลการตรวจก็พบว่าคนนั้นมีเชื้อไวรัส XYZ สมมติว่าเราไม่รู้ประวัติการรักษาพยาบาลของคนนั้นเลย ถามว่า เปอร์เซ็นต์ความน่าจะเป็น (0-100) ที่คนนั้นจะมีเชื้อไวรัส XYZ อยู่จริง เป็นเท่าไหร่?

คนส่วนใหญ่ตอบว่า 95% ซึ่งเป็นคำตอบที่ผิด เรามักจะไม่สนใจประโยคแรกที่บอกว่า มีเพียง 1 ใน 1000 คนเท่านั้น ที่จะมีเชื้อไวรัสอยู่จริง ทำให้มีประมาณ 50 คน ที่จะได้ผลตรวจผิดพลาดว่าติดเชื้อไวรัส ดังนั้นจะมีประมาณ 51 คนที่ได้รับผลตรวจว่าติดเชื้อไวรัส แต่ในนั้นมีคนที่มีเชื้อไวรัสอยู่จริง แค่ 1 คน นั่นคือประมาณ 2%

อีกรูปแบบหนึ่งของ Mindware ที่ไม่สามารถบอกได้จากการทดสอบ IQ นั่นคือความสามารถในการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ลองทำแบบทดสอบอันต่อไป

การทดลองเพื่อหาค่าประสิทธิผลของการรักษาโรค สรุปได้จากตารางดังต่อไปนี้

อาการดีขึ้น อาการไม่ดีขึ้น
ได้รับการรักษา 200 75
ไม่ได้รับการรักษา 50 15

จะเห็นว่ามีผู้ป่วยจำนวน 200 คนที่ทดลองรับการรักษาและอาการดีขึ้น และมีผู้ป่วยจำนวน 75 คนที่ทดลองรับการรักษาแต่อาการไม่ดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาจำนวน 50 คนอาการดีขึ้น และมีผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา 15 คนอาการไม่ดีขึ้น

ถามว่า การรักษา มีประสิทธิผล (ได้ผล) หรือไม่?

คนส่วนใหญ่ตอบว่าได้ผล เพราะดูจากจำนวนผู้ป่วยที่มีค่ามาก (200 คน) ที่อาการดีขึ้น และมากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้น (75 คน) และเพราะว่าความน่าจะเป็นของผลการรักษามันสูง (200/275 = 0.727) จึงทำให้เราคิดว่าการรักษานี้ได้ผล

แต่เราลืมคิดถึงกลุ่มควบคุมหรือกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษา ซึ่งอาการดีขึ้นถึงแม้ว่าไม่ได้รับการรักษา 50 คน จากทั้งหมด 65 คน นั่นคือ 0.769 ซึ่งมากกว่ากลุ่มทดลองรับการรักษา นั่นหมายความว่า การรักษาไม่ได้ผล

ตอบผิดไม่ได้แปลว่าเราไม่ฉลาด หรือมี IQ ต่ำ

อีกรูปแบบหนึ่งของ Mindware ที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบสมมติฐาน (Hypothesis testing) ลองทำแบบทดสอบอันต่อไป

A K 8 5

มีไพ่ 4 ใบวางบนโต๊ะ ไพ่แต่ละใบจะมีตัวอักษรและตัวเลขอยู่คนละด้าน มีไพ่ 2 ใบที่หงายด้านตัวอักษรขึ้น และมีไพ่ 2 ใบที่หงายด้านตัวเลขขึ้น กฏบอกว่า สำหรับไพ่ทั้ง 4 ใบนี้ ถ้าไพ่ใบไหนที่มีด้านตัวอักษรเป็นสระ อีกด้านของไพ่ใบนั้นจะเป็นเลขคู่

ถามว่า ถ้าเราอยากรู้ว่ากฏนี้เป็นจริงหรือไม่ เราต้องเปิดดูไพ่กี่ใบ ใบไหนบ้าง?

คนส่วนใหญ่ตอบผิด มีคนประมาณ 40% เลือกที่จะเปิดไพ่ที่มีตัวอักษร A และไพ่ที่มีเลข 8 เพื่อดูว่าด้านหลังของ A เป็นเลขคู่หรือไม่ และเพื่อดูว่าด้านหลังเลข 8 เป็นสระหรือไม่

อีกประมาณ 20% ที่เลือกเปิดไพ่ที่มีตัวอักษร A ใบเดียว และอีกประมาณ 20% ที่เลือกเปิดไพ่แบบอื่นๆ นั่นคือมีคน 90% ที่ตอบผิด

เปิดไพ่ A –> ถ้าด้านหลังเป็นเลขคี่ กฏนี้ไม่เป็นจริง ถ้าด้านหลังเป็นเลขคู่ ก็จะสนับสนุนกฏ แต่ยังยืนยันไม่ได้
เปิดไพ่ K –> ไม่จำเป็นเพราะกฏไม่ได้สนใจพยัญชนะ
เปิดไพ่ 8 –> ไม่ว่าด้านหลังจะเป็นพยัญชนะหรือสระก็ไม่สำคัญ
เปิดไพ่ 5 –> ถ้าด้านหลังเป็นสระ กฏนี้ไม่เป็นจริง

ตอนที่เราต้องพิสูจน์ว่าสิ่งนี้จริงหรือไม่จริง เรามักจะสนใจแต่การพิสูจน์ว่ามันจริง และมองข้ามการพิสูจน์ว่ามันไม่จริง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคนจึงเลือกเปิดไพ่ที่มีเลข 8 เพราะต้องการพิสูจน์ว่าด้านหลังมันเป็นสระ และเลือกเปิดไพ่ที่มีตัวอักษร A เพื่อดูว่าด้านหลังมันเป็นเลขคู่

ถ้าเราคิดแบบวิทยาศาสตร์ เราจะต้องหาทางพิสูจน์ด้วยว่ากฏไม่เป็นจริง การเปิดไพ่ที่มีเลข 5 ที่อาจจะทำให้เราพิสูจน์ได้ว่ากฏไม่เป็นจริง แต่การคิดแบบนี้ การหาหลักฐานเพื่อยืนยันว่าสิ่งนี้ไม่เป็นจริง เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ฝึกให้คิดจนกลายเป็นนิสัย

สรุป

เราจะเห็นได้ว่าการคิดแบบมีเหตุผลไม่ได้เกี่ยวข้องกับความฉลาด คนที่ฉลาดมี IQ สูง ก็ยังอาจมีปัญหา และคิดเหนียว ได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป

เช่นเดียวกัน ถ้าเรามีปัญหาเรื่องการคิดแบบมีเหตุมีผล ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่ฉลาด แต่เราอาจขาดความรู้หรือเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจ หรือเราต้องเรียนและฝึกคิดแบบวิทยาศาสตร์จนกลายเป็นนิสัย

Reference

Rational and Irrational Thought: The Thinking That IQ Tests Miss

Like what you read? Please share it with your friends so we can get their thoughts!

Previous ArticleNext Article

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *